ทิศทางเศรษฐกิจจีนปี 2553 ... เมื่อมังกรจะสยบ (ปี) เสือ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 26, 2010 14:09 —กรมส่งเสริมการส่งออก

เศรษฐกิจปี 2552 ... ความสำเร็จของมังกร

รัฐบาลจีนโชว์ฝีมือ ... ขั้นเทพ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ปี 2552 นับเป็นปีที่ยากลำบากและสร้างภาระงานมากที่สุดของจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะวิกฤตเศรษฐกิจโลกทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจของจีนและต่างประเทศสลับซับซ้อนมากขึ้น และได้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจจีนอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี

แต่รัฐบาลจีนก็อาศัยความทุ่มเทและมือที่มีมองเห็น (Visible Hand) ของรัฐบาลช่วยเพิ่มอุปสงค์ สร้างความมั่นใจ ขยายการพัฒนาของหลายอุตสาหกรรมสำคัญ เพิ่มการจ้างงานและรายได้ของประชาชน จนสามารถฟันฝ่าอุปสรรคและนาพาให้เศรษฐกิจจีนในปีที่ผ่านมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วและจบลงได้อย่างสวยหรู กล่าวคือ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนรายไตรมาสเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 6.2 ในไตรมาสแรก ร้อยละ 7.9 ในไตรมาสที่ 2 และก้าวกระโดดเป็นร้อยละ 9.1 ในไตรมาสที่ 3 และอาศัยโมเมนตัมที่ดี พุ่งทะยานต่อในระดับเลขสองหลักอีกครั้งที่ร้อยละ 10.7 ในไตรมาสสุดท้ายของปี ทำให้เศรษฐกิจจีนโดยรวมในปี 2552 มีขนาดถึง 33.54 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 4.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ) ขยายตัวร้อยละ 8.7 เมื่อเทียบกับของปี 2551 สูงกว่าที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ที่ร้อยละ 8 ส่งผลให้ขนาดเศรษฐกิจของจีนในปี 2552 ก้าวแซงญี่ปุ่น และเป็นรองเพียงสหรัฐฯ เท่านั้น

ตารางอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2546-2552

          ปี 2546           ร้อยละ 10.0
          ปี 2547           ร้อยละ 10.1
          ปี 2548           ร้อยละ 9.9
          ปี 2549           ร้อยละ 10.4
          ปี 2550           ร้อยละ 13.0
          ปี 2551           ร้อยละ 9.0
          ปี 2552           ร้อยละ 8.7
          ไตรมาสที่ 1        ร้อยละ 6.2
          ไตรมาสที่ 2        ร้อยละ 7.9
          ไตรมาสที่ 3        ร้อยละ 9.1
          ไตรมาสที่ 4        ร้อยละ 10.7

นอกจากนี้ ยังพบจุดเด่นของตัวเลขทางเศรษฐกิจจีนในปี 2552 อีกหลายประการ กล่าวคือ เศรษฐกิจจีนผงกหัวกลับมาเติบโตได้อย่างร้อนแรงและมีเสถียรภาพในลักษณะรูปตัววี (V-Shape) จากเดิมที่ขยายตัวในอัตราที่ลดลงอย่างต่อเนื่องนับแต่ต้นปี 2551 (ร้อยละ 11.3 ในไตรมาสแรก ร้อยละ 10.8 ในไตรมาสที่ 2 เหลือร้อยละ 9.7 ในไตรมาสที่ 3 และเติบโตเพียงร้อยละ 7.6 ในไตรมาสที่ 4) และลงถึงจุดต่ำสุดในไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 (ร้อยละ 6.2)

จีนสามารถสร้างสถิติการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างน้อยร้อยละ 8.7 ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 7 ปีเข้าให้แล้ว ขณะเดียวกันโครงสร้างเศรษฐกิจของจีนได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก กล่าวคือ ในระหว่างปี 2546-2550 เศรษฐกิจจีนพึ่งพาภาคการลงทุนและการส่งออกเป็นสำคัญ ขณะที่การบริโภคมีอิทธิพลน้อยมาก ในปี 2550 บทบาททางเศรษฐกิจของการบริโภค การลงทุน และการส่งออกสุทธิต่อจีดีพีอยู่ในสัดส่วน 4-4-2 เปลี่ยนเป็น 4.5-4.5-1 ในปี 2551 และเปลี่ยนเป็น 4-8-2 ในปี 2552 โดยการลงทุนและการบริโภคภายในประเทศขยายบทบาททางเศรษฐกิจ และกลายเป็นกลไกสาคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนในปี 2552 อย่างแท้จริง

ผลผลิตการเกษตรและอุตสาหกรรม... ขยายตัวต่อไป ในปี 2552 ธัญพืชมีผลผลิตมากกว่า 530 ล้านตัน ขยายตัวร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับของปีที่ผ่านมา นับเป็นการเพิ่มขึ้นของผลผลิตธัญพืชต่อเนื่องกันปีที่ 6 ของจีน โดยที่พื้นที่การเกษตรและเกษตรกรของจีนมีแนวโน้มลดลง จึงสะท้อนว่าผลผลิตต่อไร่ของจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างเป็นเกษตรแปลงใหญ่ให้มีผลิตภาพการผลิตที่สูงขึ้น ในจำนวนนี้ เมล็ดพืชน้ำมัน (Oil-bearing Seeds) เพิ่มขึ้นราวร้อยละ 5 อย่างไรก็ดี ผลผลิตน้ำตาลลดลงร้อยละ 9 จึงไม่น่าแปลกใจที่เห็นผู้ประกอบการจีนหาซื้อน้ำตาลจากต่างประเทศกันเป็นจำนวนมาก

ขณะที่ในด้านปศุสัตว์ ผลผลิตเนื้อสัตว์ยังคงขยายตัวในอัตราคงที่ โดยมีปริมาณกว่า 75 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับของปีที่ผ่านมา ในจำนวนนี้ เป็นเนื้อหมูประมาณ 49 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับของปีก่อน

ขณะเดียวกันผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Output) ขยายตัวร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับของปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.2 และ 18.5 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2551 ตามลำดับ แต่อัตราผลผลิตภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวก็ลดลงจากของปีก่อนเล็กน้อย และเป็นอัตราการขยายตัวของผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ต่าที่สุดนับแต่ปี 2542

ในเชิงภูมิศาสตร์ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในซีกตะวันออก ตอนกลาง และตะวันตกของประเทศขยายตัวในอัตราร้อยละ 9.7 ร้อยละ 12.1 และร้อยละ 15.5 ตามลำดับ ขณะที่โรงงานอุตสาหกรรมของจีนสามารถทำกำไรในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2552 ได้ถึง 2.59 ล้านล้าน หยวน (ประมาณ 379,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 เมื่อเทียบกับของปีที่ผ่านมา โดยจำนวน 30 ใน 39 อุตสาหกรรมหลักของจีนแสดงผลกำไรเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับของปี 2551

นอกจากนี้ ผลจากการวิจัยระบุใน Hudson Report เมื่อสิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมาสรุปว่า ร้อยละ 39 ของกิจการในจีนมีแผนที่จะว่าจ้างบุคลากรเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับของประเทศอื่น ๆ ในเอเซีย และเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 27 ที่สำรวจเมื่อสิ้นเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา

การจับจ่ายใช้สอย .... ฟูเฟื่องอีกครั้ง มูลค่าการค้าสินค้าอุปโภคบริโภคโดยรวมทาสถิติขึ้นไปถึง 12.5 ล้านล้านหยวน ขยายตัวร้อยละ 15.5 เมื่อเทียบกับของปีก่อน และหากปรับลดปัจจัยราคา (Price Factor) เข้าด้วยแล้ว มูลค่าการค้าโดยรวมของจีนในปี 2552 ก็ขยายตัวถึงเกือบร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับของปีที่ผ่านมา

ในจำนวนนี้ จำแนกเป็นการจับจ่ายใช้สอยในเขตเมืองที่มูลค่า 8.5 ล้านล้านหยวน ขยายตัวร้อยละ 15.5 และในชนบท 4 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.7 ขณะเดียวกันการค้าปลีกและค้าส่งก็มีมูลค่ารวมกว่า 10.5 ล้านล้านหยวน ขยายตัวร้อยละ 16.8 เมื่อเทียบกับของปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่การค้าปลีกขยายตัวในอัตราที่สูงมากจากร้อยละ 16.2 ในเดือนตุลาคม เป็นร้อยละ 15.8 ในเดือนพฤศจิกายน และทะยานเป็นร้อยละ 17.5 ในเดือนธันวาคม ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลอัตราการออมของชาวจีนที่ลดลงจากร้อยละ 26 ในช่วงต้นปีเหลือร้อยละ 12 ณ สิ้นปี 2552 หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ชาวจีนเชื่อมั่นว่ารัฐบาลสามารถจัดการกับปัญหาเศรษฐกิจได้แน่นอนแล้ว การขยายตัวดังกล่าวยังทำให้บทบาทของการบริโภคภายในประเทศต่อเศรษฐกิจจีนโดยรวมขยายตัวมากขึ้น

การดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รวดเร็ว จริงจัง และต่อเนื่องของรัฐบาลจีนโดยเฉพาะในเขตชนบทนับแต่ต้นปีที่ผ่านมา เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ตัวทวีคูณ (Multiplier) ทางเศรษฐกิจสามารถผลิดอกออกผลได้อย่างเต็มที่ อาทิ

  • การเพิ่มระดับการประกันราคาสินค้าเกษตรอีกร้อยละ 15.3
  • การกระตุ้นการจ้างแรงงานผ่านหลายโครงการก่อสร้างและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศ โดยครอบคลุมทั้งทางด้านโทรคมนาคม การก่อสร้าง สินค้าเหล็ก ปูนซิเมนต์ และเทคโนโลยีชั้นสูง
  • การช่วยฟื้นฟูอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ผ่านการกระตุ้นอุปสงค์ในสินค้าหลัก โดยเฉพาะปูนซิเมนต์ ปิโตรเคมี เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ เหล็กและเหล็กกล้า ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อไปยังวิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดกลางของจีน
  • โครงการพยุงอุตสาหกรรมรถยนต์ภายในประเทศ โดยออกมาตรการลดภาษีการบริโภคเหลือร้อยละ 5 สำหรับรถยนต์ที่มีขนาดเครื่องยนต์ไม่เกิน 1,600 ซีซี และให้เงินอุดหนุนจำนวน 5,000 ล้านหยวนแก่ประชาชนในชนบทในการจัดซื้อรถใหม่ที่มีเครื่องยนต์ขนาดไม่เกิน 1,300 ซีซี
โครงการ “เครื่องใช้ไฟฟ้าสู่ชนบท” และ “จักรยานยนต์สู่ชนบท” ลดภาษีการบริโภคและอุดหนุนเกษตรกรและผู้ที่มีรายได้น้อยในชนบทให้ซื้อหาเครื่องใช้ไฟฟ้า (ตามแต่ประเภทสินค้า) และจักรยานยนต์ (อุดหนุนเงินประมาณ 300 หยวนต่อคัน) จากผู้ผลผลิตภายในประเทศในราคาพิเศษ
  • การแจกเงิน 100-150 หยวนแก่ผู้ที่มีรายได้น้อยเพื่อเป็นของกำนัลวันตรุษจีน
  • การแจกคูปองซื้อสินค้าและบริการแก่ประชาชนในประเทศ
มาตรการเหล่านี้ล้วนส่งผลให้อุปสงค์สินค้าอุปโภคและบริโภคภายในประเทศขยายตัวในเกือบทุกรายการเมื่อปีที่ผ่านมา อาทิ
  • เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ร้อยละ 12.3
          - ยาสูบและสุรา                ร้อยละ 14.0
  • เครื่องประดับทองคำและเงิน ร้อยละ 15.9
          - เครื่องสำอาง                ร้อยละ 16.9
  • เสื้อผ้า รองเท้า หมวก และสิ่งทอ ร้อยละ 18.8
          - ยา                        ร้อยละ 21.7
          - วัสดุก่อสร้างและตกแต่ง         ร้อยละ 26.6
          - รถยนต์                     ร้อยละ 32.3
          - เฟอร์นิเจอร์                 ร้อยละ 35.5

โดยในกรณีของอุตสาหกรรมยานยนต์ ยอดขายที่ขยายตัวในอัตราที่สูงดังกล่าวยังช่วยให้จีนสร้างชื่อเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่สุดของโลก แซงหน้าสหรัฐฯ ขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ด้วยยอดจำหน่ายรถยนต์ประมาณ 13.6 ล้านคัน

ขณะที่นโยบายการปล่อยสินเชื่อพาณิชย์เข้าสู่ระบบก็มีส่วนช่วยให้เม็ดเงินในระบบสะพัดอย่างมาก โดย ณ สิ้นปี 2552 ปริมาณเงินที่หมุนเวียนอยู่ในมือประชาชนตามความหมายกว้าง (M2) มีอยู่ถึง 60.6 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.7 เมื่อเทียบกับของปีที่ผ่านมา โดยอุปทานเงิน M2 ทำสถิติอัตราการขยายตัวร้อยละ 29.7 เมื่อเดือนพฤศจิกายน เมื่อเทียบกับของช่วงเวลาเดียวกันในปี 2551

นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจยังส่งผลให้ระดับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจจีนเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง ที่ชาวจีนต่างลดความกังวลใจในวิกฤติเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ ผลจากการวิจัยในกว่า 40 เมืองสำคัญของจีนโดยมหาวิทยาลัยเจียวทง นครเซี่ยงไฮ้ระบุว่า ผู้บริโภคชาวจีนมีระดับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจากระดับ 94.7 ในไตรมาสที่ 2 เป็น 97 ในไตรมาสที่ 3

ดัชนีราคาสินค้า ...ชะลอตัว แต่พุ่งแรงช่วงปลายปี ดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI) ของปี 2552 ลดลงอยู่ที่ระดับร้อยละ -0.7 เมื่อเทียบกับของปีที่ผ่านมา โดยติดลบต่อเนื่องกันถึง 10 เดือนในปีที่ผ่านมา และมีอัตราเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วงโค้งสุดท้ายของปี จากร้อยละ 0.6 ในเดือนพฤศจิกายนเป็นร้อยละ 1.9 ในเดือนธันวาคม ทั้งนี้ ส่วนสำคัญเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารและสาธารณูปโภค และพายุหิมะที่ถล่มในหลายพื้นที่ในช่วงปลายปี

ขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อในเขตเมือง (ร้อยละ -0.9) ลดลงในอัตราที่สูงกว่าของในชนบท (ร้อยละ -0.3) และหากจำแนกดัชนีดังกล่าวตามกลุ่มสินค้า

ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าผู้ผลิต (Producer Price Index: PPI) ในปี 2552 ชะลอตัวลดลงในอัตราร้อยละ -5.4 เมื่อเทียบกับของปีก่อน โดยติดลบตลอด 11 เดือนแต่พลิกกลับมามีอัตราเป็นบวกในเดือนธันวาคมที่ร้อยละ 1.7 ทั้งนี้โดยปัจจัยขับเคลื่อนจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐและการเก็งกำไรในราคาสินค้าเกษตรที่คาดว่าจะสูงขึ้นภายหลังการเกิดพายุหิมะหลายครั้งตั้งแต่ต้นฤดูหนาว ขณะที่ราคาซื้อของวัตถุดิบ เชื้อเพลิง และพลังงานรวมของทั้งปีลดลงร้อยละ -7.9

การค้าระหว่างประเทศ ... ชะลอตัว แต่ยังเกินดุลการค้า การค้าระหว่างประเทศของจีนในปี 2552 มีมูลค่า 2.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ -13.9 เมื่อเทียบกับของปีที่ผ่านมา โดยเริ่มพลิกกับมาเป็นบวกนับแต่เดือนพฤศจิกายนที่ร้อยละ 9.8 และพุ่งทะยานต่อในเดือนธันวาคมในอัตราที่สูงถึงร้อยละ 32.7

ทั้งนี้ การส่งออกของจีนมีมูลค่ากว่า 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ -16 เมื่อเทียบกับของปีที่ผ่านมา โดยมีเพียงเดือนธันวาคมเดือนเดียวเท่านั้นที่การส่งออกเพิ่มขึ้นเป็นบวก (ร้อยละ 17.7 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา) ทั้งนี้ เนื่องจากการซบเซาของตลาดส่งออกหลัก

ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ -11.2 เมื่อเทียบกับของปีที่ผ่านมา ทำให้จีนเกินดุลการค้า 196,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากปีก่อนถึง 99,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

อย่างไรก็ดี แม้ว่าการส่งออกในปี 2552 ชะลอตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ผ่านมา และส่งผลให้บทบาทของภาคการส่งออกต่อจีดีพีลดลงอย่างมาก แต่การส่งออกของจีนก็ชะลอตัวในอัตราที่ต่ำกว่าของหลายประเทศ เมื่อเทียบกับของประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ส่งผลให้จีนแซงหน้าเยอรมัน ก้าวขึ้นเป็นประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลกเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

ความสำเร็จดังกล่าวเกิดขึ้นมาได้ด้วยเลือด (ของรัฐบาลจีนและกิจการส่งออกขนาดเล็ก) และน้ำตา (ของประเทศคู่แข่งขัน) กล่าวคือ ในช่วงปีที่ผ่านมา กิจการส่งออกขนาดเล็กของจีนปิดกิจการลงไปเป็นจำนวนมาก ขณะที่รัฐบาลจีนได้พยายามชะลอการเพิ่มค่าของเงินหยวน อัดเงินจานวนมากทั้งทางตรงและทางอ้อมเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออกของจีน และกำหนดมาตรการเพิ่มส่วนลดภาษีส่งออก (Export Rebate) ถึง 4 ครั้ง ได้แก่

  • เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2552 รัฐบาลได้ประกาศการปรับส่วนลดฯ ครั้งนี้เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2551 ว่าจะเพิ่มอัตราส่วนลดฯ แก่สินค้าจำนวน 553 รายการจากร้อยละ 14 เป็นร้อยละ 17 อันได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีเทคโนโลยีและมูลค่าเพิ่มสูง เป็นสำคัญ ทั้งนี้ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปี 2552 เป็นต้นไป
  • เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2552 หากนับรวมจากช่วงปลายปี 2551 มาตรการนี้นับเป็นการกำหนดเพิ่มส่วนลดฯ 4 เดือนต่อเนื่องกัน โดยในครั้งนี้ การเพิ่มส่วนลดฯ มุ่งเน้นไปที่สินค้าสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากร้อยละ 14 เป็นร้อยละ 15
  • เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2552 กระทรวงการคลังได้ประกาศเพิ่มอัตราส่วนลดฯ กับสินค้าส่งออกจำนวน 3,800 รายการ ซึ่งนับการดำเนินมาตรการครั้งที่ 6 ต่อเนื่องกันนับแต่เดือนสิงหาคม 2551 โดยในครั้งนี้มีรายการสินค้าอุตสาหกรรมมากมาย โดยเฉพาะผ้าผืนและเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 16 นอกจากนี้ หลอดภาพโทรทัศน์ เหล็กและเหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 17
  • เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2552 รัฐบาลจีนประกาศเพิ่มส่วนลดฯ ห่างจากครั้งที่ผ่านมาเพียง 2 เดือนเท่านั้น และนับเป็นการกำหนดมาตรการครั้งที่ 7 ในรอบ 10 เดือน! โดยในครั้งนี้ จีนปรับเพิ่มอัตราส่วนลดภาษีส่งออกให้แก่สินค้าจำนวนกว่า 2,600 รายการ และเน้นไปที่สินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นที่เดิมการส่งออกชะลอตัวไม่มากนัก

อาทิ กระเป๋าเดินทางและกระเป๋าถือ รองเท้าและหมวก ของเด็กเล่น และเฟอร์นิเจอร์เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 13 เป็นร้อยละ 15 ขณะที่เซรามิกเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 13

และยังขยายไปยังสินค้าอีก 2 กลุ่ม ได้แก่ สินค้าเทคโนโลยีและเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน อาทิ เครื่องปรับอากาศ และจักรเย็บผ้า ซึ่งการส่งออกได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤติเศรษฐกิจ เพิ่มเต็มพิกัดเป็นร้อยละ 17 และผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป ซึ่งไม่อยู่ในรายการสินค้าที่ได้รับความช่วยเหลือในการดำเนินมาตรการดังกล่าว 6 ครั้งก่อนหน้านี้ ตัวอย่างเช่น อาหารกระป๋อง และน้ำผลไม้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 13 เป็นร้อยละ 15 ขณะที่สินค้าแอลกอฮอล์ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 5

การลงทุน ... มาแรง การลงทุนในสินทรัพย์คงที่ (Fixed-asset Investment) มีมูลค่ารวม 22.5 ล้านล้านหยวน ขยายตัวถึงร้อยละ 30.1 เมื่อเทียบกับของปีที่ผ่านมา ในจำนวนนี้ เป็นการลงทุนในสินทรัพย์คงที่ในเขตเมือง (Urban Fixed-asset Investment) ซึ่งนับเป็นดัชนีชี้วัดการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลด้านโครงสร้างพื้นฐานและเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจจีน ในมูลค่า 19.4 ล้านล้านหยวน ขยายตัวร้อยละ 30.5 และเป็นการลงทุนในชนบท (Rural Fixed-asset Investment) มูลค่า 3 ล้านล้านหยวน ขยายตัวร้อยละ 27.5

ทั้งนี้ การลงทุนในเดือนธันวาคมที่ขยายตัวในอัตราร้อยละ 30.5 ลดลงจากเดือนพฤศจิกายนเล็กน้อยที่ขยายตัวร้อยละ 32.1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการประเมินว่า อุตสาหกรรมภายในประเทศยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่มาก ทั้งนี้ สถาบันสังคมศาสตร์แห่งชาติ (Chinese Academy of Social Sciences: CASS) ประเมินว่าจำนวนถึง 21 จาก 24 อุตสาหกรรมหลักในประเทศมีกำลังการผลิตส่วนเกินแฝงอยู่ และรัฐบาลกำลังอยู่ระหว่างการจัดการให้มีการควบรวมบางกิจการอยู่ เช่น ในอุตสาหกรรมเหล็ก

เม็ดเงินสินเชื่อใหม่เป็นอีกกลไกสำคัญหนึ่งที่รัฐบาลจีนใช้ในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยในปี 2552 ธนาคารแห่งชาติจีน (Bank of China) ได้กำหนดนโยบายสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการในประเทศ โดยเปิดฉากมาในเดือนมกราคม 2552 ก็มีการปล่อยสินเชื่อถึง 1.2 ล้านล้านหยวน ทั้งนี้ในช่วงครึ่งปีแรกมีการปล่อยสินเชื่อใหม่มากกว่า 1 ล้านล้านหยวนถึง 4 เดือน ทาให้เงินกู้ยืมภายในประเทศรวมสูงถึง 9.59 ล้านล้านหยวน ซึ่งสูงกว่าประมาณการเดิมที่กำหนดไว้เมื่อต้นปี 2552 ในวงเงิน 5 ล้านล้านหยวนถึงเกือบเท่าตัว

และหากธนาคารกลางของจีนไม่แตะเบรคไว้เสียก่อน ตัวเลขสินเชื่อดังกล่าวในปี 2552 อาจสูงถึง 13 ล้านล้านหยวน CASS ประเมินไว้ว่า หากไม่มีการลงทุนของภาครัฐ ก็คาดว่าเศรษฐกิจของจีนในปีที่ผ่านมาจะเติบโตเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น!

นอกจากนี้ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ในจีนมีมูลค่า 90,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ -2.6 เมื่อเทียบกับของปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนสำคัญเนื่องจากการชะลอตัวของการลงทุนในช่วงครึ่งปีแรกที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก แต่ก็ขยายตัวติดต่อกันในช่วง 5 เดือนสุดท้ายของปี โดยเฉพาะในเดือนธันวาคม FDI มีมูลค่าถึง 12,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 103 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

นายหลี่ เม่าหยู (Li Maoyu) นักวิเคราะห์ของบริษัท ฉางเจียงซิเคียวริตี้ จำกัด (Changjiang Securities Co.) ให้ความเห็นว่า “การเพิ่มขึ้นของการลงทุนต่างประเทศเมื่อเดือนที่ผ่านมาแสดงถึงความเชื่อมั่นที่มีต่อเศรษฐกิจของจีน ประเทศจีนได้กลายเป็นจุดสนใจของตลาดโลก เมื่อกำลังก้าวขึ้นเป็นหมายเลขหนึ่งในหลากหลายด้าน ... สำหรับนักลงทุน จีนเป็นแหล่งลงทุนที่ปลอดภัยและอาจจะดีที่สุด ศักยภาพที่มีอยู่มากมายและการจัดระเบียบทางเศรษฐกิจและสังคมที่ดีของจีนทำให้ประเทศจีนเป็นเป้าหมายที่น่าสนใจสำหรับการลงทุน”

ตารางอัตราการขยายตัวของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในจีนในปี 2552

          สิงหาคม           ร้อยละ 7.0
          กันยายน           ร้อยละ 18.9
          ตุลาคม            ร้อยละ 5.7
          พฤศจิกายน         ร้อยละ 32.0
          ธันวาคม           ร้อยละ 103.0

ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนไปได้มากที่สุด ขณะที่การลงทุนในภาคบริการขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าของปีที่ผ่านมา การควบรวมและเข้าซื้อกิจการ (Merger and Acquisition: M&A) ก็นับเป็นรูปแบบการลงทุนที่ได้รับความนิยมมากที่สุด (หากไม่นับรวมถึงการลงทุนของภาคการเงิน) โดยมีมูลค่ารวม 17,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 40.4 ของ FDI ในส่วนที่ไม่นับรวมภาคการเงิน

เมื่อพิจารณาจากแหล่งรองรับการลงทุนฯ นครเซี่ยงไฮ้สามารถดึงดูด FDI ได้ 10,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 4.5 จากของปีที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นปีที่สองติดต่อกันที่ FDI ในนครเซี่ยงไฮ้มีมูลค่าเกินกว่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ทุนสารองระหว่างประเทศ ... พุ่งทะยานต่อ หลังจากที่ทำสถิติประเทศที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศ (Foreign Reserves) มากที่สุดในโลกเมื่อหลายปีก่อนและทำลายสถิติของตนเองมาอย่างต่อเนื่อง ในปี 2552 จีนก็สามารถเพิ่มทุนสำรองระหว่างประเทศขึ้นไปถึงกว่า 2.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ

ขณะเดียวกันรัฐบาลจีนก็ยังคงรักษาค่าเงินหยวนไว้ โดยอ่อนตามเงินเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ รัฐบาลจีนอาจเรียนรู้จากการปล่อยให้ค่าของเงินเยนของญี่ปุ่นแข็งตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในอดีตและการเพิ่มค่าเงินหยวนอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 ว่าส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจและการส่งออกของประเทศ กอรปกับความพยายามกำกับควบคุมและลดเม็ดเงินจากต่างประเทศที่ต้องการเข้ามาเก็งกำไรในจีน ทำให้รัฐบาลจีนได้พยายามรักษาค่าเงินหยวนไว้ในระดับเดิมตลอดปี 2552 ที่ผ่านมา

ปี 2553 ... เมื่อมังกรจะเหยียบ (ปี) เสือ

ยึดเลข 8 ... เลขมงคล รัฐบาลจีนกำหนดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2553 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของแผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 11 (พ. ศ. 2549-2553) ไว้ที่ร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับของปีก่อน ขณะเดียวกันรายงานของ CASS ยังประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจจีนในปี 2553 ว่าจะขยายตัวร้อยละ 9 ขณะที่ศูนย์ข้อมูลแห่งชาติจีน (China Information Center) คาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจของจีนในปีนี้ไว้ที่ร้อยละ 8.5 นอกจากนี้ เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2552 องค์การสหประชาชาติ (United Nations) และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเซีย (Asian Development Bank: ADB) ได้ปรับตัวเลขเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นร้อยละ 8.8 และร้อยละ 8.9 ตามลำดับ

อนึ่ง นับแต่ปี 2548 เป็นต้นมา รัฐบาลจีนได้กำหนดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจในแต่ละปีไว้อย่างน้อยร้อยละ 8 ซึ่งเป็นเลขมงคลนำความร่ำรวยสู่ชาวจีน และรัฐบาลจีนก็ยังไม่เคยพลาดเป้าหมายดังกล่าวแต่อย่างใด

เติบโต ... ปรับทิศทางและโครงสร้าง ในปีสุดท้ายของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 นี้ รัฐบาลจีนยังตั้งเป้าที่จะปรับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจจาก “การผลักดันการเติบโต” (Promoting Growth) เป็น “การส่งเสริมการเปลี่ยนเข้าสู่รูปแบบใหม่ของการพัฒนา” (Promoting Change of Development Mode) โดยมุ่งหวังที่จะปรับโครงสร้างของรัฐวิสาหกิจและส่งเสริมการปฏิรูประบบของภาคธุรกิจที่มีการผูกขาด ลดอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาด ปกป้องสิทธิ์ทางกฎหมายและผลประโยชน์ของการลงทุนภาคเอกชน เพิ่มการมีส่วนร่วมของกิจการเอกชนและกิจการขนาดเล็กในระบบตลาด ขยายการจ้างงาน และพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจ เหล่านี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลจีนต่อความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มในเชิงบวก

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังได้กำหนดการขยายตัวของผลผลิตภาคอุตสาหกรรมไว้ที่ร้อยละ 11 ซึ่งปรับลดลงจากเดิม แต่อยู่ในระดับเดียวกับอัตราการขยายตัวในปี 2552 เนื่องจากรัฐบาลจีนต้องการบรรลุเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงานและลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ในการนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศประกาศเพิ่มความพยายามในการปฏิรูปอุตสาหกรรมใน 4 ส่วนสำคัญ ได้แก่

1. ขจัดเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ล้าสมัยและใช้พลังงานมากเพื่อช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อม

2. ปรับปรุงโครงสร้างอุปทานเพื่อขยายอุปสงค์ภายในประเทศ เช่น เหล็ก ปูนซิเมนต์ และสิ่งทอ

3. อุ้มชูอุตสาหกรรมแห่งอนาคตเพื่อเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ เช่น ยานยนต์ และยา

4. เพิ่มการสนับสนุนความแข็งแกร่งให้กับกิจการขนาดเล็กเพื่อก้าวอย่างมั่นคงเข้าสู่การแข่งขันที่เข้มข้นในอนาคต

โจทย์ใหญ่ .. รออยู่ตั้งแต่ต้นปี 2553 แม้ว่าหลายตัวเลขเศรษฐกิจในปี 2552 ได้แสดงให้เห็นถึงการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งนับเป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีสมดุลและเสถียรภาพในปีนี้

แต่รัฐบาลจีนดูเหมือนจะมีโจทย์ใหญ่หลายข้อรออยู่เช่นกัน ไล่ตั้งแต่เรื่องการจัดการกับปัญหาเงินเฟ้อและฟองสบู่ที่เริ่มก่อตัวขึ้นในหลายจุด การผลักดันการส่งออก (การต่อสู้กับมาตรการกีดกันทางการค้า) การรักษาระดับค่าเงินหยวน การสร้างสมดุลกับปัญหาโลกร้อนและสิ่งแวดล้อม และอื่น ๆ รวมทั้งความพยายามของรัฐบาลที่ต้องการปรับโครงสร้างและทิศทางเศรษฐกิจดังที่กล่าวข้างต้น ควบคู่ไปกับการบรรลุเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 8 เป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน ซึ่งเป็นภาระหนักเพิ่มขึ้นทุกทีสำหรับรัฐบาลจีน เพราะเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่มากขึ้น กล่าวคือ ขนาดเศรษฐกิจของจีนในปัจจุบัน (4.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ) ก็ใหญ่กว่าของในปี 2549 (ที่มีขนาดไม่ถึง 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ) เข้าไปถึงกว่า 3.5 เท่าตัวแล้ว

อย่างไรก็ดี ผมประเมินว่า จีนจะสามารถบรรลุเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2553 ที่กาหนดไว้ร้อยละ 8 ได้อย่างแน่นอน โดยคาดว่าจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ราวร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับของปีที่ผ่านมา กล่าวคือ ขนาดเศรษฐกิจคาดว่าจะขึ้นแตะ 37 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 5.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ) การบริโภคภายในประเทศจะขยายตัวในอัตราที่ใกล้เคียงกับของปีที่ผ่านมา โดยมีงานเวิลด์เอ๊กซ์โปที่นครเซี่ยงไฮ้และเอเชี่ยนเกมส์ที่นครกวางโจวเป็นสีสันประจำปี ควบคู่ไปกับการขยับเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะอยู่ในอัตราร้อยละ 3-3.5 เมื่อเทียบกับของปีที่ผ่านมา

ผลผลิตภาคการเกษตรโดยรวมอาจประสบปัญหาการชะลอตัวเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี เนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นมากและยาวนานตั้งแต่ต้นปี บวกกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่รุนแรงยิ่งขึ้นทุกขณะ ขณะที่ภาคการผลิตคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับของปีที่ผ่านมา โดยมีการปรับโครงสร้างเข้าสู่ภาคบริการมากขึ้น

ภาคการส่งออกจะกลับมาขยายตัวในระดับตัวเลขสองหลักและมีบทบาททางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอีกครั้ง (ภายใต้สมมติฐานว่ารัฐบาลจีนจะไม่ปล่อยให้เงินหยวนเพิ่มค่าขึ้นไม่เกินร้อยละ 5) ควบคู่ไปกับการนำเข้าของจีนที่จะขยายตัวต่อไปในอัตราที่สูงเพื่อลดแรงกดดันจากประเทศมหาอำนาจ ขณะเดียวกันการลงทุนของภาคเอกชนจะขยายตัวในอัตราที่ลดลง เพราะเม็ดเงินสินเชื่อใหม่ที่ถูกปล่อยเข้าสู่ระบบคาดว่าจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 7.5-8 ล้านล้านหยวน ทั้งนี้ คาดว่าการลงทุนจะกระจายไปตัวไปยังตอนในและซีกตะวันออกเฉียงเหนือ (ตามโครงการฉางจี๋ถู) ของประเทศมากขึ้น ขณะที่ FDI ในจีนก็คาดว่าจะขยายตัวในอัตราที่สูงต่อไป ท่ามกลางการเข้ามาเก็งกำไรในผลตอบแทนจากดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลให้สัดส่วนของการบริโภค การลงทุน และการส่งออกน่าจะอยู่ที่ 4-7-4

ทางเลือกของไทยคือ “ต้องกอดจีน”

ทำไมไทยต้องเน้น ... จีน จีน และจีน ปี 2553 อาจมิใช่ปีที่เต็มไปด้วยขวากหนามทางเศรษฐกิจสำหรับภาครัฐและเอกชนของจีนเฉกเช่นปีที่ผ่านมา และด้วยทิศทางแนวโน้มของตลาดที่เบ่งบานอย่างมีเสถียรภาพ ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ รวมทั้งกระจายตัวในเชิงภูมิศาสตร์ ภาครัฐและเอกชนไทยจึงควรให้ความสำคัญกับการเข้ามาทำตลาดสินค้า/บริการและลงทุนในตลาดจีนมากขึ้นด้วยเหตุผลหลายประการ ว่าง่าย ๆ คือ ไทยเราควรกอดจีนให้แน่นขึ้น ไปไหนไปด้วย และเติบโตไปกับตลาดจีน

ตลาดใหญ่ ... และเติบโตเร็ว ในประการหนึ่ง จีนเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ ทุกสายตาต่างจับตามองการเติบโตของเศรษฐกิจจีนและรายได้ของชาวจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญ ตลาดจีนมีบทบาทสาคัญอย่างยิ่งต่อการส่งออกสินค้าและบริการของไทย กล่าวคือ มูลค่าการส่งออกของไทยสู่ตลาดจีนมีสัดส่วนสูงถึงกว่าร้อยละ 10 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย และขยายตัวในอัตราเฉลี่ยที่สูงถึงร้อยละ 20 ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา (ยกเว้นปี 2552 ที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลก) กอรปกับการเปิดเสรีทางการค้าภายใต้กรอบอาเซียน-จีน ซึ่งมีผลใช้บังคับอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยนับแต่ต้นปี 2553 ที่เปิดให้สินค้าราว 7,000 รายการที่ส่งไปจำหน่ายยังตลาดจีนไม่ต้องเสียอากรนำเข้า (อัตราเป็นศูนย์) ก็เป็นโอกาสทางธุรกิจมหาศาลสำหรับผู้ส่งออกไทย

แต่เมื่อพิจารณาเทียบกับขนาดของตลาดก็พบว่า แท้ที่จริงแล้ว สินค้าและบริการของไทยยังเข้าสู่ตลาดจีนน้อยมาก กล่าวคือ ในแต่ละปี การส่งออกสินค้าไทยสู่ตลาดจีนมีมูลค่าคิดเป็นเพียงร้อยละ 2 เศษของการนาเข้าโดยรวมของจีนเท่านั้น นี่ยังมิได้นับรวมถึงขนาดของตลาดภายในประเทศโดยรวมที่ใหญ่กว่านั้นหลายเท่ามาก นักธุรกิจไทยที่มีประสบการณ์ในตลาดจีนคงช่วยยืนยันได้ว่า ยังมีตลาดอีกจานวนมากที่สินค้าและบริการไทยยังไม่ได้เจาะเข้าไป หรือปล่อยให้ตลาดเติบโตตามยถากรรม

เมื่อพิจารณาจากศักยภาพและความสำคัญของตลาดจีนที่มีต่อเศรษฐกิจของไทยในอนาคต ผมเชื่อมั่นว่า ตัวเลขมูลค่าและสัดส่วนการส่งออกของไทยสู่ตลาดจีนดังกล่าวจะเพิ่มมากขึ้น จีนจะเป็นตลาดส่งออกอันดับแรกของไทยในอนาคตอันใกล้ แต่นั่นหมายถึงว่า ภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องร่วมมือกันทำตลาดสินค้าและบริการของไทยอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ผมเชื่อเหลือเกินว่า ประเทศไทยเรายังจะสามารถขยายการส่งออกของไทยเข้าสู่ตลาดจีนได้อีกมากในอนาคต

มือที่มองเห็น ... และมีประสิทธิภาพ ในอีกประการหนึ่ง ขณะที่บรรดาตลาดส่งออกหลักยังต้องรอการฟื้นตัวอยู่ จีนยังสามารถอาศัยโมเมนตัมที่ดีของปีที่ผ่านมาควบคู่ไปกับ “มือที่มองเห็น” ภายใต้การบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจที่เป็นแบบ “Command Economy” ของภาครัฐจีน ซึ่งมีบทบาทในการวางแผนการขับเคลื่อนและกำกับเศรษฐกิจอยู่สูงมาก จึงคาดว่าจีนจะสามารถรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ในระดับที่สูงกว่าของประเทศที่เป็นตลาดหลักอื่น ๆ ของไทย โดยจีนน่าจะยังคงสามารถรักษาระดับการเติบโตถึงร้อยละ 8—9 ได้ต่อไปในอีก 2-3 ปีข้างหน้าเป็นอย่างน้อย

จีนเป็นตลาดที่ยากในการทาธุรกิจ ... ยิ่งไกล ยิ่งยาก ผมยอมรับว่าจีนเป็นตลาดที่ใหญ่แต่ไม่หมู บ้างก็ว่าสาเหตุเป็นเพราะขนาดของตลาดที่ใหญ่ ความแตกต่างของภาษาของวัฒนธรรม และอื่น ๆ นักธุรกิจบางท่านถึงขนาดเปรียบเปรยว่าจีนเป็น “ตลาดปราบเซียน” ยิ่งไปกว่านั้น ตลาดจีนยังมีแนวโน้มที่จะสลับซับซ้อนมากขึ้นในอนาคต เราได้เห็นการผุดขึ้นของกลุ่มเป้าหมายใหม่ที่แยกย่อย และการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการบริโภคของชาวจีนที่รวดเร็วมากขึ้น ควบคู่ไปกับระดับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นทุกขณะ

นอกจากนี้ เรายังได้สังเกตเห็นทิศทางการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของความมั่งคั่งของจีนอย่างหลากหลายมิติในช่วงแรกของการพัฒนาประเทศ อาทิ จากรัฐวิสาหกิจสู่กิจการเอกชน จากกิจการขนาดใหญ่กระจายตัวไปยังกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือแม้กระทั่งจากเพศชายสู่เพศหญิงและเด็ก ปัจจุบัน เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของความมั่งคั่งในเชิงโครงสร้างเพิ่มเติม ได้แก่

  • ในเชิงภูมิศาสตร์ ขยายเข้าสู่ตอนกลางและซีกตะวันตกของจีน จากเดิมที่กระจุกตัวอยู่ในซีกตะวันออก
  • ในเชิงระดับความเจริญ แทรกตัวเข้าไปสู่เมืองระดับรอง (2nd-Tier /3rd-Tier Cities) มากขึ้น จากเดิมที่กระจุกตัวอยู่แต่เฉพาะเมืองใหญ่ (1st-Tier Cities)
  • ในมิติด้านการตลาด กระจายตัวไปยังกลุ่มเป้าหมายใหม่ โดยเฉพาะเด็กและวัยรุ่น เกษตรกรและผู้คนในชนบท รวมทั้งผู้ที่เกษียณอายุ รวมนับหลายร้อยล้านคนในช่วงหลายปีข้างหน้า
  • ในเชิงประเภทอุตสาหกรรม ก็เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างสู่อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานฝีมือเข้มข้นและเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต จากเดิมที่เน้นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานไร้ฝีมือ ขณะที่อุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานและก่อให้เกิดมลพิษสูง โดยเฉพาะในมณฑลด้านซีกตะวันออกของจีน ก็จะลดความสำคัญต่อเศรษฐกิจจีนลงอย่างรวดเร็ว

นั่นหมายความว่า การทาตลาดในจีนมีแนวโน้มที่จะประสบกับความยากลาบากมากขึ้นสาหรับผู้ประกอบการที่อยู่วงนอกและห่างไกลจากแหล่งข้อมูล สำหรับผู้ประกอบการไทยที่มีเหตุผลมากมายในการไม่เข้ามาตลาดจีน อาทิ กิจการของตนเองมีขนาดเล็กเกินไปบ้าง สู้ราคาไม่ได้บ้าง กลัวถูกลอกเลียนแบบบ้าง กลัวถูกโกงบ้าง กลัวโอนผลกำไรกลับไทยไม่ได้บ้าง ยังหาหุ้นส่วนที่ดีไม่ได้ ขาดอาวุธทางธุรกิจ และค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจในจีนที่สูง ...

ผมขอยกตัวอย่างหนึ่ง เมื่อเร็ว ๆ นี้เองมีผู้ประกอบการไทยที่จำหน่ายยางแผ่นอบรมควันและชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยหลายคนเริ่มกังวลใจกับยอดขายรถยนต์ของจีนที่คาดว่าจะชะลอตัว (เมื่อเทียบกับของปีที่ผ่านมา) จนใช้เป็นข้ออ้างในการไม่เข้ามาทำตลาดจีน ผมให้ข้อมูลไปว่า การส่งออกรถยนต์ ซึ่งมีสัดส่วนต่อยอดการผลิตโดยรวมค่อนข้างน้อยอาจไม่สามารถทดแทนการขาดหายไปของอุปสงค์ภายในประเทศที่เติบโตแรงในปี 2552 ได้ หากแต่ผู้ประกอบการเหล่านั้นยังไม่ได้เริ่มนับหนึ่งในตลาดจีน ผมก็มองว่า เราไม่มีอะไรจะเสียเลย เพราะการชะลอตัวของตลาดที่เราเข้าใจ แท้ที่จริงแล้วกลับเป็นการขยายตัวในอัตราที่ลดลง ซึ่งจีนก็น่าจะรักษาการเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ของโลกได้ต่อไป ประการสำคัญ ทุกรายต้องเริ่มต้นด้วยการศึกษาตลาดและสร้างสัมพันธ์กับกิจการของจีนก่อนด้วยกันทั้งสิ้น

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นข้ออ้างที่เข้าใจลำบากมากโดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ผู้ประกอบการจากทั่วโลกต่างมาบุกตลาดจีนกันเกลื่อนไปหมด เราอาจจะต้องเริ่มตั้งคำถามเชิงรุกกับตนเอง อาทิ

  • “เรารู้จักและเคยไปสำรวจเมืองใหญ่ในจีนกี่เมืองแล้ว”
  • “ทำไมการส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ไปยังกิจการจีน จึงใช้ไม่ได้ผลในตลาดจีน”
  • “หลายอย่างที่เราทำไม่ได้ แต่ทำไมผู้ประกอบการของชาติอื่นจึงทำกันได้”
  • “เพราะความไม่เป็นมืออาชีพและการขาดสายสัมพันธ์และกลยุทธ์การตลาดที่ดีของเราหรือไม่ที่ทำให้ไม่สามารถเจาะเข้าตลาดนี้ได้”
  • “ทำไมจีนต้องลอกเลียนแบบสินค้าไทย ทำไมไม่เป็นสินค้าอิตาลี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ...
  • และหากผู้ประกอบการของจีนต้องการทำลอกเลียนแบบขึ้นมาจริง ๆ การที่เราไม่เข้าไปทำตลาดในจีน จะสามารถหยุดความต้องการเหล่านั้นได้หรือไม่ อย่างไร”
  • “ประเทศใดในโลกที่ออกจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกเป็นประเทศแรก หรือแม้กระทั่ง ประเทศใดที่มีสิทธิ์จะรอดพ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกครั้งใหม่ในอนาคต”
  • “ถ้าจะไม่เข้าตลาดจีนแล้ว เราควรไปบุกตลาดที่ไหนดี”
  • “ขณะที่การเปิดเสรีการค้ากรอบอาเซียน-จีนดำเนินไป หากเราไม่สามารถฉกฉวยโอกาสทางธุรกิจในตลาดจีนได้แล้ว เราจะป้องกันการเข้ามาบุกตลาดของสินค้าและบริการของจีนในตลาดไทยของเราได้อย่างไร”

เมื่อท่านผู้อ่านค้นหาคำตอบเหล่านั้นได้แล้ว ผมเชื่อว่าท่านยังจะมีคำถามที่จะต้องถามตัวเองเพิ่มเติมอีกมากมาย อาทิ

  • “เอาสินค้าและบริการใดเข้าไปเจาะตลาดจีนดี”
  • “ช้าไปหรือไม่สำหรับการเข้ามาทำตลาดจีน”
  • “เราควรเข้าไปสู่ตลาดจีนด้วยรูปแบบธุรกิจอย่างไรดี”
  • “เราจะเก็บเกี่ยวประโยชน์จากกลุ่มเป้าหมายใหม่ที่มีรายได้มากขึ้น โครงการพัฒนาใหม่ ๆ และการจัดงานใหญ่ที่จีนจะเป็นเจ้าภาพในอนาคต อย่างเช่น “เวิลด์เอ็กซ์โป 2010” “เอเชี่ยนเกมส์ 2010” และ “กีฬามหาวิทยาลัยโลก 2011” ได้อย่างไร”

คำตอบของคำถามเหล่านี้มิได้อยู่ในสายลม แต่ผมคิดว่าอยู่ที่ตัวท่านเอง การส่งออกอาจมิใช่ทางเลือกเดียวที่เหมาะสมของสินค้าและบริการของไทย ด้วยตลาดที่ใหญ่และศักยภาพในอนาคต การเข้ามาประกอบการและทำการตลาดในจีนเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวทางธุรกิจในจีนอาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ ประการสำคัญ การตระหนักถึงความสาคัญและศักยภาพของตลาดจีนในระยะยาวเป็นสิ่งจาเป็นสาหรับความอยู่รอดและการเติบโตของกิจการของไทยในทศวรรษหน้า จากการวิจัยของหลายสถาบัน อาทิ Credit Suisse หนึ่งในธุรกิจบริการทางการเงินชั้นนำของโลก ระบุว่า หากการเติบโตของตลาดยังเป็นไปในทิศทางเช่นนี้ ก็คาดว่าจีนจะก้าวแซงหน้าสหรัฐฯ เป็นตลาดอุปโภคบริโภคที่ใหญ่ที่สุดในโลกในปี 2563 หรืออีกประมาณ 10 ปีข้างหน้า

เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคและข้อจำกัดที่ไทยประสบอยู่ดังกล่าว ผมเห็นว่า ภาครัฐควรจัดทำโครงการแบบบูรณาการระยะยาวเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดจีน โดยโครงการนี้ควรครอบคลุมถึงการเตรียมความพร้อมในหลากหลายด้าน อาทิ การวางตาแหน่งผลิตภัณฑ์และพัฒนาและปรับปรุงสินค้า/บริการให้เหมาะสมกับตลาดจีน (Chinese Market Customization) และการเสริมสร้างความรู้และประสบการณ์ทางการตลาด วัฒนธรรมจีน และอื่น ๆ แก่ผู้ประกอบการไทย โดยในการดำเนินการ ภาครัฐอาจเป็นแกนกลางจัดทำโครงการนำร่อง เช่น “ทัวร์ธุรกิจ” นำคณะนักธุรกิจมาสำรวจศักยภาพและดูงานในตลาดจีน และ “99 ทายาทธุรกิจไทยบุกแดนมังกร” เชิญชวนกิจการเล็ก-กลาง-ใหญ่ในแต่ละสาขาธุรกิจที่มีความพร้อมในเบื้องต้นและสนใจบุกตลาดจีนอย่างจริงจังมาเข้าร่วมโครงการ และให้แต่ละกิจการจัดส่งผู้บริหารระดับสูงที่คาดว่าจะเป็น “ทายาททางธุรกิจ” ในอนาคตมาร่วมโครงการ ประเด็นนี้ ผมเน้นว่าควรเป็น “ทายาททางธุรกิจ” เพราะผู้เข้าร่วมโครงการควรได้รับการปรับเปลี่ยนมุมมองไปสู่ในเชิงบวก และมีเวลามากพอที่จะลุยงานได้อย่างจริงจัง เพราะจากการพูดคุยกับเจ้าของกิจการของไทยที่ประสบความสำเร็จจำนวนมาก พบว่า คนเหล่านั้นต่างสนใจตลาดจีน แต่เหตุผลหนึ่งที่ไม่อยากไปบุกตลาดจีน เป็นเพราะข้อมูลเชิงลบในอดีตที่ได้ยินได้ฟังมา และไม่อยากเหนื่อยอีกแล้ว

หลังจากนั้นก็ควรจัดชั้น “ความพร้อม” และระดมผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านมาเป็นพี่เลี้ยงเพื่อถ่ายทอดวิทยายุทธ์เชิงลึกอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรม กล่าวคือ มีทั้งการบรรยาย การสัมมนาเชิงปฏิบัติ การสำรวจลู่ทางและโอกาสทางธุรกิจของตนเองในหลากหลายเมืองของจีน และการเข้าร่วมกิจกรรมการตลาดในจีน เช่น งานแสดงสินค้า และงาน Thailand Trade Expo ที่กรมส่งเสริมการส่งออกจัดขึ้นหลายแห่งในแต่ละปี รวมถึงการจัดนัดหมายเจรจาธุรกิจ เพื่อเปิดโอกาสให้ธุรกิจไทยได้วิจัยตลาดสินค้าและบริการ วิเคราะห์สภาพตลาด ซัพพลายเออร์ และคู่แข่งขัน และพบปะกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เพื่อนำข้อมูลมากำหนดกลยุทธ์และยุทธวิธีในการเข้าสู่ตลาดจีน และสร้างเครือข่ายทางธุรกิจในจีนที่เหมาะสมต่อไป รวมทั้งการอำนวยความสะดวกและสนับสนุนการจดทะเบียนเพื่อปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของแต่ละราย

ผู้บริหารโครงการยังควรติดตามประเมินผลการดำเนินธุรกิจของแต่ละรายต่อไปอย่างใกล้ชิด นำเอากรณีศึกษาเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ในโครงการปีต่อ ๆ ไป ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยระยะเวลา บุคลากร ค่าใช้จ่าย และอื่น ๆ จำนวนมาก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีทิศทางด้านนโยบายส่งเสริมจากภาครัฐที่ชัดเจน จริงจัง และต่อเนื่อง

ลองนึกถึงภาพช่วงเวลาที่ท่านผู้ประกอบการได้สร้างธุรกิจและส่งผ่านกิจการที่บุกเบิกไว้ในจีนต่อไปยังลูกหลานในสัก 10-20 ปีข้างหน้าดูซิ ใบหน้าลูกหลานของท่านคงเต็มไปด้วยรอยยิ้มและความชื่นชมในวิสัยทัศน์ของท่านในวันนี้

... ถึงเวลาหรือยังที่เราจะต้องหันมา “บุกจีน” กันอย่างจริงจัง

รวบรวมและเรียบเรียงโดย

ดร. ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

สคร. ณ นครเซี่ยงไฮ้

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ