1. เหตุการณ์ภูเขาไฟระเบิดที่อินโดนีเซีย : รุนแรงที่สุดในรอบ 140 ปี
ขณะนี้อินโดนีเซียประสบกับภัยธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ ภูเขาไฟระเบิด จำนวน 2 แห่ง คือภูเขาไฟ Merapi จังหวัดยอกยาการ์ตา (เกาะชวา) และภูเขาไฟลูก Krakatau อยู่ในทะเลระหว่างเกาะชวาและเกาะสุมาตรา นอกจากนี้ ยังเกิดภาวะแผ่นดินไหวซึนามิ ที่เกาะ Mentawai (ชายฝั่งตะวันตกของเกาะสุมาตรา) ซึ่งมีความรุนแรงแต่ก็ได้สิ้นสุดแล้ว
ภาวะภูเขาไฟระเบิดจังหวัดยอกยาการ์ตาได้เกิดปะทุ ตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม2553 ต่อเนื่องจนถึงขณะนี้ โดยการปะทุของภูเขาไฟมีอยู่อย่างต่อเนื่องและรุนแรงมากขึ้นไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง/วัน และจะมีระเบิดรุนแรงวันละ1-2 ครั้ง ซึ่งจะมีไอความร้อนและลาวาไหลออกมา ทำให้ประชาชนเสียชีวิตแล้วมากกว่า 120 คน นอกจากนี้ ภายในเมืองระยะห่างประมาณ 20 กม.จากภูเขาไฟถูกปกคลุมไปด้วยฝุ่นละอองของเถ้าจากภูเขาไฟขาวไปทั่วทั้งเมือง จนฝุ่นละอองได้ปลิวมาจนถึงเกาะชวา ทำให้การเดินทางโดยทางรถยนต์เป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากมองไม่เห็นเส้นทาง นอกจากนี้ สนามบินที่ยอกยาการ์ตา และโซโลได้ปิดให้บริการแล้ว เนื่องจากมีฝุ่นเถ้าของภูเขาไฟระเบิดปกคลุมไปทั่วท้องฟ้าจนไม่สามารถมองเห็นเส้นทางบิน และอาจมีฝุ่นเข้าไปทำลายเครื่องยนต์ และทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในการเดินทาง ประชาชนจำเป็นต้องใช้หน้ากากปิดปาก ปิดจมูกตลอดเวลา เนื่องจากการดูดฝุ่นเถ้าจากภูเขาไฟอาจทำให้ปอดทะลุได้
2. ผลกระทบทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย ที่สำคัญได้แก่
1) นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาชมบุโรพุทโธได้ลดลงร้อยละ 10 จากเดิมที่มีนักท่องเที่ยว 2,500 คน/วัน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย และญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังต้องปิดเพื่อทำความสะอาดฝุ่นจากเถ้าของภูเขาไฟระเบิดที่ปกคลุมขาวไปทั่วบริเวณ เนื่องจากนักท่องเที่ยวไม่สามารถขึ้นไปชมได้
2) ผลผลิตทางการเกษตร พืชไร่ และปศุสัตว์ได้รับความเสียหายมาก โดยเฉพาะในจังหวัดยอกยาการ์ตา สุรากาตา กลาเต็น และเมืองโบโยลาลี ซึ่งเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม ทั้งนี้ ผลผลิตที่ได้รับความเสียหายมาก ได้แก่ สละ Pondoh และวัวควายได้ล้มตายเป็นจำนวน 325 ตัว ส่งผลให้ผู้ประกอบการ SME ขาดแคลนวัตถุดิบ โดยรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 1.8 พันล้านรูเปีย เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการใน ชวากลาง ยอกยาการ์ตา และเมืองเมินตาไว ในการเปลี่ยนเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตอาหาร เครื่องเย็บผ้า สร้างบ้านให้ใหม่ และให้วัสดุก่อสร้าง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวเมืองยอกยาการ์ตา และเมืองรอบๆ จะมีดินที่อุดมสมบูรณ์ต่อการเพาะปลูก เนื่องจากดินจากภูเขาไฟมีแร่ธาตุสำคัญจำนวนมาก ดังนั้น สินค้าเครื่องจักกลการเกษตรของไทยจึงมีโอกาสที่ดีมากในตลาดนี้
3) ผลกระทบต่อการค้าของไทย จากการสอบถามผู้นำเข้าสินค้าอาหาร/ผลไม้ ได้รับแจ้งว่า ยังนำเข้าสินค้าจากไทยอย่างสม่ำเสมอและไม่ได้รับผลกระทบมากจากเหตุการณ์ภูเขาไฟระเบิด มีเพียงแต่ผลกระทบจากการส่งสินค้าจากเมืองงจาการ์ตาไปยังเมืองยอกยาการ์ตามีความล่าช้าประมาณ 1 วัน ดังนั้น จึงให้ตัวแทนจำหน่ายที่อยู่สุราบายาส่งสินค้ามายังยอกยาการ์ตา เนื่องจากมีระยะทางใกล้กว่า และไม่ได้รับผลกระทบของเถ้าจากภูเขาไฟ
3. โอกาสของสินค้าไทยในอินโดนีเซีย
1) สินค้าเครื่องจักกลการเกษตร เนื่องจากเมืองยอกยาการ์ตา เป็นเมืองการเกษตรที่มีพืชผลการเกษตรมากมายหลายชนิด ดังนั้น ในอนาคตไม่เกิน 3 ปี ดินที่เกิดจากเถ้าของภูเขาไฟจะเต็มไปด้วยคุณค่าทางอาหารของพืช ดังนั้น อินโดนีเซียจะสามารถผลิตพืชผลทางการเกษตรได้มากขึ้น และหากไทยสามารถเข้าไปเปิดตลาดเครื่องจกกลการเกษตรก็จะเป็นโอกาสที่ดีในอนาคต
2) เมล็ดพันธุ์พืชการเกษตรจะมีลู่ทางที่ดีเช่นกัน เพราะขณะนี้ อินโดนีเซียยังมีความสามารถในการเพาะปลูกต่ำกว่าไทย โดยผลผลิต/ไร่ที่ต่ำกว่า และพันธุ์พืชผักผลไม้ก็ไม่สมบูรณ์ เช่นเดียวกับของไทย ดังนั้น จึงเป็นลู่ทางที่ดีเช่นกัน
3) การลงทุนการผลิตปุ๋ย เนื่องจากอินโดนีเซียเป็นแหล่งดินที่มีแร่ธาตุสำคัญที่อุดมสบูรณ์มากมาย ดังนั้น การเข้าไปลงทุนจะเป็นโอกาสที่ดีของไทย
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงจาการ์ตา
ที่มา: http://www.depthai.go.th