ข้อมูลที่น่าสนใจ
จำนวนประชากร : 50 ล้านคน
รายได้เฉลี่ยต่อหัว : 17,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี
จำนวนผู้ป่วยต่างชาติ : 70,000 คนต่อปี
ปริมาณนำเข้าถุงมือผ่าตัด : 74 ล้านคู่ต่อปี
ความน่าสนใจของตลาด
- ธุรกิจการแพทย์ของเกาหลีใต้มีแนวโน้มขยายตัวสูง โดยเฉพาะการผ่าตัดศัลยกรรมเสริมความงาม ส่งผลให้ความต้องการถุงมือผ่าตัดขยายตัวสูงด้วย
- ประชากรของเกาหลีใต้มีกำลังซื้อสูง (GDP per Capita อันดับ30 ของโลก) และให้ความสำคัญกับการผ่าตัดเสริมความงาม(กว่าร้อยละ 50 ของประชากรอายุ 25 ปีขึ้นไปเคยผ่าตัดศัลยกรรม)
- เกาหลีใต้เป็นประเทศผู้นำเข้าถุงมือผ่าตัดรายใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของเอเชีย รองจากจีนและญี่ปุ่น
“ธุรกิจการแพทย์ของเกาหลีใต้เติบโตอย่างต่อเนื่อง จากทั้ง สัดส่วนจำนวนประชากรในประเทศที่สนใจผ่าตัดเสริมความงามในระดับสูง และอัตราขยายตัวของจำนวนผู้ป่วยต่างชาติที่สูงถึงร้อยละ 30 ต่อปี จากปัจจุบันที่ผู้ป่วยต่างชาติในเกาหลีใต้ยังมีเพียง 70,000 คนต่อปี เทียบกับไทย ที่ 1.3 ล้านคนต่อปี”
ถุงมือยางที่ใช้ทางการแพทย์แบ่งได้ 2 ประเภท ได้แก่
1) ถุงมือผ่าตัด (Surgical Glove)
2) ถุงมือตรวจโรค (Examination Glove)
โครงสร้างตลาด : พึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก
- เกาหลีใต้ผลิตถุงมือผ่าตัดได้น้อยมาก เนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบยางธรรมชาติและค่าจ้างแรงงานสูง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตอยู่ในระดับสูง
- ตลาดถุงมือผ่าตัดของเกาหลีใต้ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะมาเลเซียและไทยซึ่งเป็นแหล่งนำเข้า
- แม้การนำเข้าถุงมือผ่าตัดของเกาหลีใต้ ปี 2552 มีมูลค่า 10.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 2.6 เนื่องจากได้รับผลกระทบ
จากวิกฤตเศรษฐกิจโลก แต่หากพิจารณามูลค่านำเข้าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2543-2552) จะเห็นได้ว่ามูลค่านำ เข้ามีอัตราขยายตัวเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 18.2 ต่อปี
ขั้นตอนและระเบียบการนำเข้าถุงมือผ่าตัดของเกาหลีใต้ มีดังนี้
1) ผู้นำเข้าเตรียมเอกสารต่างๆ ได้แก่ ผลการทดสอบความปลอดภัยและความถูกต้องของสินค้า ผลการทดสอบมาตรฐานสินค้า ใบรับรองการอนุมัติผลการทดสอบ และใบอนุญาตการเป็นผู้นำเข้าและผู้จัดจำหน่ายสินค้าภายในประเทศทั้งนี้ การทดสอบสินค้าต้องดำเนินการโดยห้องแล็บที่ได้รับการรับรองจาก KFDA (Korea Food and Drug Administration)
2) ผู้นำเข้าส่งเอกสารในข้อ 1 และตัวอย่างสินค้าที่ต้องการนำเข้าแก่คณะกรรมการตรวจคุณสมบัติของ KFDA
3) ผู้นำเข้าจะสามารถนำเข้าสินค้าได้ก็ต่อเมื่อได้รับใบอนุญาตการนำเข้าจาก KFDA ซึ่งใช้เวลาราว 1-2 เดือนหลังจากผู้นำเข้าส่งเอกสารทั้งหมดแก่ KFDA
ลักษณะความต้องการและรสนิยม : นิยมถุงมือผ่าตัดขนาด 6-8.5 นิ้ว
รายการ ลักษณะ ขนาด ถุงมือผ่าตัดขนาด 6-8.5 นิ้ว ได้รับความนิยมมากที่สุด ราคา ราคานำเข้าอยู่ที่คู่ละ 0.10-0.14 ดอลลาร์สหรัฐ (FOB)
ราคาจำหน่ายอยู่ที่คู่ละ 370-380 วอน หรือราว 0.30-0.31 ดอลลาร์สหรัฐ
รสนิยม ในอดีตแพทย์เกาหลีใต้ส่วนใหญ่เชื่อมั่น มาตรฐานถุงมือผ่าตัดของสหรัฐฯ มากที่สุด
เนื่องจากแพทย์ส่วนใหญ่จบการศึกษาจากสหรัฐฯ ทำให้มีความเคยชินและมั่นใจใน
คุณภาพสินค้าสหรัฐฯ แต่ในข้อเท็จจริงถุงมือผ่าตัดของสหรัฐฯ ส่วนใหญ่นำเข้าจาก
มาเลเซียและไทย ก่อนนำไปติดตราผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกต่อไป
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเกาหลีใต้ลดการใช้ถุงมือผ่าตัดจากสหรัฐฯ แต่หันไปใช้ถุงมือผ่าตัด
จากมาเลเซียและไทยที่มีราคาถูกกว่าแทน
การบรรจุหีบห่อ สินค้าจำนวน 1 กล่อง ประกอบด้วยถุงมือผ่าตัดจำนวน 200 คู่ ถุงมือผ่าตัดแต่ละคู่แยกบรรจุในถุงพลาสติกใส ช่องทางการจัดจำหน่าย มี 3 รูปแบบ ได้แก่
1) ผู้นำเข้า>ผู้จัดจำหน่ายภายในประเทศ>ผู้บริโภค
2) ผู้นำเข้า>ผู้บริโภค
3) ผู้บริโภคสั่งซื้อโดยตรง
โอกาสของผู้ส่งออกไทย : AKFTA เพิ่มโอกาสในการส่งออก
- ประเทศไทยมีความได้เปรียบด้านต้นทุนวัตถุดิบ เนื่องจากเป็นแหล่งเพาะปลูกยางพาราใหญ่ที่สุดของโลก ทั้งนี้ โครงสร้างต้นทุนการผลิตถุงมือผ่าตัดประกอบด้วยต้นทุนวัตถุดิบยางพาราสูงที่สุดด้วยสัดส่วนร้อยละ 30 ของต้นทุนการผลิตโดยรวมประเทศไทยดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางจากนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงการผลิตถุงมือผ่าตัด โดยปัจจุบันมีโรงงานผลิตถุงมือผ่าตัดของไทยที่ร่วมทุนกับนักลงทุนต่างชาติ ทั้งสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และเยอรมนี
- ถุงมือผ่าตัดของไทยได้รับการยอมรับในตลาดเกาหลีใต้มากขึ้น สะท้อนจากมูลค่าส่งออกถุงมือผ่าตัดของไทยไปเกาหลีใต้ในปี 2552 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ104.1 ขณะที่มูลค่าส่งออกของคู่แข่งอย่างมาเลเซียขยายตัวเพียงร้อยละ 7.6
- อัตราภาษีนำเข้าถุงมือยางที่เกาหลีใต้เรียกเก็บจากไทยอยู่ที่ร้อยละ 0 จากผลของข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ (AKFTA) ขณะที่การนำเข้าถุงมือยางจากประเทศอื่นๆ ต้องเสียภาษีร้อยละ 8 ทั้งนี้ จากการศึกษาของฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธสน. พบว่า ราคามีผลต่อการตัดสินใจนำเข้าถุงมือผ่าตัดในเกาหลีใต้ สังเกตได้จากปริมาณถุงมือผ่าตัดที่นำเข้าเพิ่มขึ้นเมื่อราคานำเข้าลดลง ดังนั้น ข้อตกลง AKFTA จึงน่าจะยิ่งเพิ่มโอกาสให้กับถุงมือผ่าตัดส่งออกจากไทยมากขึ้น
ราคานำเข้าถุงมือผ่าตัดลดลง 1% > ปริมาณนำเข้าเพิ่มขึ้น 1.8%
“แม้อัตราการใช้สิทธิ์ AKFTA ของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากข้อตกลงเพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2553 อย่างไรก็ตาม คาดว่าผู้ส่งออกไทยจะหันมาใช้สิทธิ์จากข้อตกลงนี้มากขึ้นในระยะต่อไป” ---------------------------------------------------------------------------------------------------------
ข้อสังเกต : ผู้ส่งออกถุงมือยางของไทยมีเพียงร้อยละ 10 ที่ส่งออกถุงมือผ่าตัด ขณะที่อีกร้อยละ 90 ส่งออกถุงมือตรวจโรค ซึ่งผู้ส่งออกถุงมือตรวจโรคสามารถขยายการผลิตเพื่อส่งออกถุงมือผ่าตัดเพิ่มขึ้น หากสามารถพัฒนาศักยภาพให้สูงขึ้นได้ ---------------------------------------------------------------------------------------------------------
ภาวะการแข่งขันในตลาด : มาเลเซียเป็นคู่แข่งสำคัญ แต่ไทยได้เปรียบด้านวัตถุดิบ
การแข่งขันในตลาดถุงมือผ่าตัดของเกาหลีใต้ ส่วนใหญ่เป็นการแข่งขันระหว่างมาเลเซียกับไทยเป็นหลัก เนื่องจากทั้งสองประเทศครองส่วนแบ่งตลาดราวร้อยละ 80 ของปริมาณนำเข้าถุงมือผ่าตัดทั้งหมดของเกาหลีใต้ ทั้งนี้ มาเลเซียถือเป็นคู่แข่งที่มีศักยภาพสูง โดยเป็นผู้ส่งออกถุงมือผ่าตัดอันดับ 1 ของโลก อย่างไรก็ตาม มาเลเซียมีต้นทุนวัตถุดิบสูงกว่าไทย เนื่องจากต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบน้ำยางข้นจากไทย ขณะที่คู่แข่งอื่นๆ เช่น จีน ศรีลังกา สหรัฐฯ และอินเดีย มีส่วนแบ่งตลาดไม่มากนัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่มีส่วนแบ่งตลาดลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับในอดีต เนื่องจากถุงมือผ่าตัดจากสหรัฐฯ มีราคาแพง ประกอบกับผู้ประกอบการสหรัฐฯ เข้าไปร่วมทุนจัดตั้งโรงงานผลิตถุงมือผ่าตัดในมาเลเซียและไทยมากขึ้น ตลอดจนผู้บริโภคเริ่มให้ความเชื่อถือถุงมือผ่าตัดจากมาเลเซียและไทยมากขึ้น
ทั้งนี้ กลยุทธ์การแข่งขันเน้นการแข่งขันด้านราคา โดยมีมาตรฐานคุณภาพเป็นปัจจัยกำกับ อย่างไรก็ตาม การเปิดเขตการค้าเสรี AKFTA ซึ่งทำให้ราคานำเข้าถุงมือผ่าตัดจากอาเซียนลดลง คาดว่าจะยิ่งส่งผลให้คู่แข่งในตลาดถุงมือผ่าตัดของเกาหลีใต้ลดจำนวนลงเหลือเพียงมาเลเซียและไทย ซึ่งได้รับประโยชน์จากข้อตกลงดังกล่าวมากที่สุด
แนวโน้มตตลาด : เติบโตตามธุรกิจศัลยกรรมเสริมความงาม
ตลาดถุงมือผ่าตัดของเกาหลีใต้มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง จากการขยายตัวของธุรกิจการแพทย์ โดยเฉพาะการศัลยกรรม เสริมความงาม ซึ่งปัจจุบันเรียกได้ว่าเกาหลีใต้เป็นศูนย์กลางศัลยกรรมเสริมความงามใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยตั้งเป้าจำนวนผู้ป่วยต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านคนต่อปี ภายในปี 2563 จากปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยต่างชาติราว 70,000 คนต่อปี ขณะที่ประชากรในประเทศให้ความสำคัญกับการเสริมความงามและการรักษาพยาบาลอย่างมาก สะท้อนจากค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของเกาหลีใต้ ปี 2550 อยู่ที่ 1,688 (PPP int. $/ คน/ปี)* ขยายตัวร้อยละ 9.6 ต่อปี สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 863 (PPP int. $/คน/ปี) ตลอดจนเศรษฐกิจของเกาหลีใต้มีความแข็งแกร่งและมีแนวโน้มขยายตัวดี โดย IMF คาดว่าเศรษฐกิจเกาหลีใต้ในปี 2553 และปี 2554 จะขยายตัวราวร้อยละ 4.5 และร้อยละ 5.0 ตามลำดับ ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนข้างต้นคาดว่าจะส่งผลให้ความต้องการถุงมือผ่าตัดของเกาหลีใต้ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
หมายเหตุ : * PPP int. $ เป็นการคิดค่าใช้จ่ายตามหลักความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ (Purchasing Power Parity) ซึ่งขจัดผลของอัตราเงินเฟ้อและอัตราแลกเปลี่ยนที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบอำนาจซื้อที่แท้จริงของแต่ละประเทศได้
“หาก GDP ของเกาหลีใต้ขยายตัวร้อยละ 1 จะส่งผลให้ปริมาณนำเข้าถุงมือผ่าตัดขยายตัวร้อยละ 3.7”
(ที่มา : ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธสน.)
ตัวชี้วัดการใช้จ่ายด้านสุขภาพของเกาหลีใต้
ตัวชี้วัด ปี 2543 ปี 2550 สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพต่อ GDP (%) 4.7 6.3 สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของรัฐบาลต่อค่าใช้จ่ายรวมของรัฐบาล (%) 9.4 12.1 ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพรายบุคคล(ดอลลาร์สหรัฐ/คน/ปี) 536 1,362 ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพรายบุคคล(PPP int. $/คน/ปี) 809 1,688
ประมาณการอัตราขยายตัว GDP ของเกาหลีใต้
2552 2553 2554 2555 2556 2557 2558 GDP (%) 0.2 4.5 5.0 4.1 4.1 4.0 4.0
หมายเหตุ : GDP ณ ราคาคงที่
ที่มา : IMF
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย กันยายน 2553--