จากข้อมูลหน่วยงานกระทรวงอุตสาหกรรมแคนาดา (Industry Canada) พบว่า ตลาดดอกไม้ตัดดอกและกล้วยไม้มีมูลค่าประมาณ 850 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีอัตราเฉลี่ยขยายตัวปีละ 1.4% จากข้อมูลการสำรวจล่าสุด ในปี 2551 พบว่ามีผู้ประกอบการในแคนาดาจำนวน 3,541 ราย โดยอยู่ในมณฑล Ontario, Quebec, British Columbia และ Alberta เป็นหลัก
สินค้าดอกไม้ตัดดอกสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทได้แก่ สินค้าที่ปลูกผลิตได้ในประเทศ (Domestic Production) และสินค้าที่นำเข้า (Import) โดยขึ้นอยู่กับประเภทของดอกไม้ และฤดูกาลของดอกไม้ ทั้งนี้สินค้านำเข้าส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าที่ขนส่งทางอากาศเนื่องจากเป็นสินค้ามีอายุสั้นและเน่าเสียง่าย (Perishable and short shelf life) โดยบริษัทผู้นำเข้าส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ตามสนามบิน ตามเมืองธุรกิจหลัก อาทิ โตรอนโต แวนคูเวอร์ มอนทรีออล เป็นต้น
ภาวะการนำเข้า
ในปี 2552 แคนาดามีการนำเข้าดอกไม้สดตัดดอก (HS 0603) มูลค่า 111.22 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง -7.44% ที่มีการนำเข้าหลักจากประเทศ โคลัมเบีย (สัดส่วนตลาด 56.22%) เอควาดอร์ (24.74%) สหรัฐฯ (5.55%) เนเธอร์แลนด์ (3.45%) ตามลำดับ ในขณะที่ไทยเป็นอันดับที่ 9 มีส่งออกมายังแคนาดามูลค่า 0.71 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง -5.45% มีสัดส่วนตลาด 0.64% โดยในช่วงปี 2552 แคนาดาได้ประสบปัญหาเศรษฐกิจหดตัวอย่างรุนแรงทำให้ส่งผลต่อการนำเข้าสินค้าดอกไม้ตัดดอก
โดยรวม ทั้งนี้ ระหว่างเดือน มค-สค 2553 แคนาดามีการนำเข้ามูลค่า 82.77 เพิ่มขึ้น 6.44% ซึ่งสะท้อนว่าภาวะนำเข้าปรับตัวในทิศทางดีขึ้น โดยมีการนำเข้าจากไทยมูลค่า 0.57 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 12.70% กล้วยไม้ตัดดอก (Cut Orchid Flowers — HS06313) เป็นสินค้าหลักของไทยที่ส่งออกมายังแคนาดา โดยในปี 2552 ไทยส่งออกมูลค่า 0.67 ล้านเหรียญฯ มีสัดส่วนตลาด 25.48% ซึ่งครองตลาดอันดับสองรองจาก นิวซีแลนด์ ถึงแม้ว่าในปี 2552 ไทยส่งออกมีอัตราลดลงที่ -3.89% แต่ในช่วงมค-สค 53 ไทยมีส่งออกเพิ่มขึ้น 9.72% โดยมีมูลค่า 0.52 ล้านเหรียญ และมีสัดส่วนตลาดเพิ่มขึ้นเป็นที่ระดับ 28.44%
กฏระเบียบการนำเข้า
หน่วยงานรัฐบาลแคนาดาที่กำกับกฏระเบียบการนำเข้าสินค้าดอกไม้ตัดดอกและต้นไม้ (Cut Flowers and Plants) มี 2 หน่วยงาน ได้แก่
1. หน่วยงาน CFIA (Canadian Food Inspection Agency) ขึ้นตรงกับกระทรวงสาธารณสุข (Health Canada) ที่ดูแลกำกับการออกกฏระเบียบควบคุมการนำเข้า สำหรับดอกกล้วยไม้ตัดดอก (Cut Orchid Flowers) รวมทั้งการออกใบอนุญาตนำเข้า การนำเข้าพันธุ์พืชต้นไม้ (Plant) โดยจะเน้นถึงความปลอดภัยของสินค้าต่อผู้บริโภค การตรวจสารพิษ สารตกค้าง ความเสี่ยงต่อระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เป็น ผลของการนำเข้าพันธุ์ไม้
Canadian Food Inspection Agency
1400 Merivale Road
Ottawa, Ontario K1A 0Y9
Tel: 1-613-225-2342 Fax: 613-228-6601
Website: www.inspection.gc.ca
2. หน่วยงาน CITES (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora) ที่ขึ้นตรงกับกระทรวง Environment Canada มีหน้าที่ควบคุมการนำเข้าสายพันธุ์พืชต้องห้ามหรือสายพันธุ์ที่มีเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ โดยการนำเข้าต้นกล้วยไม้ หรือต้นไม้ (ที่มีราก) จะต้องขอใบอนุญาตนำเข้าจากหน่วยงาน CITES ควบคู่ใบอนุญาตจาก CFIA โดยปัจจุบัน มีการควบคุม การนำเข้า/ส่งออกสายพันธุ์กล้วยไม้กว่า 50 สายพันธุ์ที่ควบคุมกำกับโดย CITES ซึ่งสามารถค้นหาได้จาก เวปไซด์(http://www.cites.ec.gc.ca/listede controle/ โดยใช้คำค้นหา Keyword ว่า “Orchid”)
CITEC
351 St. Joseph Boulevard Place Vincent Massey,
8th Floor Gatineau, Quebec K1A 0H3
Tel: 819-997-2800 Fax:819-994-1412
Website: http://www.ec.gc.ca/cites/default.asp?lang=En&n=1BC82E16-1
ช่องทางจัดจำหน่าย
1. ผ่านตลาดประมูลดอกไม้ตัดดอก
ในอดีตผู้ประกอบการร้านดอกไม้ส่วนใหญ่นิยมเข้าร่วมประมูลซื้อดอกไม้ตัดดอก จากตลาดประมูลดอกไม้ เนื่องจากจะได้สินค้าสดใหม่มีความหลากหลายจากแหล่งผู้ผลิต/ผู้นำเข้า โดยเจ้าของสินค้า ก็จะสามารถจำหน่ายสินค้าได้ราคาสูงเมื่อผ่านขั้นตอนการประมูล ที่ส่งผลดีต่อทั้งเจ้าของสินค้าและผู้เข้าร่วมประมูล โดยปัจจุบัน แคนาดามีตลาดประมูลดอกไม้สด 3 แห่งใน เมือง โตรอนโต แวนคูเวอร์ และ มอนทรีออล
ตลาดประมูลดอกไม้ในแคนาดาจะเป็นรูปแบบระบบสหกรณ์ (Co-operative) โดยจะต้องสมัครเข้าเป็นสมาชิก ซึ่งเปิดให้กับผู้ประกอบการดอกไม้เท่านั้น ไม่เปิดให้กับผู้บริโภค โดยปัจจุบันการผู้ประมูลสามารถทำการประมูลได้ ณ สถานที่สหกรณ์ หรือ ทาง Online ในระบบ Realtime
2. ผ่านผู้นำเข้าตรงไปยังร้านค้าปลีก
ทุกวันนี้ช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าดอกไม้ตัดดอกได้มีการเพิ่มช่องทางการจำหน่าย โดยจากผู้นำเข้าจำหน่ายตรงสู่ร้านค้าปลีก (ร้านดอกไม้ Florist หรือห้าง Chain Store) ซึ่งเป็นการลดขั้นตอนและย่นระยะเวลาขนส่งสินค้า จากผู้นำเข้าส่งผู้บริโภค อีกทั้งผู้นำเข้าสามารถให้การบริการเสริมอื่นๆอาทิการจัดแยกคละสินค้า การขนส่งสินค้า (Logistics Services) การติดฉลากสินค้า Barcode เป็นต้นซึ่งเป็นลดความยุ่งยากสำหรับร้านค้าปลีก หรือ Chain Store ได้
ข้อมูลตลาดสินค้ากล้วยไม้ตัดดอก
- กล้วยไม้ไทยเป็นที่รู้จักและยอมรับในตลาดแคนาดา ทั้งนี้คู่แข่งที่สำคัญของไทยได้แก่กล้วยไม้ จากประเทศนิวซีแลนด์ เนเธอร์แลนด์ และสหรัฐฯ ทั้งนี้ กล้วยไม้จากประเทศเพื่อนบ้านได้แก่ มาเลเซีย และเวียดนามเริ่มเป็นที่รู้จักและยอมรับในตลาด
- ผู้นำเข้าส่วนใหญ่มีความสนใจ กล้วยไม้ตัดดอกจากไทย ที่มีสีสรรใหม่ๆ หรือความเด่นเฉพาะใหม่ๆ (New Uniqueness) โดยให้ความเห็นว่าราคาสินค้าเป็นปัจจัยรอง ในการเลือกสั่งนำเข้า
- รูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่ปัจจุบันนิยมใช้สำหรับกล้วยไม้จากไทย มีลักษณะดังนี้
การบรรจุในกล่องกระดาษลูกฟูก
ใน 1 กล่องจะมีกล้วยไม้จำนวน 300 ก้าน โดยจะห่อพลาสติก 10 ก้าน/ห่อ (30 ห่อ/กล่อง)
ทุกก้านของกล้วยไม้ตัดดอกจะมีกะเปาะน้ำ (Water Tube) ที่ผลิตจากพลาสติก เพื่อใช้แช่ก้านทำให้อายุของกล้วยไม้อยู่ได้นานขึ้น
กล้วยไม้ที่นำเข้าจากเวียดนาม ได้มีพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ อาทิการกระเปาะน้ำที่เป็นถุงพลาสติกที่หดได้ (collapsible water tube) ซึ่งมีคุณสมบัติเมื่อดอกไม้ ดูดใช้น้ำในกระเปาะแล้วจะทำให้กะเปาะแห้งหดตัวและทำให้ไม่มีอากาศในหลอดกะเปาะ ซึ่งทำให้ดอกกล้วยไม้มีอายุยืนยาวขึ้นเมื่อเทียบกับกะเปาะน้ำพลาสติกทั่วไป
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นคร โตรอนโต
ที่มา: http://www.depthai.go.th