1. การนำเข้า
อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์เป็นธุรกิจปลายน้ำของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะในดูไบที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์มีความร้อนแรงมาตลอดเกือบ 10 ปี และตกต่ำสุดจนเกิดวิกฤตเมื่อปลายปี 2552 ทำให้เกิดหนี้ขนาดใหญ่ เกิดความเสียหายมากมาย
สินค้าเฟอร์นิเจอร์ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือยูเออีเติบโตต่อเนื่องตามการขยายตัวของตลาดอสังหาฯ โดยเฉพาะการก่อสร้างที่อยู่อาศัย และอาคารสำนักงานที่เติบโตมาตลอดหลายปี ทำให้การนำเข้ากลุ่มสินค้านี้เติบโต และเริ่มลดระดับการขยายตัวในปี 2552 เช่นกัน มูลค่าที่ยูเออีนำเข้าสินค้าเฟอร์นิเจอร์อื่นๆที่ระบุไว้ในสถิติการนำเข้าในหมวด H.S. code 9403 ในช่วงปี 2550-2553 พอสรุปได้ดังนี้
ปี 2550 ปริมาณ 540,414 ตัน มูลค่า 848 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ปี 2551 ปริมาณ 652,083 ตัน มูลค่า 1,139 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัตราขยายตัวในเชิงมูลค่าเพิ่มขึ้น 34.3%
ปี 2552 ปริมาณ 724,827 ตัน มูลค่า 836 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัตราขยายตัวในเชิงมูลค่าลดลง 26.5%
ประเทศต่างๆที่นำเข้า ได้แก่ จีน (35) อิตาลี (16) มาเลเซีย (9%) เยอรมนี อินโดนีเซีย (4% ) ตุรกี สหรัฐฯ (3%) ฝรั่งเศส อังกฤษ และไทย (2%) ตามลำดับ
2. การส่งออกของไทย
ปี 2550 ไทยส่งออกสินค้าเฟอร์นิเจอร์ไปยูเออีมูลค่า 19.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯอัตราเพิ่มขึ้น17.3% ปี 2551 มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 29.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้น 48.4% ปี 2552 ส่งออกลดลงเหลือ 18 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือลดลง 38.4%
ในช่วงเดือน ม.ค.-ส.ค. 2553 การส่งออกเฟอร์นิเจอร์กลุ่มและชิ้นส่วนของไทยมีแนวโน้มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก และเพราะจากสถิติการส่งออกสินค้าเฟอร์นิเจอร์ในช่วงเดือน 8 แรกนี้ ไทยสามารถส่งออกไปยูเออีมูลค่า 13.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือขยายตัว 58.2% (YoY)
3. การส่งออกต่อ (Re-export)
ยูเออีเป็นแหล่งนำเข้าและส่งออกต่อเฟอร์นิเจอร์(Re-export) ที่สำคัญของภูมิภาคนี้ โดยมีตลาดหลักที่ส่งออกต่อได้แก่ อิหร่าน อิรัค เทนซาเนีย ลิเบีย ศรีลังกา เบนิน ซูดาน และเคนย่า มูลค่าการส่งออกต่อปี 2552 อยู่ที่ 247.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจาก 306.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่เคยส่งออกต่อในปี 2551
4. ช่องทางการนำเข้าสู่ตลาด
ช่องทางการนำเข้าเฟอร์นิเจอร์ของยูเออีไม่ซับซ้อน ส่วนใหญ่นำเข้าโดยผู้นำเข้าที่มีคลังสินค้าขายปลีกในประเทศ ซึ่งในขณะเดียวกันก็อาจเป็นผู้ขายส่งอีกด้วย นอกจากนั้นอาจเป็นร้านจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์คุณภาพดีที่นำเข้าสินค้าจำหน่ายเฉพาะในร้านของตน หรือเพื่อจำหน่ายในร้านสาขาที่มีอยู่ในรัฐอื่น หรือในประเทศอื่นๆในกลุ่มอ่าวอาระเบียน สำหรับผู้นำเข้าในเขตอุตสาหกรรมพิเศษจีเบลอาลีส่วนใหญ่เป็น Distributor นำเข้าสินค้าเพื่อจำหน่ายในดูไบหรือส่งออกต่อไปประเทศอื่นๆที่อยู่ใกล้เคียง
นอกจากนี้ การเจาะตลาดโดยร่วมลงทุนกับนักธุรกิจที่ดูไบในการเปิดบริษัทรับงานโครงการอสังหาริมทรัพย์ จะเป็นวิธีที่ได้ผลมาก และหากผลการดำเนินงานในโครงการชิ้นแรกสำเร็จด้วยดี และเป็นที่ยอมรับในตลาดแล้ว จะมีงานจากโครงการอื่นๆ ตามมาให้ทำอย่างต่อเนื่อง
5. ฤดูกาลจำหน่าย : ตลอดปี
6. ภาษีนำเข้าจากราคา CIF : ร้อยละ 5
7. สิทธิพิเศษทางศุลกากร: ไม่มี
8. เอกสารประกอบการนำเข้า: Invoice, Certificate of Origin ประทับตรารับรอง จากหอ การค้า ไทยและ Legalize จากสถานทูตประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในประเทศ ไทย Bill of Lading และ Packing List เอกสารประกอบดังกล่าวจะระบุไว้ในแอลซี
9. สรุปและข้อเสนอแนะ
1. ควรเร่งยกระดับคุณภาพของสินค้าและการออกแบบให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น ส่วนการเข้าสู่ตลาดนั้น สามารถเจาะขยายผ่าน Distributor ท้องถิ่น หรือการร่วมลงทุนกับนักธุรกิจที่ดูไบในการเปิดบริษัทรับงานโครงการอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะเป็นวิธีที่ได้ผลมากกว่า
2. ปัจจัยเสี่ยงจากการแข็งค่าของเงินบาทจะเป็นปัจจัยลบที่ทำให้มูลค่าการส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2553 ชะลอตัวลง
3. หลีกเลี่ยงการแข่งขันกับตลาดล่างเพราะแนวโน้มความต้องการจะลดลง ประเทศคู่แข่งเฟอร์นิเจอร์ในตลาดยูเออี ส่วนใหญ่มีค่าเงินอ่อนค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินบาท จะทำให้ไทยสียเปรียบการแข่งขันด้านราคากับประเทศต่างๆ อาทิ จีน เวียดนาม และอินโดนีเซีย ที่ใช้กลยุทธ์ด้านราคาแข่งขันกันค่อนข้างรุนแรง
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองดูไบ
ที่มา: http://www.depthai.go.th