ข้อเสนอแนะในการเจาะ/ขยายตลาดชิลี

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 7, 2010 09:41 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ปัญหาเรื่อง Trade bloc ควรเร่งดำเนินการขั้นตอนการเจรจาจัดทำ FTA ไทย-ชิลี

2. ปัญหา Distance barrier ควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบการโลจิสติกส์เอกชนทั้งสองฝ่ายสร้างพันธมิตรในการพัฒนาเครือข่ายโลจิสติกส์

2.1 พัฒนาเครือข่ายการขนส่งทางเรือ สายการเดินเรือขนส่งสินค้า

2.2 สร้างพันธมิตรเพื่อเชื่อมโยงการบริหารจัดการของ forwarding agent ทั้งสองฝ่าย

2.3 หาลู่ทางเสริมสร้างพันธมิตรเครือข่ายโลจิสติกส์ทางอากาศเพิ่ม เช่น หาทางสร้างเครือข่ายระหว่าง Star Alliance ของการบินไทย กับเครือช่าย One World ของ LAN Chile เป็นต้น

3. รักษาและเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ให้ยังคงมีฐานการผลิตอยู่ในประเทศไทยโดยไม่ย้ายฐานการผลิตไปที่อเมริกาใต้ หากย้ายฐานการผลิตไปอเมริกาใต้ ไทยจะสูญเสียตลาดสินค้ากลุ่มนี้ทันที เพราะชิลีจะทำการนำเข้าจากตลาดในอเมริกาใต้ที่มีความได้เปรียบเรื่องระยะทางขนส่งและการเป็นเขตการค้าเสรีเดียวกัน แต่ปัจจุบัน ไทยยังมีศักยภาพทางการลงทุนในอุตสาหกรรมเหล่านี้สูงกว่าตลาดอเมริกาใต้ เนื่องจากตลาดอเมริกาใต้บางประเทศ เช่น ชิลี บราซิล อาร์เจนตินา มีต้นทุนด้านแรงงานที่แพงกว่า เพราะมีระดับมาตรฐานแรงงานที่สูงกว่าไทยมาก โดยมีกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่เข้มงวดและเอื้อประโยชน์ต่อแรงงานมาก บางประเทศมีมาตรฐานในระดับใกล้เคียงมาตรฐานยุโรป

4. เพิ่มมาตรการส่งเสริมสินค้าที่มีตราสินค้าไทยเป็นพิเศษ ให้มาเจาะขยายตลาดชิลีให้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากสินค้าที่มีตราสินค้าไทยส่วนใหญ่ เช่น สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้าสำเร็จรูป ยังมีศักยภาพในการเจาะขยายตลาดไปไม่ถึงภูมิภาคนี้

5. ปัจจุบันตลาดยังขาดความตระหนักถึงความสำคัญของกันและกัน (Lack of Awareness to each other) แต่เนื่องจากทั้งสองฝ่ายมีสินค้าอุปโภคบริโภค วัสดุปัจจัยการผลิต วัตถุดิบ ที่สามารถตอบสนองความต้องการของทั้งสองฝ่ายได้ จึงควรสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการทำการค้าระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้น โดยการจัด Mobile Unit ไปเผยแพร่สินค้าและบริการของไทยในตลาดส่วนภูมิภาคของชิลี เพื่อเสริมสร้างความตระหนักถึงความสำคัญในการทำการค้ากับประเทศไทย ในขณะเดียวกันทางฝ่ายประเทศไทยก็ควรเสริมสร้างความตระหนักในความสำคัญของการทำการค้ากับชิลีให้มากยิ่งขึ้น โดยการจัดฝึกอบรมสัมมนาเกี่ยวกับโอกาสในการเจาะขยายตลาดชิลี รสนิยมของผู้บริโภคในชิลี และให้ทราบถึงลักษณะตลาดชิลีซึ่งเป็นตลาดที่เปิด (open market) มีบรรยากาศการลงทุนที่ดี (user-friendly business atmosphere) โดยมีเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพพอสมควร และมีระบบการบริหารราชการที่มีความโปร่งใส (transparent) สามารถเป็นประตูการค้าสู่ภูมิภาคใกล้เคียงได้ตามสมควร (gateway for regional market) และมีการพัฒนาโอกาสทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

6. จัดลำดับความสำคัญสินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออก เลือกเฟ้นส่งเสริมสินค้าไทยรายการที่มีศักยภาพในการแข่งขันทางด้านราคาและคุณภาพเป็นลำดับแรก สินค้าบางรายการไม่มีศักยภาพทางการแข่งขันในด้านราคา เนื่องจากมีการผลิตอยู่ในตลาดชิลี เช่น ข้าวเจ้า สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลบางรายการ ผัก ผลไม้กระป๋องบางรายการ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น

7. ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมทางการค้า ควรจัดให้มีการเผยแพร่ทางด้านวัฒนธรรม การท่องเที่ยว ด้วย พร้อมๆกันไป เพื่อสร้างค่านิยมไทยในตลาด เพื่อนำไปสู่การขยายตลาดการค้า ทำนองเดียวกันกับประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งดำเนินการสร้างค่านิยมเกาหลีเพื่อขยายตลาดการค้าในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

8. รักษามาตรฐานสินค้าไทยให้อยู่ในระดับที่สูง รวมทั้งมาตรฐานด้านสุขอนามัย มาตรฐานความปลอดภัย มาตรฐานด้านการปลอดโรคพืชโรคสัตว์ รวมทั้งความปลอดโรคติดต่อต่างๆ ตัวอย่าง เช่น กรณีไข้หวัดนกทำให้สินค้าอื่นๆไม่จำเพาะแต่สินค้าไก่ เช่น สินค้าข้าวไทยเคยถูกจำกัดการนำเข้าในบางตลาดในอเมริกาใต้มาแล้ว เนื่องจากตลาดชิลีเป็นตลาดบริโภคนิยมคล้ายตลาดสหรัฐอเมริกา นิยมใช้ของคุณภาพดีพอสมควร รวมทั้งยกระดับมาตรฐานสินค้าทางอุตสาหกรรมของไทย เช่น สินค้ารถยนต์ ให้มีมาตรฐานใกล้เคียงกับยุโรป ทั้งนี้ เพื่อสร้างค่านิยมในตัวสินค้าไทยในตลาด และสอดคล้องกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรมของตลาด

9. การเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการค้า เช่น การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกับซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้าต่างๆ ยังเป็นกลยุทธ์ที่ดี โดยควรจัดทั้งในระดับใหญ่และในระดับเล็กด้วย เนื่องจากตลาดยังเป็น Emerging Market

10. พัฒนาฐานข้อมูลทางการค้า การลงทุน

11. การจัดคณะ goodwill mission เพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าในระดับรัฐ และมหาชน

12. ส่งเสริมให้มีการจัดทำความตกลงระหว่างหอการค้า สมาคมการค้า และสภาอุตสาหกรรมต่างๆ ของทั้งสองฝ่าย

13. การจัดคณะผู้แทนการค้า out-going mission หรือ selling missionจากไทยเยือนตลาดชิลี และการจัดคณะผู้แทนการค้า in-coming mission หรือ buying mission จากชิลีเยือนอุตสาหกรรมการส่งออกของไทย รวมทั้งเยือนงานแสดงสินค้าสำคัญของไทย ยังคงเป็นกลยุทธ์ที่ได้ผลอย่างเป็นรูปธรรม

14. ส่งเสริมการลงทุนประกอบธุรกิจบริการที่มีศักยภาพ เช่น ธุรกิจบริการร้านอาหารไทย ซึ่งมีศักยภาพในชิลี ในรูปแบบต่างๆ เช่น Franchising เป็นต้น

สคร. ณ กรุงซานติอาโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ