รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะการค้าภูมิภาคละตินอเมริกา ระหว่างวันที่ 16-31 ส.ค. 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 7, 2010 09:30 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ประเทศ

ชิลี และเขตพื้นที่ดูแลของ สคร. ณ กรุงซานติอาโก ได้แก่ เปรู โคลัมเบีย และเอกวาดอร์

ประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและภาวะการค้า

1. ภาวะการค้ากับประเทศไทย

1.1 ในช่วงเดือนมกราคม — กรกฎาคม 2553 การส่งออกจากไทยไปตลาดชิลี โคลัมเบีย เอกวาดอร์ และเปรู โดยรวมมีมูลค่า 839 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 130 ซึ่งเป็นอัตราเพิ่มที่สูงกว่าสภาวะการณ์การส่งออกของไทยไปกลุ่มประเทศดังกล่าวในเดือนมกราคม-มิถุนายน 2553 ซึ่งมีมูลค่า 676 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 111

1.2 ในทุกตลาด สถานะการณ์การส่งออกของไทยในช่วงมกราคม-กรกฎาคม 2553 มีอัตราเพิ่มที่สูงขึ้นกว่าอัตราเพิ่มในช่วงมกราคม- มิถุนายน 2553ได้แก่

  • ชิลี มูลค่าการส่งออก 289 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 355 (มกราคม — มิถุนายน 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 327)
  • โคลัมเบีย มูลค่าการส่งออก 207 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 54 (มกราคม-มิถุนายน 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 42)
  • เปรู มูลค่าการส่งออก 166 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 280 (เดือนมกราคม — มิถุนายน 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 247)
  • เอกวาดอร์ มูลค่าการส่งออก 176 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 44 (มกราคม —มิถุนายน 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 26)

1.3 สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้นมากและมีศักยภาพการส่งออกสูงในทุกตลาดดังกล่าว ยังคงเป็น รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ การส่งออกไปชิลีขยายตัว 2,455 % ไปเปรูขยายตัว 697% ไปโคลัมเบีย ขยายตัว 89% ไปเอกวาดอร์ ขยายตัว 53% ส่วนสินค้าส่งออกรายการสำคัญอื่นๆไปตลาดนี้ ได้แก่ เครื่องซักผ้า อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลี 74% ไปเปรูขยายตัว 517% ไปโคลัมเบีย ขยายตัว 4% ไปเอกวาดอร์ ขยายตัว 159% ตู้เย็น อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลี 198% ไปเปรูขยายตัว 86% ไปโคลัมเบีย ขยายตัว 32% อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลี 62% เครื่องยนต์สันดาปภายใน อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลี 273% ไปเปรูขยายตัว 1,331% ไปโคลัมเบีย ขยายตัว 199% ไปเอกวาดอร์ ขยายตัว 27% ผลิตภัณฑ์ยาง อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลี 33% ไปเปรูขยายตัว 56% ไปโคลัมเบีย ขยายตัว 56% ไปเอกวาดอร์ ขยายตัว 22% เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลี -13% ไปเปรูขยายตัว 136% ไปโคลัมเบีย ขยายตัว -63% ไปเอกวาดอร์ ขยายตัว -5% (- = หดตัว)

2. ประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ

2.1 คาดว่าการขยายตัวของการส่งออกของไทยไปยังตลาดนี้ยังมี momentum ต่อไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ยังคงขยายตัว หลังจากนั้น อาจจะค่อยๆชะลอตัวลงเมื่อตลาดอิ่มตัว

2.2 สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการค้าที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของตลาดและมีผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าจากไทยที่สำคัญ ได้แก่

2.2.1 หอการค้า National Automotive Trade Chamber ในชิลี เปิดเผยว่า จากการที่ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจของชิลีในปีนี้มีเสถียรภาพมากกว่าปีที่แล้ว ทำให้ยอดขายทั้งรถยนต์ใหม่และรถยนต์ใช้แล้วในชิลียังคงสูงขึ้น โดยในเดือนมิถุนายน 2553 ยอดขายรถใช้แล้วสูงขึ้นร้อยละ 10 ในขณะที่ยอดขายรถยนต์ใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 88.6 หลังจากที่มียอดขายตกลงถึงร้อยละ 49 ในปีที่แล้ว ทั้งนี้ หอการค้าฯ คาดหวังว่า ยอดขายรถยนต์ในชิลีในปี 2010 ทั้งรถยนต์ใหม่และรถใช้ แล้วจะมีปริมาณประมาณ 640,000 คัน

2.2.2 จากรายงานซึ่งเปิดเผยโดย General Directorate of International Economic Relation (DIRECON) เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2553 การลงทุนของชิลีในต่างประเทศในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่ารวม 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 61.6 จากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน ประเทศที่ชิลีไปลงทุนเพิ่มขึ้นมากได้แก่ โคลัมเบีย บราซิล และเปรู ซึ่งมีการลงทุนส่วนใหญ่ในธุรกิจบริการ เช่น ธุรกิจบริการค้าปลีก ประเภทศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า และไฮเปอร์มาร์เก็ต โดยมีประเทศกลุ่มเป้าหมายในการลงทุนใหม่ๆ คือ ปากีสถาน ตุรกี แซมเบีย และบังคลาเทศ

2.2.3 สมาคม Association of Luxury Brands and HBC เปิดเผยว่า จากการที่เศรษฐกิจของชิลีฟื้นตัวจากอุบัติภัยแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 และการที่ค่าเงินเปโซชิลีแข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ ทำให้คาดว่า ตลาดสินค้า High-End Brand จะขยายตัวเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2010 ประมาณร้อยละ 10 — 15

2.2.4 ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2010 อุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองแดงในชิลีทำกำไรเพิ่มขึ้นมาก เพียงเฉพาะ 3 กลุ่มบริษัทเหมืองแร่สำคัญของชิลีได้ประกาศผลกำไรว่ามีถึง 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ บริษัทเหมืองแร่รายใหญ่ในชิลี ได้แก่ Escondida, BHP Billiton และ Antofagasta Minerals SA ทั้งนี้ แร่ทองแดงเป็นสินค้าส่งออกรายการสำคัญที่สุดของชิลีและมีบทบาทมากที่สุดต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ

กิจกรรมที่ดำเนินการระหว่างวันที่ 16-31 ส.ค. 53

1. จัดโครงการเทศกาลอาหารไทยร่วมกับห้าง Hypermarket TOTTUS เพื่อส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์อาหารไทยในชิลี ที่ TOTTUS จำนวน 3 สาขาหลัก คือสาขา Kennedy, Nataniel และ El Bosque ในกรุงซานติอาโก แห่งละสัปดาห์ระหว่างวันที่ 2 — 22 สิงหาคม 2553

2. จัดทำข้อมูลประกอบการจัดคณะผู้แทนระดับสูงนำโดย ฯพณฯ รมช. พณ. ซึ่งจะเดินทางไปเยือนเปรูและชิลี ระหว่างวันที่ 4 — 7 กันยายน 2553 รวมทั้งประสานงาน สอท. ณ กรุงลิมา และสอท. ณ กรุงซันติอาโก ในการจัดกำหนดการเยี่ยมคารวะพบปะบุคคลสำคัญภาครัฐ โดยในส่วนของสคร. ณ กรุงซานติอาโก เป็นผู้จัดทำนัดหมายพบปะสถาบันทางการค้าในภาคเอกชน รวมทั้งประสานงานในการจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการมาปฏิบัติราชการของคณะ

3. ขออนุมัติจัดคณะผู้แทนการค้าเดินทางมาเยือนงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับครั้งที่ 46 (The 46th Bangkok Gems & Jewelry Fair) จำนวน 14 ราย ประกอบด้วยแขกระดับ VIP จำนวน 11 ราย และคณะผู้แทนการค้าธรรมดาจำนวน 3 ราย

4. จัดทำรายงานสถานการณ์การค้าในภาพรวมกลุ่มสินค้าสำคัญ 10 รายการ

5. จัดทำรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะการค้าภูมิภาคละตินอเมริกา

6. ดำเนินการให้บริการนักธุรกิจไทยและชิลีที่ติดต่อขอรับบริการจากสำนักงานฯ

7. ประสานงานให้บริษัท Hertz ซึ่งเป็นธุรกิจให้เช่ารถรายใหญ่ที่สุดในชิลี ที่กำลังวางแผนธุรกิจที่จะเดินทางมาซื้ออะไหล่ซ่อมบำรุงรถในเครือข่ายการให้บริการของบริษัทฯ ที่ประเทศไทย ได้ติดต่อกับผู้ส่งออกไทย

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ