สถานการณ์การนำเข้าผลไม้ไทยของจีนในปี2553

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 7, 2010 10:21 —กรมส่งเสริมการส่งออก

จีนเป็นตลาดส่งออกผลไม้ที่สำคัญของไทย หลังจากการเปิดเสรีการค้าผักและผลไม้ตามพิกัดอัตราศุลกากรหมวดที่07-08 ระหว่างไทย-จีนตามกรอบเขตการค้าเสรี China-ASEAN และการลดภาษีนำเข้าผลไม้ตามข้อตกลงเหลือร้อยละ 0 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2546 เป็นต้นมา ส่งผลให้มีการขยายการส่งออกผลไม้ไทยเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ปัจจุบัน รัฐบาลจีนอนุญาตให้นำเข้าผลไม้ไทยได้จำนวน 23 ชนิด ได้แก่ ทุเรียนมังคุด ลำไย กล้วยไข่ ลิ้นจี่ มะพร้าว มะละกอ มะเฟือง มะม่วง ฝรั่ง ชมพู่ เงาะ สับปะรด ละมุด เสาวรส น้อยหน่า มะขาม ขนุน สละ ลองกอง ส้มเขียวหวาน ส้มส้มโอ ตามลำดับ โดยผลไม้ที่ผู้บริโภคชาวจีนนิยมบริโภคมากเป็นอันดับหนึ่งคือทุเรียน รองลงมาคือมังคุด กล้วยไข่ เป็นต้น นอกจากนี้ผลไม้แปรรูปเช่น ลำไยอบแห้งทุเรียนทอดกรอบ/อบกรอบ กล้วยอบกรอบ ขนุนอบกรอบ เป็นต้น ก็ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวจีนเช่นกัน

จากสถิติการนำเข้าผลไม้ไทยผ่านมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญในการนำเข้าผลไม้ไทย ในช่วงปี 2550-2552 ของสำนักงานศุลกากร มณฑลกวางตุ้งพบว่า ปริมาณการนำเข้าและมูลค่าการนำเข้าผลไม้ไทยได้เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ กล่าวคือในปี2550 มีการนำเข้าผลไม้ไทย 227,632 ตัน คิดเป็นมูลค่า 187.5 ล้านเหรียญสหรัฐ,ปี 2551 มีการนำเข้าผลไม้ไทย 282,831 ตัน คิดเป็นมูลค่า 239.2 ล้านเหรียญสหรัฐและในปี 2552 มีการนำเข้าผลไม้ไทย 476,413 ตัน คิดเป็นมูลค่า 405.96 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยอัตราการขยายตัวในช่วงปี2007 - 2009 ทางด้านปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้น 16.5%, 24% และ 68.4% และมูลค่าได้เพิ่มขึ้น 38%, 27.3% และ 69.6% ตามลำดับจนกระทั่ง ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2553 การนำเข้าผลไม้ไทยมีปริมาณลดน้อยลงแต่มูลค่ากลับเพิ่มสูงขึ้น กล่าวคือในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน 2553การนำเข้าผลไม้ไทยผ่านมณฑลกวางตุ้งมีปริมาณ 232,667 ตัน คิดเป็นมูลค่า255.07 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปี 2552มีปริมาณการนำเข้า 236,845 ตัน คิดเป็นมูลค่า 219.00 ล้านเหรียญสหรัฐปริมาณลดลง 2 % แต่มูลค่าเพิ่มขึ้น 16 % และเป็นที่น่าสังเกตว่าผลไม้ที่นำเข้ามากในช่วงครึ่งปีแรกของป?2010 คือ สับปะรด ชมพู่มะม่วง เงาะ ส่วนทุเรียนและมังคุดก็มีการนำเข้าเช่นกัน แต่ไม่มากเหมือนที่ผ่านมา

จากการสอบถามผู้นำเข้าผลไม้ไทยจำนวนหลายรายที่ตลาดกลางขายส่งผลไม้เจียงหนาน เมืองกวางโจว ได้ความว่านับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2010 ที่ผ่านมาราคาผลไม้ไทยได้ขยับตัวสูงขึ้นประมาณ 5 -10 % เนื่องจากปีนี้ผลผลิตของผลไม้ไทยมีปริมาณลดน้อยลง ประกอบกับผลไม้ไทยบางชนิดมีข้อเสียเปรียบทางกายภาพคือเปลือกบางหรือช้ำง่าย เช่น ชมพู่ มะม่วง เงาะ เป็นต้น ทำให้ต้องใช้วิธีการขนส่งทางอากาศที่รวดเร็วและสามารถรักษาคุณภาพได้ดี แต่ต้นทุนการขนส่งสูงจึงทำให้ต้นทุนการนำเข้าผลไม้ไทยสูงขึ้นตามไปด้วย ส่วนการแข็งค่าของเงินบาทก็ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการนำเข้าผลไม้ไทยเช่นกัน ทั้งนี้ ผู้นำเข้าผลไม้ไทยรายใหญ่รายหนึ่งในเมืองเซินเจิ้น คือ Mr. Lu Jin Shui ตำแหน่ง Director บริษัท Shenzhen Yuanxing Fruit Co., Ltd. ได้ให้ความเห็นว่า การแข็งค่าของเงินบาททำให้ต้นทุนการนำเข้าผลไม้ไทยสูงขึ้นและส่งผลต่อราคาจำหน่ายส่งและปลีกของผลไม้ไทยในประเทศจีนให้สูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น ผู้นำเข้าผลไม้จีนจึงลดปริมาณการนำเข้าลงแต่ก็มีบางรายที่ยังคงนำเข้าในปริมาณปกติ เนื่องจากมีลูกค้าที่มีความต้องการใช้ที่แน่นอน นอกจากนี้ ราคานำเข้าผลไม้จะผันผวนไม่คงที่เช่นสินค้าเกษตรอื่นๆ เช่น สินค้าข้าว ที่มีการสั่งซื้อล่วงหน้าและใช้อัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ทำสัญญาสั่งซื้อซึ่งเป็นอัตราคงที่( Fix Rate ) ต่างจากผลไม้ไทย ซึ่งมีวิธีการซื้อขายแบบขายฝาก( consignment ) ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนจะผันผวนไม่คงที่ตามวันที่ซื้อขาย ทำให้ผลไม้ไทยยิ่งเสียเปรียบในเรื่องต้นทุน/การกำหนดราคาซื้อขายและการตัดสินใจของผู้นำเข้า

อย่างไรก็ตาม โอกาสของผลไม้ไทยในตลาดจีนยังมีโอกาสสูง เนื่องจากผลไม้ไทยได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวจีนเพิ่มมากขึ้นหลายชนิดและสามารถขยายตลาดไปตามเมืองต่างๆได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อให้ผลไม้ไทยสามารถครองส่วนแบ่งการตลาดเดิมและสามารถขยายตลาดไปตามเมืองต่างๆ ทั้งภาคตะวันตก ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน เช่น เมืองปักกิ่ง เมืองฉงชิ่ง เมืองต้าเหลียนเมืองชิงเต่า เป็นต้น ได้มากขึ้นและขยายโอกาสทางการค้าของผลไม้ไทยในตลาดจีนจึงควรที่ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชนผู้รวบรวม ผู้ส่งออก ภาคเกษตรกรชาวสวน จะได้ร่วมมือกันส่งเสริมผลักดันและขยายตลาดการส่งออกผลไม้ไทย ในจีนให้ขยายตัวมากยิ่งขึ้น

สคร.กวางโจว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ