การค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่น 8 เดือนแรกปี 2553 และแนวโน้มเศรษฐกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 29, 2010 11:05 —กรมส่งเสริมการส่งออก

การค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่น

การส่งออกที่ขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่องจากปลายปี 2552 ทำให้ระยะ 8 เดือนแรก(มกราคม — สิงหาคม) ปีนี้ ญี่ปุ่นได้ดุลการค้า 47,273.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มูลค่ามากกว่าที่เกินดุลในช่วงเดียวกันของปี 2552 กว่า 10 เท่า และเกือบ 2 เท่าของช่วง 8 เดือนแรกของปี 2551 การส่งออกช่วง มกราคม — สิงหาคม 2553 มีมูลค่า 491,592.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552 ร้อยละ 40.6 มูลค่านำเข้า 444,318.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ร้อยละ 28.5

ทั้งนี้ มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่นเมื่อคิดเป็นสกุลเงินเยน มีอัตราการขยายตัวจากปี 2552 ต่ำกว่าเงินเหรียญสหรัฐฯ กล่าวคือ มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.8 นำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.6 เนื่องจากเงินเยนแข็งค่าขึ้น จาก อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยช่วงมกราคม — สิงหาคม 2552 มีค่า 95.02 เยน /เหรียญสหรัฐฯ เป็น 90.52 เยน / เหรียญสหรัฐฯ ในช่วงเดียวกันของปีนี้

ความต้องการสินค้าส่งออกสำคัญของญี่ปุ่น ขยายตัวขึ้นมากในปี 2553 นี้ สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นสูงในช่วงเดือน มกราคม — สิงหาคม ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกล เหล็กและเหล็กกล้า โดยจีนยังคงเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 1 มูลค่าส่งออกสำคัญไปจีนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 43.2 โดยเฉพาะสินค้าประเภทเครื่องจักรกล ขยายตัวถึง ร้อยละ 79.4 รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 73.4 ตลาดส่งออกอื่นๆ ที่ขยายตัวสูง เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เม็กซิโก อินเดีย และรัสเซีย

มูลค่าส่งออกเดือนสิงหาคม 2553 เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคมปีที่แล้วร้อยละ 28.4 การส่งออกของญี่ปุ่นไปตลาดโลกชลอตัวลง อัตราการขยายตัวต่อปีลดจากร้อยละ 35.9 — 54.8 ของแต่ละเดือนในช่วง มกราคม — มิถุนายน ปีนี้

สำหรับการนำเข้าของญี่ปุ่นในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2553 เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 28.5 สินค้านำเข้าสำคัญที่เพิ่มขึ้นในอัตรามากกว่า ร้อยละ 30 เช่น สินค้าเชื้อเพลิง เครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ สินแร่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น แหล่งนำเข้าสำคัญที่มีมูลค่าการขยายตัวสูงจากปีก่อน ได้แก่ ประเทศตะวันออกกลาง ไต้หวัน มาเลเซีย ไทย รัสเซีย บราซิล สิงคโปร์ และชิลี

การค้าระหว่างญี่ปุ่นกับไทย

มูลค่าการค้าระหว่างญี่ปุ่นกับไทย มกราคม-สิงหาคม 2553 เพิ่มขึ้นสูงมาก โดยญี่ปุ่นส่งออกมาไทยเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปี 2552 ร้อยละ 73.7 นำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.7

เนื่องจากสินค้าญี่ปุ่นที่ส่งออกมาไทยกว่าร้อยละ 80 เป็นสินค้า ทุน วัตถุดิบ และสินค้าขั้นกลางความต้องการสินค้าเหล่านี้ขยายตัวสูงตามสถานการณ์การผลิตและการส่งออกของไทย สินค้าสำคัญที่เพิ่มขึ้นในอัตราสูงมาก ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์เครื่องยนต์และส่วนประกอบของเครื่องยนต์ เป็นต้น

สินค้าที่ญี่ปุ่นนำเข้าจากไทย เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรม รถยนต์ อุปกรณ์และเครื่องจักรไฟฟ้า รวมทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น

  • รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และส่วนประกอบ มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 125.8 การขยายฐานการผลิตในประเทศไทยส่งผลให้สินค้าจากไทยขยายตัวสูงกว่าแหล่งนำเข้าอื่น ส่วนยางพารามูลค่าเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว หลังจากการนำเข้าของญี่ปุ่นจากทุกแหล่งลดลงมากในปี 2552
  • อุปกรณ์ เครื่องจักรไฟฟ้า และส่วนประกอบ ที่ญี่ปุ่นนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องส่งสำหรับวิทยุโทรทัศน์ ไดโอททรานซิสเตอร์และอุปกรณ์ สายไฟฟ้าสายเคเบิล เป็นต้น ขณะที่ ส่วนประกอบเครื่องรับ-ส่งโทรทัศน์และวิทยุ เครื่องอุกรณ์ไฟฟ้าสำหรับโทรศัพท์ มีมูลค่าใกล้เคียงกับปีก่อน
  • เครื่องสำอาง และน้ำหอม ยังคงขยายตัวในอัตราสูงต่อเนื่องจากปีก่อนร้อยละ 127.0 ส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ แม้มูลค่าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วไม่มากนัก ในอัตราร้อยละ 2.5 และ 16.2 แต่ส่วนแบ่งตลาดของไทยเพิ่มขึ้น
  • สำหรับสินค้าอาหารจากไทยหลายชนิดมีมูลค่าเพิ่มขึ้น เช่น น้ำตาล อาหารทะเล แช่เย็น แช่แข็ง (เนื้อปลาสด ปลาหมึก กุ้งสด) ข้าว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ ขณะที่เนื้อสัตว์และ เนื้อปลาปรุงแต่งมีมูลค่าใกล้เคียงกับปีที่แล้ว

แนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่น

ความต้องการสินค้าญี่ปุ่นในตลาดโลกที่ขยายตัวสูงในช่วงต้นปี และความต้องการภายในประเทศที่กระเตื้องขึ้น ขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นไตรมาสแรก(มกราคม-มีนาคม ) 2553 ขยายตัวถึงอัตราร้อยละ 4.4 ต่อปี ก่อนที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจชลอตัวลงเป็นร้อยละ 1.5 ในไตรมาส 2(เมษายน-มิถุนายน)

ด้วยสภาพอากาศที่ช่วงฤดูร้อนยาวในปีนี้ ทำให้ความต้องการสินค้า หลายชนิดเพิ่มขึ้น เช่น เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายหน้าร้อน ผลไม้ เครื่องดื่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า กอรปกับการเร่งซื้อรถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (eco-car) ก่อนที่มาตรการอุดหนุนหมดอายุลงสิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา นักเศรษฐศาสตร์ จึงประมาณการณ์ว่าเศรษฐกิจไตรมาส 3 (กรกฏาคม-กันยายน) จะเติบโตมากกว่าไตรมาสที่ 2 โดยขยายตัวในอัตราร้อยละ 2-3 ต่อปี

นักวิเคราะห์คาดว่า ไตรมาส 4 (ตุลาคม-ธันวาคม) ปีนี้ เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวเพียงร้อยละ 0-1 เนื่องจากในช่วงปลายปี 2553 มีปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่เป็นอุปสรรคต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น ได้แก่

  • เงินเยนที่แข็งค่าต่อเนื่อง จนอยู่ที่ระดับ 80 เยน/เหรียญสหรัฐฯในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนตุลาคม 2553 ทั้งที่ผู้ส่งออกญี่ปุ่นวางแผนการผลิตในช่วงครึ่งหลังปีงบประมาณ (ตุลาคม2553 — มีนาคม 2554) โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยน 90.50 เยน/เหรียญสหรัฐฯ ค่าเงินเยนที่แข็งขึ้นต่อเนื่อง กระทบต่อการส่งออก และผลักดันให้ผู้ผลิตออกไปลงทุนต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อการผลิตและการจ้างงานในประเทศ และเศรษฐกิจญี่ปุ่นในระยะกลาง และระยะยาวด้วย
  • สถานการณ์เศรษฐกิจจีนที่อัตราขยายตัวจะลดความเร็ว และสหรัฐฯมีแนวโน้มจะชลอตัวลง โดยที่ ทั้ง 2 ประเทศเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 1 และ 2 ของญี่ปุ่นสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของญี่ปุ่น
  • มาตรการอุดหนุนการซื้อรถ eco-car ที่หมดอายุลงส่งผลต่อยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ
  • ญี่ปุ่นยังคงประสบปัญหาเงินฝืดที่ราคาสินค้าทั่วไปลดลงต่อเนื่อง ทำให้กำไรผู้ประกอบการลดลง ส่งผลสืบเนื่องต่อการลงทุน ค่าจ้าง และการใช้จ่ายภายในประเทศ

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ