ข้อกำหนดสินค้าของใช้กับเด็กในสหรัฐอเมริกา

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 22, 2010 11:15 —กรมส่งเสริมการส่งออก

นับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ปัญหาความปลอดภัยของสินค้าใช้กับเด็ก (Children Product Safety ในสหรัฐฯ ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเป็นลำดับจนถึงปัจจุบัน ซึ่งจะเห็นได้จาก สินค้านำเข้าจากประเทศจีนถูกเรียกเก็บ (Recall) จำนวนมหาศาล เป็นผลให้ภาครัฐ โดยคณะกรรมาธิการว่าด้วยความปลอดภัยสินค้าอุปโภคของสหรัฐฯ (Consumer Product Safety Commission: CPSC) และสภาผู้แทนสหรัฐฯ ต้องเข้ามาร่วมกันแก้ไขกฎหมาย เพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแลในเรื่องความปลอดภัยสินค้าของใช้กับเด็ก

เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติ Consumer Safety Improvement Act 2008 คณะกรรมาธิการว่าด้วยความปลอดภัยสินค้าอุปโภค (CPSC) ได้สรุป ตีความ และ ให้คำจำกัดความสินค้าใช้กับเด็ก (Children Products) และการอ้างคุณสมบัติการเป็นสินค้าของใช้กับเด็ก ดังนี้

1. ข้อกำหนดคำว่า “การใช้งานของสินค้า” โดยเด็กอายุ 12 ปี หรือ ต่ำกว่า หมายถึง เด็กจะมีปฏิสัมพันธ์ทางกายภาพกับสินค้านั้นๆ ด้วยการที่เด็กคาดรู้อย่างสมเหตุผลว่าการใช้สินค้านั้น อย่างไร (Reasonably Foreseeable Use) ข้อกำหนดในเรื่องการที่เด็กจะใช้สินค้าผิดวิธีนั้นไม่ได้ มีอยู่คำจำกัดความนี้ ด้วยเหตุผลด้านความยุ่งยากสำหรับผู้ผลิตสินค้าที่จะต้องกำหนด

2. ข้อความของผู้ผลิตสินค้าเกี่ยวกับจุดมุ่งหมายวิธีใช้สินค้า รวมทั้งฉลากผลิตภัณฑ์จะต้องสอดคล้องกับรูปแบบการใช้งานของสินค้า หากเป็นสินค้าที่มิได้ผลิตสำหรับเด็กจะถูกตัด/แยกออกจากสินค้าที่ต้องปฏิบัติตามกฏระเบียบสำหรับเด็กอายุ 12 ปีหรือต่ำกว่า ทำนองเดียวกันกับฉลากสินค้าระบุว่าเป็นสินค้าสำหรับเด็กอายุ 9 ขวบขึ้นไป หากเป็นสินค้าที่ใช้โดยทั่วไป ไม่จำเป็นจะต้องจัดให้เป็นสินค้าสำหรับเด็ก

3. สินค้าจะต้องมีการสื่อ/แสดงให้เห็นถึงการใช้งานที่เหมาะสมสำหรับเด็กอายุ 12 ปีหรือต่ำกว่า อาทิ การระบุเจาะจงให้ชัดเจน หรือการสื่อทางภาพถ่ายของเด็กอายุ 12 ปี หรือต่ำกว่า กำลังใช้สินค้านั้น และอาจจะพบในบรรจุภัณฑ์ ข้อความ ภาพถ่ายที่บรรยายให้เห็นถึงผู้บริโภคกำลังใช้สินค้าหรือวิธีการใช้งาน วิธีการประกอบสินค้า หรือ การใช้สื่อโฆษณาสินค้า

4. สถานที่ตั้ง ซึ่งจำหน่ายสินค้าของเล่นเด็ก หรือไม่ได้เกี่ยวข้องสำหรับสินค้าเด็ก จะไม่ถูกนำมาเป็นข้อกำหนด

5. การรับรู้ของเด็กเกี่ยวกับวิธีใช้/การใช้งานสินค้า จะต้องมีการประเมิน ไม่ว่าจะป็นการทดสอบการวิเคราะห์ตลาด ข้อมูลด้านการขาย รวมทั้งการศึกษาด้านการตลาด จะเป็นปัจจัยที่ช่วยด้านการวิเคราะห์ รูปแบบ ลักษณะพิเศษเฉพาะ ทั้งเรื่อง ขนาดเล็ก ความปลอดภัย สีสัน เรื่องราวที่เกี่ยวข้องในวัยเด็ก สิ่งเหล่านี้จะมีบทบาทในการเพิ่มคุณค่าของสินค้าเด็ก

6. สินค้าสำหรับกลุ่มอายุเด็กที่แตกต่างกันและสมรรถภาพของวัย จะถูกพิจารณาเมื่อมีการกำหนดความเหมาะสมของสินค้าที่จะใช้ในแต่ละกลุ่มอายุ

7. ข้อบัญญัติใหม่ได้เพิ่มเติมความชัดเจนเกี่ยวกับของเล่นเด็กและวัตถุ/ชิ้นส่วนขนาดเล็กที่เข้าข่ายกฏระเบียบ 16 CFR Part 1501 และ ASTM F963 จะถูกจัดเป็น สินค้าสำหรับเด็ก เนื่องจากเป็นสินค้ามุ่งหมายสำหรับเด็กอายุ 12 ปีหรือต่ำกว่า ของเล่นและของใช้อื่นๆ ที่เป็นสินค้ามุ่งหมาย สำหรับเด็กเล็กจนถึงอายุ 8 ปี จะต้องเป็นไปตามข้อกำหนด 16 CFR 1500.48 ถึง 1500.49 และ 16 CFR 1500.50 ถึง 1500.53 ซึ่งถูกจัดให้เป็นสินค้าสำหรับเด็กเช่นเดียวกัน ดังนั้นผู้ผลิตสามารถแบ่งระดับอายุ ให้สินค้าสอดคล้องกับข้อกำหนดรภายใต้ บทพระราชบัญญัติว่าด้วยความปลอดภัยในสินค้า ASTM F963 และข้อกำหนดรายละเอียดความปลอดภัยของผู้บริโภคต่อความปลอดภัยในสินค้าของเล่นเด็ก

8. ตัวอย่างสินค้าที่อาจจะถูกพิจารณาให้เป็นสินค้าสำหรับเด็ก

8.1 ของประดับตกแต่งบ้านและโรงเรียนที่มีจุดมุ่งหมายเบื้องต้นเพื่อใช้สำหรับเด็ก (เตียงสำหรับเด็ก โต๊ะ เก้าอี้)

8.2 เครื่องประดับที่ออกแบบและมีขนาดสำหรับเด็ก

8.3 สื่อ/อุปกรณ์เครื่องเล่นไฟฟ้าที่มุ่งไปยังตลาดเด็กหรือถูกตกแต่งให้เกี่ยวข้องกับแนวเด็กๆ

8.4 แผ่นซีดี และดีวีดี ที่ออกแบบเฉพาะสำหรับตลาดเด็กอายุ 12 ปีหรือต่ำกว่า ที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ฟังที่อายุมากกว่า

8.5 อุปกรณ์เครื่องใช้ไม้สอยทีเกี่ยวข้องกับศิลปะ และมุ่งตลาดสำหรับเด็กอายุ 12 ปีหรือต่ำกว่า

8.6 หนังสือเด็ก วารสาร/นิตยสารเด็ก

8.7 อุปกรณ์ เครื่องวิทยาศาสตร์ที่มีขนาดสำหรับเด็กและ/หรือที่มีหัวข้อ/เนื้อหาเกี่ยวกับเด็ก

8.8 สินค้าตกแต่ง อุปกรณ์กีฬาและอุปกรณ์ด้านสันทนการที่มีขนาดเหมาะสำหรับเด็กและ/หรือ มีอุปกรณ์ตกแต่งที่มีรูปลักษณะแนวเด็กๆ

8.9 อุปกรณ์เครื่องเล่นดนตรีที่มีจุดมุ่งหมายเบื้องต้นสำหรับเด็ก ทั้งด้านขนาดและแนวการตลาด

9. ตัวอย่างสินค้าที่ อาจจะไม่ ถูกจัดให้เป็นสินค้าเด็ก

9.1 ของประดับตกแต่งบ้านทั่วไปและของในบ้านที่ติดตั้งอยู่กับที่ พบเห็นบ่อยในห้องนอนเด็กหรือในโรงเรียน (เว้นแต่จะถูกตกแต่งให้เป็นในรูปแบบ/แนวเด็กใช้ประโยชน์ในการเล่น หรือมีขนาดสำหรับเด็ก

9.2 ของประดับตกแต่งที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อใช้สำหรับจัดแสดง

9.3 ของสะสมของผู้ใหญ่ อาทิ รถไฟ รางรถไฟ ที่ผลิตสำหรับผู้ชอบงานอดิเรก

9.4 เครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ไฟฟ้า รวมทั้งแผ่นซีดี ดีวีดี เครื่องเล่นแผ่นซีดี แผ่นดีวีดี โทรศัพท์มือถือ เครื่อง/อุปกรณ์อ่านตัวอักษร/หนังสือ เครื่องดิจิตอล อุปกรณ์เครื่องเล่นวีดีโอเกมส์

9.5 อุปกรณ์ เครื่องใช้ไม้สอยด้านหัตถกรรมที่ไม่ได้เจาะจงกลุ่มตลาดเด็กอายุ 12 ปีหรือต่ำกว่า

9.6 อุปกรณ์ เครื่องมือวิทยาศาสตร์ และเครื่องดนตรีอาจจะใช้สำหรับผู้ใหญ่เช่นเดียวกับเด็ก (ถึงแม้ว่าจะเป็นในโรงเรียน หรือเป็นโปรแกรมของทางโรงเรียน เช่น การเช่าอุปกรณ์)

9.7 อุปกรณ์กีฬา (ขนาดตามที่กำหนด) และอุปกรณ์สันทนาการที่มีจุดมุ่งหมายเบื้องต้นในการใช้สำหรับผู้บริโภคที่อายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป

ข้อคิดเห็นและเสนอแนะ

1. ปัจจุบัน ตลาดสินค้าของใช้กับเด็กทุกประเภท มักได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากผู้บริโภค กลุ่มองค์กรต่างๆ รวมทั้งภาครัฐ จะให้ความสำคัญกับสินค้าในเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากมีผลกระทบต่อสุขภาพของเด็ก ดังนั้น เพื่อเป็นการเสริมสร้างศักยภาพของ อุตาหกรรมของเล่นและของใช้สำหรับเด็กของไทย ภาครัฐควรพิจารณาเชิญเจ้าหน้าที่ CPSC ของสหรัฐฯ มาบรรยายและให้คำแนะนำแก่ผู้ผลิต/ส่งออกไทย เพื่อได้ปฏิบัติได้ถูกต้อง และมีความพร้อมในการเตรียมตัวให้แข่งขันได้ในตลาดสหรัฐฯ

2. ปัจจัยอื่น ๆ ซึ่งผู้ผลิต/ส่งออกไทยต้องคำนึง ในการส่งสินค้าของใช้กับเด็กไปยังสหรัฐฯ คือ การหลีกเลี่ยงใช้สารอันตรายต้องห้ามต่างๆ เช่น สารตะกั่ว (Lead) สารทาเลท (Phthalates)สารแคดเมี่ยม (Cadmium) และ สารไบฟีนอล (Bi Phenol A) เป็นต้น เนื่องจาก ปัจจุบัน สหรัฐฯ มีกฎหมายควบคุมและห้ามใช้สารดังกล่าว

3. ผู้ผลิต/ส่งออกไทย ยังมีข้อได้เปรียบคู่แข่งขันโดยเฉพาะจีน ในเรื่องคุณภาพ จึงควรใช้วิกฤตินี้เป็นโอกาสในการพัฒนาการออกแบบสินค้าให้มีความสร้างสรรค์ ความแปลกใหม่ มีการพัฒนาเทคโนโลยี่ในการผลิตของเล่นโดยศึกษาความต้องการของผู้บริโภคและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง เช่น ในปัจจุบัน ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการมีส่วนช่วยลดสภาวะโลกร้อน แนวโน้มสินค้าของเล่นเด็ก ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-Friendly, Environmental Sustainability, Go Green) และที่สำคัญจะต้องตระหนักถึงความปลอดภัยของสินค้า การปฏิบัติตามกฏระเบียบ/มาตรฐานที่ทางสหรัฐฯ กำหนดไว้ หากต้องการประสบความสำเร็จในตลาดสหรัฐฯ

4. ผู้ผลิต/ส่งออกไทยที่สนใจศึกษารายละเอียดในเรื่องความปลอดภัยสินค้าใช้กับเด็กในตลาดสหรัฐฯ สามารถค้นหาได้จาก website ของคณะกรรมการ CPSC: www.cpsc.gov

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครชิคาโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ