การส่งเสริมการตลาดสินค้าลำไยสดในจีน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 10, 2010 16:59 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ลำไยสด เป็นสินค้าเกษตรชนิดหนึ่งที่ได้รับประโยชน์จากข้อตกลง FTA จีน-อาเซียน จึงไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า แต่ยังคงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 13 ตามข้อกำหนดของจีน ปัจจุบันรัฐบาลจีนอนุญาตให้ผลไม้ไทยนำเข้าได้จำนวน 23 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด ลำไย กล้วยไข่ ลิ้นจี่ มะพร้าว มะละกอ มะเฟือง มะม่วง ฝรั่ง ชมพู่ เงาะ สับปะรด ละมุด เสาวรส น้อยหน่า มะขาม ขนุน สละ ลองกอง ส้มเขียวหวาน ส้ม ส้มโอ ตามลำดับ

จากสถิติตัวเลขการนำเข้าผลไม้ไทยผ่านมณฑลกวางตุ้งในช่วง 9 เดือนแรก ของปี 2010 (มกราคม-กันยายน) คิดเป็น 339,605 ตัน มูลค่า 361.25 ล้านเหรียญสหรัฐ ในจำนวนนี้เป็นปริมาณการนำเข้า ลำไยสด 87,485 ตัน มูลค่า 85.45 ล้านเหรียญสหรัฐ ลำไยแห้ง 7,567 ตัน มูลค่า 6.54 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบปริมาณและมูลค่าแล้วจะเห็นว่าลำไยแห้งมีการนำเข้าน้อยมากเนื่องจาก เมืองกวางโจวเป็นตลาดหลักสำหรับสินค้าผลไม้สด แต่ถ้าหากเป็นลำไยแห้งตลาดหลักจะอยู่ที่เมืองอี้อู มณฑลเจ้อเจียง และเมืองฝูโจว มณฑลฝูเจี้ยน สำหรับช่องทางการนำเข้าผลไม้ไทยสู่ตลาดจีนส่วนใหญ่ จะนำเข้าผ่านทาง ฮ่องกง - เซินเจิ้น - กวางโจว เนื่องจากการดำเนินพิธีศุลกากรในช่องทางนี้มีความสะดวก รวดเร็วและ เสียค่าใช้จ่ายน้อย หลังจากนั้นผลไม้ไทยจะถูกนำมาที่ตลาดกลางผลไม้เจียงหนานแล้วจึงกระจายไปยังมณฑลและ เมืองอื่น ๆ ของจีนต่อไป

สำหรับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทและปัญหาการนำเข้าลำไยสดมี ดังนี้

1. ผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่า

การแข็งค่าของเงินบาทมีผลกระทบต่อต้นทุนการนำเข้าผลไม้ไทยที่ทำให้ราคาสูงขึ้นและส่งผลต่อราคาจำหน่ายส่งและปลีกของผลไม้ไทยในประเทศจีนให้สูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น ผู้นำเข้าผลไม้จีน จึงลดปริมาณการนำเข้าลง แต่ก็มีบางรายที่ยังคงนำเข้าในปริมาณปกติ เนื่องจากมีลูกค้าที่มีความต้องการใช้ที่แน่นอน นอกจากนี้ ราคานำเข้าผลไม้จะผันผวนไม่คงที่เช่นสินค้าเกษตรอื่นๆ เช่น สินค้าข้าว ที่มีการสั่งซื้อล่วงหน้าและใช้อัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ทำสัญญาสั่งซื้อซึ่งเป็นอัตราคงที่ ( Fix Rate ) ต่างจากผลไม้ไทย ซึ่งมีวิธีการซื้อขายแบบขายฝาก ( consignment ) ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนจะผันผวนไม่คงที่ตามวันที่ซื้อขาย ทำให้ผลไม้ไทยยิ่งเสียเปรียบในเรื่องต้นทุน/การกำหนดราคาซื้อขายและการตัดสินใจของผู้นำเข้าและปริมาณความต้องการบริโภคในตลาดก็ไม่คงที่ ทำให้ราคาซื้อขายไม่สามารถกำหนดได้แน่นอน

2. ปัญหาอุปสรรคในการนำเข้า

2. 1 ปัญหาทางด้านมาตรการที่มิใช่ภาษี(NTBs) ที่ผ่านมา จีนจะมีการใช้มาตรการกีดกันต่าง ๆ เช่น มาตรการสุขอนามัย มาตรการด้านมาตรฐานสินค้า เป็นต้น รวมทั้งแนวทางปฏิบัติที่แตกต่างกันในแต่ละด่านนำเข้าและความล่าช้าในการตรวจสอบ ทำให้ผู้ประกอบการต้องประสบปัญหาในการนำเข้าสินค้า ซึ่งอาจเกิดความเสียหายในกรณีเป็นการนำเข้าสินค้าเกษตรที่เน่าเสียง่าย

2.2 ปัญหาสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์เกินปริมาณที่จีนกำหนด คือ 50 มิลิกรัม/1กิโลกรัม ปัญหายาฆ่าแมลงตกค้าง ปัญหาโรคแมลง มดและเพลี้ยที่ติดมากับผลลำไย ปัญหากิ่งก้านยาวเกินที่จีนกำหนดและมีใบมากเกินไป เป็นต้น

2.3 ปํญหาราคากลางของลำไยที่ใช้ในการคำนวณภาษีVAT ที่ยังไม่มีหลักเกณฑ์ในการคิดราคากลางที่แน่นอน ทำให้ผู้นำเข้าลำไยสดไทยต้องเสียภาษีที่ไม่แน่นอนและในแต่ละด่านก็คิดต่างกันออกไป ทำให้บางครั้งต้องเสียภาษีในจำนวนที่สูงกว่าที่ควรจะเป็น

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ