รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะการค้าอิตาลี ระหว่างวันที่ 16-31 ตุลาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 12, 2010 13:42 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. สถานการณ์เศรษฐกิจอิตาลีในช่วง 2 สัปดาห์หลังของเดือนตุลาคม 2553 กระเตื้องขึ้นเล็กน้อย ผลสำรวจ ISAE ปรากฏว่าในเดือนตุลาคม 2553 ความเชื่อมั่นทางธุรกิจได้ปรับตัวสูงขึ้น โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการได้เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2553 ที่ 98.6 จุด เป็น 99.8 จุด สูงสุดนับแต่เดือนพฤษภาคม 2551 โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ค้าปลีกที่มีดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นจาก 99.1 จุด ในเดือนกันยายน 2553 เป็น 101.4 จุด ซึ่งเป็นผลจากการคาดการณ์ของยอดขายที่เพิ่มขึ้น และการลดลงของสินค้ากองคลัง นอกจากนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนตุลาคม 2553 ก็เพิ่มสูงขึ้นจาก 107.2 ในเดือนกันยายน 2553 เป็น 107.7 เช่นกัน (เป็นการเพิ่มขึ้นทางตอนเหนือและลดลงในทางตอนกลางและตอนใต้ของประเทศ)

2. ISTATได้รายงานว่าในเดือนสิงหาคม 2553 คำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 32.4% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ซึ่งสูงสุดตั้งแต่ปี 2544 (เป็นคาสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากต่างประเทศ 50% และภายในประเทศเพิ่มขึ้น 21.3%) และเพิ่มขึ้น 7.3% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าที่มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ เครื่องใช้ในครัวเรือนทั้งชนิดเครื่องไฟฟ้าและไม่ใช้ไฟฟ้าและเครื่องจักร (+77.3%) เครื่องมือและอุปกรณ์เกี่ยวกับสายตา (+48%) และเครื่องใช้และเครื่องจักร (+45.2%) โดยมีมูลค่าการค้าภาคอุตสาหกรรม ( Industrial Turnover ) เพิ่มขึ้น 13.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 2.8% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

3. สมาพันธ์ผู้ค้าปลีกแห่งอิตาลี (Confcommercio)ได้รายงานว่ายอดจำหน่ายปลีกมีสัญญาณของการฟื้นตัวพอประมาณ แต่ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้แนวโน้วทางลบของภาวะการค้าดีขึ้นได้ เนื่องจากความต้องการซื้อยังคงต่ำกว่าระดับก่อนหน้าการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ และยอดจำหน่ายปลีกในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมายังคงค่อนข้างแกว่งโดยในเดือนกันยายน 2553 ยอดจาหน่ายปลีกลดลง 1.6% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนแต่เพิ่มขึ้น 0.4% เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2553

4. IMF ได้ยืนยันตัวเลขการประมาฌการ GDP ของอิตาลีในปี 2553 และปี 2554 ว่าจะเท่ากับ +1% โดยจะมีการขาดดุลงบประมาณ 5.1% ของGDP ในปี 2553 และ 4.3% ของ GDPในปี 2554 สอดคล้องกับการประมาณการของรัฐบาลอิตาลีและธนาคารแห่งอิตาลีที่คาดว่า GDP ในปี 2553 จะเท่ากับ +0.9% และ 1.1% ในปี 2554 โดยมีการขาดดุลงบประมาณ 5% ของ GDP ในปี 2553 และ 3.9% ของ GDP ในปี 2554

นอกจากนี้ยังได้ประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคยุโรป ดังนี้

  • GDP ในภูมิภาคยุโรปในปี 2553 จะเท่ากับ +1.7% และ 1.5% ในปี 2554 โดยในปี 2553 สวีเดน จะมี GDP เพิ่มขึ้นมากที่สุดที่ +4.4% ตามด้วย สโลวาเกีย (+4.1% ในปี 2553และ +4.3% ในปี 2554) ส่วนกรีซจะมี GDP ในปี 2553 ลดลงสูงสุดที่ -4% และเป็นประเทศเดียวในกลุ่มสหภาพยุโรปที่จะยังคงมีภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2554 โดยมี GDP ที่ -2.6%
  • ภาวะเงินเฟ้อ ในเดือนตุลาคม 2553 เพิ่มขึ้นเป็น 1.7 % จากเดือนก่อนหน้าที่เท่ากับ 1.6 % แต่ยังคงต่ากว่าอัตราที่คาดหมายในกลุ่มยูโรโซนที่เท่ากับ 1.9% และคาดว่าหากในช่วงต่อไปแนวโน้มของภาวะเงินเฟ้อยังคงที่ อิตาลีจะมีอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2553 เท่ากับ 1.5%

ทั้งนี้ภาวะเงินเฟ้อเดือนตุลาคม 2553 ดังกล่าวเป็นการเพิ่มขึ้นของราคาน้ามัน 8.5% เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2552 และเพิ่มขึ้น 0.6% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบเพิ่มขึ้น 3.9% ส่วนสินค้าที่มีราคาลดลงอย่างมากได้แก่ การสื่อสารและโทรคมนาคม(- 2.6 % )

  • อัตราการว่างงาน ในเดือนกันยายน 2553 อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 8.2% เป็น 8.3% (จำนวนคนว่างงาน 2.071 ล้านคน) โดยในไตรมาส 2 ของปี 2553 อัตราการว่างงานของคนอายุ 15-24 ปี เพิ่มขึ้นถึง 27.9% สูงสุดนับแต่ไตรมาส 2 ของปี 2542
  • การส่งออก ในเดือนกันยายน 2553 มูลค่าการส่งออกของอิตาลีไปประเทศนอกสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (ส่งออกไปจีน 47.8% อเมริกากลางและใต้ 45% สหรัฐฯ 42.1% และรัสเซีย 40%) และเพิ่มขึ้น 2.6% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 มูลค่าการส่งออกของอิตาลีเพิ่มขึ้น 15.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

  • การนำเข้า ในเดือนกันยายน 253 มูลค่าการนำเข้าของอิตาลีเพิ่มขึ้น 32% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และลดลง 0.9% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 มูลค่าการนำเข้าของอิตาลีเพิ่มขึ้น 26% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนทำให้อิตาลีขาดดุลการค้า 15.2 พันล้านยูโร เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งขาดดุลการค้า 4.46 พันล้าน ยูโร

5. IMF ได้ให้ความเห็นในรายงานการตรวจสอบด้านงบประมาณของอิตาลีว่าในการส่งเสริมการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลอิตาลีจะต้องปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพื่อให้มีประสิทธิภาพเท่าเทียมกับประเทศในกลุ่ม G20 โดยวิธีการผสมผสานระหว่างการยกเว้นภาษี การลดอัตราภาษี และการปรับปรุงการปฏิบัติตามระเบียบต่างๆ ให้สอดคล้องสมดุลย์ ซึ่งจะช่วยทาให้งบประมาณรายได้เพิ่มขึ้นถึง 2.5% ของ GDP โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มความพยายามในการต่อสู้กับการหลบเลี่ยงภาษีนับเป็นสิ่งสาคัญและถูกต้องที่จะต้องดำเนินการทั้งในด้านดุลพินิจและประสิทธิภาพการดำเนินการ

6. นาย Renato Brunetta รมว. กระทรวงข้าราชการพลเรือน (Civil Service Minister) เปิดเผยว่ามาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพของข้าราชการซึ่งเป็นหนึ่งในหลายๆมาตรการที่รัฐบาลอิตาลีได้ออกมาเพื่อลดการขาดดุลงบประมาณจะทำให้ลดจำนวนคนทำงานลง 300,000 ตำแหน่ง ในปี 2556 (หรือลดลง 8.4% ของจำนวนแรงงานในปี 2551) วิธีการคือไม่จ้างคนทำงานแทนตำแหน่งที่ว่าง การยืดหยุ่นในด้านสัญญาจ้าง และการให้สิทธิประโยชน์ในการเกษียณอายุ

ทั้งนี้ ระหว่างปี 2551-2552 จำนวนแรงงานในภาคราชการลดลงประมาณ 72,000 คน คงเหลือจำนวนข้าราชการเพียง 3.5 ล้านคน และคาดว่าการปรับปรุงระบบการจ้างข้าราชการระหว่างปี 2551-2555 จะช่วยประหยัดงบประมาณรัฐบาลได้ราว 62 พันล้านยูโร หรือปีละมากกว่า 4% ของต้นทุนด้านบุคลากรและการบริหารภายใน

7. นาย Giulio Tremonti รมต. กระทรวงเศรษฐกิจอิตาลีได้กล่าวในการประชุมร่วมกับนักธุรกิจจากสมาพันธ์ผู้ค้าปลีกแห่งอิตาลี (Confcommercio) ว่าหากต้องการเห็นความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ทุกคนต้องมีความตั้งใจจริงที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น มิใช่เป็นเพียงการพูดและรอเวลาที่การฟี้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะช่วยกระตุ้นการส่งออกของอิตาลีให้เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น แต่จาเป็นที่อิตาลีต้องมีการปฏิบัติจริงและเข้มแข็ง รวมทั้งการระบุปัญหาที่แท้จริงและจัดการกับปัญหานั้นๆ โดยมีปัญหาที่จำเป็นต้องแก้ไขอย่างจริงจังได้แก่ การขาดแคลนพลังงานนิวเคลียร์ ผู้ประกอบการขนาดเล็กของอิตาลีมีจำนวนมาก การขาดการพัฒนาในทางตอนใต้ของประเทศ และการมีระบบขั้นตอนทางราชการที่ซับซ้อนและยุ่งยาก

นอกจากนี้ปัญหาวิกฤตการเงินของสหภาพยุโรปโดยเฉพาะกรีซนั้น นาย Giulio เห็นว่ายังคงเป็นปัญหาที่น่ากลัว ซึ่งมิใช่ประเด็นค่าเงินยูโรแต่เป็นเรื่องความเสี่ยงต่อการล้มละลายของภูมิภาคยุโรป

อย่างไรก็ดี รัฐบาลอาจจะออกมาตรการเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและการเจริญเติบโตของศรษฐกิจ เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและรักษาความสามารถในการแข่งขันของอิตาลี โดยรัฐบาลจำเป็นที่จะต้องให้การสนับสนุนทางการเงินให้แก่ภาคธุรกิจที่เป็นยุทธศาสตร์ ได้แก่ สาธารณูปโภค พลังงาน สิ่งแวดล้อม การวิจัยและเทคโนโลยีชีวภาพ นอกจากนี้การลงทุนภาครัฐในด้านทรัพยากรธรรมชาติยังมีไม่เพียงพอ และมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างเงื่อนไขเพื่อดึงดูดให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนให้มากขึ้น ซึ่งได้แก่ การแก้ไขความไม่ชัดเจนที่เกิดขึ้นจากกฎระเบียบต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน การกระตุ้นให้เกิดธุรกรรมทางการเงินระยะสั้น ในขณะเดียวกันการลงทุนระยะยาวในภาคธุรกิจพื้นฐานที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนและเกิดความเป็นเอกภาพของสังคมในวงกว้าง

8. องค์กรจัดอันดับความโปร่งใสระหว่างประเทศ (Transparency International-IT) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะต่อสู้กับการคอรัปชั่น ได้จัดอันดับความโปร่งใสต่อการคอรัปชั่นในภาคสาธารณะในปี 2553 โดยอิตาลีอยู่ในอันดับที่ 67 (ลดลงจากปี 52 ที่อยู่อันดับที่ 63 และปี 51 อยู่อันดับที่ 55) ต่ำกว่าประเทศรวันดาแต่สูงกว่าประเทศจอร์เจีย และเป็นอันดับที่ 3 ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปด้วยกันรองลงมาจากโรมาเนีย (อันดับที่ 69) บัลกาเรีย (อันดับที่ 73) และกรีซ (อันดับที่ 78)

ประเทศที่มีความโปร่งใสในอันดับต้นๆ ได้แก่ เดนมาร์ก นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ฟินแลนด์ สวีเดน และแคนาดา ตามด้วยเยอรมัน (อันดับที่ 15) อังกฤษ (อันดับที่ 20) สหรัฐฯ (อันดับที่ 22) ฝรั่งเศส (อันดับที่ 25) จีน (อันดับที่ 78) อินเดีย (อันดับที่ 87) และรัฐเซีย (อันดับที่ 154)

ประเทศที่มีความโปร่งใสอันดับท้ายสุด 4 ประเทศ ได้แก่ อิรัก อัฟกานิสถาน พม่า และโซมาเลีย

การที่อิตาลีถูกลดอันดับความโปร่งใสต่อการคอรัปชั่นดังกล่าว สืบเนื่องมาจากในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาได้เกิดการคอรัปชั่นทั้งที่ได้รับการพิสูจน์แล้วและการเกิดข้อสงสัยในหลายๆระดับของภาครัฐ (ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ระดับแคว้น และระดับชาติ) โดยเกี่ยวข้องทั้งในระดับผู้ปฏิบัติงานและระดับการเมือง

9. ผลการประชุม IAB Forum on digital communications ได้รายงานว่าในเดือนกันยายน 2553 มีจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ต จำนวน 24 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อน 11% และมีรายได้จากการโฆษณาออนไลน์( Online advertising) ประมาณ 1 พันล้านยูโร หรือเพิ่มขึ้น 15%

10. ISTAT ได้รายงานว่าประชากรอิตาลีที่ยากจนมีจำนวนประมาณ 8.37 ล้านคน แตกต่างจากข้อมูลทางการที่รายงานว่ามีจำนวนประชากรยากจนในอิตาลีเพียง 7.81 ล้านคน โดยเกือบทั้งหมดจะอยู่ในทางตอนใต้ของอิตาลีที่มีระดับการพัฒนาต่า (แถบ Mezzogiorno) ซึ่งเลขาธิการของ Italian Bishop ได้มีข้อสังเกตว่าปัญหาการหลบเลี่ยงภาษีที่มีค่อนข้างสูงทำให้ผู้บริสุทธิต้องได้รับผลกระทบ และทำให้คนจนต้องถูกตัดความช่วยเหลือ

11. สหภาพแรงงาน CGIL แห่งอิตาลีได้รายงานว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2543-2553) คนงานอิตาลีต้องสูญเสียอานาจซื้อไปมากกว่า 5,000 ยูโร โดยพบว่าภาวะเงินเฟ้อที่ทำให้รายได้หายไป 3,384 ยูโร และมากกว่า 2,000 ยูโรที่ต้องหายไปกับการจ่ายภาษีที่ค่อนข้างสูงซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ของอิตาลี

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโรม

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ