กลุ่มประเทศ GCC จะก้าวสู่การเป็นสหภาพศุลกากร (Customs Union)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 8, 2010 13:49 —กรมส่งเสริมการส่งออก

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ GCC (the Cooperation Council for the Arab States of the Gulf) Mr.Muhammad Al-Mazroui (GCC Assistant Secretary-General for Economic Affairs) ระบุว่าประเทศสมาชิกทั้ง 6 ประเทศ กำลังจะเข้าสู่การเป็นสหภาพศุลกากร (Customs Union) หลังจากที่เกิดความล่าช้ามาเป็นเวลานาน โดยขณะนี้ติดปัญหาเล็กน้อยเกี่ยวกับด้านการบริหารจัดการ

ในการประชุมเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2553 ที่ประเทศคูเวต ประเทศสมาชิกทั้ง 6 ประเทศ มีมติเป็นเอกฉันท์ที่จะดำเนินการเพื่อเข้าสู่การเป็น Customs Union ในด้านกฎหมาย แต่ละประเทศก็มีการดำเนินการปรับเปลี่ยนให้มีความสอดคล้องกันไปแล้ว ขณะนี้มีปัญหาเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับการบริหารจัดการ การเคลื่อนย้ายสินค้าระหว่างประเทศสมาชิก

ตามกำหนดการเดิม GCC ต้องเป็น Customs Union ภายในปี 2550 แต่ปรากฏว่าประเทศสมาชิก ไม่สามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับการแบ่งปันผลประโยชน์ (ภาษีนำเข้า) ระหว่างประเทศสมาชิก รวมทั้งปัญหาการดำเนินการให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของ WTO เกี่ยวกับการทุ่มตลาด และการปกป้องตลาด (Dumping and Protectionism)

GCC (the Cooperation Council for the Arab States of the Gulf) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2524 (1981) ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศในคาบสมุทรอาหรับ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรต บาห์เรน คูเวต โอมาน และกาตาร์ ประเทศเยเมนได้สมัครเข้าเป็นเป็นสมาชิก GCC ตั้งแต่ปี 2539 แต่ได้รับความเห็นชอบจากการประชุมสุดยอดของกลุ่มสมาชิกเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2544 ที่กรุงมัสกัต ประเทศโอมาน มีมติให้เยเมนเป็นสมาชิกสมทบ

GCC มีเป้าหมายในการพัฒนาเป็นกลุ่มตลาดเช่นเดียวกับสหภาพยุโรป กลุ่ม GCC ได้มีมติร่วมโดยสมาชิก 6 ประเทศ จากการประชุมสุดยอดครั้งที่ 23 ที่กรุงโดฮา เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2545 ให้มีการจัดตั้งสหภาพศุลกากร (Customs Union) ให้เสร็จสิ้นอย่างช้าภายในปี 2550 โดยกำหนด อัตราภาษีศุลกากรร่วมจากประเทศอื่นๆ ร้อยละ 5 ยกเว้นเก็บภาษีนำเข้าระหว่างประเทศสมาชิก นอกจากนี้ยังได้ตั้งเป้าหมายจัดตั้งสหภาพทางการเงิน ใช้เงินตราสกุลเดียวกัน (Monetary Union) ในวันที่ 1 มกราคม 2553 (2010) แต่จากปัญหาความล่าช้าในการดำเนินการหลายอย่าง GCC ได้มอบหมายให้ Monetary Union Council ที่จะตั้งขึ้นมาใหม่ เป็นผู้กำหนดเวลาที่จะเริ่มใช้เงินสกุลเดียวกัน ปัจจุบันสมาชิก GCC ทุกประเทศ ยกเว้นคูเวต ผูกค่าเงินของตนเองไว้กับเงินเหรียญสหรัฐฯ มีเพียงคูเวตที่ผูกค่าเงิน ไว้กับระบบตะกร้าเงิน (Currency Basket)

GCC เป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญ และมีศักยภาพสูงในการนำเข้าสินค้าจากประเทศไทย การเป็นสหภาพศุลกากรของประเทศสมาชิกในกลุ่มนี้ ในภาพรวมน่าจะก่อให้เกิดผลในด้านบวกต่อการค้าระหว่างไทยและประเทศสมาชิกฯ สินค้าที่นำเข้าจากประเทศไทยสามารถที่จะเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศสมาชิกได้อย่างเสรี กฎระเบียบ และข้อกำหนดต่างๆ เกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าจะมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น มีความโปร่งใส ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ส่งออกไทยมีภาระค่าใช้จ่ายในการส่งออกไปประเทศใน GCC ลดลง อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าว จนกระทั่งปัจจุบัน ยังไม่มีการกำหนดเส้นตายอย่างแน่ชัดว่าจะเริ่มเป็น Customs Union เมื่อใด จึงมีความจำเป็นที่ฝ่ายไทย ต้องติดตามเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลให้ผู้ประกอบการไทยได้ทราบ เพื่อเตรียมความพร้อมต่อไป

ในปี 2553 (มค.-กย.) ประเทศไทยและ GCC มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 18,541.62 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ร้อยละ 6.69 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย) เป็นการนำเข้า 13,880.06 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และส่งออก 4,661.56 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าที่ไทยนำเข้าเกือบร้อยละ 80 คือ น้ำมันดิบ สินค้าที่ไทย ส่งออกไป GCC ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนเครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และชิ้นส่วน เหล็กและผลิตภัณฑ์ สารเคมีต่างๆ เครื่องประมวลผลอัตโนมัติ รวมทั้งเครื่องประดับอัญมณี สินค้าข้าว ตู้เย็น/ตู้แช่ และชิ้นส่วน ตามลำดับ

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองเจดดาห์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก ศุลกากร   tat  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ