สถานการณ์การค้าอิเล็กทรอนิกส์ในแคนาดา ตุลาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 8, 2010 14:34 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สินค้า

อิเล็กทรอนิกส์ (สถิติมูลค่านำเข้าจากไทย ม.ค.-ส.ค. 2553 - เทียบกับช่วงเดียวกัน ปี 2552)

1) เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับโทรศัพท์หรือโทรเลขแบบใช้สาย (HS 8517): 182.02 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+3.60%)

2) เครื่องประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติและหน่วยต่าง ๆ(HS 8471): 128.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+25.02%)

3) วรจรรวมและไมโครแอสเซมบลีที่ใช้ในทางอิเล็กทรอนิกส์ (HS 8542): 41.03 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (- 19.40 %)

4) เครื่องทำน้ำร้อนด้วยไฟฟ้าแบบทำน้ำร้อนชั่วขณะที่ใช้ หรือแบบทำน้ำร้อนเก็บสะสม (HS 8516): 15.42 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+93.30%)

5) เครื่องพิมพ์ใช้สำหรับการพิมพ์ (HS 8443): 17.10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+49.66%)

ขนาดของตลาด

การผลิต/การบริโภค

  • แคนาดาเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าอีเลคทรอนิกส์อันดับที่ 18 ของโลก
  • ถึงแม้แคนาดาจะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโลกและสหรัฐฯ ยอดขายสินค้าอีเลคทรอนิกส์ในปี 2553 ก็ยังคงสดใสเนื่องจากราคาสินค้า (โดยเฉพาะสินค้า Consumer Products) ที่ปรับราคาลดลงเพื่อรับกับสภาวะเศรษฐกิจ โดยสินค้าอีเลคทรอนิกส์ ยอดนิยมประจำปี 2553 ได้แก่ โทรทัศน์ LCD และ Plasma ตลอด Portable Media Player/ Smart phones/ Personal Navigational Devices และ Laptops ต่างๆ

การนำเข้า/ส่งออก

นำเข้า (อิเล็กทรอนิกส์ )

  • จากทั่วโลก: เดือน ม.ค.-ส.ค. 2553 มูลค่า 13,629.12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+21.24%)
  • จากไทย : เดือน ม.ค.-ส.ค. 2553 มูลค่า 383.822 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+10.11%)

ส่งออก (อิเล็กทรอนิกส์)

-ไปยังทั่วโลก: เดือน ม.ค.-ส.ค. 2553 มูลค่า 4,677.931 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-10.01%)

-ไปยังไทย : เดือน ม.ค.-ส.ค. 2553 มูลค่า 8.832 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-3.64%)

ช่องทางการจำหน่าย

  • ผ่านผู้นำเข้าและโรงงานผลิตและประกอบชิ้นส่วนสำเร็จรูปสำหรับ Supply ให้กับโรงงานผลิตขนาดใหญ่หรือผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง
  • ผ่านฝ่ายจัดซื้อหรือบริษัทลูกของโรงงานผลิต/ผู้ประกอบการขนาดใหญ่

พฤติกรรมผู้บริโภค

ในปี 2553 นั้น ผู้ประกอบการรายใหญ่ อาทิ Sony และ Apple ตลอดจน แบรนด์เนมรายเล็กอื่นจากไต้หวัน เกาหลี และจีน ได้แข่งขันด้านราคาเพื่อรักษา/ แย่งส่วนแบ่งตลาดส่งผลให้ราคา Consumer Products ลดลงอย่างต่อเนื่องซึ่งทำให้ยอดการจับจ่ายสินค้า อีเลคทรอนิกส์ในแคนาดาไม่ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำมากนัก

การค้าในปรเทศราคาขายส่ง/ปลีก

ราคาปลีกในนครแวนคูเวอร์ ณ ต.ค. 53 (เหรียญแคนาดา)

  • โทรศัพท์ Uniden 2-Handset 6.0 Cordless Phone with Answering Machine ราคา $50
  • โทรศัพท์ Panasonic 4 Handset DECT 6.0 Cordless Phone with answering machine ราคา $150
  • โทรศัพท์ VTECH Corded Phone with caller ID ราคา $15
  • โทรศัพท์ Panasonic 1 Handset DECT 6.0 Cordless Phone ราคา $50

คู่แข่ง

ตามสถิติการนำเข้า ม.ค.-ส.ค. 2553 (% จากสัดส่วนนำเข้าทั้งหมด)

จีน (38.59%) สหรัฐฯ (20.31%) เม็กซิโก (11.40%) เกาหลีใต้ (5.45%) มาเลเซีย (3.88%) ญี่ปุ่น (3.42%) ไทย (2.81%)

มาตรการการค้าด้านภาษี/NTB

  • Waste Electrical and Electronic Equipment Directive (WEEE): เนื่องจากรัฐบาลแคนาดาให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อมมาก กฏระเบียบที่สำคัญในธุรกิจอีเลคทรอนิคและเครื่องใช้ไฟฟ้าจึงเน้นด้านการนำของเสียกลับมาใช้ใหม่มาก โดยในแต่ละเขตมณฑล จะมีการเรียกเก็บ "Recycling fees" (รวมอยู่ในการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกครั้ง) ที่ต่างกันออกไป อาทิ การซื้อโทรทัศน์ จะเสียค่าธรรมเนียมนี้ตามขนาดของจอแสดงภาพ โดยเริ่มตั้งแต่ 15 เหรียญแคนาดา (จอขนาด 18 นิ้วหรือต่ำกว่า) เป็นต้น
  • Restriction on Hazardous Substances Directives (RoHS): ซึ่งเป็นมาตรการการกำหนดใช้สารและวัสดุอันตรายอาทิ ปรอท แคดเมียม Hexavalent Chromium เป็นต้น (เป็นมาตรการที่ยอมรับในหลายกลุ่มประเทศ อาทิ EU นอรเวย์ และสวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น)

แหล่งข้อมูล:

  • "Consumer Electronics in Canada"- Euromonitor-http://www.euromonitor.com/Consumer_Electronics_in_Canada
  • "Electronics Industry in Canada"- Electronics.ca Publication- http://www.electronics.capublications/products/Electronics-Industry-in-Canada.html
  • "Electronics Industry"- The Canadan Encyclopedia- http://www.thecanadanencyclopedia.com/index.cfm?PgNm=TCE&Params=A1ARTA0002571
  • "Electronic- Waste Recycling in British Columbia"- BC STATS- http://www.bcstats.gov.bc.capubs/es/es2009-3.pdf -"Thailand: the World's electronics industry investment"- BOI- www.boi.go.th/english/why/electronics _summary.pdf
  • "The Transition": Industry Canada- http://www.ic.gc.caeic/site/oca-bc.nsf/eng/ca02336.html
  • เทียบราคาสินค้าปลีก ณ ร้านค้า Futureshop ในนครแวนคูเวอร์ ณ ต.ค. 2553

SWOT

1. จุดแข็ง (Strength)

  • สินค้าบางรายการอาทิ Hard Disk Drive (HDD)/ Integrated Circuit (IC) และ Semiconductors ประเภทต่างๆ เป็นสินค้าที่ไทยมีชื่อเสียงดีว่าเป็นผู้ผลิตที่ได้รับมาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับทั่วโลก
  • ประเทศไทยมีการผลิตแรงงานด้านการผลิตสินค้าอีเลคทรอนิกส์ที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง สามารถตอบสนองการเติบโตของสินค้าประเภท Hi-Tch ที่กำลังเป็นที่นิยม (อาทิ Wireless Devices/ Flat Panel Display/ Gaming Console/ Cellular Phones และ Computer) ได้เป็นอย่างดี
  • ผู้ผลิตยักษ์ใหญ่อาทิ Fujitsu (ญี่ปุ่น)/ Seagate (สหรัฐฯ)/ Philips Electronics (เนเธอแลนด์)/ LG Electronics (เกาหลี) ได้วางรากฐานการผลิตในไทย โดยมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาในปรเทศไทย และพัฒนาระบบการจัดการ และฝีมือแรงงานอย่างต่อเนื่อง
  • ผู้นำเข้าสำคัญหลายรายคุ้นเคยกับสินค้าไทย และมีเครือข่ายการสั่งซื้อสินค้าไทยอยู่แล้ว
  • สินค้าไทยในบางหมวดเฉพาะ เป็นที่เชื่อถือจนเกือบกลายเป็น Benchmark ที่สินค้าจากประเทศอื่นเลียนแบบ

2. จุดอ่อน (Weakness)

  • ไทยยังขาดตราสินค้าอีเลคทรอนิกส์ที่เป็นที่ยอมรับแพร่หลายทั่วโลก อย่าง Fujitsu (ญี่ปุ่น)/ Segate (สหรัฐฯ)/ Philips Electronics (เนเธอแลนด์)/ LG Electronics (เกาหลี) อยู่มาก
  • สินค้าอีเลคทรอนิกส์ส่งออกของไทยโดยมากเป็นสินค้าที่ผลิตตามใบสั่ง มีลักษณะตรงตามที่ผู้สั่งทำกำหนดเท่านั้น ประเทศไทยยังขาดสินค้า และเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมไทยแท้เพื่อการส่งออกอย่างแท้จริงอยู่มาก
  • สินค้าที่ผลิตในไทย โดยมาก เป็นสินค้าที่ขาด Core Competency (กรรมวิธี/ ความชำนาญ ที่ปรเทศคู่แข่งลอกเลียนได้ยาก) โดยผู้สั่งซื้อสามารถไปสั่งให้ผลิตในประเทศอื่นได้ง่าย
  • สินค้าไทยในหลายหมวดย่อย เป็นการสั่งซื้อผ่านผู้ส่งออกจากประเทศอื่น อาทิ การ Re-export จากจีนเป็นต้น ส่งผลให้สินค้าไทยมีราคาแพงขึ้น
  • สินค้าไทยมีให้เห็นน้อยในแคนาดา มีความหลากหลายน้อย ทำให้ผู้ใช้สินค้ามีความคุ้นเคยน้อยตามไปด้วย

3. โอกาส(Opportunity)

  • ผู้ประกอบการที่เป็นผู้นำด้านการค้าปลีก (Leding retailers) ในแคนาดาอาทิ Best Buy และ Futureshop ได้เริ่มส่งเสริมการขายในลักษณ Private Label (โดยมักแนะนำผู้ซื้อว่ามีคุณภาพทัดเทียมสินค้าแบรนด์เนม) นิยมสั่งผลิตสินค้าจากเอเชีย (จีน/ เวียดนาม/ ฟิลิปินส์/ อินเดีย/ และไทย)
  • นับแต่วันที่ 31 ส.ค. 2554 นั้น รัฐบาลแคนาดากำหนดให้ยกเลิกการกระจายข่าวสารทางคลื่นโทรทัศน์ในลักษณะ Analog โดยจะให้ทุกสถานีโทรทัศน์ส่งสัญญาณในระบบดิจิตอลทั้งหมด จึงเป็นโอกาสอันดีสำหรับสินค้าไทยประเภทชิ้นส่วนประกอบและแผงวงจรโทรทัศน์ดิจิตอล หรือกล่องแปลงสัญญาณ
  • นักเศรษฐศาสตร์ และสถาบันการเงินหลายแห่งในแคนาดาคาดการณ์สภาพเศรษฐกิจแคนาดาว่าจะฟื้น/ ขยายตัวอย่างเห็นได้ชัดนับแต่ปลายปี 2553 เป็นต้นไป ซึ่งการดังกล่าวจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสูงขึ้น (Consumer Confidence) มีแนวโน้มจะจับจ่ายสินค้าอีเล็คทรอนิกส์ราคาสูง ที่รองรับเทคโลยีใหม่ๆ
  • ผู้ประกอบการรายใหญ่ของแคนาดา อาทิ Celestica ได้เข้าไปลงทุนจัดตั้งฐานการผลิตสินค้าในประเทศไทย โดยมีการนำเข้า และส่งออกสินค้าชิ้นส่วน/ อุปกรณ์อีเลคทรอนิกส์ระหว่างไทย-แคนาดาเป็นจำนวนมากทุกปี
  • ในภาพรวมนั้น สินค้าไทยเป็นที่ยอมรับในคุณภาพ (จากทั้งผู้สั่งสินค้าและผู้บริโภค) มากกว่าประเทศผู้ส่งออกอื่นอาทิ จีน เป็นต้น
  • แคนาดามีต้นทุนการผลิตสูง (จากปัจจัยด้านแรงงาน) จำเป็นต้องเปิดรับการนำเข้าจำนวนมาก
  • ผู้นำเข้าแคนาดานำเข้าสินค้าชิ้นส่วนประกอบอีเลคทรอนิกส์ไทยเป็นจำนวนมาก เป็นอันดับต้นๆ จากไทยเป็นประจำทุกปี ผู้นำเข้าจึงมีเครือข่าย/ ทำความรู้จักกับผู้ผลิต/ ผู้ส่งออกไทยเป็นอย่างดี

4. ภัยคุกคาม (Threat)

  • รัฐบาลแคนาดามีความเข้มงวดในกฏระเบียบมาตรฐานสินค้ามาก หากมีการตรวจพบสินค้าที่ไม่ตรงตามคุณภาพที่กำหนด ผู้ส่งออกไทยอาจถูกเพ่งเล็งได้
  • รัฐบาลแคนาดารณรงค์ให้ผู้ประกอบการ/ ผู้ผลิต/ ผู้บริโภคมีการกำจัดของเสีย หรือ Electronic Waste Management อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตไทยยังให้ความสำคัญกับแนวคิดนี้น้อยมาก
  • สินค้าอีเล็คทรอนิกส์นำเข้าจากไทยหลายรายการ เป็นส่วนประกอบของสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งมักมียอดขายขึ้น-ลงรวดเร็วตามสภาวะเศรษฐกิจ
  • สินค้าอีเล็คทรอนิกส์หลายรายการ อาทิ กล้องถ่ายรูป/ เครื่องเล่น DVD/ Multimeda player มักถูกบีบให้สร้าง/ คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ ต่อยอดสินค้าที่มีลักษณะเป็น Mature Product

เกณฑ์การวิเคราะห์สถิติการค้ารายเดือนในสินค้า 10 หมวดของสคร. แวนคูเวอร์

เนื่องด้วยสินค้าในแต่ละ 10 หมวดสำคัญสามารถตีความได้กว้าง ครอบคลุมได้หลายพิกัดสินค้า (ตาม Harmonized System Code) ดังนั้น เพื่อความชัดเจน เที่ยงตรงของการรายงานข้อมูล สคร. มีเกณฑ์การคัดเลือกพิกัดสินค้าเพื่อการวิเคราะห์สถานการณ์รายหมวดสินค้าสำคัญ ดังนี้

1. พิกัดสินค้าดังกล่าว ประเทศแคนาดามีการนำเข้าจากไทยในปัจจุบันจริง

2. พิกัดสินค้าดังกล่าว มีมูลค่านำเข้าสูง ในหมวดสินค้านั้นๆ เพื่อสามารถแสดงถึงภาพรวมภาวะการค้าระหว่างไทยแคนาดาได้อย่างเที่ยงตรงมากขึ้น

ในกรณีเครื่องอีเลคทรอนิคส์นี้ สคร. พิจารณาใช้พิกัดสินค้า ดังนี้

  • 8517 เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับโทรศัพท์หรือโทรเลขแบบใช้สาย รวมถึงเครื่องโทรศัพท์แบบใช้สายพร้อมด้วยปากพูดหูฟัง (แฮนด์เซต) ไร้สาย และเครื่องอุปกรณ์โทรคมนาคมสำหรับใช้กับระบบแคร์ริเออร์เคอร์เรนต์ไลน์หรือระบบดิจิตัลไลน์ รวมทั้งโทรศัพท์ภาพ (วิดีโอโฟน)
  • 8471 เครื่องประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติและหน่วยต่าง ๆ ของเครื่องดังกล่าว รวมทั้งเครื่องอ่านข้อมูลระบบแม่เหล็กหรือแสง เครื่องจักรถ่ายทอดข้อมูลให้เป็นรหัสลงบนสื่อบันทึกข้อมูลและเครื่องจักรสำหรับประมวลข้อมูลดังกล่าว ที่ไม่ได้ระบุหรือรวมไว้ในที่อื่น
  • 8542 วรจรรวมและไมโครแอสเซมบลีที่ใช้ในทางอิเล็กทรอนิกส์
  • 8516 เครื่องทำน้ำร้อนด้วยไฟฟ้าแบบทำน้ำร้อนชั่วขณะที่ใช้ หรือแบบทำน้ำร้อนเก็บสะสม และเครื่องทำความร้อนด้วยไฟฟ้าแบบจุ่ม เครื่อง-อุปกรณ์ทำความร้อนด้วยไฟฟ้าให้แก่บรรยากาศรอบๆ และเครื่องอุปกรณ์ทำความร้อนด้วยไฟฟ้าให้แก่ดิน เครื่องอุปกรณ์แต่งผม (เช่น เครื่องเป่าผม เครื่องม้วนผม เครื่องทำให้คีมม้วนผมร้อน) และเครื่องอุปกรณ์เป่ามือให้แห้งที่ให้ความร้อนด้วยไฟฟ้า เตารีดไฟฟ้า เครื่องใช้อื่นๆ ที่ให้ความร้อนด้วยไฟฟ้าชนิดที่ใช้ตามบ้านเรือน รวมทั้งตัวต้านทาน สำหรับทำความร้อนด้วยไฟฟ้า นอกจากของตามประเภทที่ 85.45
  • 8443 เครื่องพิมพ์ใช้สำหรับการพิมพ์ โดยวิธีใช้ตัวพิมพ์ บล็อก เพลต ลูกกลิ้ง และองค์ประกอบอื่นๆ ที่ทำรอยพิมพ์แล้ว ตามประเภทที่ 84.42 เครื่องพิมพ์แบบอิงค์เจ็ต นอกจากของตามประเภทที่ 84.71 รวมทั้งเครื่องจักรที่ใช้ประกอบการพิมพ์

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครแวนคูเวอร์/ ตุลาคม 2553

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ