สินค้า 100 พิกัดแรกที่เยอรมนีนำเข้าจากไทย ปี 2553 (ม.ค.-มิ.ย.)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 20, 2010 11:46 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลินได้จัดทำสถิติการนำเข้าสินค้าของเยอรมนีจากประเทศไทย จำแนกตามพิกัดฮาร์โมไนซ์ ในปี 2553 (ม.ค. — มิ.ย.) รายละเอียดปรากฏในตารางสถิติตามแนบ ซึ่งพอจะสรุปสาระสำคัญ ได้ดังนี้

1. ตามตัวเลขของ Eurostat เรียบเรียงโดย World Trade Atlas ในช่วง 6 เดือนแรกปี 2553 (ม.ค.- มิ.ย.) เยอรมนีและไทยทำการค้าระหว่างกันเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 3,487.3 เหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนระยะเดียวกันร้อยละ 27.7 โดยเยอรมนีนำเข้าสินค้าจากไทยเป็นมูลค่า 1,755.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 0.35 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.4 และมีการส่งออกสินค้าไปประเทศไทยเป็นมูลค่า 1,731.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 0.29 ของการส่งออกทั้งสิ้น มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.3 ในด้านการนำเข้าประเทศไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 40 แหล่งนำเข้าสำคัญๆ ของเยอรมนี ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และจีน มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 12.5, 8.0 และ 7.5 ตามลำดับ ในด้านการส่งออกประเทศไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 46 ตลาดส่งออกหลักของเยอรมนี ได้แก่ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และ เนเธอร์แลนด์ มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 9.8, 6.7 และ 6.5 ตามลำดับ

2. จำแนกตามพิกัด H.S. สินค้าที่เยอรมนีนำเข้าจากไทยในอันดับต้นๆ เป็นสินค้าอุตสาหกรรมเสียส่วนใหญ่ ที่สำคัญๆ ได้แก่

2.1 แผ่นแม่เหล็กบันทึกข้อมูล (พิกัด 8471 7050) ในช่วง 6 เดือนแรกปี 2553 เยอรมนีนำเข้าเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 1,641.6 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.8 จากไทยนำเข้ามากเป็นอันดับที่ 3 มูลค่า 206.9 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 63.0 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 12.6 หรือร้อยละ 11.8 ของการนำเข้าทั้งสิ้นจากไทย แหล่งนำเข้าและส่วนแบ่งตลาดที่สำคัญๆ ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ (27.5%) จีน (15.7%) เกาหลีใต้ (8.0%) และฟิลิปปินส์ (6.0%)

2.2 เครื่องประดับทำด้วยเงิน (พิกัด 7113 1100) มีการนำเข้าเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 169.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.6 จากไทยนำเข้าเป็นอันดับที่ 1 มูลค่า 60.0 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 35.4 หรือร้อยละ 3.4 ของการนำเข้าทั้งสิ้นจากไทย แหล่งนำเข้าและส่วนแบ่งตลาดสำคัญๆ รองลงมาได้แก่ จีน (28.3%) อินเดีย (6.2%) อิตาลี (5.5%) และฝรั่งเศส (4.7%)

2.3 โลหะและเศษของโลหะมีค่า (พิกัด 7112 9200) มีการนำเข้าเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 715.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.6 จากไทยนำเข้าเป็นอันดับที่ 5 มูลค่า 18.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4,207 % คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 6.9 หรือร้อยละ 2.8 ของการนำเข้าจากไทยทั้งสิ้น แหล่งนำเข้าสำคัญๆ ได้แก่ ฝรั่งเศส (13.0%) สหรัฐฯ (11.4%) สวิส (8.2%) และสิงคโปร์ (7.2%)

2.4 ก๊อกน้ำและส่วนประกอบ (พิกัด 8481 80 11) มีการนำเข้าเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 324.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.6 จากไทยนำเข้าเป็นอันดับที่ 3 มูลค่า 48.3 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด ร้อยละ 14.9 หรือร้อยละ 2.7 ของการนำเข้าจากไทยทั้งสิ้น แหล่งนำเข้าสำคัญๆ ได้แก่ จีน (24.4%) ปอร์ตุเกส (22.6%) และอิตาลี (12.7%)

2.5 แผงวงจรไฟฟ้า (พิกัด 8542 3990) มีการนำเข้าเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 2,377.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 69.7 จากไทยนำเข้าเป็นอันดับที่ 13 มูลค่า 47.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 96.6 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 2.0 หรือร้อยละ 2.7 ของการนำเข้าจากไทยทั้งสิ้น แหล่งนำเข้าสำคัญๆ ได้แก่ ไอร์แลนด์ (22.2%) เนเธอร์แลนด์ (13.0%) เกาหลีใต้ (11.6%) และสิงคโปร์ (7.6%)

3. สำหรับสินค้าอาหาร (พิกัด 01 — 24) ในช่วง 6 เดือนแรกปี 2553 มีการนำเข้าจากไทยเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 194.7 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 11.1 ของการนำเข้าจากไทยทั้งสิ้น มูลค่าลดลงร้อยละ 6.4 สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลง ได้แก่

                                                       ล้านเหรียญสหรัฐ               เพิ่ม/ลด ร้อยละ
          - เนื้อไก่ (พิกัด 1602)                               32.7                     - 18.0

เนื่องจากมีการนำเข้าพิกัด 1602 32 39 เนื้อไก่สัตว์ปีกอื่นๆ ต้มสุกแล้ว ลดลงกว่าร้อยละ 23

          - ผลไม้แปรรูป (พิกัด 2008)                           21.2                      -30.2

เนื่องจากมีการนำเข้าพิกัด 2008 20 79 สับปะรดมีน้ำตาลเจือปนไม่เกิน 19% ลดลงร้อยละ 52.7

          - ข้าว (พิกัด 1006)                                 19.1                     - 18.5

เนื่องจากมีการนำเข้าพิกัด 1006 20 17 ข้าวกล้องลดลงร้อยละ 57.3

          - ปลาทูน่ากระป๋อง (พิกัด 1604)                         6.4                      -31.5
          - ผักสดแช่เย็น แช่แข็ง (พิกัด 0709)                      4.1                       -5.0

3.1 เนื้อไก่ต้มสุกคลุกเกลือ (พิกัด 1602 3219) มีการนำเข้าเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 135.7 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 จากไทยมีการนำเข้าเป็นอันดับ 2 มูลค่า 22.1 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าลดลงร้อยละ 16.1 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 16.3 หรือร้อยละ 1.9 ของการนำเข้าจากไทย แหล่งนำเข้าสำคัญอื่นๆ ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ (37.8%) บราซิล (15.0%) และเดนมาร์ค (8.5%)

3.2 กุ้งกระป๋องขนาดบรรจุไม่เกิน 2 กก. (พิกัด 1605 2091) มีการนำเข้าเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 43.6 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 51.9 จากไทยมีการนำเข้ามากเป็นอันดับแรก เป็นมูลค่า 16.9 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 38.8 หรือร้อยละ 1.0 ของการนำเข้าทั้งสิ้นจากไทย มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.4 แหล่งนำเข้าสำคัญๆ รองลงมาได้แก่ เดนมาร์ค (13.9%) เนเธอร์แลนด์ (12.8%) เบลเยี่ยม (12.4%) และเวียดนาม (7.9%)

3.3 กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง (พิกัด 0306 1350) มีการนำเข้าเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 81.1 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 จากไทยมีการนำเข้ามากเป็นอันดับแรกเช่นกัน เป็นมูลค่า 16.5 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 20.3 หรือร้อยละ 0.9 ของการนำเข้าทั้งสิ้นจากไทย มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 แหล่งนำเข้าสำคัญๆ รองลงมาได้แก่ เวียดนาม (18.5%) บังคลาเทศ (14.0%) เนเธอแลนด์ (9.6%) และอินเดีย (8.2%)

3.4 ข้าว (พิกัด 1006 3098) มีการนำเข้าเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 54.6 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 จากไทยมีการนำเข้ามากเป็นอันดับที่ 3 มูลค่า 10.3 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 19.0 หรือร้อยละ 0.6 ของการนำเข้าทั้งสิ้นจากไทย มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.9 แหล่งนำเข้าสำคัญๆ รองลงมาได้แก่ เนเธอร์แลนด์ (23.2%) อิตาลี (23.0%) เบลเยี่ยม (16.5%)

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ