สรุปภาวะตลาดอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในตลาดเยอรมนี เดือนกันยายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 7, 2010 10:05 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. การผลิตและยอดการจำหน่าย

การที่ตลาดต่างประเทศมีความต้องการสินค้าสูงต่อเนื่อง โดยเฉพาะเครื่องมือ เครื่องจักรกลต่างๆ ที่เป็นสินค้าส่งออกสำคัญของเยอรมนี ทำให้คาดว่าตลอดปี 2553 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเยอรมนีจะขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 2 ส่งผลให้อัตราการว่างงานจะลดน้อยลง และจากการที่คนงานส่วนใหญ่ได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้น จะทำให้มีการจับจ่ายซื้อสินค้ากันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลจะออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อการประหยัดงบประมาณของรัฐ และมีหลายมาตรการที่เกิดผลกระทบกับคนงานลูกจ้างโดยตรง กล่าวคือ ตั้งแต่มกราคมปี 2554 เป็นต้นไป จะมีการการเพิ่มเบี้ยประกันสุขภาพประมาณ 0.9 % ของรายได้ อัตราเงินเฟ้อในปี 2553 นี้จะเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 1.5 - 2 เหล่านี้จะมีผลทำให้การบริโภคสินค้าทั่วๆ ไป รวมทั้งเครื่องประดับลดน้อยลงได้บ้าง

2. สถานการณ์การนำเข้า

เยอรมนีนำเข้าสินค้าเครื่องประดับแท้และเทียมเป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แหล่งนำเข้าที่สำคัญๆ จะประเทศอื่นๆ ในยุโรป ที่มีส่วนแบ่งรวมกันตลาดกว่าร้อยละ 40 ได้แก่ สวิส อัฟริกาใต้ สหรัฐฯ เบลเยี่ยม และออสเตรีย เป็นต้น สินค้าที่นำเข้าส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 50 ของการนำเข้าจะเป็นทองคำ โลหะมีค่าอื่นๆ และอัญมณีมีค่าเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตในประเทศต่อไป แหล่งนำเข้าสำคัญๆ ได้แก่ อัฟริกาใต้เบลเยี่ยม อังกฤษ เป็นต้น มีส่วนแบ่งตลาดใกล้เคียงกันประมาณร้อยละ 10 สำหรับเครื่องประดับแท้ทำด้วยเงินมีส่วนแบ่งร้อยละ 5 ของการนำเข้า แหล่งนำเข้าสำคัญๆ ได้แก่ไทย จีน อิตาลี มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 35, 25 และ 5 ตามลำดับ ส่วนเครื่องประดับเทียมมีส่วนแบ่งร้อยละ 4 แหล่งนำเข้าสำคัญๆ ได้แก่ จีน ออสเตรียและฮ่องกง มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 50, 20 และ 3 ตามลำดับ

3. การส่งออกของไทยไปตลาดเยอรมนี

ในช่วง 8 เดือนแรกปี 2553 (ม.ค.-ส.ค.) ไทยส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไปเยอรมนีเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 140.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนระยะเดียวกันร้อยละ 35.5 สินค้าที่ส่งออกมากจะเป็น เครื่องประดับอัญมณีแท้ทำด้วยเงิน มูลค่า 64.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.2 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 35 แหล่งนำเข้าอื่นๆ ได้แก่ จีน (28%) อินเดีย (6%) และอิตาลี (5%) รองลงมาเป็นเครื่องประดับทำด้วยทองคำมูลค่า 23.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 8.2 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 13 แหล่งนำเข้าอื่นๆ ได้แก่ สวิส(26%) อิตาลี (14%) และตุรกี (18%) เครื่องใช้ เครื่องประดับแท้ทำด้วยโลหะมีค่าอื่นๆ มูลค่า 19.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 365.2 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0.4 แหล่งนำเข้าอื่นๆ ได้แก่ สวิส (78%) อัฟริกาใต้ (4%) และออสเตรีย (4%)เครื่องประดับอัญมณีเทียม มีการนำเข้ามูลค่า 6.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 3 แหล่งนำเข้าอื่นๆ ได้แก่ จีน (54%) ออสเตรีย (18%) ฮ่องกง (3%)

ปัญหาอุปสรรค

1. ขาดแคลนวัตถุดิบ

2. ขาดเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการผลิตเครื่องประดับ

3. ขาดบุคลากรด้านฝีมือแรงงานด้านการออกแบบและการผลิตสินค้าระดับสูง

4. การสร้างและพัฒนาตราสินค้ามีน้อย

กลยุทธ์

1. พัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญระดับโลก

2. จัดหาวัตถุดิบจากต่างประเทศในปริมาณที่เพียงพอ

3. พัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเครื่องประดับ

5. พัฒนาบุคลากรห้มีความสามารถในการผลิต ออกแบบ สินค้าที่เหมาะสมกับตลาด

6. สร้างภาพลักษณ์ของสินค้าในด้านผู้นำแฟชั่น สินค้าที่เอกลักษณ์ ควบคู่ไปกับศักยภาพทางการค้า/ส่งออก

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ