สรุปภาวะตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทย ในเยอรมนีเดือนตุลาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 3, 2010 11:02 —กรมส่งเสริมการส่งออก

เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิกส์

การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิกส์ยังคงเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของเยอรมนี มีคนงานประมาณ 820,000 คนมียอดขายประมาณ 182,000 ล้านยูโรมากเป็นอันดับที่ 2 เมื่อเทียบกับอัตสาหกรรมแขนงอื่นๆในด้านแรงงานและอันดับที่ 3 ในด้านยอดการขาย จากการที่ประมาณร้อยละ 46 ของยอดขายทั้งสิ้นได้มาจากการส่งออก การขยายตัวในระยะ 2 ปีที่ผ่านมาจึงลอดน้อยลงบ้าง โดยเฉพาะในปี 2552 มีการขยายตัวลดลงร้อยละ 19 สืบเนื่องจากความต้องการในตลาดโลกลดลงมาก สำหรับปี 2553 นี้คาดว่าการผลิตจะขยายตัวได้ร้อยละ 6 เนื่องจากตลาดต่างประเทศมีความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้นมาก ส่งผลให้ความต้องการชิ้นส่วนและส่วนประกอบต่างๆ เพื่อการผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องเพิ่มมากขึ้นด้วย โดยสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องไฟฟ้าอิเลคทรอนิกส์คาดว่าในปี 2554 ผลผลิตจะขยายตัวได้อีกประมาณร้อยละ 3 สินค้าที่เยอรมนีส่งออกส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าประเภททุน ได้แก่ ประเภทอุปกรณ์และชิ้นส่วนสำเร็จรูปเพื่อการผลิตเป็นเครื่องใช้สำเร็จรูป เครื่องมือ เครื่องจักรกล เป็นต้น ตลาดส่งออกหลักจะเป็นประเทศต่างๆ ในยุโรป ตลาดส่งออกอื่นๆ ได้แก่ จีน สหรัฐและอินเดีย เป็นต้น แหล่งนำเข้า เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบของเยอรมนีที่สำคัญๆ ได้แก่ จีน เนเธอร์ แลนด์ สหรัฐ มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 14, 11 และ 6 ตามลำดับ สำหรับสินค้าจากไทยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0.5 ส่วนสินค้าเครื่อง อิเลคทรอนิกส์ และส่วนประกอบ นำเข้ามากจาก จีน เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร เช็ค เป็นต้น มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 21, 18, 5 และ 4 ตามลำดับ สำหรับสินค้าจากไทยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 1.4

สินค้าส่งออกของไทย

ตามสถิติกรมศุลกากรไทย มูลค่าการส่งออกสินค้ารายการนี้ของไทย ไปเยอรมนียังคงเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง โดยในช่วง 9 เดือนแรกปี 2553 มีการส่งออก เครื่องใช้ไฟฟ้า มูลค่า 194.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 46.5 ที่สำคัญๆ ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ มูลค่า 60.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 93.4 เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าให้สัญญานเสียงแสงมูลค่า 31.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 63.4 สำหรับเครื่องใช้อิเลคทรอนิกส์ มีการส่งออกเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 512.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.6 ที่สำคัญๆ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ มีการส่งออกเป็นมูลค่า 332.9 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 รองลงมาเป็น วงจรพิมพ์ มูลค่า 47.2 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.8 แผงวงจรไฟฟ้า มูลค่า 46.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.3

จากการที่ความต้องการสินค้ารายการนี้ ทั้งในประเทศและจากต่างประเทศยังคงเพิ่มสูงขึ้นตลอดมา การผลิตสินค้าสำเร็จรูปมีการขยายตัวด้วย ความต้องการสินค้าประเภทชิ้นส่วน ส่วนประกอบ ตลอดจนวงจรพิมพ์ และแผงวงจรไฟฟ้าจึงเพิ่มมากขึ้นด้วย โดยสินค้าที่ตลาดต้องการจะเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย ส่งผลให้การส่งออกสินค้ารายการนี้ของไทยยังสามารถขยายตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง

ปัญหาอุปสรรค

1. สินค้าส่งออกสำคัญๆ ของไทยเป็นผลผลิตของกิจการข้ามชาติ ได้แก่ ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริการ ทำให้มูลค่าของการส่งออกจะเป็นไปตามนโยบายของบริษัทข้ามชาติเหล่านี้

2. สำหรับสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนใหญ่จะเป็นชิ้นส่วน หรือส่วนประกอบ สำหรับการผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูป ได้แก่ แผงวงจร วงจรพิมพ์ และชิ้นส่วนของ เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น การส่งออกที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงจะขึ้นอยู่กับความต้องการสินค้าสำเร็จรูป

3. ประเทศไทยยังไม่มีความสามารถในการผลิตสินค้า High Tech แบบใหม่ๆ ที่ตลาดมีความต้องการเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ

4. วัตถุดิบและชิ้นส่วนต่างๆ ได้แก่ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด ยังคงมีแนวโน้มราคาลดต่ำลง

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรุงเบอร์ลิน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ