รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะการค้า พร้อมกิจกรรม สคร.สป 16-30 ก.ย.53

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 26, 2010 12:15 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ประเทศ สิงคโปร์

ประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและภาวะการค้าระหว่างวันที่ 16-30 กันยายน 2553

เศรษฐกิจ-ภาวะการค้า

1.การจ้างงานในสิงคโปร์สดใสถึงปลายปี เนื่องจากการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาของ Integrated Resorts (IRs) ทั้ง 2 แห่งในสิงคโปร์ รวมถึงการเติบโตของกลุ่มการบริการด้านการเงิน ส่งผลให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น กระทรวงแรงงานสิงคโปร์ (Ministry of Manpower : MOM) ได้ประกาศสถิติการจ้างงานในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ซึ่งปรากฎว่าตลาดแรงงานอยู่ในภาวะที่ดี โดยเฉพาะกลุ่มการบริการ และคาดการณ์การจ้างงานอยู่ในระดับดีจนถึงปลายปี 2553 ซึ่งขณะนี้ อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 2.2 และอาจจะลดลงไปอีกเป็นร้อยละ 0.5 ก็เป็นได้ รวมถึง ตำแหน่งงานมีมากกว่าผู้หางาน และความสามารถในการผลิตเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 14.6 จากร้อยละ 14.4

2 การตรวจสอบสินค้าอาหารนำเข้าสิงคโปร์ หน่วยงาน Agri-Food and Veterinary Authority (AVA) เข้มงวดในการตรวจสอบอาหารนำเข้าเพื่อสุขอนามัยของผู้บริโภคในสิงคโปร์ ซึ่งการตรวจสอบครอบคลุมสารยาปราบศัตรูพืชและ fungicides หลายประเภท สำหรับผักนำเข้า AVA ตรวจสอบสารยาปราบศัตรูพืชปนเปื้อน โดยเฉพาะผักที่นำเข้าจากมาเลเซียและไทย ซึ่งประเภทผักที่มีปัญหา ได้แก่ ผักชี พริก และถั่วฝักยาว จากการตรวจสอบได้พบสาร Carbofuran (Furadan-ใช้เตรียมพื้นที่เพื่อการปลูกผัก) อยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ทำให้ AVA สั่งทำลายผักที่มีสารปนเปื้อน 900 กิโลกรัม (ตั้งแต่ปี 2552 ถึงเดือนกันยายน 2553) สำหรับผลไม้นำเข้า ไม่มีการสั่งทำลาย ทั้งนี้ สคร. สิงคโปร์ ได้รายงานผลการตรวจสอบและรายชื่อผู้ส่งออกไทยที่ส่งสินค้ามีสารปนเปื้อน ให้กรมฯทราบเป็นประจำรายเดือน และจากรายงานล่าสุด (สค.53) บริษัทไทยที่ถูกตรวจสอบพบสารปนเปื้อนในสินค้าผัก มีเพียง 2 ราย อนึ่ง สาร Carboruran ยังคงใช้ในเอเชีย ออสเตรเลีย และอเมริกาใต้ แต่ในยุโรปและสหรัฐฯ ไม่อนุญาตให้ใช้ สิงคโปร์นำเข้าผักและผลไม้จากประเทศที่ใช้สาร Carbofuran (ในระดับที่ปลอดภัย) ในปี 2552 มีปริมาณกว่า 400,000 ตัน(ผัก) และ 350,000 ตัน(ผลไม้)

3. ราคาขายส่งแป้งสาสีเพิ่มสูงขึ้น จากเหตุการณ์ภัยธรรมชาติในรัสเซีย สหภาพยุโรปและแคนาดา ทำให้ปริมาณการผลิตข้าวสาลีลดลงและราคานำเข้าสูงขึ้น ผู้ค้าส่งสำคัญในสิงคโปร์คือ Prima (นำเข้าร้อยละ 95) ได้เพิ่มราคาขายส่งแป้งสาลีประมาณร้อยละ 5-10 ของสินค้าที่ส่งไปยังร้านเบเกอร์รี่ โรงงานผลิตอาหารและโรงแรม ยกเว้นสินค้าที่จำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งไม่มีการขึ้นราคาในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม ราคาขายส่งที่เพิ่มขึ้น ยังเป็นอัตราที่ไม่สร้างผลกระทบถึงการค้าปลีก ดังนั้น Singapore Bakery and Confectionery Trade Association ใหัความมั่นใจแก่ผู้บริโภคว่า สมาชิกจำนวน 150 ราย ไม่ขึ้นราคาขายปลีกขนมต่างๆ ซึ่งผลิตจากแป้งสาลีที่จำหน่ายที่ร้าน

4.ท่าเรือสิงคโปร์แข่งขันกับท่าเรือเซี่ยงไฮ้ ซึ่งในปี 2553 ท่าเรือเซี่ยงไฮ้จะเป็นท่าเรือคอนเทนเนอร์ที่มีธุรกิจมากที่สุดของโลก เนื่องจากท่าเรือเซี่ยงไฮ้มีการขนส่งคอนเทนเนอร์เพิ่มขึ้นติดต่อกันใน 5 เดือนที่ผ่านมา ส่วนท่าเรือสิงคโปร์เป็น transshipment hub ซึ่งได้รับผลประโยชน์จากการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจีน โดย International Monetary Fund คาดว่า ในปี 2553 จะมีการเติบโตร้อยละ 10.5

5. กฎหมาย Estate Agents ของสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2553 รัฐสภาผ่านกฎหมาย Estate Agents เป็นครั้งแรกเพื่อใช้ควบคุม Property Agents และให้ความสำคัญกับภาคอสังหาริมทรัพย์ในสิงคโปร์ โดยจัดตั้งหน่วยงาน Council for Estate Agencies (CEA) ที่จะเริ่มดำเนินการในวันที่ 22 ตุลาคม 2553 เป็นต้นไป และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 เอเยนต์อสังหาริมทรัพย์ทุกรายจะต้องจดทะเบียนขึ้นกับ CEA แทนหน่วยงานเดิม (Inland Revenue Authority of Singapore : IRAS) และต้องสอบผ่านมาตรฐานของ CEA หากไม่ปฏิบัติตามระเบียบนี้ จะได้รับการลงโทษคือ ปรับสูงสุดถึง 75,000 เหรียญสิงคโปร์ หรือจำคุก 3 ปี หรือทั้งปรับและจำคุก

6.รถยนต์จากเยอรมันขยายตลาดในสิงคโปร์ จากข้อมูลของ Land Transport Authority (LTA) สิงคโปร์ ปรากฎว่า รถยนต์ผลิตจากเยอรมันเป็น 1 ใน 3 คันของรถยนต์ใหม่ที่จำหน่ายในช่วง 8 เดือนของปี 2553 โดยยี่ห้อ BMW เป็นที่นิยมมากที่สุด รองลงมาคือ Mercedes-Benz, Volkswagen, Audi, Porsche และ Opel ยอดจำหน่ายทั้งหมดระหว่างเดือนมกราคม-สิงหาคม 2553 จำนวน 10,544 คัน (ร้อยละ 34.3 ของการจำหน่ายรถใหม่) เนื่องจากเงินยูโรอ่อนค่าลงอยู่ที่ 1.70 เหรียญสิงคโปร์ (เดิมมากกว่า 2 เหรียญสิงคโปร์) ส่งผลให้ผู้ค้าปลีกรถยนต์จากเยอรมัน ได้รับผลประโยชน์จากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา สามารถจัดหา Certificate of Entitlement (COE) ได้ แม้ว่าค่าธรรมเนียมสูงขึ้น ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จำนวนโควต้า COE ลดลงร้อยละ 60 และค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวเป็นเงินถึง 30,000 เหรียญสิงคโปร์สำหรับรถยนต์ 1,600 cc และ 40,000 เหรียญสิงคโปร์ สำหรับรถยนต์มากกว่า 1,600 cc

7. EDB พิจารณาการสร้าง Liquefied Petroleum Gas (LPG) Terminal หน่วยงานสิงคโปร์ Economic Development Board (EDB) คาดว่า การพิจารณาจะแล้วเสร็จภายในกลางปี 2554 แผนการนี้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันได้ของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีสิงคโปร์ ซึ่ง Terminal จะตั้งอยู่ชายฝั่งทะเลของเกาะจูร่ง ส่งผลให้บริษัทสามารถนำเข้า LPG ในปริมาณมากเพื่อใช้ในการผลิตสินค้าเคมีภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังมีแผนการจัดหาเทคโนโลยีที่จะส่งเสริมการใช้ bio-renewables ในสินค้าที่เคยใช้ fossil-based fuels (อนึ่ง เกาะจูร่งเป็น blueprint ของรัฐบาล ที่มุ่งเน้นให้มีบริษัทประมาณ 90 รายเข้าไปดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรม Energy และ Chemical)

8.การส่งออกของสิงคโปร์ลดลงในเดือนกรกฎาคม 2553 ซึ่ง International Enterprise (IE) Singapore ประกาศว่า การเติบโต Non-oil domestic export (Nodx) ร้อยละ 18.2 น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ก็เป็นการขยายตัวที่ดี การลดลงสืบเนื่องมาจากการลดลงของ pharmaceuticals และยุโรปมีความต้องการลดลง ทั้งนี้ การส่งออกลดลงไปยังประเทศคู่ค้า 10 อันดับแรก ยกเว้น สหรัฐฯ ที่มีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 30

การลงทุนในต่างประเทศ

1.บริษัท Sembcorp Industries สร้างโรงงานผลิตน้ำใน UAE ซึ่งบริษัทฯ ได้สัญญามูลค่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดย Sembcorp Utilities ได้ลงนาม Memorandum of Understanding (MOU) กับ Abu Dhabi Water and Electricity Authority สร้างโรงงานผลิตน้ำที่จะเริ่มดำเนินการได้ในปลายปี 2558 โดยใช้ระบบการกรอง “reverse osmosis” ในการแยกเกลือและสารปนเปื้อนอื่นๆออกจากโมเลกุลน้ำ สามารถผลิตน้ำดื่มได้ 136.5 ลิตรต่อวัน และจำหน่ายให้ Abu Dhabi Water and Electricity Authority ภายใต้ข้อตกลง 20 ปี นอกจากนี้ บริษัทฯได้ลงทุนมูลค่า 1.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2549 สร้าง Fujairah 1 (โรงงานผลิตน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก) และโรงงานผลิตน้ำ Salalah, Oman

2. บริษัท CapitaLand ขยายธุรกิจไปยังจีนและเวียดนาม ในธุรกิจการก่อสร้างที่พักอาศัยในเขตชุมชนเมือง เงินลงทุนประมาณ 300-500 ล้านเหรียญสิงคโปร์ ในการสร้างบ้านราคาพอสมควรจำนวน 50,000 หลัง บริษัทฯ เชื่อมั่นว่า จะได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาดจีนและเวียดนาม และคาดว่า จะมีรายได้ประมาณ 2 พันล้านเหรียญสิงคโปร์จากเวียดนามภายใน 3-5 ปีข้างหน้า สำหรับในตลาดจีน ทำรายได้คิดเป็นร้อยละ 35-45 ของธุรกิจบริษัทฯ ซึ่งมีโครงการสร้างบ้านจำนวน 16,000 หลัง โดยมีเป้าหมายการจำหน่ายปีละ 3,000 หลัง ทั้งนี้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2553 สามารถจำหน่ายบ้านในเมืองคุนซาน ปักกิ่ง และเฉิงตู ได้ 1,200 หลัง

การลงทุนในประเทศ

1. บริษัทจีน Hanlong Group ตั้งสำนักงานและศูนย์วิจัยในสิงคโปร์ บริษัทผลิต solar panel ประสงค์ขยายตลาดไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย และออสเตรเลีย โดยบริษัทจะจ้างงานจำนวน 40 อัตรา ในการจำหน่าย การทำตลาดและการวิจัย ณ Science Park คาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 600 ล้านเหรียญสิงคโปร์ต่อปี ภายในปี 2558 โดยบริษัทจะร่วมมือค้นคว้าวิจัยกับ Solar Energy Research Institute สิงคโปร์ และจ้างโรงงานผลิต semiconductor ในสิงคโปร์เพื่อประกอบชิ้นส่วนและทำให้สินค้ามีความสมบูรณ์ ทั้งนี้ บริษัทจะได้รับสิทธิประโยชน์จากรัฐบาลสิงคโปร์ในด้านการลดภาษี การจัดหาผู้มีความสามารถพิเศษ การเข้าถึงตลาด การค้นคว้าวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการขยายตลาดในต่างประเทศ ที่จะส่งเสริมให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลาง Clean Energy ของโลก ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์ได้ตั้งเป้าหมายสำหรับอุตสาหกรรม Clean Energy ที่จะส่งผลประมาณ 1.7 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ให้เศรษฐกิจเติบโตเพิ่มขึ้น และให้มีการจ้างงาน 7,000 อัตราในสาขา solar power, fuel cells, wind power และ carbon services ภายในปี 2558

ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ

1. สิงคโปร์กับ Kunming-ประเทศจีน การลงนาม Memorandum of Understanding (MOU) เมื่อวันที่ 3 กย.53 ระหว่าง Mr. Alphonsus Chia, Chief Executive ของ Singapore Cooperation Enterprise (SCE-Agency of Ministry of Foreign Affairs and Ministry of Trade and Industry) และ Mr Zhao Deguang, Vice-Mayor ของ Kunming Municipal Government เพื่อการสร้างสัมพันธไมตรีให้แน่นแฟ้นและความร่วมมือโครงการในการสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการสร้างแหล่งน้ำ นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างโอกาสทางการค้าให้แก่ทั้งสองฝ่าย รวมถึงให้มีการแลกเปลี่ยนบุคคลากรทั้งในภาครัฐและเอกชนสำหรับการฝึกอบรมวิชาการด้านต่างๆ ที่ทั้งสองฝ่ายสนใจ รวมด้านการเงิน/การคลังด้วย

2.คณะผู้แทนการค้าสิงคโปร์เยือน Zhejiang ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 6-10 กันยายน 2553 ประกอบด้วยคณะผู้แทน ระดับสูงจากภาครัฐ (International Enterprise (IE) Singapore, Economic Development Board and Singapore Tourism Board) และผู้บริหารจากภาคเอกชนของสิงคโปร์ โดยมีจำนวน 30 ราย จาก 25 บริษัท คาดหวังว่า เป็นโอกาสที่ดีในการขยายตลาดธุรกิจในด้านต่างๆ ได้แก่ การบริการรักษาสิ่งแวดล้อม การบริการโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ การธนาคารและการเงิน และการบริการด้านการศึกษา

3.จีนสนับสนุนสิงคโปร์ในวงการ ASEAN Mr. George Yeo, Foreign Minister สิงคโปร์เยือนปักกิ่ง ได้เข้าเยี่ยมคารวะ Mr. Yang Jiechi, Foreign Minister ของจีน ซึ่งได้ชื่นชมสิงคโปร์ที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับจีน โดยสิงคโปร์เป็นตัวกลางในฐานะเป็นประเทศในเอเชียตะวันออกที่มีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกันกับจีน นอกจากนี้ ยังได้ปรึกษาหารือกันเพื่อส่งเสริมสัมพันธไมตรีให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในด้านวัฒนธรรม และการแลกเปลี่ยนการฝึกอบรมบุคคลากร อีกทั้งได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องต่างๆในภูมิภาคและนานาชาติ รวมถึงความสัมพันธ์ ASEAN-China และ การพัฒนาเศรษฐกิจล่าสุดในเอเชียตะวันออกด้วย

อื่นๆ

1.การรักษาแผนจีนเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นในสิงคโปร์ ชาวสิงคโปร์หันไปหาการรักษาแผนจีน (Traditional Chinese Medicine : TCM) มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจโลกถดถอย แม้ว่า ประเทศอื่นๆจะมีการนำเข้าสินค้ายาแผนจีน (สมุนไพรเสริมสุขภาพ และยาอื่นๆ เช่น ginseng และ chicken essence) ลดลงก็ตาม The Singapore Traditional Chinese Medicine Organizations Committee (STOC) กล่าวว่า ในปี 2552 การนำเข้า มีมูลค่า 1.6 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 45 เมื่อเทียบกับปี 2550 ที่นำเข้ามูลค่า 1.1 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ การนำเข้า สินค้าส่วนใหญ่มาจากจีน ไต้หวัน และมาเลเซีย สำหรับมูลค่าการส่งออกลดลงจาก 6.9 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ในปี 2550 เป็น 5.2 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ในปี 2552 ทั้งนี้ STOC และ TCM College กำหนดจัดงาน Traditional Medicine Expo ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 15-17 ตุลาคม 2553 ณ Suntec City พื้นที่เพิ่มจากเดิม 3,000 ตารางเมตร เป็น 4,000 ตารางเมตร คาดว่า จะมีผู้เข้าร่วมงานเกือบ 100 รายจากจีนและประเทศเพื่อนบ้าน

2.อุตสาหกรรมการบินโลกสร้างตำแหน่งงานในอนาคต ซึ่งคาดว่าใน 20 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรมการบินจะเป็นภาคสำคัญในการสร้างตำแหน่งงาน ประมาณ 4 ใน 10 ตำแหน่งจะเป็นการจ้างในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค ซึ่งผู้สร้างเครื่องบินโบอิ้ง ได้ประกาศแผนการ 20 ปีในการจ้างงาน ซึ่งในปี 2572 คาดว่า จำนวนเครื่องบินจะเพิ่มขึ้นจาก 18,890 ลำ เป็น 36,300 ลำ เนื่องจากผู้โดยสารเดินทางโดยเครื่องบินขยายตัวในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 5.3 ต่อปี ทำให้ตั้งเป้าจำนวนความต้องการนักบินประมาณ 466,650 คน และเจ้าหน้าที่บำรุงรักษา 596,500 คน ทั้งนี้ การฝึกอบรมของ ST Aerospace Academy ของสิงคโปร์ซึ่งเริ่มโปรแกรมฝึกอบรมในออสเตรเลียและสิงคโปร์เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา สร้างจำนวนนักบินที่จบหลักสูตรจำนวน 54 คน

3.สิงคโปร์ได้รับอันดับ 8 เมืองดีที่สุดของโลก จากการสำรวจของ A.T. Kearney (Washington-based Foreign Policy Magazine) และ Chicago Council on Global Affairs จัดให้สิงคโปร์อยู่อันดับ 8 (ปี 2551 อันดับ 7) สำหรับ เมืองที่ได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 1 คือ นิวยอร์ค รองลงมา ได้แก่ ลอนดอน โตเกียว ปารีส ฮ่องกง ชิกาโก ลอสแองเจลิส สิงคโปร์ ซิดนีย์ และโซล ทั้งนี้การสำรวจครอบคลุม 65 เมืองทั่วโลก ที่แต่ละเมืองมีประชากรมากกว่า 1 ล้านคน ใช้ระดับมาตรฐานในการจัดอันดับ ได้แก่ สภาวเศรษฐกิจ การดำเนินธุรกิจ ความสามารถของบุคคลากร การแลกเปลี่ยนข้อมูล วัฒนธรรม และสภาวะการเมือง อนึ่ง GDP ของสิงคโปร์มีอัตราสูงกว่าเมืองใหญ่อื่นๆ และมี capita income ประมาณ 68,200 เหรียญสิงคโปร์(สูงเกือบเท่ากับอเมริกาและนอรเวย์) มีท่าเรือใหญ่และปริมาณคอนเทนเนอร์พอๆกับท่าเรือเซี่ยงไฮ้ มีการคมนาคมขนส่งที่ดี เป็นเมืองที่สะอาดที่สุดและมีศักยภาพในภูมิภาคเอเชีย

4.โรงงานผลิตน้ำ Newater ในสิงคโปร์ หน่วยงานน้ำแห่งชาติ PUB ประกาศแผนการ 50 ปี ส่งเสริมให้สิงคโปร์ไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำเพื่อใช้ในประเทศ และให้มีน้ำใช้ภายในประเทศอย่างเพียงพอ โดยน้ำได้มาจากการผลิตของโรงงานผลิตน้ำ Newater และโรงงานกลั่นน้ำ ที่ในปัจจุบันสามารถผลิตได้ร้อยละ 40 ของความต้องการรวมทั้งประเทศ และจะเพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 80 ภายในปี 2603 ทั้งนี้ PUB จะขยายโรงาน Changi Newater และเปิดสาขาที่ 6 ณ เขต Tuas ภายในปี 2573 รวมทั้งจะสร้างโรงงานกลั่นน้ำแห่งที่สอง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำเมื่อสัญญาการซื้อน้ำจากมาเลเซียหมดอายุในปี 2604 ทั้งนี้ PUB คาดว่า ความต้องการน้ำภายในปี 2603 ปริมาณ 3 พันล้านลิตรต่อวัน ทั้งในส่วนที่พักอาศัยและโรงงานโดยแบ่งสัดส่วนออกเป็น 30 : 70

กิจกรรมที่ดำเนินการระหว่างวันที่ 16-30 กันยายน 2553

1. ประสานติดตามสรุปผลการนำคณะผู้แทนการค้าสิงคโปร์สินค้ายานยนต์และอุปกรณ์ยานยนต์เยือนประเทศไทย ระหว่างวันที่ 12-15 กันยายน 2553 โดยคณะประกอบด้วย 16 บริษัท (21 ราย) และรายงานส่งกรมฯ

2. ประสานติดต่อผู้นำเข้าสิงคโปร์สินค้าข้าว เพื่อเชิญเข้าร่วมงาน Thai Hom Mali Rice Convention ที่จังหวัดอุบลราชธานี ในวันที่ 23 กันยายน 2553 ซึ่งมีผู้นำเข้าสิงคโปร์เข้าร่วมงานจำนวน 1 ราย คือ Mr. Heng Suay Bah, Michale, Managing Director, Yi Chia Import & Export

3. ประสานติดตามผลจาก Singapore Business Federation เพื่อจัดคณะสมาชิกฯ เยือนงาน Thailand International Logistics Fair 2010 (7-10 October 2010) ซึ่งถึงขณะนี้ มีผู้ตอบรับเข้าเยือนงานฯ จำนวน 4 ราย

4. จัดส่งรายชื่อบริษัทสิงคโปร์จำนวน 4 บริษัท เข้าร่วมแสดงสินค้าในงานแสดงสินค้า Thailand International Logistics Fair 2010 (7-10 October 2010)

5. รายงานและจัดส่งใบสำคัญหักล้างเงินโอนและส่งต้นฉบับสื่อสิ่งพิมพ์การลงโฆษณาประชา สัมพันธ์งาน BIG & BIH, October 2010 (19-24 October 2010) ในสื่อสิ่งพิมพ์ต่างประเทศ (The Straits Times) สิงคโปร์

6. ประสานเชิญสื่อมวลชนเยือนงาน Thailand International Logistics Fair 2010 (7-10 October 2010) และ Bangkok International Gift Fair and Bangkok International Houseware Fair (19-24 October 2010)

7. ประสานเชิญชวนนักธุรกิจ/ผู้นำเข้าสิงคโปร์เยือนงานแสดงสินค้าในประเทศไทย ได้แก่

-Thailand International Logistics Fair 2010(7-10 October 2010)

-Thailand International Education Exhibition 2010 (8-10 October 2010)

-Bangkok International Gift Fair and Bangkok International Houseware Fair (19-24 October 2010)

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ สิงคโปร์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ