ตลาดสินค้าอาหารในอินโดนีเซีย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 8, 2010 13:45 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ข้อมูลที่น่าสนใจ

          จำนวนผู้บริโภค        :    240 ล้านคน

รายได้เฉลี่ยต่อหัว : 2,200 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี

มูลค่าตลาดอาหาร : 41,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

มูลค่านำเข้าสินค้าอาหาร : 8-9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทำไมตลาดสินค้าอาหารในอินโดนีเซียจึงน่าสนใจ

  • เป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ด้วยจำนวนประชากรมากถึง 240 ล้านคนหรือเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมดของอาเซียนซึ่งมีประมาณ 560 ล้านคน
  • ชาวอินโดนีเซียนิยมซื้อสินค้าอาหาร ทั้งซื้อเพื่อรับประทานเองและซื้อเป็นของฝากให้แก่กัน จนส่งผลให้ชาวอินโดนีเซียมีค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าอาหารและเครื่องดื่มเฉลียต่อเดือนสูงถึงราวร้อยละ 50 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด
  • จำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารหลายชนิด โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี ผัก ผลไม้ และนม แต่ละปีมีมูลค่านำเข้าราว 8-9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

โอกาสของสินค้าอาหารไทยในอินโดนีเซีย

แม้ปัจจุบันมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร จากไทยไปอินโดนีเซียยังไม่สูงนัก แต่อาหารเป็นหนึ่งในสินค้าไทยที่มีศักยภาพสูงในการเข้าไปเจาะตลาดอินโดนีเซีย เพราะนอกจากอินโดนีเซียจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าอาหารจำนวนมากในแต่ละปีแล้ว ยังมีปัจจัยสนับสนุนอีกหลากหลายประการ ดังนี้

  • ชาวอินโดนีเซียนิยมอาหารรสจัดและใช้เครื่องเทศหลากหลายชนิดคล้ายกับอาหารไทย
  • สินค้าอาหารจากไทยส่วนใหญ่มีราคาไม่สูงนัก สอดคล้องกับพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าของชาวอินโดนีเซียที่นิยมเลือกซื้อสินค้าโดยให้ความสำคัญกับราคาเป็นสำคัญ เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่มีรายได้ปานกลางถึงตำ
  • ชาวอินโดนีเซียมีทัศนคติที่ดีต่อสินค้าอาหารของไทย เนื่องจากมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับเมื่อเทียบกับสินค้าอาหารของประเทศคู่แข่ง อาทิ เวียดนามและจีน ซึ่งมีราคาใกล้เคียงกัน
  • ระยะเวลาขนส่งสินค้าทางเรือจากไทยไปอินโดนีเซียใช้เวลาเพียง 5-7 วัน ขณะที่ใช้การขนส่งสินค้าทางเรือไปตลาดส่งออกหลักของไทยใช้เวลามากกว่า อาทิ ญี่ปุ่นใช้เวลาประมาณ 10-15 วัน และสหรัฐฯ ประมาณ 25-30 วัน
  • อัตราภาษีนำเข้าสินค้าอาหารที่อินโดนีเซียเรียกเก็บจากไทยค่อนข้างต่ำ โดยสินค้าเกือบทุกรายการถูกเรียกเก็บภาษีที่อัตราร้อยละ 0 ตั้งแต่ปี 2553 ภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area : AFTA)

ด้วยปัจจัยสนับสนุนดังกล่าว จึงคาดว่าสินค้าอาหารของไทยจะมีโอกาสขยายตัวดีในอินโดนีเซีย โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เร่งรุกตลาด เพื่อรับแต้มต่อจากการที่อินโดนีเซียปรับลดอัตราภาษีนำเข้าเหลือร้อยละ 0 ภายใต้ข้อตกลง AFTAและเพื่อเข้าตลาดก่อนที่นโยบายเพิ่มผลผลิตภาคเกษตรกรรมและประมงให้เพียงพอกับความต้องการบริโภคของอินโดนีเซียอาจนำไปสู่การปกป้องอุตสาหกรรมอาหารในประเทศในระยะต่อไป ทั้งนี้ สินค้าอาหารที่ผู้ประกอบการไทยขอใช้สิทธิประโยชน์เพื่อส่งออกไปอินโดนีเซียภายใต้ข้อตกลง AFTA สูงสุดในปัจจุบันได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง รองลงมา คือ ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป ไขมันและนำมันจากพืชและสัตว์

นอกจากสินค้าอาหารที่ต้องช่วงชิงตลาดโดยใช้การแข่งขันด้านราคาเป็นหลักแล้ว สินค้าอาหารที่มีราคาแพงของไทย อาทิทุเรียน ก็มีศักยภาพเข้าไปเจาะตลาดอินโดนีเซียได้เช่นกัน โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรที่มีรายได้ค่อนข้างสูงสูงมากที่แม้มีเพียงร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ แต่คิดเป็นจำนวนมากถึง 20-30 ล้านคน

สินค้าอาหารที่มีศักยภาพในการเจาะตลาดอินโดนีเซีย

อาหารพร้อมรับประทาน (Ready to eat) เนื่องจากปัจจุบันวิถีชีวิตของชาวอินโดนีเซียเร่งรีบขึ้นมีชั่วโมงการทำงานต่อวันยาวนานขึ้นประกอบกับสตรีชาวอินโดนีเซียออกไปทำงานนอกบ้านมากขึ้นจึงมีเวลาเตรียมอาหารน้อยลง ส่งผลให้อาหารพร้อมรับประทานเป็นที่ต้องการมากขึ้น โดยเกาะชวานับเป็นตลาดอาหารพร้อมรับประทานที่มีศักยภาพเนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่ถึงร้อยละ 60 ของประชากรทั้งประเทศ และเป็นพื้นที่ตั้งของเมืองธุรกิจสำคัญ เช่น จาการ์ตา ทั้งนี้อาหารพร้อมรับประทานที่นิยมมากในอินโดนีเซียในปัจจุบัน คือ อาหารทะเลพร้อมรับประทานทั้งแบบแช่แข็งและบรรจุกระป๋อง บะหมีกึ่งสำเร็จรูป และของขบเคี้ยวที่มีรสชาติหวานและเค็ม

อาหารฮาลาล เนื่องจากอินโดนีเซียมีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก(ประมาณ 200 ล้านคน หรือกว่าร้อยละ 10 ของประชากรมุสลิมทั่วโลก)และยังมีความต้องการนำเข้าสินค้าฮาลาลสูง สำหรับสินค้าอาหารฮาลาลของไทยที่มีศักยภาพในการส่งออก ได้แก่ อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูปผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกแช่แข็งและแปรรูป รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปอื่นๆและเครื่องปรุงรส ทั้งนี้สินค้าอาหารฮาลาลที่จะวางจำหน่ายในอินโดนีเซียควรได้รับการรับรองตราสัญลักษณ์ฮาลาลจากหน่วยงานที่อินโดนีเซียให้การยอมรับเท่านั้น อาทิ สถาบันประเมินอาหาร ยา และเครื่องสำอางของสภาอุละมา (Majelis Ulama Indonesia : MUI) ซึ่งเป็นหน่วยงานมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย และเมื่อได้รับการรับรองและอนุญาตให้ติดเครื่องหมายฮาลาลบนผลิตภัณฑ์แล้ว ควรแสดงเครื่องหมายให้เห็นชัดเจนบนฉลากสินค้า

"...ข้อควรรู้ : อินโดนีเซียเข้มงวดมากขึ้น กับการตรวจสอบมาตรฐานฮาลาล และอยู่ระหว่างการปรับปรุงระเบียบการรับรองฮาลาล เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าที่ติดฉลากฮาลาลเป็นไปตามข้อปฏิบัติทางศาสนา ส่งผลให้ในช่วง 1-2 ปีทีผ่านมาพบว่า มีผู้ส่งออกหลายรายประสบปัญหาในการส่งออกอาหารฮาลาลไปอินโดนีเซีย เนื่องจากอินโดนีเซียไม่ยอมรับใบรับรองฮาลาลจากหน่วยงานบางแห่งของบางประเทศ..."

ลักษณะของสินค้าอาหารที่มีแนวโน้มเป็นที่นิยม

  • อาหารแบบตะวันตก แม้ข้าวยังเป็นอาหารหลักของชาวอินโดนีเซีย แต่พบว่าชาวอินโดนีเซียหันมานิยมบริโภคอาหารแบบตะวันตกมากขึ้นอาทิ ขนมปัง พาสตาและสปาเกตตี สังเกตได้จากร้านอาหารหลายแห่งเริ่มนำเข้ามาบรรจุในรายการอาหาร
  • อาหารที่บรรจุในหีบห่อขนาดเล็ก มีแนวโน้มได้รับความนิยมมากทั้งในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและผู้มีรายได้สูง
  • ผู้มีรายได้น้อย นิยมเลือกซื้อสินค้าอาหารที่บรรจุอยู่ในหีบห่อขนาดเล็กพอเหมาะสำหรับการบริโภคในแต่ละมือหรือในแต่ละวันมากกว่าอาหารที่บรรจุอยู่ในหีบห่อขนาดใหญ่ซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมากขึ้นในการซื้อแต่ละครั้ง
  • ผู้มีรายได้สูง นิยมเลือกซื้ออาหารบรรจุในหีบห่อขนาดเล็ก เพื่อาหารแบบตะวันตก แม้ข้าวยังเป็นอาหารหลักของชาวอินโดนีเซีย แต่พบว่าชาวอินโดนีเซียหันมานิยมบริโภคอาหารแบบตะวันตกมากขึ้น อาทิ ขนมปัง พาสตาและสปาเกตตี สังเกตได้จากร้านอาหารหลายแห่งเริ่มนำเข้ามาบรรจุในรายการอาหาร

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอินโดนีเซียยังขาดแคลนห้องเย็นเพื่อใช้เก็บรักษาสินค้าอาหาร ผู้ส่งออกสินค้าอาหารไปอินโดนีเซีย จึงควรเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทนต่ออากาศร้อนได้ดี หรือเลือกส่งออกสินค้าอาหารที่ไม่ต้องเก็บรักษาในอุณหภูมิตำมาก

กฎระเบียบการนำเข้าสินค้าอาหาร

การจดทะเบียน การนำเข้าและจำหน่ายสินค้าอาหารในอินโดนีเซีย ผู้ประกอบการต้องขอจดทะเบียนกับ National Agency for Drug and Food Control ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบสินค้าอาหารของอินโดนีเซีย กระบวนการนี้ค่อนข้างซับซ้อนและใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน ทั้งนี้ผู้ส่งออกควรแต่งตั้งให้ผู้นำเข้าหรือตัวแทนจำหน่ายสินค้าในอินโดนีเซียเป็นตัวแทนยืนเรื่องจดทะเบียนสินค้ากับหน่วยงานดังกล่าว

การปิดฉลาก สินค้าอาหารที่วางจำหน่ายในอินโดนีเซียต้องติดฉลากระบุรายละเอียดต่างๆ ตามที่ทางการกำหนดอาทิ ตราสินค้า ชื่อและที่อยู่ของผู้ผลิต ประเทศผู้ผลิต และส่วนผสมของวัตถุดิบ เป็นภาษาอังกฤษ หรือภาษาอินโดนีเซียส่วนสินค้าประเภทเนื้อสัตว์หากเป็นฮาลาล ควรปิดฉลากเครื่องหมายฮาลาลด้วย

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2551 รัฐบาลอินโดนีเซียได้กำหนดให้สินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่นำเข้ามาในช่วงระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2552-31 ธันวาคม 2553 ต้องนำเข้าโดยผู้นำเข้าที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐมนตรีการค้าของอินโดนีเซีย และการนำเข้าต้องผ่านท่าเรือที่กำหนดไว้ 5 แห่ง เท่านั้น คือ Belawan เมือง Medan, Tanjung Priok กรุง Jakarta, Tanjung Emasเมือง Semarang, Tanjung Perak เมือง Surabaya และ Soekarno Hatta เมือง Makassar รวมถึงท่าอากาศยานระหว่างประเทศทุกแห่ง นอกจากนี้ สินค้านำเข้าดังกล่าวต้องผ่านการตรวจสอบทางเทคนิคโดยผู้สำรวจ (Surveyor) ที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐมนตรีการค้าของอินโดนีเซียที่ท่าเรือขนส่งสินค้าต้นทางก่อนส่งออก

ท่าเรือ 5 แห่งที่อนุญาตให้นำเข้าสินค้าอาหาร(ที่มา : www.worldportsource.com)

ข้อมูลที่น่าสนใจของท่าเรือ

1. ท่าเรือ Belawan ขนส่งสินค้าได้ประมาณปีละ 2 แสนตัน

2. ท่าเรือ Tanjung Priok เป็นท่าเรือใหญ่ที่สุดของประเทศ มีปริมาณสินค้าผ่านท่าเรือปีละประมาณ 2.1 ล้านตัน

3. ท่าเรือ Tanjung Emas มีปริมาณสินค้าผ่านท่าเรือประมาณปีละ 2.6 แสนตัน

4. ท่าเรือ Tanjung Perak ขนส่งสินค้าได้ปีละ 1.2 ล้านตัน

5. ท่าเรือ Soekarno Hatta มีปริมาณสินค้าผ่านท่าเรือประมาณปีละ 1.8 แสนตัน

ที่มา : www.boi.go.th

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย กันยายน 2553--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ