ทูตพาณิชย์วิเคราะห์กลยุทธ์หนุนการส่งออกสหรัฐฯ หวังสร้างสมดุลย์การค้าทั่วโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 9, 2010 12:03 —กรมส่งเสริมการส่งออก

กระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ ชี้ 8 กลยุทธ์เดินเกมส์ อัดฉีดเอสเอ็มอี — เกาะตลาดใหม่ จีน อินเดีย ปัดฝุ่นการค้าเสรี - WTO

นางสมรรัตน์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครชิคาโก ประเทศสหรัฐฯ(สคร.ชิคาโก) เปิดเผยถึงผลการวิเคราะห์กลยุทธ์การเพิ่มมูลค่าการส่งออกเป็นสองเท่าตัวของสหรัฐฯ ตามที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯโอบามาได้ประกาศเพิ่มการส่งออกสินค้าและบริการของสหรัฐฯในตลาดโลก เป็นสองเท่าตัวภายในระยะเวลา 5 ปี หรือมีมูลค่าจะต้องเพิ่มจาก 1.57 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2010 เป็นมูลค่า 3.14 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2015 (พ.ศ.2558) นั้น รัฐบาลระดับมลรัฐหลายๆ แห่งกำลังดำเนินใช้กลยุทธ์ดังกล่าวอยู่แล้ว รวมถึงสหรัฐฯ หันมาให้ความสำคัญอย่างสูงต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และผลักดันให้เอสเอ็มอี หันไปส่งออก หรือ เพิ่มการส่งออกสินค้า

ทั้งนี้ สคร.ชิคาโกประเมินว่า กลยุทธ์การขยายการส่งออกของสหรัฐฯ ทั้ง 8 ประการ ไม่ใช่ของใหม่ แต่เป็นเพียงเลือกกลยุทธ์ที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศมาปฎิบัติและลงในรายละเอียด และให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง ซึ่งปัจจุบัน รัฐสภาสหรัฐฯ ผ่านกฎหมายให้เงิน สนับสนุนจำนวน 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แก่ธุรกิจเอสเอ็มอี เพื่อการสร้างงานและผลักดันการส่งออกสินค้า รวมทั้งการที่สหรัฐฯ หันมามุ่งการขยายตลาดการส่งออกโดยตั้งเป้าหมายหลักไปยังตลาด ใหม่ เช่น จีน อินเดีย และ บราซิล ซึ่งเป็นตลาดเป้าหมายเดียวกันกับประเทศไทย เป็นสิ่งที่ต้องจับตามอง

อย่างไรก็ตามการดำเนินการผลักดันการส่งออกที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด เป็นหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตร สำนักงานผู้แทนการค้าฯ แต่การประสานงานและร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลกลางสหรัฐฯ และรัฐบาลมลรัฐฯ เป็นการประสานงานที่อยู่ในระดับต่ำ

สำหรับกลยุทธ์การเพิ่มมูลค่าการส่งออกเป็นสองเท่าตัวของสหรัฐฯ อาทิ 1. การผลักดันธุรกิจเอสเอ็มอี 2. การนำกลุ่มผู้ซื้อไปร่วมงานแสดงสินค้าในสหรัฐฯ และให้ผู้ผลิตสหรัฐฯไปร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ 3. การเพิ่มคณะผู้แทนการค้า 4. การเพิ่มวงเงินสินเชื่อเพื่อการส่งออก 5.การสร้างสมดุลมหภาคทางการค้าหรือ เพิ่มความต้องการสินค้าในประเทศ 6.การลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะ แก้ไขปัญหาการเจรจาการค้าเสรีที่ยังค้างอยู่, แจกแจงอุปสรรคทางการค้า โดยเฉพาะมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี(เอ็นทีบี), ติดตามผลบังคับของกฎและระเบียบขององค์การการค้าโลก(WTO) และข้อตกลงการค้าเสรีของสหรัฐฯ เป็นต้น

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า ตามนโยบายของกระทรวงพาณิชย์นั้น มีทิศทางการส่งออกของไทยจะมุ่งเน้นที่ภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่นและอินเดีย รองลงมาเป็นประเทศในภูมิภาคอื่นที่มีศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยในระยะ 3 - 5 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจของสหรัฐฯ สหภาพยุโรป(อียู) และญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้ช้าและยังไม่มั่นคง เพราะประสบปัญหาด้านพื้นฐานเศรษฐกิจมหภาค รัฐบาลไทยมีนโยบายให้ความสำคัญกับเออีซีเพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันในอาเซียน ประกอบกับเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงการปรับโครงสร้าง โดยภูมิภาคเอเชีย ซึ่งมีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจสูง กำลังทวีบทบาทในเศรษฐกิจโลกสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิต การค้าและการลงทุนแหล่งใหม่ของโลกในระยะ 7-10 ปีข้างหน้า ซึ่งเหล่านี้จะนำมาประเมินในการประชุมทูตพาณิชย์ระหว่างวันที่ 20 -21 ตุลาคมนี้ที่ไบเทคด้วย

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก (สคร.นิวยอร์ก) แจ้งเตือนผู้ส่งออกไทยว่าให้ระวังการทำธุรกิจกับบริษัท Simply Nut House หรือ กับบริษัทอื่นๆ ที่จะต้องส่งสินค้าไปก่อนที่จะมีการชำระค่าสินค้า เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากบริษัทผู้ส่งออกไทย บริษัทจีซีเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งทำการค้ากับบริษัท Simply Nut House ตั้งอยู่ เลขที่ 61 Willet St., Passaic, NJ 07055 มาเป็นเวลา 2 ปี และเมื่อปี 2552 บริษัท Simply Nut House ได้สั่งสินค้า ผลไม้กระป๋อง จำนวน 1 ตู้ มูลค่า 8,000 เหรียญสหรัฐและเมื่อมาถึงท่าเรือนิวยอร์ก สถาบันอาหารและยาสหรัฐ(เอฟดีเอ) ได้กักสินค้าเพื่อตรวจ โดยบริษัท Simply Nut House แจ้งกับบริษัท จีซีเอฟ ว่าเมื่อเอฟดีเอปล่อยสินค้าจะชำระเงินค่าสินค้าจำนวน 8,000 เหรียญสหรัฐให้ ต่อมาเอฟดีเอได้ปล่อยสินค้า แต่บริษัท Simply Nut House ไม่ชำระค่าสินค้าและไม่แจ้งให้บริษัทจีซีเอฟ ทราบว่าได้รับสินค้าแล้ว

บริษัท จีซีเอฟได้ทวงถามมาตลอดระยะแวลา 1 ปีกว่า และได้ติดต่อสคร.นิวยอร์ก เพื่อตรวจสอบบริษัท Simply Nut House และช่วยประสานงาน ซึ่งสคร.นิวยอร์กได้ติดตามกรณีนี้อย่างต่อเนื่อง โดยบริษัท Simply Nut House ได้ผัดผ่อนการชำระค่าสินค้ามาโดยตลอด ถึงแม้บริษัทจีซีเอฟเสนอวิธีชำระเงินระยะยาวแล้วก็ตาม ล่าสุดสคร.นิวยอร์ก ได้แนะนำให้บริษัทจีซีเอฟติดต่อบริษัทกฎหมายดำเนินการทางกฎหมายต่อไป และอยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการ

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ