การผลิตรถยนต์ยังคงเป็นอุตสาหกรรมแขนงสำคัญสำหรับสินค้าทำด้วยยาง ถึงแม้ว่าการจดทะเบียนรถใหม่ในประเทศจะลดน้อยลงจากปีก่อนก็ตาม แต่ความต้องการจากต่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกายังคงมีอยู่และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งความต้องการรถบรรทุกจากประเทศในเอเชียและตะวันออกกลาง จึงทำให้ในภาพรวมตลาดเยอรมนียังมีความต้องการผลิตภัณฑ์ทำด้วยยางเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับยานพาหนะ สำหรับผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ ได้แก่ ที่ใช้ในการผลิตเครื่องจักรกล ในด้านการแพทย์ เช่น ถุงมือยาง เป็นต้น ก็ยังคงมีความต้องการมากเช่นกัน
ตามตัวเลขสถิติการค้าของเยอรมนี ในช่วง 7เดือนแรกปี 2553 (ม.ค.-ก.ค.) เยอรมนีนำเข้ายางพาราเป็นมูลค่า 1,437 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นจากปีก่อนระยะเดียวกันร้อยละ 100.0 ผลิตภัณฑ์ทำด้วยยางมูลค่า 5,722 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นจากปีก่อนระยะเดียวกัน ร้อยละ 27.1 ในส่วนของผลิตภัณฑ์ทำด้วยยางมีแหล่งนำเข้าที่สำคัญๆ ได้แก่ ฝรั่งเศส (ส่วนแบ่งตลาด 11 %) เช็ก (10 %) โปแลนด์ (7 %) อิตาลี (6 %) สโลเวเกีย (5%) เป็นต้น สำหรับไทยมีการนำเข้าเป็นอันดับที่ 17 มูลค่า 135.0 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.7
ผลิตภัณฑ์ทำด้วยยางของไทยที่ส่งออกไปเยอรมนีมูลค่ามากเป็นอันดับแรก จะเป็น
- ถุงมือยางใช้ในด้านการแพทย์ ไทยมีส่วนแบ่งในตลาดเยอรมนีร้อยละ 13 แหล่งนำเข้าสำคัญอื่นๆ ได้แก่ มาเลเชียมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 38 เนเธอร์แลนด์ร้อยละ 10 และเบลเยี่ยมร้อยละ 9 รองลงมาจะเป็น
- ยางใหม่สำหรับยานพาหนะ ไทยมีส่วนแบ่งในตลาดเยอรมนีร้อยละ 0.9 แหล่งนำเข้าสำคัญอื่นๆ ได้แก่ ฝรั่งเศสมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 15 เช็คร้อยละ 11 และสโลเวเกีย ร้อยละ 11 เนเธอร์แลนด์ ร้อยละ 7
- หลอด ท่อยาง ไทยมีส่วนแบ่งร้อยละ 0.7 อิตาลี 12% ฮังการี 11% เช็ค 11% โปแลนด์ 10%
1. ราคาสินค้าของไทยยังคงสูงกว่าคู่แข่ง แต่เนื่องจากเป็นที่ไว้วางใจของผู้นำเข้า มีคุณภาพดี มีการส่งมอบสินค้าตรงเวลา จึงยังเป็นที่สนใจของผู้นำเข้า
2. การประกาศใช้ระเบียบ Reach ให้ลงทะเบียนและควบคุมสารเคมีที่ใช้ในการผลิต จะทำให้เกิดปัญหากับสินค้าบางชนิดได้ และทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นบ้าง
3. คู่แข่งสำคัญ โดยเฉพาะ จีนและมาเลเชีย มีความสามารถผลิตสินค้าได้มาตรฐานมากขึ้น และมีราคาต่ำกว่าสินค้าจากไทย
4. มีสินค้าเข้าตลาดเยอรมนีมากขึ้นจากฐานการผลิตสินค้าในยุโรปกลางที่ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนโดยผู้ประกอบการเยอรมัน
5. สินค้าทำด้วยยางในเยอรมนีส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูงในการผลิต ซึ่งไทยยังไม่สามารถผลิตได้
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศฯ ณ กรุงเบอร์ลิน
ที่มา: http://www.depthai.go.th