วิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐฯต่อผลกระทบด้านการค้ากับไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 10, 2010 13:45 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. สถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐในปี 2554

1.1 การเลือกตั้งกลางปีของสหรัฐฯที่ผ่านพ้นไปเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2553 และชัยชนะอย่งถล่มทลายของพรรครีพับลิกันซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านในสภาฯ ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯต้องเร่งทำนโยบายประชานิยมโดยด่วน และหนึ่งในนั้นคือ การเพิ่มการส่งออกตามที่ได้เคยประกาศไว้ต่อสาธารณชน ดังนั้นประธานาธิบดีโอบามาจึงเดินทางไปเอซีย เพื่อ "เปิดตลาดและเพิ่มการส่งออกของสหรัฐฯ" โดยประเทศเป้าหมายคือ อินเดีย และอินโดเนเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรสูงสุดในเอเซีย แต่มีหลายคำถามเกิดขึ้นว่า สหรัฐฯจะส่งออกอะไรให้ 2 ประเทศนี้ เพราะสินค้าหลักที่จะทำยอดส่งออกได้เป็นกอบเป็นกำ คงจะไม่พ้น เครื่องบิน อาวุธสงคราม และเทคโนโลยี ซึ่งนักวิเคราะห์เศรษฐกิจหลายฝ่ายให้ความเห็นว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสหรัฐฯต้องการเพิ่มการค้าขายกับอินเดีย เพื่อถ่วงดุลทางการค้ากับจีน แต่เมื่อดูมูลค่าการค้าระหว่างกันแล้ว คงต้องใช้เวลาอีกนาน

ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในเป้าหมายการเดินทางในครั้งนี้ จึงอนุมานได้ว่า ยังไม่มีวาระซ่อนเร้นในการทำการค้ากับประเทศไทย ดังนั้นการค้าในปี 2554 คงเป็นไปตามกลไกตลาดและสภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯเป็นหลัก

1.2 ธนาคารกลางสหรัฐฯได้ประกาศนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ รอบที่สอง (Quantitative Easing 2 หรือ QE2) ด้วยเหตุที่ว่าอัตราการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯยังช้าเกินไป มีความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินฝืด FED จะรับซื้อพันธบัตรรัฐบาลอเมริกันอีก 6 แสนล้านดอลลาร์ในระยะ 8 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้จะทยอยซื้อเดือนละ 75,000 ล้านดอลลาร์ นับจากเดือนนี้ จนถึงปลายเดือนมิถุนายน 2554 ซึ่งก็หมายถึงการเพิ่มเงินสดเข้าสู่ระบบนั่นเอง QE2นี้จึงกลายเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่องส่วนเกินในระบบการเงินโลก ซึ่งก็อาจส่งผลกระทบทางอ้อมต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและความเสี่ยงฟองสบู่ราคาสินทรัพย์นอกสหรัฐฯ เพราะการอัดฉีดสภาพคล่องดังกล่าวจะทำให้มีเงินทุนไหลมายังภูมิภาคเอเชียมากขึ้น ด้วยปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดีและอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทางตะวันตก FEDยังคงยืนยันท่าทีว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งจะทำให้ค่าเงินสกุลต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแข็งค่าขึ้นในปีหน้านี้

การที่ FED ตัดสินใจที่จะอัดฉีดเงิน 6 แสนล้านดอลลาร์ เข้ามาในระบบ โดยการซื้อพันธบัตรระยะยาวของรัฐฯ Treasury Securities เป็นวิธีการที่นักวิจารณ์กล่าวว่า เหมือนพิมพ์แบงค์ขึ้นมาดื้อๆ ยิ่งทำให้ได้รับเสียงต่อต้านจากทั่วโลก โดยเฉพาะทั้งภูมิภาคยุโรปและเอเซีย ซึ่งพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า จะมีผลให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐอ่อนค่าลงอีก

หลายฝ่ายวิตกว่าเหตุที่สหรัฐฯทำเช่นนี้ เพื่อเปิดสงครามกับจีน ในการกดดันให้จีนเพิ่มค่าเงินหยวน แต่ในช่วงการประชุมรัฐมนตรีการคลัง APEC ที่ญี่ปุ่นเร็วๆนี้ มีผู้ไม่เห็นด้วยกับสหรัฐฯหลายคน อาทิ รัฐมนตรีการคลังเยอรมัน และรัฐมนตรีการคลังบราซิลซึ่งเคยเตือนเรื่องสงครามค่าเงิน (Global Currency War) และบอกว่าวิธีการของ FED จะไม่เกิดประสิทธิผลอันใด เพราะ"การโปรยเงินลงมาจากเฮลิคอปเตอร์จะไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นมา"

ดังนั้นประเทศไทยและประเทศอื่นทั่วโลก (ยกเว้นจีน) จะต้องเตรียมรับสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้นของการอ่อนค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2554 ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ

1.3 ปัญหาการว่างงานของสหรัฐฯยังไม่ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น จากตัวเลขเดือนตุลาคม 2553 ถึงแม้จะมีการสร้างงานได้ 151,000 แรงงาน แต่โดยรวมแล้ว คนอเมริกันเกือบ15 ล้านคนยังคงตกงาน และอัตราการว่างงานยังคงสูงอยู่ที่ 9.6%

สหรัฐฯเป็นประเทศบริโภคนิยม การบริโภคภายในประเทศเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดของ GDP ดังนั้นถ้าการว่างงานสูงและประชาชนวิตกว่าจะไม่มี Future Income มาใช้ในอนาคต จะทำให้การบริโภคลดต่ำลง และหมายถึงสินค้านำเข้าจะลดลงด้วย

2. สถานการณ์การค้าของไทยกับสหรัฐฯ ในปี 2553 และแนวโน้มในปี 2554

โดยภาพรวมสหรัฐฯ ยังคงมีความสัมพันธ์อันดีกับไทยในฐานะประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย มูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐฯ มค.-กย. 2553 เพิ่มขึ้น 24.9 % เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และคาดว่าการส่งออกทั้งปี (มค.-ธค.) 2553 จะเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 20%

หากวิเคราะห์ในรายละเอียดสินค้าส่งออกของไทย จะเห็นได้ว่าสินค้าสำคัญทุกตัวมีอัตราการเจริญเติบโตสูงมากในปี 2553 เนื่องจากฐานตัวเลขที่ต่ำของปี 2552 สินค้าอันดับต้นๆได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องจักร, ยางพารา, อัญมณี และ อาหาร

สินค้าที่น่าจับตามองคือ อัญมณีและเครื่องประดับ จะเห็นได้ว่าจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว มีอัตราการขยายตัวของการส่งออกถึง 46% และสหรัฐฯนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับจากไทยโดยเทียบกับประเทศอื่นๆเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจาก 4% ในปี 2552 มาเป็น 5% ณ ปัจจุบัน การเพิ่มขึ้นนี้มีผลมาจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจในปีก่อนหน้าที่ทำให้มูลค่านำเข้าในปี 2552 ตกลงไปมาก เมื่อเศรษฐกิจย่ำแย่ผู้บริโภคในสหรัฐฯส่วนใหญ่ก็ลดระดับความสนใจในการจับจ่ายซื้อเครื่องประดับอัญมณีที่มีราคาแพงลง ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯฟื้นตัวขึ้นมาบ้าง ทำให้ผู้บริโภคมีการจับจ่ายใช้สอยในเรื่องเครื่องประดับเพิ่มขึ้นด้วย แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้บริโภคมีการปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการซื้อสินค้า โดยผู้ซื้อหันมานิยมใช้เครื่องประดับที่มีราคาไม่แพงมากนัก แต่มีการออกแบบที่ดูดี ซึ่งสินค้าประเภทนี้ ไทยมีความสามารถในการผลิตที่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดสหรัฐฯในปัจจุบันได้ สินค้าที่คาดว่าจะเป็นที่นิยมในปี 2554 ได้แก่ Silver Jewelry และ Costume Jewelry

อย่างไรก็ตาม การส่งออกของไทยมายังสหรัฐฯในปี 2554 จะมีอุปสรรคเพิ่มขึ้นจากการที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯจะอ่อนตัวลงอีก

3. โอกาสและช่องทางการค้าของผู้ส่งออกไทย

3.1 สินค้าที่มีศักยภาพที่เป็นโอกาสของผู้ส่งออกไทย ได้แก่

3.1.1 สินค้าประเภทอาหารสำหรับคนเอเซีย เช่น ข้าว กุ้งแช่แข็ง เส้นก๋วยเตี๋ยว กะทิ ซอสปรุงรส อาหารกึ่งสำเร็จรูปและสำเร็จรูป เป็นต้น

3.1.2 สินค้าอาหารฮิสแปนิก

3.1.3 สินค้าประเภทอัญมณีและเครื่องประดับ

3.1.4 สินค้าของประดับและตกแต่งบ้านที่มีดีไซน์

3.1.4 สินค้าแฟชั่น (เสื้อผ้าเด็ก เสื้อผ้าสตรี และเครื่องประดับที่มีดีไซน์)

3.1.6 ร้านอาหารไทย

3.1.7 สินค้าสำหรับตลาด Institution เช่น เรือสำราญ โรงพยาบาล โรงเรียน สนามกีฬา เรือนจำ หน่วยงานทหาร เป็นต้น

3.2 ช่องทางการค้า

เนื่องจากสินค้าทุกประเภทมีรายละเอียดหลากหลาย และประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีผู้บริโภคหลากหลายเชื้อชาติ และความต้องการ ดังนั้น การศึกษาตลาด และการหาข้อมูลจึงเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆของการเข้าตลาด

3.2.1 ช่องทางการค้าของทุกสินค้ามีลักษณะคล้ายคลึงกันประการหนึ่ง (ยกเว้นสินค้าอาหาร) คือ ผู้ส่งออกควรจะต้องหา Agent หรือ คู่ค้าเสียก่อน สำหรับประเทศสหรัฐฯการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าควรเป็นกิจกรรมที่จะทำก็ต่อเมื่อผู้ส่งออกมี Agent หรือ คู่ค้า หรือ Showroom แล้ว เนื่องจากปัจจัยหลักที่สำคัญต่อการค้า คือ การส่งสินค้าได้ในเวลาที่รวดเร็ว ปัจจุบัน หลายบริษัท โดยเฉพาะบริษัทที่มีอำนาจในการซื้อ จะลดค่าใช้จ่ายโดยการไม่เก็บสต็อกสินค้าเอง จะให้ผู้ขาย (supplier/vendor) เป็นผู้เก็บสินค้า และให้ส่งให้ภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งอยู่ในเวลาระหว่าง 1-2 อาทิตย์

เนื่องจากเศรษฐกิจของสหรัฐฯยังไม่กลับเข้าสู่สภาวะปกติ อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับสูง การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคเน้นที่ราคามากขึ้น ธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อ หรือปล่อยยากขึ้นมาก ทำให้มีผลกระทบต่อรูปแบบทางการค้าด้วย เช่น การสั่งซื้อสินค้าต่อครั้งมีปริมาณที่ลดลง และ Credit term ยาวขึ้น จนหลายครั้ง ผู้ส่งออกไทยไม่สามารทำธุรกิจด้วยได้ ดังนั้น ผู้ส่งออกควรคำนึงถึงปัจจัยข้อนี้เมื่อเจรจาธุรกิจกับผู้นำเข้าสหรัฐฯ 3.2.2 สินค้าอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าว และกุ้งแช่แข็ง สหรัฐฯยังนำเข้าจากไทยมากเป็นอันดับหนึ่ง ในปัจจุบันมีผู้ส่งออกไทยซึ่งศึกษาตลาดแล้ว และขอให้สำนักงานฯจัดทำนัดหมาย และเดินทางมาพบลูกค้าเองมากขึ้น นอกจากนี้ ผู้นำเข้าส่วนใหญ่ในกลุ่มอาหารจะเดินทางไปประเทศไทยเพื่อพบ supplier ด้วยตัวเองทั้งระหว่างงาน Thaifex และ ในช่วงอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคในกลุ่ม Hispanic ในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง และมีรสนิยมการบริโภคคล้ายคลึงกับอาหารไทย จะเป็นตลาดใหม่ของอาหารไทยได้

3.2.3 อาหารไทยเป็นที่นิยมอย่างมากในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเมืองใหญ่ๆ และกลุ่มผู้บริโภคที่รักษาสุขภาพ อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งร้านอาหารไทยในแต่ละเมืองมีข้อกำหนด และรายละเอียดแตกต่างกันอย่างมาก ดังนั้น ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศที่ดูแลแต่ละพื้นที่เพื่อขอข้อมูลได้

4. แนวทางการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของสำนักงานฯนิวยอร์กในปี 2554

4.1 สินค้ากลุ่มอาหาร

ในปี 2554 สำนักงาน ฯ นิวยอร์กเป็นผู้ประสานงาน และดำเนินการให้ผู้ส่งออกไทยในกลุ่มอาหาร เข้าร่วมงานแสดงสินค้า 2 งาน ได้แก่ International Boston Seafood Show (สินค้าอาหารทะเล) และ งาน Summer Fancy Food (อาหารทุกประเภท) นอกจากนี้ สำนักงานฯ ยังได้เสาะหาผู้นำเข้ารายใหม่ๆ เพื่อเชิญไปเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในประเทศไทย และ/หรือ จัดคณะผู้แทนการค้าเยือนประเทศไทยด้วย โดยจะเน้นที่ผู้บริโภคกลุ่ม Hispanic มากขึ้น เพื่อขยายฐานผู้บริโภคสินค้าอาหารไทย

4.2 สินค้ากลุ่มแฟชั่น

โครงการเครื่องนุ่งห่มไทยสู่ตลาดสหรัฐฯเป็นโครงการที่จัดหาผู้เชี่ยวชาญ/ดีไซน์เนอร์คนไทยที่อยู่ในวงการแฟชั่นของสหรัฐฯไปเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทไทยที่มีศักยภาพ และมีความตั้งใจที่จะพัฒนาแบรนด์ และสินค้าของตนเองเข้าตลาดสหรัฐฯอย่างยั่งยืนในอนาคต การสร้างแบรนด์ และการพัฒนาสินค้าเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เข้าร่วมโครงการต้องทุ่มเททั้งความรู้ กำลังคน และทุน เป็นกระบวนการที่ใช้เวลาและความต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การพัฒนาสินค้าที่มีแบรนด์เป็นกลยุทธ์ที่จะทำให้สินค้าไทยไม่ต้องแข่งขันด้านราคากับประเทศจีน สำหรับโครงการนี้ดำเนินการต่อเนื่องกันมาเป็นปีที่ 3 ผู้เข้าร่วมโครงการปัจจุบัน มี 6 ราย และในปัจจุบันทุกรายมีตัวแทนขาย (Agent) และ/หรือ Showroom ในประเทศสหรัฐฯแล้ว สำหรับปี 2554 และ 2555 สำนักงานฯจะได้ประสานงานโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และจะเป็นตัวกลางติดต่อประสานงานให้กับผู้เข้าร่วมโครงการได้พบปะกับดีไซน์เนอร์ที่มีชื่อเสียงของสหรัฐฯ เพื่อจะได้เรียนรู้และสร้างเครือข่ายต่อไป

4.3 สินค้าอื่นๆ

สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ของประดับและตกแต่งบ้าน ฯลฯ สำนักงานฯ ได้แสวงหาลูกค้าใหม่เพิ่มอยู่ตลอดเวลา และได้เดินทางพบปะเพื่อสร้างเครือข่ายทางการค้าอย่างสม่ำเสมอ และรายชื่อต่างๆ ได้บันทึกในฐานข้อมูล และส่งเข้าส่วนกลาง ตลอดจนลงใน Website ของกรมฯ เพื่อให้ผู้ส่งออกได้รับทราบข้อมูลใหม่ๆ ตลอดเวลา

5. บทบาทของสำนักงานฯในการสนับสนุน SMEs ที่มีศักยภาพ

กิจกรรมต่างๆ ของสำนักงานฯ ล้วนการส่งเสริม SMEs ทั้งสิ้นนอกจากนี้ สำนักงานฯ ได้มีการจัดทำนัดหมายให้กับผู้ส่งออกไทยที่ต้องการเดินทางมาพบลูกค้าในเขตดูแล และในทางกลับกันก็ทำนัดหมายให้กับผู้นำเข้าที่ต้องการเดินทางไปพบผู้ส่งออกในประเทศไทย ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สำนักงานฯดำเนินการตลอดทั้งปี รวมทั้งการหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับผู้ส่งออกไทยด้วย

6. ข้อเสนอแนะแก่ผู้ประกอบการไทยในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อเข้าสู่ตลาดที่รับผิดชอบ

6.1 สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยควรทำคือการยกระดับความสามารถในการผลิตและการตลาดเพื่อการส่งออกให้สูงขึ้น การส่งออกมาตลาดสหรัฐฯ สิ่งสำคัญคือการควบคุมมาตรฐานสินค้าให้เป็นไปตามข้อตกลงเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคู่ค้า เช่น มาตรฐานในเรื่องสุขอนามัย HACCP มาตรฐานการผลิตสินค้าฮาลาล(HALAL) หรือข้อกำหนดเกี่ยวกับสินค้า GMOs และควรคำนึงถึงข้อกำหนดอื่นๆ ที่อาจนำมาใช้ในการกีดกันการนำเข้าสินค้า เช่น การผลิตที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การใช้แรงงานเด็ก (Child Labor) การให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) ในระหว่างเลี้ยงหรือก่อนการนำไปแปรรูป เป็นต้น

6.2 การพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยดึงดูดให้ผู้บริโภคหันมาสนใจในสินค้า หีบห่อสวยงามเป็นที่สะดุดตาผู้ซื้อย่อมได้เปรียบสินค้าชนิดเดียวกันที่มีบรรจุภัณฑ์ด้อยกว่า นอกจากนั้น บรรจุภัณฑ์ยังเป็นสื่อในการแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างได้ผล และเป็นแรงจูงใจสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ผู้บริโภคยินยอมซื้อสินค้าในราคาที่สูงขึ้น

6.3 Creative Economy และการพัฒนาผลิตภัณฑ์

ในปี 2554 และ 2555 สำนักงานฯ มีแผนงานที่จะนำดีไซน์เนอร์ไทยที่มีชื่อเสียงในสหรัฐฯเข้าร่วมโครงการเพื่อพัฒนาสินค้าในกลุ่มแฟชั่น เพื่อเข้าตลาดสหรัฐฯ เนื่องจากจะเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจและมีประสบการณ์ทั้งในด้านช่องทางการตลาดและรูปแบบ/คุณภาพสินค้าสามารถถ่ายทอดให้กับผู้ส่งออกไทย เพื่อนำไปพัฒนาสินค้าของตนให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกาได้

7. ผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทยควรปรับตัว/ตั้งรับอย่างไรเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท และรับมือกับภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

ในปัจจุบัน กรมส่งเสริมการส่งออกได้สนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ส่งออกไทยพัฒนาสินค้าของตนเองเพื่อจะไม่ต้องแข่งขันด้านราคาเป็นอย่างเดียว โดยสำนักงานฯ ได้รายงานลักษณะความต้องการของผู้บริโภค และลักษณะของสินค้าและตลาดอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ผู้ส่งออกควรติดตามสถานการณ์ค่าเงินอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมาตรการต่างๆที่สหรัฐอเมริกาใช้อยู่ในขณะนี้ และอีกหลายมาตรการที่จะใช้ในอนาคตอันใกล้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซื้อคืนพันธบัตรนั้น จะส่งผลกระทบต่อค่าเงินไปทั่วโลกอย่างแน่นอน โดยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน เงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าแล้ว 10% แม้ ธปท.ได้ใช้ความพยายามในการออกมาตรการเพื่อชะลอการไหลเข้าของเงินทุน พร้อมกับเข้าแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยนบ่อยครั้งก็ตาม ภาวะค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น กระทรวงการคลังก็ได้ออกมาตรการในการควบคุมเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาในประเทศ เพื่อที่จะส่งผลให้สถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาทไม่รุนแรงไปมากกว่านี้

ผู้ส่งออกควรพิจารณากระจายตลาดส่งออก อย่าไปกระจุกรับออร์เดอร์อยู่กับประเทศเดียว หรือพึ่งพาตลาดส่งออกตลาดเดียว ถึงแม้ว่าจะเป็นตลาดใหญ่ก็ตาม เพราะจะเกิดความเสี่ยงสูงหากเกิดเหตุการณ์เศรษฐกิจล้มเหลวในประเทศนั้น

การพัฒนาคุณภาพเพื่อยกระดับสินค้าเป็นสิ่งสำคัญในระยะยาว เพื่อที่จะได้ไม่ต้องแข่งขันกับคู่แข่งด้านราคาเพียงอย่างเดียว การสร้างความแข่งแกร่งในตลาดใหม่ที่มีความสำคัญ อาทิ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน โดยปรับบทบาทสร้างพันธมิตรในตลาดส่งออก (Export alliance) หรือการลงทุนในต่างประเทศ เพื่อแสวงหาตลาดใหม่ที่เอื้อต่อฐานการผลิตในไทยด้วย

สมจินต์ เปล่งขำ

ผู้อำนวยการอาวุโส

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ