สรุปภาวะตลาดสินค้าอาหารไทยในเยอรมนีเดือน ตุลาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 3, 2010 10:56 —กรมส่งเสริมการส่งออก

อุตสาหกรรมอาหารในประเทศ

เปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในยุโรป เยอรมนีสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากวิกฤติเศรษฐกิจการเงินได้ดีกว่าประเทศใดๆ เป็นผลจากการประกาศใช้มาตรการต่างๆ ของรัฐบาลเยอรมันที่ได้รับการสนับสนุนและสร้างความไม่พอใจให้กับบางกลุ่มชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ที่ส่วนใหญ่ยังเห็นว่า มาตรการต่างๆ มีผลทำให้ผู้ที่มีรายได้สูงได้รับผลประโยชน์มากกว่าผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะนายทุนและผู้ประกอบการขนาดใหญ่จะได้รับผลประโยชน์สูงสุด เหล่านี้จะเกิดเป็นผลกระทบทำให้การบริโภคสินค้าในเยอรมนีจะลดน้อยลงได้บ้าง ในส่วนของอุตสาหกรรมอาหาร เนื่อจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงยังคงอยู่ในระดับต่ำ ประกอบการในด้านการตลาดยังคงมีการแข่งขัน แย่งชิงส่วนแบ่งตลาดที่รุนแรงมาโดยตลอด จึงทำให้ในภาพรวมราคาสินค้าอาหารต่างๆ ในเยอรมนีอยู่ในระดับต่ำและลดน้อยลงบ้าง สำหรับสถานการณ์ของปี 2554 หลายฝ่ายคาดว่า ราคาสินค้าอุปโภค บริโภคต่างๆ ในเยอรมนีจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากผู้ประกอบการจะมีภาระภาษี ค่าธรรมเนียมต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น แต่การที่รัฐบาลและสถาบันวิจัยเศรษฐกิจที่สำคัญๆ ต่างคาดการณ์ว่า ตลอดปี 2553 และปี 2554 เศรษฐกิจของเยอรมนีจะขยายตัวเพิ่มขึ้นระหว่างร้อยละ 2.2 — 3.3 และ 1.2 — 2.4 ตามลำดับ จึงคาดว่า การขึ้นราคาสินค้าจะไม่มีผลกระทบใดๆ กับการบริโภคสินค้าอาหารในเยอรมนี และไม่ทำให้การบริโภค หรือการนำเข้าสินค้าลดน้อยลงแต่อย่างใด

สำหรับสินค้าของไทย ปัจจุบันได้มีการขึ้นราคากันระหว่างร้อยละ 5 — 10 เนื่องจากผู้ส่งออกไทยได้เพิ่มราคาของสินค้าและผู้นำเข้ามีค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งเพิ่มขึ้น เพื่อให้สินค้าที่มีราคาสูงขึ้นยังคงเป็นที่สนใจของผู้บริโภค ผู้ผลิตและผู้ประกอบการ ต่างหาทางเพิ่มความสนใจในสินค้าด้วยวิธีการต่างๆ เช่น สร้างแบรนด์ของตนเอง เน้นคุณประโยชน์ของสินค้าในด้านสุขภาพ รวมทั้งการถนอมทรัพยากรและไม่เป็นภาระต่อสิ่งแวดล้อม เหล่านี้เป็นต้น ส่วนสินค้าประเภทผัก ผลไม้สดและแช่เย็น ยังคงถูกตรวจเข้มและมีการพบความไม่ถูกต้องอยู่บ้าง จึงควรที่จะแก้ไขมิให้เกิดขึ้นอีก มิฉะนั้น อาจจะถูกห้ามมิให้นำเข้าโดยเด็ดขาดได้

สินค้าส่งออกของไทย

ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2553 ไทยส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรไปเยอรมนีเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 411.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.6 สินค้าเกษตรที่ส่งออกมาก ได้แก่ ไก่แปรรูป กุ้งแช่แข็ง ข้าวหอมมะลิ และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (สตาร์ช) เป็นต้น สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่สำคัญๆ ได้แก่ กุ้งแปรรูป สับปะรดกระป๋อง ผลไม้กระป๋องอื่นๆ และปลาทูน่ากระป๋อง เป็นต้น

แหล่งนำเข้าของเยอรมนี

ในช่วง 7 เดือนแรกปี 2553 ไทยมีส่วนแบ่งตลาดสินค้าอาหารสำคัญๆ ที่เยอรมนีนำเข้า ดังนี้

ไก่แปรรูป ไทย 11% เนเธอร์แลนด์ 25% บราซิล 19% ปอร์ตุเกส12%

กุ้งแช่แข็ง ไทย 13% บังคลาเทศ 15% เวียดนาม 13% เนเธอร์แลนด์ 13% เบลเยี่ยม 10%

ข้าว ไทย 12% อิตาลี 30% เนเธอร์แลนด์ 14% เบลเยี่ยม 11% สเปน 9%

กุ้งกระป๋อง ไทย 25% เนเธอร์แลนด์ 25% เดนมาร์ค 12% เบลเยี่ยม 6% ฝรั่งเศส 6%

สับปะรดกระป๋อง ไทย 38% อินโดนีเชีย 19% เนเธอร์แลนด์ 19% เคนยา 14% ฟิลิปปินส์ 4%

ปลาทูน่ากระป๋อง ไทย 3% ฟิลิปปินส์ 20% เนเธอร์แลนด์ 18% ปาปัว 15% เอควาดอร์ 11% อินโดนีเชีย 8%

ตลอดปี 2553 นี้ มีการคาดการณ์ว่า ทั่วโลกจะมีความต้องการสินค้าอาหารในรูปแบบต่างๆ เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ที่มีแนวโน้มจะมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น ผู้บริโภคในประเทศเหล่านี้จะมีความสามารถ มีกำลังซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น และจะให้ความสนใจสินค้าที่แปลกใหม่ รวมทั้งสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นและสินค้าประเภทเกษตรอินทรีย์เหล่านี้จะเป็นช่องทางให้ผู้ผลิตสำคัญๆ จากประเทศอุตสาหกรรมมีความสนใจและต่างมีโครงการที่จะไปลงทุนผลิตสินค้าในประเทศเหล่านั้น

ปัญหาอุปสรรค

1. ราคาค่าขนส่งสินค้ายังอยู่สูงอยู่ ทำให้ราคาสินค้านำเข้าของไทยเพิ่มสูงขึ้นด้วย

2. มีการตรวจพบสารเคมี สารพิษ สารต้องห้ามตกค้างในผักและผลไม้สดจากไทยอยู่เป็นครั้งคราว

3. ร้านค้าจำหน่ายสินค้าปลีกใช้วิธีเน้นด้านคุณภาพสินค้าและจำหน่ายในราคาที่ใกล้เคียงกับสินค้าทั่วไป ในขณะที่สินค้าจากไทยยังคงมีปัญหาด้านคุณภาพได้แก่ สารตกค้าง มีอัตราเกินปริมาณที่กำหนด

4. เริ่มมีการส่งมอบสินค้าไม่ตรงตามที่ระบุในสัญญา สืบเนื่องจากปัญหาการผลิตในประเทศ โดยเฉพาะสับปะรดกระป๋อง

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ