ตลาดสินค้าอาหารพร้อมรับประทานในจีน...โอกาสดีของผู้ส่งออกไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 6, 2010 15:15 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องของตลาดสินค้าอาหารในจีน

จำนวนผู้บริโภค : 1,300 ล้านคน

รายได้เฉลี่ยต่อหัว : 2,105 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี

มูลค่าตลาดขายปลีกในปี 2552

สินค้าอาหาร : 2,550.47 พันล้านหยวน

อาหารพร้อมรับประทาน : 53.06 พันล้านหยวน

ทำไมจีนจึงน่าสนใจ

  • เป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ด้วยจำนวนประชากรมากถึง 1,300 ล้านคนหรือราวร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรโลก
  • ประชากรจีนมีรายได้ที่ใช้จ่ายได้ (Disposable Income) เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปี ในช่วงปี 2548-2552 ส่งผลให้ความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น(อย่างต่อเนื่อง)
  • GDP ของจีน ขยายตัวถึงร้อยละ 8.7 ในปี 2552 ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลก

รูปแบบการดำเนินชีวิตแบบใหม่ ... ปัจจัยกำหนดความต้องการบริโภคที่ต้องจับตามอง

จีนเป็นตลาดที่ดึงดูดใจผู้ส่งออกสินค้าอาหารจากทั่วโลก ด้วยจำนวนประชากรที่มากถึง 1 ใน 5 ของโลก อีกทั้ง(เศรษฐกิจที่ยังคงขยายตัวท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ความต้องการบริโภคอาหารของชาวจีนยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก โดยเฉพาะอาหารพร้อมรับประทานเนื่องจากรูปแบบการใช้ชีวิตของชาวจีนและการพัฒนาระบบการค้าปลีกที่เปลี่ยนแปลงไปดังนี้

  • รูปแบบการดำเนินชีวิตของชาวจีนในเมืองใหญ่มีความเร่งรีบมากขึ้น อันเป็นผลจากการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในเมืองสำคัญ อาทิ ปักกิ่ง เซียงไฮ้ และกวางโจว ขณะที่กลุ่มคนวัยทำงานและกลุ่มนักศึกษามีการแยกตัวออกมาจากครอบครัวมากขึ้น(ทำให้ความต้องการอาหารพร้อมบริโภคและอาหารที่สามารถเก็บได้นานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
  • ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ต และไฮเปอร์มาร์เก็ต ส่งผลให้มีช่องทางเพิ่มขึ้นในการจำหน่ายสินค้าสู่ผู้บริโภคโดยตรง ประกอบกับร้านค้าปลีกสมัยใหม่ดังกล่าวเน้นจำหน่ายสินค้าอาหารด้วยการเน้นมาตรฐานในการรักษาความเย็นในตู้แช่เย็นแช่แข็ง อีกทั้งมีระบบโลจิสติกส์ในการขนส่งสินค้าอาหารแบบ Cold Chain ทำให้สินค้ามีคุณภาพและช่วยให้อาหารแช่เย็นแช่แข็งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ด้วย

"...“ชีวิตที่เร่งรีบมากขึ้นของชาวจีน ทำให้ความต้องการอาหารพร้อมรับประทานเพิ่มขึ้น...”

  • การขยายตัวของครัวเรือนที่มีตู้เย็น เป็นผลจากรายได้ของครอบครัวชาวจีนที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื้องตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยในปี 2552 ซึ่งรัฐบาลจีนมีมาตรการอุดหนุนการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า พบว่าตู้เย็นเป็นสินค้าที่ชาวจีนซื้อมากที่สุด

โครงสร้างตลาดอาหารพร้อมรับประทานของจีน : อาหารแห้งครองส่วนแบ่งตลาดนำลิ่ว

  • อาหารแห้งพร้อมรับประทาน ครองส่วนแบ่งตลาดอาหารพร้อมรับประทานในจีนมากถึงเกือบ 3 ใน 4 โดยมีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็น
สินค้าหลัก อย่างไรก็ตาม มูลค่าจำหน่ายอาหารแห้งพร้อมรับประทานในจีนขยายตัวเพียงร้อยละ 5 ในปี 2552 เนื่องจากการแข่งขันด้านราคาค่อนข้างสูง โดยเฉพาะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
  • อาหารแช่แข็งพร้อมรับประทาน ครองส่วนแบ่งตลาดอาหารพร้อมรับประทานในจีนมากเป็นอันดับ 2 ด้วยมูลค่าจำหน่ายที่ขยายตัวถึงร้อยละ 16 ในช่วงปี 2548-2552 จากการขยายตัวของจำนวนครัวเรือนที่ใช้ตู้เย็นและร้านค้าปลีกสมัยใหม่เป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญ ทั้งนี้อาหารแช่แข็งที่
ครองตลาดยังเป็นอาหารดั้งเดิมของชาวจีน อาทิ ติ่มซำ และบะหมี ซึ่งมีมูลค่าจำหน่ายราวร้อยละ 80 ของมูลค่าจำหน่ายอาหารแช่แข็งพร้อมรับประทานทั้งหมดในจีน
  • อาหารแช่เย็นพร้อมรับประทาน เป็นสินค้าที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ด้วยมูลค่าจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 15 ในช่วง
ปี 2548-2552 สาเหตุหลักมาจากรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันที่เร่งรีบมากขึ้นของชาวจีน โดยเฉพาะในเมืองสำคัญทางธุรกิจ อีกทั้งรสนิยมการบริโภคของชาวจีนที่นิยมอาหารแบบตะวันตกมากขึ้นทั้งนี่อาหารประเภทขนมอบครองส่วนแบ่งตลาดถึงร้อยละ 75 ของอาหารแช่เย็นพร้อมรับประทานในจีน ขณะที่อีกราวร้อยละ 20 เป็นอาหารประเภทบะหมีและและซอสปรุงสำเร็จแช่เย็น
"...ลักษณะอาหารดั้งเดิมของจีน อาทิบะหมี่และติ่มซำ ครองส่วนแบ่งตลาดอาหารแห้งและอาหารแช่เข็งพร้อมรับประทาน ขณะที่อิทธิพลของการกินแบบตะวันตกส่งผลชัดเจนในอาหารประเภทแช่เย็นพร้อมรับประทาน..."
  • อาหารพร้อมรับประทานบรรจุกระป๋อง มีส่วนแบ่งตลาดค่อนข้างน้อย และยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควรในกลุ่มอาหารปรุงสำเร็จทั้งนี้ อาหารประเภทซุปเป็นสินค้าหลักในหมวดอาหารพร้อมรับประทานบรรจุกระป๋อง

โอกาสของผู้ส่งออกไทย : ใช้ประโยชน์จาก FTA ให้มากขึ้น

  • ผู้ส่งออกสินค้าอาหารของไทยมีโอกาสเจาะตลาดอาหารพร้อมรับประทานในจีนเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า นอกเหนือจากปัจจุบันที่

ไทยส่งออกสินค้าอาหารไปจีนในรูปแบบของการป้อนเป็นวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรมอาหารของจีนเป็นหลักเนื่องจากจีนยังมีความต้องการบริโภคเพิ่ม

ขึ้นอีกมากอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับผู้ส่งออกสินค้าอาหารของไทยมีจุดแข็งด้านมาตรฐานการผลิต และความปลอดภัยของสินค้า นอกจากนี้ไทยยังได้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ซึ่งจีนได้ปรับลดอัตราภาษีนำเข้าสัตว์น้ำเหลือร้อยละ 0 ตั้งแต่ปี 2547 ขณะที่ปรับลดอัตราภาษีนำเข้าปลากระป๋องเหลือร้อยละ 5 ตั้งแต่ปี 2552 และลดเหลือร้อยละ 0 ในปี 2553 ทั้งนี้ ในปี 2552 ไทยส่งออกสัตว์น้ำไปจีนเป็นมูลค่า 97.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยราวร้อยละ 60 เป็นการส่งออกปลาแช่เย็นแช่แข็ง อีกร้อยละ 20 เป็นการส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ขณะที่การส่งออกอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปไปจีนยังคงมีมูลค่าเพียง 6.18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2552 สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์จาก

เขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน พบว่าในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2552 ผู้ส่งออกไทยมีการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการส่งออกปลาแช่แข็งราวร้อยละ 56 ของมูลค่าส่งออกปลาแช่แข็งไปจีนทั้งหมด กุ้งแช่แข็งใช้สิทธิ์ราวร้อยละ 44 ปลาทูน่ากระป๋องใช้สิทธิ์ราวร้อยละ 46

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย กันยายน 2553--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ