สรุปภาวะการค้าไทย-คูเวต เดือนมกราคม - สิงหาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 7, 2010 09:46 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สถานการณ์เศรษฐกิจคูเวต ปี 2553

ประเทศคูเวตมีนโยบายการค้าเสรี ไม่มีระบบโควตา หรือมาตรการกีดกันการนำเข้าสินค้า และพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเกือบทั้งหมดหรือ 95% โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค การเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเป็นแบบตายตัวที่อัตราร้อยละ 5 ของมูลค่า CIF (ภายใต้ GCC Customs Union Regime) ธนาคารชาติคูเวตคาดว่าปี 2553 คูเวตจะได้เปรียบดุลการค้า 24,000 ล้านเหรียญฯ ซึ่งมาจากรายได้การส่งออกน้ำมันเป็นหลัก

นอกจากนี้รัฐบาลได้อนุมัติแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติพร้อมงบประมาณสำหรับโครงการขนาดใหญ่ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้แข็งแกร่ง อาทิ โครงการการพัฒนาอุตสาหรรมน้ำมันและก๊าซ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตและปรับปรุงโรงงานน้ำมันและโรงกลั่นน้ำมันให้ทันสมัย เพื่อเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP growth)

การนำเข้าของคูเวตจากทั่วโลกและจากไทย

การค้าระหว่างไทยและคูเวตในแต่ละปีมีมูลค่าการค้าไม่มากนัก โดยปกติไทยจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบดุลการค้า เนื่องจากสินค้าที่ไทยนำเข้าจากคูเวตส่วนใหญ่เป็นน้ำมันดิบ

การส่งออกของไทยไปคูเวตในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม 2553 มูลค่า 183.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 20.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) ที่ส่งออกมูลค่า 231.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

รายการสินค้าที่มีการเติบโตขึ้น ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (+27%) %) ปลากระป๋อง (+26.5%) ตู้เย็น/แช่แข็ง (+2.7%) ปลาแช่แข็ง(+107%) และเม็ดพลาสติก (+160%)

รายการสินค้าที่มีการชะลอตัวลง ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และอะหลั่ย เครื่องซักผ้า/อบผ้า และข้าวผลกระทบของวิกฤติเศรษฐกิจโลกและปัญหาสภาพคล่องทางการเงินจากวิกฤติสินเชื่อ ซึ่งส่งผลทั้งต่อบริษัทผู้ผลิตเองที่ขาดเงินทุนหมุนเวียน ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงเงินกู้ยากขึ้น ปัจจุบันจำเป็นต้องระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น ทำให้ยอดขายรถยนต์ในหลายๆประเทศตกลงอย่างต่อเนื่อง

ประเทศไทยไม่ได้ผลิตรถยนต์ยี่ห้อของตนเอง แต่เป็นการผลิตภายใต้การลงทุนของบริษัทรถยนต์จากต่างประเทศ ดังนั้นการผลิตและการตลาดอิงกับการตัดสินใจของบริษัทแม่เป็นหลัก การตลาด การแสวงหาตลาดใหม่เพื่อการขยายการส่งออกไทยไม่สามารถทำได้เอง

การส่งออกของคูเวตไปทั่วโลกและไทย

ปี 2552 คูเวตส่งออกไปทั่วโลกมูลค่า 87,457 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ร้อยละ 39.5 และส่งออกไปไทยมูลค่า 63 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ร้อยละ 67.7 คูเวตส่งออกไปไทยมูลค่ามากเป็นอันดับที่ 18 หรือคิดเป็นสัดส่วนการส่งออก 0.1%

ในภาคการนำเข้าของไทยจากคูเวต มีน้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันดิบเป็นสินค้าหลัก หรือสัดส่วน 60% ที่ไทยนำเข้าจากคูเวต ทำให้ไทยเสียดุลการค้ากับคูเวต สินค้าอื่นๆที่ไทยนำเข้า ได้แก่ ปุ๋ย เคมีภัณฑ์ และก๊าซธรรมชาติ ในช่วง 8 เดือนแรกปี 2553 ไทยนำเข้าจากคูเวต มูลค่ารวม 391.4 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 76.6% (YoY) จากมูลค่า 221.6 ล้านเหรียญฯ

สรุป

National Bank of Kuwait (NBK) ประมาณว่าคูเวตจะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2553 ให้เติบโตที่อัตรา 3% และอัตรา 4% ปี 2554 ปัจจัยที่เกื้อหนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะที่ผ่าน และแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับใหม่พร้อมงบประมาณจำนวน 108 พันล้านเหรียญฯ ที่รัฐบาลคูเวตประกาศเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 น่าจะมีแรงส่งอย่างต่อเนื่องให้เศรษฐกิจคูเวตในปี 2553 สามารถพลิกฟื้นกลับมาขยายตัวเป็นบวกและจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้สูงกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ ภาคการธนาคาร ภาคการคมนาคมและการขนส่งเติบโตแบบก้าวกระโดดทำให้มีสัดส่วนถึง 8% ของจีดีพี เฉพาะมูลค่า GDP ของภาคการเงินนั้นสามารถขยายตัวได้ถึง 14% เมื่อเทียบกับอัตรา 6% ในปี 2552

แนวโน้มส่งออกของไทยไปคูเวตปี 2553 คาดอยู่ในระดับทรงตัวเพราะผู้บริโภคระวังการซื้อสินค้ามากขึ้น อีกทั้งรถยนต์และส่วนประกอบ(สัดส่วนของการส่งออกร้อยละ 45-50%) ที่เป็นสินค้าหลักของไทยไปคูเวตมีแนวโน้มลดลง ซึ่งจะฉุดให้ตัวเลขรวมของการส่งออกของไทยไปคูเวตลดลงด้วย

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองดูไบ

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ