จีนก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตโซลาร์เซลล์ใหญ่ที่สุดในโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 26, 2010 16:24 —กรมส่งเสริมการส่งออก

เพื่อให้เข้ากับกระแส “การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ” (Weather Change) ที่ผู้นำจากทั่วโลกจะหยิบยกเอาเรื่องภาวะโลกร้อนมาคุยกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราวกันในโอกาสที่จะมี “การประชุมสุดยอดว่าด้วยสภาวะอากาศโลก” ระหว่างวันที่ 7-18 ธันวาคม 2552 ณ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ดินแดนโคนมอันเลื่องชื่อ วันนี้ ผมเลยขอเอาข้อมูลเรื่องการพัฒนาพลังงานทดแทนของจีนมาเล่าสู่กันฟัง

ตามแผนพัฒนาอุตสาหกรรมของจีนที่ตีพิมพ์ขึ้นฉบับล่าสุด รัฐบาลจีนได้ประกาศเดินหน้าสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมประหยัดพลังงานอย่างจริงจัง โดยในแผนพัฒนาอุตสาหกรรมฯ ดังกล่าวระบุชัดเจนว่า จีนจะเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน (Alternative Energy) โดยเฉพาะการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ลม และชีวภาพ โดยตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี 2596 หรืออีกประมาณ 40 ปีจากนี้ไป พลังงานใหม่ดังกล่าวจะมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 40 ของปริมาณการใช้พลังงานทั้งหมดของประเทศ

ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานยังคาดว่า ประเทศจีนซึ่งปัจจุบันมีบริษัทผลิตแผงโซลาร์เซลล์จานวน 1 รายจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศและจำนวน 11 รายจดทะเบียนตลาดต่างประเทศ จะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 2,500 เมกกะวัตต์ในปี 2563 ซึ่งจะทาบชั้นยักษ์ใหญ่ของโลก

ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนระยะกลางและระยะยาว ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาระบุไว้ว่า ในปี 2553 การใช้พลังงานทดแทนจะมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 10 ของปริมาณการใช้พลังงานทั้งหมดของประเทศ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 15 ในปี 2563 และจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ภายในปี 2593

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังวางแผนที่จะก่อสร้างสถานีผลิตพลังงานนิวเคลียร์ (Nuclear Energy) อีกจำนวน 31 แห่งเพื่อให้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 31 ล้านกิโลวัตต์ภายในปี 2553 และจะเพิ่มกำลังการผลิตอีก 18 ล้านกิโลวัตต์ภายในปี 2563 ซึ่งนั่นหมายความว่า จะมีการก่อสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาด 1 ล้านกิโลวัตต์ขึ้นใหม่จำนวน 2 แห่งในทุก ๆ ปีจากนี้ไป

อย่างไรก็ดี ในแผนพัฒนาฯ ฉบับใหม่ รัฐบาลจีนได้ปรับแผนการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นมากกว่า 10 เท่าของเป้าหมายที่กำหนดไว้ก่อนหน้านี้ โดยส่วนหนึ่งได้กระตุ้นผ่านโครงการหลักอย่าง “ดวงอาทิตย์สีทอง” (Golden Sun) ที่รัฐบาลจีนกำหนดให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ประกอบการโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ถึงร้อยละ 50 ของต้นทุนการผลิตโดยรวม และร้อยละ 70 สำหรับที่อยู่ในเขตชนบท เพื่อให้สามารถแย่งชิงสัดส่วนการตลาดทั้งในและต่างประเทศได้มากขึ้น

พลังงานแสงอาทิตย์ได้กลายมาเป็นหนึ่งอุตสาหกรรมสำคัญที่รัฐบาลจีนให้การสนับสนุนอย่างจริงจังเพื่อพัฒนาพลังงานทดแทน โดยปัจจุบัน จีนมีกิจการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์มากกว่า 10 แห่ง โดยแต่ละแห่งมีกำลังการผลิตกว่า 100 เม็กกะวัตต์ต่อปี และมีโครงการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้อีกเป็นจำนวนมากในอนาคต

ทั้งนี้ เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา จีนยังได้ประกาศโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อีกเกือบ 300 โครงการ ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนกว่า 20,000 ล้านหยวนและเริ่มดาเนินการได้ภายใน 3 ปี ซึ่งจะทาให้จีนมีกำลังการผลิตรวม 10,000 กิโลวัตต์ นอกจากนี้ จีนยังพยายามใช้ประโยชน์จากพลังานแสงอาทิตย์ในทุกหนแห่งที่มีโอกาส ดังจะเห็นได้ว่า ตามหลังคาบ้านเรือนของประชาชน พื้นที่ในชนบทที่ว่างเปล่า และเสาไฟฟ้าเกือบทุกสายในเส้นทางหลักทั้งในเมืองและชนบทของจีนก็ติดแผงโซลาร์เซลล์กันอย่างดาษดื่น ซึ่งน่าจะช่วยลดอัตราการใช้พลังงานที่คิดเป็นร้อยละ 30 ของระดับการใช้พลังงานโดยรวมของประเทศลงได้ในอีกระดับหนี่ง

นอกจากนี้ จีนยังได้ติดตั้งอุปกรณ์ผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลม (Wind Energy) ที่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 12.153 ล้านกิโลวัตต์ ณ สิ้นปี 2551 ทำให้จีนกลายเป็นตลาดพลังงานลมที่ใหญ่อันดับที่ 4 ของโลก และผู้เชี่ยวชาญคาดว่าภายในปี 2563 จีนจะติดตั้งอุปกรณ์ผลิตพลังงานลมรวม 80-100 ล้านกิโลวัตต์ และกลายเป็นหมายเลขหนึ่งของโลกในด้านนี้ ซึ่งกระแสไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นจะคิดเป็นมูลค่า 160,000 ล้านหยวน และจะก่อให้เกิดการว่าจ้างพนักงานในโรงงานเหล่านั้นเกือบ 100,000 คน

แถมยังมีกระแสข่าวว่ารัฐบาลจีนจะประกาศปรับเพิ่มเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในเรือนกระจกต่อจีดีพีจากระดับเมื่อปี 2548 ลงจากร้อยละ 40-45 เป็นร้อยละ 60 ภายในปี 2563 หรืออีกราว 20 ปีข้างหน้า ดังนั้น ในการประชุมซัมมิตโลกร้อนในครั้งนี้ ดูท่าว่าจีนจะเป็นเปลี่ยนจากฐานะ “จำเลย” ที่ทาให้เกิดภาวะโลกร้อนเป็น “ผู้นำ” ด้านพลังงานทางเลือก

อนึ่ง ปัจจุบัน จีนมีโครงสร้างการใช้พลังงานจากถ่านหินร้อยละ 69 ตามด้วยน้ำมันร้อยละ 20 และพลังงานน้ำ นิวเคลียร์และพลังงานลมอีกร้อยละ 7.6 ของปริมาณการใช้พลังงานทั้งหมด

รวบรวมและเรียบเรียงโดย

ดร. ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ผอ. สคร. ณ นครเซี่ยงไฮ้

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ