สถานการณ์ข้าวไทยในตลาดเมืองกวางโจว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 1, 2010 11:31 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ประเทศจีนเป็นตลาดข้าวที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย ขณะเดียวกันประเทศจีน ก็เป็นคู่ค้าและคู่แข่งสำคัญที่ไม่สามารถมองข้ามได้ เนื่องจากประเทศจีนสามารถผลิตข้าวได้เป็นจำนวนมากและมีการบริโภคข้าวมาก คิดเป็นร้อยละ 30 ของปริมาณการผลิตของโลก นอกจากนี้ ประเทศจีนเองก็ได้มีการพัฒนาวิจัยพันธ์ข้าวและการเพิ่มปริมาณผลผลิตในประเทศ ทำให้จีนมีผลผลิตข้าวเหลือและสามารถส่งออกไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศได้ ปัจจุบันจีนเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวมากเป็นลำดับที่ 6 ของโลก ขณะที่ประเทศไทยเป็นประเทศ ผู้ส่งออกข้าวมากเป็นลำดับที่ 7 ของโลก ดังนั้น ประเทศจีนจึงเป็นทั้งคู่ค้า และคู่แข่งที่สำคัญของไทย

จากสถิติตัวเลขการนำเข้าข้าวจากประเทศไทย ของสำนักงานศุลกากรประจำเมืองกวางโจว ปี 2550 — 2553 ใน 9 เดือนแรก (เดือนมกราคม — กันยายน 2553) มีดังนี้

          ปี     ปริมาณการนำเข้า(ตัน)   อัตราการขยายตัว(ร้อยละ)   มูลค่า(ล้านเหรียญสหรัฐ)    อัตราการขยายตัว(ร้อยละ)
          2550       390,188                -37.1                183.6                  -27.6
          2551       258,080                -26.2                160.9                  -12.3
          2552       283,066                  9.7               172.78                    7.3
          25531       51,499                   -5                159.3                     16

(ม.ค.-ก.ย.53)

จะเห็นได้ว่าการนำเข้าข้าวไทยของจีนผ่านด่านเมืองกวางโจว มีแนวโน้มลดลงจนกระทั่งปี 2552 จึงได้มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น แต่ก็เพิ่มขึ้นเพียงปริมาณเล็กน้อย เมื่อเทียบกับอัตราความต้องการบริโภคในประเทศของจีน ปัจจัยสำคัญที่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้จีนนำเข้าข้าว จากไทยน้อยลง คือขีดความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยในด้านราคาเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งขัน เช่น เวียดนามและข้าวของประเทศจีนเอง ตัวอย่างง่ายๆ ที่เห็นได้ชัดเจนคือ ราคาข้าวหอมมะลิได้เพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ กล่าวคือ

          ราคานำเข้าข้าวหอมมะลิไทยปี 2545           ราคานำเข้า 316 USD /ตัน
          ราคานำเข้าข้าวหอมมะลิไทยปี 2548           ราคานำเข้า 417 USD /ตัน
          ราคานำเข้าข้าวหอมมะลิไทยปี 2551           ราคานำเข้า 924 USD /ตัน
          ราคานำเข้าข้าวหอมมะลิไทยปี 2553           ราคานำเข้า 1,093 USD /ตัน

นอกจากนี้ ความหอมของข้าวหอมมะลิไทยและคุณภาพ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้นำเข้าประเทศจีนพิจารณานำเข้า เนื่องจากข้าวหอมมะลิไทยเป็นข้าวคุณภาพดีและเป็นที่นิยมชมชอบของผู้บริโภคที่มีรายได้สูง ปกติข้าวหอมมะลิไทยมักถูกนำไปใช้เสิร์ฟผู้บริโภค ในโรงแรมและภัตตาคารระดับสูง นอกจากนี้ ชาวจีนเองก็นิยมซื้อเป็นของขวัญมอบให้ผู้ใหญ่ที่ตนเคารพนับถือ บ้างก็มอบญาติสนิทมิตรสหายในวันเทศกาลสำคัญต่างๆ ทำให้ข้าวหอมมะลิไทยยิ่งมีชื่อเสียงและมีภาพลักษณ์ที่ดีสำหรับผู้บริโภคชาวจีนและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคชาวจีนมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุดังกล่าว ทำให้มีผู้ประกอบการจีนบางรายที่ทำการค้าโดยมุ่งหวัง หวังผลกำไรและลดต้นทุนการจำหน่าย ใช้วิธีการผสมข้าวชนิดอื่น ๆ (Mixed Rice) ทั้งข้าวของประเทศไทยเอง ข้าวของประเทศคู่แข่งขันและข้าวของประเทศจีนมาปนใน ข้าวหอมมะลิไทย ทำให้คุณภาพข้าวหอมมะลิไทยในสายตาผู้บริโภคชาวจีนเริ่มเสียภาพลักษณ์ และขาดความมั่นใจในคุณภาพ ยิ่งไปกว่านั้น บางรายถึงกับใช้ข้าวชนิดอื่นที่ไม่ใช่ข้าวไทยมาจำหน่ายโดยใช้ชื่อข้าวหอมมะลิไทย (Faked Rice) ก็มี

ดังนั้น เพื่อเป็นการรักษาตลาดข้าวหอมมะลิไทยในตลาดจีน ทั้งเกษตกร โรงสี ผู้รวบรวมข้าวและผู้ส่งออกควรมีการดูแลรักษาคุณภาพข้าวหอมมะลิทุกห่วงโซ่การผลิต โดยเฉพาะผู้ส่งออกควรมีการดูแลรักษาคุณภาพข้าวหอมมะลิและสร้างแบรนด์ของตัวเองให้เป็นที่น่าเชื่อในคุณภาพและยอมรับของประชาชนผู้บริโภค ควรส่งเสริมให้ผู้บริโภคชาวจีนรู้จักคุณภาพและรสชาติที่แท้จริงของข้าวหอมมะลิไทยและควรเพิ่มการส่งออกข้าวหอมมะลิไทยที่ บรรจุหีบห่อและใช้ตราสัญลักษณ์ของไทยที่แท้จริง รวมทั้งการสร้างความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ข้าวไทยที่ส่งเข้ามาจำหน่ายในจีน เพื่อให้ข้าวไทยสามารถแข่งขันกับข้าวของประเทศคู่แข่งขันและข้าวของประเทศจีนและขยายตลาดในจีนได้ในระยะยาวต่อไป

สคร. กวางโจว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ