สิงคโปร์เป็นประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่รับประทานข้าว และต้องพึ่งพาการนำเข้าจากประเทศต่างๆทั่วโลก ได้แก่ ไทย เวียดนาม ปากีสถาน อินเดีย ออสเตรเลีย พม่า สหรัฐฯ และจีน แต่ชาวสิงคโปร์มีความคุ้นเคยกับการบริโภคข้าวไทย โดยเฉพาะนิยมข้าวคุณภาพชั้นดี คือ ข้าวหอมและข้าวหอมมะลิ ซึ่งคนจีนสิงคโปร์(ร้อยละ 74.7) นิยมบริโภคข้าวหอมมะลิไทย คนมุสลิมมาเลย์(ร้อยละ 13.6) นิยมบริโภคข้าวขาวไทย นอกจากนี้ ชาวสิงคโปร์นิยมรับประทานอาหารนอกบ้าน กิจการร้านอาหาร/ภัตตาคารมีข้าวเป็นเมนูหลัก
จากเหตุการณ์น้ำท่วมในไทย จะทำให้พื้นที่การเพาะปลูกข้าวลดลง ส่งผลให้ผลผลิตลดลงร้อยละ 20 (มีเพียง 20 ล้านตัน) เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา (ผลผลิต 23.3 ล้านตัน) และจะทำให้ข้าวไทยมีราคาสูงขึ้นอีกตันละ 30 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเริ่มจากเดือนพฤศจิกายน 2553 ทั้งนี้ ราคาข้าวไทยได้เพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2553 มีราคา 510 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน สืบเนื่องจากภัยธรรมชาติในปากีสถานและฟิลิปปินส์
ผลกระทบจากราคาข้าวที่สูงขึ้นในสิงคโปร์ ไม่เฉพาะข้าวจากไทย จะเป็นข้าวที่นำเข้าจากทุกประเทศทั่วโลก ผู้นำเข้า/ค้าส่งต้องซื้อสินค้าในราคาสูงขึ้น ส่งผลกระทบไปถึงผู้บริโภคในสิงคโปร์โดยตรงที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายด้านอาหารเพิ่มขึ้น เนื่องจากข้าวเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการผลิตอาหารประเภทต่างๆที่เป็นที่นิยมในสิงคโปร์ ได้แก่ เส้นหมี่ ก๋วยเตี๋ยว ของหวานต่างๆ และขนมปัง
หากข้าวไทยยังคงมีราคาสูงขึ้นต่อไป จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลให้ผู้นำเข้า/ผู้ค้าสิงคโปร์ต้องหันไปพึ่งพาการนำเข้าจากประเทศอื่นๆแทน รวมถึงผู้บริโภคอาจปรับเปลี่ยนไปบริโภคข้าวที่มีราคาถูกกว่า อีกทั้ง หน่วยงานภาครัฐสิงคโปร์ คือ Agri-Food and Veterinary Authority (AVA) มีการจัดสรรเงินสนับสนุนประจำปีเป็นเงิน 5 ล้านเหรียญสิงคโปร์สำหรับการจัดการ Food-capability Development และ Food Diversification มุ่งเน้นในการจัดหาแหล่งนำเข้าใหม่ๆ สำหรับสินค้าอาหาร ได้แก่ ข้าว เนื้อสุกร ไก่ ปลา ไข่ไก่ และผักใบเขียว และจัดสรรเงินทุนให้แก่การลงทุนในต่างประเทศเพื่อจัดทำเขตผลิตอาหารและ contract farming ซึ่งเงินสนับสนุนนี้ให้ใช้เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องต่างๆ ได้แก่ ค่าเดินทาง ค่าบุคคลากร ค่าการบริการธุรกิจ ค่าการค้นคว้าวิจัยเพื่อให้เกิดผลผลิตเพิ่มขึ้น
อนึ่ง สิงคโปร์นำเข้าข้าวจากไทยในปี 2552 เป็นมูลค่า 143.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และในปี 2553 (มค.-กย.) มูลค่า 109.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.21 (เทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า) สำหรับปริมาณการบริโภคข้าวหอมและข้าวหอมมะลิ ประมาณ 15,000 ตันต่อเดือน ถ้ารวมข้าวเกรดอื่นๆ เช่น ข้าวหัก ข้าวเหนียว และปลายข้าว รวมกันแล้วบริโภคประมาณ 20,000 ตันต่อเดือน ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นชาวจีนนิยมบริโภคข้าวหอม/ข้าวหอมมะลิไทย เพราะคุ้นเคยในรสชาด เนื่องจากชอบในคุณภาพที่ดีและมีการบริโภคกันมาแต่ดั้งเดิม ส่วนข้าวชนิดอื่นๆ ได้แก่ ข้าวนึ่งและข้าวบาสมาติ นำเข้าเพื่อบริโภคสำหรับชาวอินเดีย ปากีสถาน และชาวมุสลิม
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ สิงคโปร์
ที่มา: http://www.depthai.go.th