1. ภาวะการผลิต/แหล่งวัตถุดิบภายในประเทศ
1.1 แหล่งวัตถุดิบ
จีนเป็นประเทศที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ ทำให้มีทรัพยากรธรรมชาติทั้งแหล่งแร่อัญมณีและโลหะมีค่าหลายชนิดจำนวนมหาศาล แต่คุณภาพของแหล่งแร่อัญมณีนั้น ก็มีความแตกต่างไปจากแหล่งแร่ในทวีปอื่นหรือประเทศอื่นในเอเชีย อาทิ จีนมีแหล่งแร่ทองคำในหลากหลายพื้นที่ ประมาณว่า ในปี 2552 มากกว่า 500 เขต (County) ในจีนมีการผลิตทองคำ ในจำนวนนี้ ประมาณ 100 เขตกำหนดให้การผลิตทองคำเป็นอุตสาหกรรมหลักของตน โดยในระดับมณฑล ซานตง (Shandong) ผลิตทองคำมากที่สุด โดยมีปริมาณการผลิตประมาณ 45 ตันต่อปี คิดเป็นร้อยละ 30 ของปริมาณการผลิตทั้งประเทศ และคาดว่ายังมีทองคำสำรองเหลืออยู่ไม่ต่ำกว่า 600 ตัน รองลงมาได้แก่ มณฑลเหอหนาน (Henan) เจียงซี (Jiangxi) ฝูเจี้ยน (Fujian) และยูนนาน (Yunnan) โดย 5 มณฑลดังกล่าวสามารถผลิตทองคำได้ราวร้อยละ 60 ของปริมาณการผลิตรวมของประเทศ
นอกจากนี้ ในขณะที่ราคาทองคำในตลาดโลกขยับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มณฑลอื่น ๆ ก็พยายามใช้ประโยชน์จากแหล่งทองคำที่มีอยู่ อาทิ ในปี 2552 มณฑลจี๋หลิน (Jilin) ผลิตทองคำสูงเป็นประวัติการณ์ถึงกว่า 8.6 ตัน ขยายตัวถึงร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับของปีที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่า 1,880 ล้านหยวน ขยายตัวร้อยละ 27.8 เมื่อเทียบกับของปีก่อน
ในด้านรัตนชาติ มณฑลชานตงมีการผลิตเพชรและแซฟไฟร์เป็นจำนวนมาก ขณะที่มณฑลซินเจียง (Xinjiang) มีการผลิตแร่รัตนชาติเกือบทุกประเภท มณฑลยูนนานมีแหล่งมรกต ทับทิม แซฟไฟร์ ทัวร์มาลีน อะความารีน โทแปซ และการ์เนต เป็นต้น รวมทั้งการค้นพบแหล่งเพชรในมณฑลเหลียวหนิง (Liaoning) กุ้ยโจว (Guizhou) ซินเจียง และหูหนาน (Hunan)
สำหรับไข่มุกน้ำจืดนั้น จีนมีการเพาะเลี้ยงอย่างแพร่หลายในหลายมณฑล โดยเฉพาะมณฑลเจ้อเจียง (Zhejiang) เจียงซู (Jiangsu) อันฮุย (Anhui) หูเป่ย (Hubei) และหูหนาน (Hunan) ซึ่งนับว่าจีนเป็นประเทศที่มีปริมาณการผลิตมากที่สุดในโลก
จากแหล่งวัตถุดิบดังกล่าวและวัตถุดิบอีกหลายประเภทที่นำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้จีนมีอุตสาหกรรมแปรรูปอัญมณีและเครื่องประดับกระจายตัวไปตามมณฑลต่าง ๆ อย่างไรก็ดี แหล่งผลิตอัญมณีและเครื่องประดับในประเทศจีนกระจุกตัวใน 5 มหานคร/มณฑล ได้แก่ มณฑลกวางตุ้ง (Guangdong) มณฑลชานตง มณฑลกวางสี (Guangxi) นครเซี่ยงไฮ้ (Shanghai) และกรุงปักกิ่ง (Beijing)
สรุปแหล่งวัตถุดิบและแหล่งผลิตในจีน
เพชร แหล่งวัตถุดิบ - มณฑลเหลียวหนิง กุ้ยโจว ซินเจียง และหูหนาน ไข่มุก แหล่งเพาะเลี้ยง - มณฑลเจ๋อเจียง เจียงซู อันฮุย หูหนาน และกวางตุ้ง
แหล่งการค้า - มณฑลเจ๋อเจียง เจียงซู
ศูนย์กลางเครื่องประดับมุก - กรุงปักกิ่ง และนครเซี่ยงไฮ้
พลอย แหล่งวัตถุดิบ แร่คอรันดัมประเภททับทิม - มณฑลยูนนาน
แซฟไฟร์ - บริเวณมณฑลทางด้านตะวันออก และตะวันออกเฉียงเหนือ
อัญมณีสังเคราะห์ ศูนย์กลางการเจียระไน - เมืองหวูโจว มณฑลกว่างซี
ทองคำ ศูนย์กลางการผลิต - กรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ และมณฑลกวางตุ้ง
โรงงานผลิต กระจุกตัวที่มณฑลกวางตุ้ง โดยเฉพาะเมืองพานหยู (Panyu) และเซินเจิ้น(Shenzhen)
1.2 ลักษณะการผลิต กำลังการผลิต จำนวนโรงงาน จำนวนแรงงาน
จากข้อมูลล่าสุดระบุว่า การผลิตทองคำของจีนในปี 2552 ทำลายสถิติการผลิตสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยผลิตได้ถึงประมาณ 314 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3 เมื่อเทียบกับของปีที่ผ่านมา และมีมูลค่าถึง 137,530 ล้านหยวน ขยายตัวร้อยละ 18.6 เมื่อเทียบกับของปีที่ผ่านมา ทำให้จีนเป็นประเทศผู้ผลิตทองคำรายใหญ่สุดของโลกเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน
แม้ว่าจีนมีแหล่งผลิตอัญมณีและเครื่องประดับกระจายอยู่เกือบทุกมณฑล แต่มณฑลกวางตุ้งนับเป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญที่สุดของจีน โดยมีเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น (Shenzhen Special Economic Zone) และเมืองพานหยูเป็นฐานการผลิตใหญ่และเป็นศูนย์กลางการค้าปลีกเครื่องประดับที่กระจายต่อไปเมืองต่าง ๆ ในจีน โดยมีสัดส่วนการตลาดถึงร้อยละ 70-80 ของเครื่องประดับในจีนทั้งหมด นอกจากนี้ จากสถิติยังพบว่าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่มีจำหน่ายหรือส่งออกผ่านทางฮ่องกง ถูกผลิตขึ้นในจีนเกือบทั้งสิ้น
การขยายตัวของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับยังสะท้อนผ่านจำนวนแรงงานที่เพิ่มขึ้น กล่าวคือ จีนมีแรงงานอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเพิ่มขึ้นจากราว 5 ล้านคนในปี 2547 เป็นประมาณ 1.7 ล้านคนในปี 2552 ฝีมือแรงงานของจีนในขั้นตอนของการเลี่ยมและฝังทำตัว เรือนจัดอยู่ในเกณฑ์ดี อย่างไรก็ดี โรงงานผลิตเครื่องประดับหลายแห่งเริ่มประสบปัญหาเกี่ยวกับค่าจ้างแรงงานและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องเพิ่มสูงขึ้นและขาดแคลนแรงงานฝีมือคุณภาพเป็นช่วง ๆ
ในส่วนของการเจียระไนเพชร ฝีมือแรงงานของจีนในปัจจุบันนับได้ว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐานสากล โดยมีแรงงานเจียระไนถึง 18,000 คน ในรอบปีหนึ่ง จีนสามารถเจียระไนเพชรถึง 3 ล้านกะรัต ซึ่งหากแรงงานจีนมีการรักษาระดับมาตรฐานและพัฒนาฝีมือแรงงานให้ดียิ่งขึ้นไปในอนาคต จีนก็จะพัฒนาขึ้นมาเป็นคู่แข่งในการเจียระไนเพชรกับประเทศไทย สำหรับเครื่องประดับเงินนั้นได้รับความนิยมมากขึ้นทั้งในตลาดจีนและตลาดโลก โดยจีนส่งออกเครื่องประดับเงินมากเป็นอันดับแรก ๆ ของโลกในปัจจุบัน
แม้ว่าอุตสาหกรรมการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับของจีนจะเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นรูปแบบการรับจ้างผลิต (OEM) ขณะเดียวกันผู้ประกอบการจีนจำนวนมากก็พยายามเสริมสร้างภาพลักษณ์ในสินค้าของตนเองทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศอีกด้วย
2. ข้อมูลทางการตลาด
2.1 ขัอมูลผลิตภัณฑ์
จากการศึกษาพบว่า ชาวจีนในอดีตนิยมใช้เงินในการผลิตเป็นเครื่องประดับมากกว่าทองคำ และตกแต่งด้วยสีโปรด เช่น สีน้ำเงิน และต่อมาก็ใช้รัตนชาติหลากสีมาช่วยในการออกแบบ เนื่องจากคุณภาพบวกกับราคาที่ไม่สูงนัก จึงทำให้เครื่องประดับเงินเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางในตลาดระดับกลางจนถึงล่าง
อย่างไรก็ดี ไข่มุกและหยกนับเป็นเครื่องประดับที่ชาวจีนนิยมกันมาเป็นเวลาช้านาน ในบรรดารัตนชาติที่มีอยู่ ชาวจีนนิยมหยกมากที่สุดโดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะลักษณะพิเศษที่ชาวจีนมองว่ามีความคล้ายคลึงกับความเป็นมนุษย์ อันได้แก่ ความแข็งแกร่ง ความอดทน และความสวยงาม
เมื่อย้อนกลับไปมองถึงพัฒนาการของธุรกิจทองคำและเครื่องประดับของจีนจะเห็นว่า ก่อนปี 2523 สภาพตลาดและธุรกิจการค้าทองคำและเครื่องประดับได้หยุดชะงักอย่างสิ้นเชิง และตลาดได้ฟื้นตัวขึ้นระหว่างปี 2523-2533 ภายหลังปี 2533 เป็นต้นมา ตลาดทองคำและเครื่องประดับได้กลับมาคึกคักอีกครั้งและเริ่มพัฒนาสู่ความเจริญจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ ส่วนสำคัญเนื่องจากกำลังการผลิตที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และความสำเร็จจากการดำเนินนโยบายเปิดประเทศและปฏิรูปเศรษฐกิจของจีน ทำให้คนจีนมีฐานะดีขึ้นมาก ความต้องการจึงก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว
ชาวจีนชื่นชอบเครื่องประดับไม่เพียงแต่เพื่อความสวยงาม แต่ยังเพื่อช่วยแสดงถึงฐานะทางสังคมอีกด้วย เมื่อกอรปกับจำนวนประชากรและอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นในเชิงคุณภาพ ทำให้จีนเป็นตลาดอัญมณีและเครื่องประดับที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และมีอัตราการขยายตัวในอัตราที่สูงอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ ในระหว่างปี 2548-2550 ยอดจำหน่ายเครื่องประดับในตลาดจีนเพิ่มขึ้นจาก 20,000 ล้านหยวนเป็น 180,000 ล้านหยวน และนับเป็นตลาดสินค้าที่ร้อนแรงเป็นอันดับที่ 3 ของจีน รองจากอสังหาริมทรพย์ และอุตสาหกรรมยานยนต์
เมื่อเข้าสู่ยุคศตวรรษที่ 21 อัตราการขยายตัวของอุปสงค์สินค้าดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีนครเซี่ยงไฮ้เป็นศูนย์กลางการค้าปลีก จากสถิติของสมาคมการค้าทองคำและเครื่องประดับของประเทศจีนพบว่า ในปี 2552 ตลาดเครื่องประดับจีนเติบโตในอัตราร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับของปีที่ผ่านมา ยอดจำหน่ายสินค้าประเภทอัญมณีและเครื่องประดับในตลาดจีนเพิ่มขึ้นเป็น 220,000 ล้านหยวน และมีมูลค่าการส่งออกกว่า 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยชาวจีนได้หันมานิยมเครื่องประดับเพชรและแพลตตินัมมากขึ้นโดยลำดับ
ประเทศจีนยังได้กลายเป็นผู้บริโภคและผู้ผลิตสินค้าอัญมณีแปรรูปประเภทหยกมากที่สุดในโลก มูลค่าซื้อขายสูงถึงปีละประมาณ 20,000 ล้านหยวน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายแพลตตินัมยังสูงที่สุดในโลก โดยในปี 2552 ปริมาณการใช้แพลตตินัมพุ่งสูงถึง 54.5 ตัน คิดเป็นร้อยละ 71 ของปริมาณการใช้โดยรวมของโลก ในขณะที่การใช้ทองคำมีปริมาณถึง 500 ตัน ใกล้จะแซงหน้าอินเดียไปเป็นอันดับที่ 1 ของโลก
การซื้อขายเพชรในจีนยังมีมูลค่าคิดเป็น 25,000 ล้านหยวน แซงหน้าประเทศญี่ปุ่นและก้าวขึ้นเป็นอันดับที่ 2 ของโลก ขณะที่ผู้บริโภคในตลาดระดับบนจำนวนมากสนใจในเครื่องประดับพลอยสีและเครื่องประดับเพชร-พลอยสีควบคู่กันไปอีกด้วย แต่การขาดการส่งเสริมการตลาดที่ต่อเนื่องและดีพอ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับของเครื่องประดับประเภทอื่น ทำให้เครื่องประดับพลอยสีไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร
ที่ผ่านมา สินค้าโดยรวมในตลาดอัญมณีและเครื่องประดับของจีนนั้นส่วนใหญ่มักลักษณะและการออกแบบที่คล้ายคลึงกัน เนื่องจากผู้บริโภคชาวจีนส่วนใหญ่นิยมความเรียบง่าย และมีความเชื่อในเรื่องโชคลางและสิริมงคลมาเกี่ยวข้อง กอรปกับระดับการแข่งขันที่ไม่สูงมากนักในอดีต แต่ปัจจุบัน ชาวจีนได้ให้ความสำคัญกับงานออกแบบและการแต่งกายตามฤดูกาลมากขึ้น โดยเฉพาะวัยรุ่นจีนนิยมสินค้าที่มีการออกแบบนำสมัยแบบตะวันตกมากขึ้น รวมทั้งมีสินค้าจากต่างประเทศที่มีลวดลายและการออกแบบที่แตกต่างเข้ามาแข่งขันในตลาดจีนมากขึ้น จึงทำให้สินค้าเครื่องประดับในจีนมีการออกแบบและพัฒนาสินค้าอยู่เสมอ
ขณะเดียวกันสินค้าก็เปลี่ยนแบบไปตามฤดูกาลและแฟชั่นรวดเร็วขึ้น จากการวิจัยตลาดเครื่องประดับของจีนพบว่า สินค้าที่มีรูปแบบใหม่ ๆ สามารถทำรายได้มากถึงร้อยละ 60 ของรายได้โดยรวมของตลาด เป็นผลมาจากที่เครื่องประดับแฟชั่นได้รับความสนใจในหมู่วัยรุ่นและผู้ที่ชื่นชอบการแต่งกายตามสมัยนิยมที่เปลี่ยนแปลงตามตะวันตกเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ซึ่งก็ยิ่งทำให้กิจการที่เกี่ยวข้องหันมาให้ความสนใจกับการออกแบบสินค้ามากขึ้น
2.2 พฤติกรรมผู้บริโภค
สืบเนื่องมาจากสภาพสังคมและเศรษฐกิจของจีนที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ประชาชนชาวจีนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นอกเหนือจากความต้องการสินค้าขั้นพื้นฐานแล้ว ชาวจีนได้หันมานิยมสินค้าฟุ่มเฟือยกันมากขึ้น สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเป็นหนึ่งในสินค้าฟุ่มเฟือยที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะเป็นสิ่งที่สนองตอบความพึงพอใจส่วนบุคคลและเป็นเครื่องแสดงฐานะของตนอีกอย่างหนึ่งแล้ว สินค้าดังกล่าวยังสามารถรักษามูลค่าหรือเป็นเครื่องมือในการออมที่ดีได้ด้วย ขณะเดียวกัน การให้ของขวัญของกำนัลตามโอกาสและเทศกาลสำคัญเป็นวัฒนธรรมหนึ่งของชาวจีน ซึ่งสินค้าเครื่องประดับก็นับได้ว่าเป็นหนึ่งในสินค้าที่ได้รับความนิยม
ประการสำคัญ ความต้องการบริโภคสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของชาวจีนไม่เพียงแต่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และกวางโจว หรือในกลุ่มผู้มีรายได้สูงเท่านั้น เพราะเกือบทุกกลุ่มรายได้มีการสนองตอบสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับด้วยกันทั้งสิ้น เพียงแต่จะแตกต่างกันไปตามรูปแบบ ประเภท และราคา เป็นต้น
เพชรและเครื่องประดับเพชร เนื่องจากการที่ De Beers ซึ่งเป็นบริษัทปรับปรุง คุณภาพและจัดจำหน่ายเพชรรายใหญ่ที่สุดของโลกได้เข้ามาทำการตลาดอย่างจริงจังและต่อเนื่องในจีน กอรปกับการจัดตั้ง Shanghai Diamond Exchange เมื่อเดือนมิถุนายน 2549 ณ นครเซี่ยงไฮ้ รวมทั้งการประกาศลดการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเพชรนำเข้าจากร้อยละ 17 เหลือร้อยละ 4 ของราคาสินค้าของรัฐบาลจีน ทำให้การค้าเพชรและเครื่องประดับเพชรในจีนมีภาระด้านภาษีที่ต่ำลง ส่งผลให้ปัญหาการนำเข้าเพชรเจียระไนเข้าสู่จีนแบบผิดกฎหมายลดลง และตลาดเพชรเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 20 ต่อปี และทำให้จีนกลายเป็นตลาดเพชรที่สำคัญรองจากญี่ปุ่น ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่ทำให้ตลาดเพชรและเครื่องประดับเพชรเติบโตเร็ว เพราะผู้ประกอบการเพชรและเครื่องประดับเพชรเสนอการรับซื้อคืนเครื่องประดับเพชรหรือเพชรที่ขายให้ลูกค้าในอัตราร้อยละ 90 ทำให้ลูกค้าแบกรับภาระความเสี่ยงของสินค้าเพียงร้อยละ 10 ของมูลค่าหากต้องการที่จะขายคืนหรือแลกเปลี่ยน ซึ่งช่วยสร้างความเชื่อมั่นในคุณค่าของเพชรได้เป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ การประสบความสำเร็จในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของเพชร ก็ช่วยให้เกิดตลาดใหม่มากขึ้น อาทิ เครื่องประดับเพชรกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความรักในงานแต่งงานและของขวัญชิ้นพิเศษที่คนจีนมอบให้แก่กัน ประการสำคัญ ยังพบว่า ผู้บริโภคชาวจีนซื้อหาเพชรขนาดใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว จากเมื่อ 10 ปีที่แล้วที่นิยมและยอมรับการซื้อเพชรขนาดเพียง 0.3 กะรัตว่าแสดงถึงการมีฐานะที่ดี เพิ่มเป็น 0.5 กะรัตในเวลาต่อมา และเป็น 1 กะรัตในปัจจุบัน
พลอย ในช่วง 10 ปีก่อนที่ De Beers เข้าทำการตลาดเพชรในจีนนั้น พลอยสีมีสัดส่วนการตลาดถึงร้อยละ 70 ของตลาดพลอยโดยรวม และมีการเจริญเติบโตมาก ซึ่งแม้ว่าจีนจะสามารถขุดพบพลอยต่าง ๆ ได้ในประเทศ โดยเฉพาะบริเวณมณฑลยูนนานและมณฑลซานตง แต่ก็มีการนำเข้าบางส่วนจากไทยซึ่งถือเป็นศูนย์กลางการค้าพลอยที่สำคัญ แต่การเข้ามาทำการตลาดเพชรของ De Beers ทำให้ตลาดพลอยของจีนลดลงอย่างน่าตกใจ อีกทั้งพลอยสีที่พบในจีนนั้น คุณภาพต่ำกว่าของไทย แต่ผู้ประกอบการจีนบางส่วนได้นำมาแอบอ้างว่าเป็นพลอยไทย ทำให้ผู้บริโภคจีนเกิดความสับสนและเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พลอยลดความนิยม
ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ศรีลังกา ซึ่งเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีชื่อเสียงในธุรกิจพลอยสีและเครื่องประดับ โดยเฉพาะการเป็นแหล่งผลิตแซฟไฟรส์สีน้ำเงิน (Blue Sapphires) ที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลก ได้เริ่มเข้ามาบุกตลาดพลอยสีในจีนอย่างจริงจัง โดยให้ความสำคัญกับตลาดเซี่ยงไฮ้เป็นอันดับแรก เพราะไม่เพียงแต่กำลังซื้อที่สูงแล้ว นครเซี่ยงไฮ้ยังเป็นศูนย์กลางแฟชั่นของจีน อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับการขยายตัวไปยังตลาดในเมืองอื่น ๆ ในอนาคต โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐบาลศรีลังกานำคณะผู้แทนการค้าขนาดใหญ่เข้าร่วมงานแสดงสินค้า China International Gold, Jewelry & Gem Fair ณ นครเซี่ยงไฮ้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับพลอยสีของศรีลังกาในหมู่ผู้บริโภคชาวจีน
ไข่มุก การค้ามุกในประเทศจีนมีอัตราการเติบโตที่สูงและต่อเนื่อง โดยเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 15-20 ต่อปี ทั้งนี้ จีนมีตลาดกลางเครื่องประดับมุกอยู่ที่นครเซี่ยงไฮ้และกรุงปักกิ่ง ขณะที่การผลิตมุกของจีนเน้นไปที่การผลิตมุกน้ำจืดเป็นหลัก โดยเฉพาะในมณฑลเจ้อเจียง เจียงซู อันฮุย และหูหนาน
อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ประกอบการและหน่วยงานภาครัฐของจีน ไม่มีการควบคุมการผลิต ทำให้มุกน้ำจืดประสบกับปัญหาภาวะล้นตลาด แต่ปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยความร่วมมือของผู้ประกอบการและรัฐบาลท้องถิ่น ได้เข้ามาดูแลการผลิต ทั้งด้านปริมาณ คุณภาพ และราคา โดยเฉพาะการกำหนดทิศทางต่าง ๆ เช่น การควบคุมปริมาณการผลิตเพื่อป้องกันภาวะสินค้าล้นตลาด และการคัดเลือกมุกที่มีคุณภาพดีไว้สนองตอบผู้บริโภคระดับสูง ส่วนมุกที่ด้อยคุณภาพ ก็นำไปทำเป็นเครื่องสำอาง เป็นต้น เนื่องจากต้นทุนการเลี้ยงและการทำเครื่องประดับมุกของจีนนับว่าต่ำที่สุดในโลก ทำให้จีนเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในโลก
ทองคำ นายเจิ้ง เหลียงเหา ผู้อำนวยการใหญ่ภาคพื้นตะวันออกไกลของสมาคมการค้าทองคำสากลได้เข้าร่วมงานสัมมนาที่จัดขึ้นโดยสมาคมการค้าทองคำและเครื่องประดับเซี่ยงไฮ้ (หรือการประชุมผู้ค้าโลหะมีค่านานาชาติครั้งที่ 4) เมื่อต้นปี 2553 และกล่าวว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ตลาดการค้าทองคำของโลกได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง กล่าวคือ ความต้องการด้านเครื่องประดับทองคำลดลงอย่างชัดเจน ขณะที่ความต้องการลงทุนในทองคำได้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 สัดส่วนการลงทุนทองคำเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 42 ขณะที่การลงทุนซื้อเครื่องประดับได้ลดลงเหลือร้อยละ 49 จากสถิติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า นักลงทุนทั้ง 2 กลุ่มดังกล่าวกำลังจะมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน
สำหรับประเทศจีน การลงทุนในเครื่องประดับทองคำยังคงมีสัดส่วนสูง สัดส่วนการซื้อเครื่องประดับทองคำเทียบกับการซื้อทองคำเพื่อการลงทุนยังคงมีอัตรา 3 ต่อ 1 ซึ่งถือว่าตลาดจีนยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง
นอกจากนี้ ผลการวิจัยของสมาคมผู้ค้าทองคำสากลก็ยังเห็นว่า ผู้ที่นิยมลงทุนในทองคำแท่งจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เฉกเช่นเดียวกับแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลก และโดยที่สภาพตลาดของประเทศจีนที่ล้าหลังกว่าของประเทศอื่น ตลาดทองคำจึงอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างได้เช่นกันในอนาคต
ความเป็นจริงก็คือ การลงทุนในทองคำได้เริ่มก่อตัวขึ้นเป็นกระแสในประเทศจีนนับแต่ปี 2552 แล้ว หลายพื้นที่ได้เกิดปรากฏการณ์ทองคำแท่งและเหรียญทองคำขายดีเป็นพิเศษ มีผู้ประกอบการบางส่วนยังเข้าลงทุนซื้อและทำกำไรจากการซื้อขายทองคำ ทำให้ผลประกอบการของกิจการจำหน่ายเครื่องประดับทองคำดีขึ้นและปรับเปลี่ยนไป อย่างเช่นกลุ่มบริษัททองคำแห่งประเทศจีนในเซี่ยงไฮ้ได้เปิดจำหน่ายทองคำแท่งสไตล์ใหม่ ในช่วงต้นปี 2552 บริษัทนี้มียอดจำหน่ายเพียงเดือนละ 7 ล้านกว่าหยวน แต่ในเดือนเมษายนยอดขายได้เพิ่มขึ้นจนทะลุ 100 ล้านหยวน และเฉพาะเดือน ธันวาคม บริษัทนี้ได้ทำยอดจำหน่ายสูงถึง 600 ล้านหยวน ทำให้ตลอดทั้งปีขายได้ถึง 2,100 ล้านหยวน นอกจากนี้ ในปี 2552 ยังมีอีกหลายบริษัท อาทิ เชียนเจียซิ่น ต้าลู่ชีฮั่ว จิงอี้ชีฮั่ว ซื่อเหาจินผิ่น (สิงคโปร์ร่วมทุน) และโหย่วจินเหยินเจีย ที่ต่างประสบความสำเร็จอย่างงดงามในทำนองเดียวกัน
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการเครื่องประดับทองคำของจีนยังนิยมดำเนินการตลาดด้วยวิธีการดั้งเดิม โดยเฉพาะการสร้างมูลค่าเพิ่มค่อนข้างน้อย (ขายทองคำในเชิงปริมาณ) และจำกัดอยู่เฉพาะทอง 24K
เครื่องประดับแท้ รัฐบาลจีนพยายามส่งเสริมให้ผู้ประกอบการของตนออกไปสู่ตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยอดการส่งออกสินค้าเครื่องประดับแท้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2552 มีมูลค่ากว่า 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกผ่านทางฮ่องกง และคู่ค้าสำคัญอันดับรองลงมาได้แก่ สหรัฐฯ
แม้ว่า De Beers และ Platinum Guild International (PGI) ได้ทุ่มทุนประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการตลาดเพชรและแพลตตินัม ตามลำดับ มากเพียงใด แต่เครื่องประดับทองคำก็ยังอยู่ในความนิยมมากที่สุดของคนจีน โดยเฉพาะในกลุ่มแม่บ้าน ทั้งนี้ส่วนสำคัญเนื่องจากรสนิยมของชาวจีนในอดีตและการส่งเสริมการการตลาดอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องของ World Gold Council (WGC) อาทิ แคมเปญ “Gold of Culture” และ “Gold of Fashion” รวมทั้งจีนได้พัฒนาเทคนิคการผลิตเครื่องประดับทองคำในมาตรฐานระดับโลก ส่วนกลุ่มเครื่องประดับสีขาวไม่ว่าจะเป็นเงิน เพชร แพลตตินัม ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้หญิงยุคใหม่ หรือกลุ่มคนทำงานในกิจการเอกชน ซึ่งผู้หญิงมีโอกาสซื้อหาสินค้าดังกล่าวมากกว่าผู้ชาย
อัญมณีสังเคราะห์ จีนนำเข้าวัตถุดิบสังเคราะห์จากรัสเซียและสหรัฐฯ เพื่อนำมาผลิตเครื่องประดับในจีน ตลาดสินค้านี้เจริญเติบโตมาก เนื่องจากอัญมณีสังเคราะห์มีราคาไม่แพงและใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องประดับระดับล่างซึ่งเป็นตลาดที่มีผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก นอกจากข้อดีในเรื่องของราคาที่ไม่สูงแล้ว อัญมณีสังเคราะห์ยังมีรูปทรง สีสรร และขนาดที่หลากหลายอีกด้วย โดยศูนย์กลางการเจียระไนอัญมณีสังเคราะห์ของจีนนั้นอยู่ที่เมืองอู๋โจว (Wuzhou) มณฑลกวางสี
สวารอฟกี้ (Swarovski) นับเป็นแบรนด์หนึ่งในกลุ่มสินค้านี้ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการสร้างตลาดสินค้าอัญมณีสังเคราะห์ขึ้นสู่ตลาดระดับบนในจีน จนนำไปสู่สินค้าลอกเลียนแบบจำนวนมากในปัจจุบัน และด้วยทิศทางและแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีน ตลอดจนพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยและความนิยมในการสวมใส่เครื่องประดับของชาวจีนสะท้อนว่า ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับในประเทศจีนยังมีศักยภาพที่จะขยายตัวในอัตราที่สูงต่อไปในอนาคต
2.3 การกาหนดราคาขาย
ราคาสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับแตกต่างกันตามประเภท คุณภาพสินค้า การออกแบบ และสภาพตลาดทั่วไป ราคาทองคำAu (T+D)ในตลาดนครเซี่ยงไฮ้ ณ วันที่ 15 มกราคม 2553 อยู่ที่ 249.70 หยวนต่อกรัม ซึ่งราคาสูงสุดอยู่ที่ 251.60 หยวนต่อกรัม และต่ำสุดที่ 249.48 หยวนต่อกรัม สินค้าหลักอีกอย่าง เช่น PT 950 ราคา ณ วันที่ 17 มกราคม 2553 อยู่ที่ 445 หยวนต่อกรัม
ส่วนสินค้าเพชรที่ได้รับความนิยมที่ประเทศจีนนั้น ราคาจะต่างกันตามรูปแบบ ความบริสุทธิ์ และการตัด ราคาจะมีทั้งประมาณ 1,000 กว่าหยวนจนถึงหลายหมื่นหยวนขึ้นไป
สำหรับพลอยและหยก ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมมาโดยตลอดในตลาดจีนนั้น ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีที่เหมาะสม และมีความเป็นวิทยาศาสตร์ในการประเมินค่า ซึ่งสอดคล้องกับสุภาษิตจีนว่า “ทองคำเป็นสิ่งที่ประเมินค่าได้ ขณะที่หยกไม่ใช่” กล่าวคือ วิธีการประเมินส่วนใหญ่จะใช้วิธีการประมูล
นอกจากนี้ ยังมีไข่มุก ซึ่งนิยมทำเป็นเครื่องประดับชนิดอื่น เช่น แหวน สร้อย กำไล เป็นต้น แต่ราคาไข่มุกมักขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 ประการ กล่าวคือ สีสรร ขนาด และความเป็นเงา สร้อยไข่มุกธรรมดาราคาอยู่ที่ 1,000 หยวนต่อเส้น แต่ถ้าคุณภาพดีเป็นพิเศษนั้น ก็มีความเป็นไปได้ที่จะมากกว่า 10,000 หยวนขึ้นไป
ประการสำคัญ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา อัตราผลกำไรของสินค้าเครื่องประดับในตลาดจีนเริ่มลดลงจากร้อยละ 20 เหลือร้อยละ 3-5 เท่านั้น ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเนื่องจากระดับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นและระดับราคาวัตถุดิบที่ถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งสร้างแรงกดดันมากขึ้นต่อกิจการขนาดเล็กและขนาดกลางในการอยู่รอดและแข่งขันในตลาด
2.4 ช่องทางการจาหน่าย การจัดจำหน่ายสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในตลาดจีนนั้นมีหลายรูปแบบ ประมาณว่า ในปัจจุบัน จีนมีร้านจำหน่ายเครื่องประดับอยู่มากกว่า 10,000 จุด ส่วนใหญ่เป็นกิจการขนาดเล็กที่ไม่มีแบรนด์ของตนเองและมีความสามารถในการแข่งขันที่ต่ำ ขณะเดียวกันก็มีกิจการรายใหญ่ที่มีร้านค้าปลีกภายใต้เครื่องหมายการค้าของตัวเองแบบระบบเครือข่าย (Chain Store) รายละนับพันแห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ เช่น Lao Feng Xiang Co., Ltd., Lao Miao Gold Co., Ltd. และ First Asia Jewelry Co., Ltd. รวมทั้ง Zhejiang Sun and Moon Jewelry Group ซึ่งทั้งหมดมีชื่อเสียงและตลาดหลักในนครเซี่ยงไฮ้และมณฑลใกล้เคียง ขณะที่กิจการรายใหญ่ของฮ่องกงอย่าง Chow Tai Fook Jewellery Co., Ltd. ก็ขยายเครือข่ายและสร้างตลาดและชื่อเสียงของตนให้เป็นที่ยอมรับขึ้นมาอย่างรวดเร็วเช่นกัน โดยแต่ละรายมียอดขายปีละหลายพันล้านหยวนในปัจจุบัน
แต่เนื่องจากตลาดเครื่องประดับที่ใหญ่โตของจีน ทำให้ผู้ประกอบการดังกล่าวยังเป็นเพียงผู้นำทางการค้าในระดับภูมิภาคเท่านั้น และมีสัดส่วนทางการตลาดเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของตลาดเครื่องประดับของจีนโดยรวม
นครเซี่ยงไฮ้ถือเป็นตลาดค้าปลีกอัญมณีและเครื่องประดับในระดับแนวหน้าของประเทศจีน ถือได้ว่า ตลาดเครื่องประดับทองคำปัจจุบันกำลังอยู่ในยุคแห่งความรุ่งเรือง เนื่องจากมีผู้ประกอบการต่างชาติและจากฮ่องกงและมาเก๊าเข้ามาแข่งขันทำการตลาดกันอย่างมากหน้าหลายตา อีกทั้งยังมีเงินทุนจากแหล่งต่าง ๆ ก็มุ่งเข้ามาทดสอบตลาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตลาดในนครเซี่ยงไฮ้มีสภาพเสมือนยุคสงครามหลายก๊ก มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง หากเปรียบเทียบกับของไทย กิจการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของจีนยังล้าหลังกว่า และภายใต้สถานการณ์การแข่งขันที่รุนแรงขึ้นเช่นนี้ ผู้ประกอบการในเซี่ยงไฮ้ได้เริ่มให้ความสำคัญกับการสร้างภาพลักษณ์และเครื่องหมายการค้า การพัฒนาการบริหารภายใน และการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดจำหน่าย
ขณะที่เมืองอี้อู (Yiwu) มณฑลเจ้อเจียง (Zhejiang) ได้พัฒนาขึ้นตลาดค้าส่งสินค้าเบ็ดเตล็ดระดับกลางและล่างที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งหนึ่งในสินค้าที่จัดจำหน่ายอยู่อย่างแพร่หลายได้แก่ สินค้าเครื่องประดับแฟชั่น
ภายใต้ตลาดที่มีขนาดใหญ่ในเชิงสังคมภูมิศาสตร์และการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นทุกขณะ การจัดจำหน่ายสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในตลาดจีนให้มีประสิทธิภาพนั้นต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมายและการวางตำแหน่งทางการตลาดของสินค้าที่ชัดเจน ตัวอย่างเช่น ในกลุ่มคนวัยหนุ่มสาวจีนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ เช่น เซี่ยงไฮ้ และปักกิ่ง นอกจากจะมีกำลังซื้อสูงแล้ว ยังมีรสนิยมในการเลือกซื้อที่มีลักษณะเฉพาะ ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในจีนเป็นลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่งที่มีศักยภาพสูงและผู้บริโภคเหล่านี้มักนิยมซื้อสินค้าเครื่องประดับจากร้านค้าของผู้ผลิต รวมทั้งร้านแฟรน์ไชส์และเคาน์เตอร์ในห้างสรรพสินค้า เพราะได้รับการรับรองและรับประกันคุณภาพสินค้า
ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคชาวจีนจำนวนมากนิยมเดินทางไปซื้อหาสินค้าดังกล่าวในต่างประเทศ โดยเฉพาะฮ่องกง เพราะมีแบบให้เลือกหลากหลายและมีราคาที่ต่ำกว่า เมื่อเทียบกับที่ซื้อในจีน (เพราะไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราที่สูง) ทำให้ร้านค้าปลีกจำนวนมากที่เปิดในจีนนิยมมีสาขาในฮ่องกงควบคู่ไปด้วย
ในปีที่ผ่านมา ร้านค้าเหล่าเฟิ่งเสียงมียอดจำหน่าย 10,600 ล้านหยวน ขณะที่บริษัทเหล่าเมี่ยวค้าทองคำมียอดจำหน่าย 4,700 ล้านหยวน ซึ่งล้วนเป็นผลสำเร็จจากการพัฒนารูปแบบการขายและสร้างเครือข่ายการขายที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะการสร้างแบรนด์ "นกน้อยเพชร" เป็นสินค้าที่มุ่งจำหน่ายผ่านระบบอินเตอร์เน็ต เพียงแต่ปี 2552 บริษัทฯ ทำยอดขายได้ถึง 213 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจนมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่น่าพึงพอใจ หลายบริษัทฯ ยังมีการจำหน่ายผ่านโทรทัศน์ โดยบริษัทเหล่าเมี่ยวได้สร้างสถิติขายทองคำแท่งผ่านรายการ “ทีวีไดเร็คท์” (TV Direct) ได้เป็นมูลค่านับ 10 ล้านหยวนภายในเวลา 45 นาทีที่รายการออกอากาศ นอกจากนี้ยังมีรูปแบบการจัดกิจกรรมจำหน่ายในโรงแรมห้าดาว หรือใช้รูปแบบการขายที่ร่ำเรียนมาจากสหรัฐอเมริกา ทำให้กิจการที่เปิดจุดขายที่ชั้น 6 ของอาคารในย่านไว่ทานไม่ต้องเป็นห่วงว่าจะไม่มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการ ขณะเดียวกัน “บริษัทเหิงไท่ จำกัด” ของปักกิ่งก็ได้มาเปิดร้านลงทุนทองคำที่ชั้น 2 ของอาคารจินเม่า บริเวณเขตผู่ตงของเซี่ยงไฮ้เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว โดยบริหารงานภายใต้นโยบายโปร่งใส ซื่อสัตย์ และบริการอย่างมืออาชีพ ทำให้สามารถนำเอารูปแบบร้านค้าแฟรนไชส์มาเปิดสาขาได้ทั่วประเทศ และนำเอารูปแบบและแนวคิดการบริหารจัดการลงทุนทองคำจากต่างประเทศเข้ามาแนะนำให้คนจีนได้รู้จัก บางรายก็เน้นเจาะกลุ่มผู้นับถือศาสนาพุทธในจีน โดยเชิญเกจิอาจารย์ชื่อดังจากวัดจิ่วหัวซานมาทำพิธีกรรมปลุกเสก
ขณะที่กิจการค้าทองคำเก่าแก่กว่า 100 ปีอย่าง “เหล่าเมี่ยว” ก็ได้มุ่งปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของร้าน เช่น การเปิดเป็นโชว์รูมที่ทันสมัย หรือเปิดโชว์รูมภายใต้เครื่องหมายการค้า “LM” ที่ตลาดอวี้หยวน เป็นต้น โดยเน้นสร้างภาพลักษณ์ใหม่ที่ทันสมัย ยกระดับสินค้าที่เน้นกลุ่มเป้าหมายระดับสูง และจัดแสดงสินค้าที่มีรสนิยมและบริการที่มุ่นเน้นคุณภาพ ฯลฯ ทำให้เกิดการผลัดเปลี่ยนธุรกิจไปสู่ยุคใหม่อย่างราบรื่น
องค์กรที่เกี่ยวกับเพชรก็เข้ามาทำกิจกรรมการตลาดอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทำให้คนจีนตระหนักถึงความสำคัญของเพชร ทำให้เพชรยึดตลาดส่วนใหญ่ไป โดยเฉพาะสำหรับใช้ในงานแต่งงาน แต่โดยรวมแล้วก็ยังเป็นการขายเป็นเม็ด มิได้ขายเป็นชุดเครื่องประดับดังเช่นในตลาดของประเทศพัฒนาแล้ว นอกจากนี้ แม้ว่าการออกแบบเครื่องประดับก็ได้รับการพัฒนาไป แต่การแปรรูปดูเหมือนจะยังไม่สอดคล้องกัน ขณะเดียวกันตลาดพลอยสีในจีนยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร โดยหยุดชะงักลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้ความนิยมลดลงในเชิงเปรียบเทียบ
ในส่วนของสินค้านำเข้า การร่วมงานแสดงสินค้าขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงถือว่าเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและน่าเชื่อถือให้แก่อัญมณีและเครื่องประดับของไทย และเป็นการสร้างฐานข้อมูลผู้บริโภคในจีนเพื่อประโยชน์ในการวางแผนการผลิต การพัฒนาสินค้าและการตลาดได้ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากที่สุด
การสร้างพันธมิตรทางธุรกิจในจีนเพื่อเพิ่มช่องทางการกระจายสินค้าก็นับว่าเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยให้สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยสามารถเจาะ และขยายตลาดส่งออกไปยังตลาดจีนได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
2.5 การส่งเสริมการจาหน่าย
จีนนับเป็นประเทศผู้ผลิตเครื่องประดับอันดับแรก ๆ ของเอเซียเมื่อกว่า 5,000 ปีมาแล้ว โดยการออกแบบสินค้าดังกล่าวมีรากเหง้าเชื่อมโยงกับศาสนา โดยเฉพาะสัญลักษณ์ของศาสนาพุทธ และการออกแบบบางส่วนต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันในเศรษฐกิจยุคใหม่ ประเทศจีนได้พัฒนาการออกแบบอัญมณีและเครื่องประดับที่รุดหน้าอย่างรวดเร็ว ดังจะเห็นได้จากการได้รับรางวัลการออกแบบอัญมณีและเครื่องประดับระดับนานาชาติของนักออกแบบจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และการจดทะเบียนสิทธิบัตร (Patents) ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 1,000 แบบนับแต่ปี 2545 ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการเรียนรู้จากการลงทุนของต่างประเทศที่มีความชำนาญมากในจีน เช่น ฮ่องกง และไต้หวัน เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ด้วยความใหญ่โตของตลาดจีน ทำให้เป็นการยากยิ่งที่จะสร้างแบรนด์ของจีนให้เป็นที่ยอมรับและนิยมอย่างแพร่หลายทั่วประเทศจีนได้ในระยะเวลาอันสั้น ตัวย่างเช่น ในเมืองเซินเจิ้นเพียงแห่งเดียวมีกิจการจำหน่ายเครื่องประดับทองคำและเพชรเกือบ 1,000 ราย และมีแบรนด์เครื่องประดับถึงกว่า 200 แบรนด์
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันได้เริ่มมีแบรนด์ของจีนและของต่างชาติจำนวนหนึ่งที่พยายามโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าของตนอย่างเป็นระบบจนโด่งดังขึ้นมาในตลาดจีน อาทิ Caibai Jewelry, Colorful Yunnan และ Yuewang ของจีน Chow Tai Fook และ Jinzhizun ของฮ่องกง และ Catier ของยุโรปที่ก้าวเข้ามาครองใจตลาดระดับกลางอย่างรวดเร็ว โดยใช้กลยุทธ์การออกแบบผลิตภัณฑ์และการตลาดเชิงสร้างสรรค์เป็นตัวชูโรง
ตัวอย่างเช่น Colorful Yunnan Commerce and Trade Co., Ltd. ได้ประสบความสำเร็จทางการตลาดสินค้าใหม่ผ่านแคมเปญ “Fashionable Emerald Beauties” ซึ่งนำเสนอสินค้าพลอยสีกว่า 1,000 ชิ้นใน 3 แนวคิด ได้แก่ Cleverness, Loveliness และ Charms ที่มุ่งเป้าจับตลาดผู้หญิงในแต่ละระดับอายุ ขณะที่ Caishikou Department Store Co., Ltd. แห่งกรุงปักกิ่งก็เคยนำเสนอแนวคิด “having a warm color” กับเครื่องประดับทองคำ และต่อมาก็ร่วมมือกับ PGI ออกโครงการ “แหวนชุด” (Set Rings) ซึ่งประกอบด้วยแหวนเพชรที่คาดแถบแพลตตินัมและแหวนแพลตตินัม 2 วงคู่กันสำหรับวันแต่งงานและวันปกติ ตามลำดับ
2.6 ความได้เปรียบของจีน
1) จีนมีค่าจ้างแรงงานที่ถูก เมื่อเทียบกับของไทย แม้ว่าฝีมือแรงงานจะไม่ได้อยู่ในระดับที่ดีมาก แต่ก็เป็นที่ยอมรับได้ในระดับหนึ่ง
2) จีนยังมีสินแร่อีกมากมายที่ยังไม่ได้นำขึ้นมาใช้ประโยชน์
3) จีนมีเครือข่ายร้านขายสินค้าเครื่องประดับที่เข้มแข็ง โดยอยู่ภายใต้เครื่องหมายการค้าเดียวกัน และเป็นเครื่องหมายการค้าของจีนเอง
4) จีนมีความสามารถในการลอกเลียนแบบสูง และมีความสามารถในการลอกเลียนแบบและคิดค้นเครื่องจักรเครื่องมือการผลิตสินค้าเครื่องประดับของต่างประเทศ ทำให้ช่วยลดต้นทุนในการผลิตลงไปได้ส่วนหนึ่ง
5) ภาครัฐและเอกชนของจีนจัดงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับขึ้นเป็นประจำทุกปีตามมณฑลและหัวเมืองต่าง ๆ
3. ตลาดเป้าหมายใหม่ที่มีศักยภาพ
นายเฉิง ปิ่งไห่ (Mr. Chen Binghai) นายกสมาคมการค้าทองคำและเครื่องประดับนครเซียงไฮ้ และอุปนายกสมาคมการค้าทองคำและเครื่องประดับแห่งประเทศจีนได้กล่าวไว้ในการสัมมนาเรื่อง “ทิศทางและแนวโน้มตลาดเครื่องประดับของประเทศจีน ... สู่ยุคเฟื่องฟู” ในงาน Bangkok Gems and Jewelry Fair 2010 ครั้งที่ 45 เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 ณ ศูนย์แสดงสินค้าอิมแพ็ค เมืองทองธานี สรุปได้ว่า ในปี 2552 ทั่วโลกได้เกิดภาวะวิกฤติเศรษฐกิจและการเงิน ทำให้ผู้ประกอบการในประเทศจีนหันมามุ่งเน้นการขยายความต้องการภายในประเทศ โดยเฉพาะการเจาะตลาดใหม่ เช่น กลุ่มเกษตรกรที่ร่ำรวยขึ้น และช่องทางการซื้อขายผ่านระบบอินเตอร์เน็ต
- พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) นับแต่ปี 2551 จีนได้กลายเป็นประเทศที่มีคนใช้อินเตอร์เน็ต (Netizens) มากที่สุดในโลก และจากการวิจัยล่าสุดของหลายสำนัก เช่น ไอบีเอ็ม พบว่า ผู้บริโภคชาวจีนมีความนิยมใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อการแสวงหาข้อมูลและเลือกซื้อสินค้ามากขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งไว้วางใจในข้อมูลและมาตรฐานสินค้าที่ซื้อขายผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) มากขึ้น ประการสำคัญ สินค้าที่เลือกซื้อผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ครอบคลุมถึงสินค้าเครื่องประดับ และจับจ่ายใช้สอยต่อครั้ง/สินค้าเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
รองผู้อำนวยการกรมไปรษณีย์ของประเทศจีนได้กล่าวไว้เมื่อเดือนกันยายน 2552 ว่า ปัจจุบัน ประเทศจีนมีประชากรที่ทำธุรกรรมซื้อขายสินค้าผ่านระบบอินเตอร์เน็ตมากถึง 120 ล้านคน คิดเป็นอัตรา 1 ต่อ 3.38 ของจำนวนประชากรที่ใช้อินเตอร์เน็ต คาดว่าในปี 2554 มูลค่าการตลาดของตลาดผ่าน E-commerce ของจีนจะเพิ่มขึ้นเป็น 569,000 ล้านหยวน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายสินค้าผ่านระบบอินเตอร์เน็ตในประเทศจีน มีสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 1 ของมูลค่าการค้าปลีกของประเทศ ยังต่ำกว่าอัตราร้อยละ 5-10 ซึ่งเป็นตัวชี้วัดว่าตลาดอยู่ในสภาพสุกงอมเต็มที่
ดังนั้น ตลาดจีนจึงยังมีศักยภาพสูง ทั้งนี้ ในปี 2551 สถิติการจัดอันดับสินค้าที่ถูกสั่งซื้อจากเว็บไซต์ www.taobao.com ของจีนพบว่า สินค้าประเภทเครื่องประดับติดอันดับ 7 โดยมีมูลค่าการซื้อขาย 5,010 ล้านหยวน
- เกษตรกรอู้ฟู่ การเปิดเศรษฐกิจสู่ต่างประเทศมานานกว่า 30 ปี และการหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาเขตชนบท ทำให้ประชากรในชนบทกว่า 1,000 ล้านคนมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น กอรปกับนโยบายสนับสนุนและการปฏิรูปเกษตรกรรมจากภาครัฐ ทำให้เกษตรกรบางส่วนกลายเป็นเศรษฐีรุ่นใหม่ของประเทศ เกษตรกรเหล่านี้มักจะแสดงความร่ำรวยด้วยการใช้เม็ดเงินมากขึ้นในการก่อสร้างบ้านหลังใหม่ที่หรูหรา ซื้อรถยนต์ยี่ห้อดัง และบริโภคเครื่องประดับต่าง ๆ
ไม่ว่าจะเป็นประชากรในเมืองหรือในชนบท รายได้ต่างเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ เช่น ยุคแรกของการเปิดประเทศในปี 1981 ประชากรในเขตเมืองมีรายได้ปีละประมาณ 476 หยวนต่อคน ขณะที่ประชากรในเขตชนบทรายได้เฉลี่ยต่อปีเพียงคนละ 213 หยวน แต่ในปี 2008 (ภายในระยะเวลา 27 ปี) รายจ่ายของประชากรในเขตเมืองเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 15,700 หยวน ขณะที่ประชากรในเขตชนบทมีรายได้สุทธิเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็นคนละ 4,761 หยวน ต่อปี ถึงแม้ว่าค่าใช้จ่ายและราคาสินค้าได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่อัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้มีมากกว่า และการเพิ่มขึ้นของราคาทองคำก็มีอัตราต่ำกว่าของรายได้ประชากรของจีน ทำให้อุปสงค์ของตลาดชนบทในสินค้าประเภททองคำเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน
กลุ่มชาวนาซึ่งมีรายได้สูง มักจะให้ความสำคัญกับเครื่องหมายการค้า หรือแบรนด์ของเครื่องประดับเหนือปัจจัยอื่น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงในชนบท มักเน้นเรื่องรสนิยมที่เป็นเอกลักษณ์ของตน เพื่อแสดงออกถึงรสนิยมที่สูงและกำลังทรัพย์ที่แน่นหนา คนกลุ่มนี้จะเลือกซื้อเฉพาะสินค้าที่มีชื่อเสียง ขณะที่ผู้บริโภคกลุ่มใหม่ในชนบทที่ร่ำรวยขึ้นมาก็ยังขาดความรู้ความเข้าใจต่อสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ จึงมอบความไว้วางใจแก่เครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงภายในประเทศจีน และกลายเป็นกลุ่มเป้าหมายที่พร้อมในการปรับเปลี่ยนทัศนคติ และสร้างความซื่อสัตย์ต่อเครื่องหมายการค้าใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว
- ตลาดคนรวยเติบใหญ่ จีนยังเป็นตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยที่ใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลกในปัจจุบัน โดยมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 23.6 ของมูลค่าตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยของโลก และคาดว่าในปี 2010 ตลาดจีนจะเติบใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก ซึ่งเกิดจากเศรษฐีและชนชั้นกลางจำนวนมากที่ร่ำรวยใหม่ของจีน ขณะที่สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่มีคุณภาพดีนับว่ามีศักยภาพสูงมาก แต่ยังมีให้เห็นน้อยมากในตลาดจีน
- บุญหล่นทับหนุ่มสาวจีน หนุ่มสาวชาวจีนโดยส่วนใหญ่มีกำลังซื้อและนิยมใส่เครื่องประดับมากกว่าคนวัยกลางคนขึ้นไป ทั้งนี้ส่วนสำคัญเป็นผลจากการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาและนโยบายลูกคนเดียว (One-Child Policy) ของรัฐบาลจีนที่ดำเนินมากว่า 30 ปี ส่งผลให้คนเหล่านี้เป็นบุคคลสำคัญของครอบครัวและหรือเป็นคนทำงานที่มีรายได้และกำลังซื้อสูงไปโดยปริยาย ทำให้ทิศทางของอุตสาหกรรมสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเป็นไปในทางที่ดีขึ้น
- นักท่องเที่ยว เนื่องจากงานเวิลด์เอ๊กซ์โป 2553 (World Expo 2010) ณ นครเซี่ยงไฮ้กำลังจะจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคมปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าเยี่ยมชมงานระหว่าง 70-90 ล้านคน ทำให้ตลาดสินค้าประเภทโลหะมีค่าและเครื่องประดับเริ่มมีอัตราการขยายตัวที่น่าสนใจ ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดีที่จะเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับงานเวิลด์เอ๊กซ์โป กิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจะเกิดขึ้นที่เซี่ยงไฮ้ตลอดระยะเวลา 6 เดือนเต็ม ซึ่งจะช่วยสร้างกำลังซื้อใหม่และผู้บริโภคกลุ่มใหม่กับนครเซี่ยงไฮ้อย่างมากมาย
4. กฎระเบียบทางการค้า ระเบียบการนาเข้าและส่งออก
การยื่นขอเปิดกิจการและการร่วมทุนทำได้โดย คู่ค้าทั้งสองฝ่ายเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ยื่นคำร้องขอเปิดกิจการกับกระทรวงพาณิชย์ หากเป็นการยื่นเปิดที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ยื่นคำร้องได้ที่ Foreign Investment Commission of Shanghai (FICS) ขั้นตอนการพิจารณาอยู่ในระยะเวลา 3 เดือน หลังจากได้รับการอนุมัติแล้วนั้น ก็สามารถทำการยื่นเรื่องกับกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์หรือ Shanghai Commercial and Industrial Administration Bureau เพื่อจดทะเบียนขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการ หลังจากนั้นก็สามารถเริ่มดำเนินกิจการได้ โดยการจดทะเบียนนี้จะเป็นไปในรูปแบบของบริษัทจำกัด และฝ่ายต่างชาตินั้นต้องมีสัดส่วนการลงทุนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 ของการลงทุนทั้งหมด
5. โครงสร้างภาษี อาทิ อากรขาเข้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม และข้อกีดกันทางการค้าทั้งที่เป็น Tariff และ Non-Tariff Barriers การเรียกเก็บภาษีอากรสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของจีนค่อนข้างสลับซ้ำซ้อน โดยอัญมณี ทองคำ และโลหะมีค่าอื่นต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 17 และภาษีผู้บริโภคร้อยละ 10 ขณะที่เพชรเจียระไนที่ทำธุรกรรมซื้อขายผ่าน Shanghai Diamond Exchange เสียภาษีมูลค่าเพิ่มเพียงร้อยละ 4 และไม่มีภาษีผู้บริโภค ทั้งนี้ ในกรณีของเพชรเจียระไน ที่ทำตัวเรือนแล้ว จะคิดภาษีแยกในส่วนของอัญมณีและโลหะของตัวเรือน
อย่างไรก็ดี หลังจากกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียนปฏิบัติตามข้อตกลง AFTA ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 สินค้าที่ค้าขายระหว่างกันรวมกว่า 7,000 รายการไม่ต้องเสียอากรนำเข้า หนึ่งในสินค้าดังกล่าวได้แก่ สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งทำให้สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยสามารถเข้าสู่ตลาดจีนได้ในต้นทุนที่ต่ำลง และนับเป็นโอกาสของสินค้าไทยในอนาคต
ในการเข้ามาประกอบธุรกิจของไทยในตลาดจีน ผู้ประกอบการไทยจะต้องจดทะเบียนนิติบุคคลและได้รับอนุญาตในการประกอบการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะธนาคารกลางของจีน ซึ่งกำกับควบคุมเกี่ยวกับโลหะมีค่า และใบอนุญาตในการประกอบการตามแต่ลักษณะธุรกิจ เช่น กิจการนำเข้า ค้าส่ง และค้าปลีก เป็นต้น
นอกจากตลาดจีนจะเปิดกว้างและเสรีมากขึ้น ทั้งการลดอากรนำเข้า และการผ่อนปรนข้อกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers) ทำให้สินค้าไทยเข้าตลาดจีนได้ง่ายขึ้น แต่ไทยต้องเร่งดำเนินการ คือ การวิจัยตลาด การกำหนดมาตรฐานพลอยสี การสร้างเครือข่ายพันธมิตรระหว่างผู้ส่งออกพลอยสีของไทยและผู้ผลิตเครื่องประดับของจีน รวมทั้งการมุ่งเน้นการตลาดสินค้าเครื่องประดับระดับบนและเครื่องประดับพลอยสีอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
6. การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมฯ จากภาครัฐและเอกชน
จีนมีความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด โดยในส่วนของภาครัฐมีการกำหนดนโยบายและมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมนี้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น การซื้อขายของวัตถุดิบผ่านสมาคมของวัตถุดิบนั้น ๆ จะมีการลดหย่อนหรือหักภาษีคืนให้ เป็นต้น โดยรัฐบาลจัดให้มีเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ เช่น เมืองเซิ่นเจิ้น เมืองพานหยู และเมืองอู๋โจว เป็นต้น และยังมีการสนับสนุนในเรื่องการสร้างยี่ห้อสินค้าจากเดิมที่มีอยู่ให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมนี้
ในส่วนของแรงงาน จีนพยายามพัฒนาฝีมือแรงงานอย่างต่อเนื่อง และโดยที่อุตสาหกรรมมีการขยายตัว แรงงานจีนจึงมีโอกาสที่จะพัฒนาเป็นแรงงานที่มีฝีมือสูงได้ในอนาคต นอกจากนี้ ความสำเร็จจากการพัฒนาคลัสเตอร์ของอุตสาหกรรมและจัดงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ อาจทำให้กิจการต่างชาติ เช่น ยุโรป เข้ามาตั้งโรงงานเพื่อสนองตอบความต้องการทั้งภายในประเทศเองและเพื่อส่งไปยังตลาดต่างประเทศ
ในส่วนของภาคเอกชน สมาคมที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น Shanghai Gold Ornaments Trade Association, Shanghai Gem and Jade Association และ Shanghai Diamond Trade Association ฯลฯ ก็ได้มีการกำหนดกฎเกณฑ์และข้อบังคับต่าง ๆ เช่น การซื้อขายเพชร หากกระทำการผ่านทาง Shanghai Diamond Exchange จะได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีนำเข้าหรือมีการลดหย่อนภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ให้ก้าวหน้าต่อไป
7. เกร็ดและแนวโน้มอุตสาหกรรมของจีน
1. World Mart เป็นศูนย์การค้านานาชาติของวัตถุดิบ อุปกรณ์และชิ้นส่วนของการผลิตในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ โดยเป็นความร่วมมือของ Guangzhou Panyu Municipality Government, Foreign Trade Economic Cooperation Bureau of Panyu Guangzhou Municipality, The Customs of Panyu Guangzhou Municipality, China Council for the Promotion of International Trade (CCPIT) Panyu Branch และ HSBC Insurance Broker Ltd. ทั้งนี้จะทำให้เมืองพานหยูมีความแข็งแกร่งมากขึ้น เพื่อการส่งออกโดยมีการลงทุนร่วมระหว่างจีนและฮ่องกงผ่าน Closer Economic Partnership Agreement (CEPA)
2. Guangzhou Weile Jewelry Industrial Park อยู่ในศูนย์กลางของ Panyu โดยภายใต้ความร่วมมือของกลุ่มบริษัทจากฮ่องกงและ Guangzhou Panyu Foreign Economic Cooperation โดยที่ Weile จะมีใบอนุญาตนำเข้าทอง เงิน และรัตนชาติเพื่อการผลิตสำหรับส่งออก และเป็นเขตการค้าเสรี ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ศุลกากรและธนาคาร People’s Bank of China อยู่ประจำ และยังมี Jewelry Testing Service Center ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบสินค้าให้ได้มาตรฐาน นอกจากนั้นยังมีระบบจัดการ Logistics ที่เชื่อมต่อโดยตรงกับฮ่องกง
3. Diamond Island เป็นศูนย์กลางการเจียระไนเพชรและเครื่องประดับเพชร ที่เมืองเจียงเหมิน มณฑลกวางโจว โดยมีพื้นที่ 667,000 ตารางเมตร เพื่อการอุตสาหกรรมเพชร ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเมืองเจียงเหมิน เช่น การทำคลังสินค้าทัณฑ์บนเก็บสินค้าด้วยระบบคอมพิวเตอร์ และยังมีระบบศุลกากรให้ความสะดวกและการจ่ายภาษีแบบ On-line เจ้าของกิจการที่ลงทุนในนิคม อุตสาหกรรมนี้ยังได้ลดภาษีจากกำไรเดิมร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 24 ถ้ามีการลงนามสัญญาลงทุนอย่างน้อย 10 ปี ผู้ลงทุนจากต่างประเทศหากมีการส่งออกเกินร้อยละ 70 ของการผลิตจะได้รับการลดภาษีอีกร้อยละ 50 และยังมีการให้เช่าที่ดินในอัตราพิเศษหากเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่อีกด้วย
4. รัฐบาลนครเซี่ยงไฮ้อยู่ระหว่างการพิจารณาเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์พิเศษสำหรับการประกอบการในธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับในนครเซี่ยงไฮ้ โดยกำหนดพื้นที่ในลักษณะเดียวกับที่รัฐบาลของบางประเทศในสหภาพยุโรปดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน มาตรการดังกล่าวคาดว่าจะประกาศและมีผลใช้บังคับในปี 2553
5. ในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า ขนาดของตลาดอัญมณีและเครื่องประดับของจีนจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 2 เท่า กอรปกับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในตลาดจีนอยู่ในระดับหนึ่งแล้ว ผู้ประกอบการไทยจึงควรใช้ประโยชน์จากจังหวะโอกาสทางการตลาดนี้เข้ามาเริ่มทำตลาดสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในจีนมากขึ้น ขณะเดียวกัน โครงสร้างความมั่งคั่งของจีนจะกระจายตัวในเชิงภูมิศาสตร์ กล่าวคือ กระจายจากเมืองหลักไปยังเมืองรองและจากเขตเมืองไปสู่พื้นที่นอกเมืองมากขึ้น ผู้ประกอบการไทยจึงอยู่ในตลาดจีนจึงควรเริ่มคิดแผนสองสำหรับขยายกิจการออกสู่เมืองรองและนอกเมืองมากขึ้น โดยจำเป็นต้องมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนและบริการที่เหมาะสมและสอดคล้อง
รวบรวมและเรียบเรียงโดย
ดร. ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร
ผอ. สคร. ณ นครเซี่ยงไฮ้
ที่มา: http://www.depthai.go.th