การค้าระหว่างประเทศไทย-แคนาดา มกราคม-กันยายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 15, 2010 11:08 —กรมส่งเสริมการส่งออก

มูลค่าการค้าระหว่างประเทศ

  • การค้าระหว่างไทย-แคนาดา ในปี 2552 มีมูลค่า 1,927.15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่งออกมีมูลค่า 1,253.80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นำเข้า 673.35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไทยได้ดุลการค้า 580.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
  • การค้าระหว่างไทย-แคนาดา ในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน 2553 มีมูลค่า 1,731.39 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 24.12% การส่งออกมีมูลค่า 1,031.04 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 0.723% ของการส่งออกรวมของไทย ขยายตัว 11.61% การนำเข้ามีมูลค่า 700.34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 48.65% ไทยได้ดุลการค้าเป็นมูลค่า 330.70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

การส่งออกของไทยไปแคนาดา

  • ระหว่างปี 2550-2552 แคนาดาเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 28 ของไทย และไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 17 ของแคนาดา การส่งออกของไทยไปแคนาดามีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละร้อยละ 8 โดยในปี 2551 มีมูลค่าสูงสุดที่ 1,427.68 ล้านเหรียญ เนื่องจากเป็นช่วงที่เศรษฐกิจของแคนาดาขยายตัวอย่างมาก สำหรับปี 2552 การส่งออกลดลงเนื่องจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก
  • การส่งออกของไทยไปแคนาดาเฉลี่ยเดือนละประมาณ 110 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยปกติระหว่างเดือน สิงหาคม-กันยายน เป็นเดือนที่ไทยส่งออกไปแคนาดามากที่สุด เนื่องจาก เป็นช่วงการสั่งสินค้าสำหรับเทศกาลวันคริสมาสต์ และวันปีใหม่ ที่เป็นช่วงที่ประชาชนจับจ่ายมากที่สุดของแต่ละปีและในเดือนเมษายนเป็นเดือนที่ไทยส่งออกไปแคนาดาน้อยที่สุด เนื่องจาก ในช่วงนี้ไม่มีเทศกาลวันหยุดสำคัญ ไทยมีการส่งออกมายังแคนาดาเดือน

ก.ย.53 มูลค่า 122.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง -8.81% เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค. 53 และเพิ่มขึ้น 0.51% เมื่อเทียบกับเดือน กย 52

สินค้าส่งออกของไทยไปแคนาดา

  • โครงสร้างสินค้าส่งออกในช่วง ม.ค.-ก.ย. 53 สินค้าส่งออกของไทยอันดับแรกเป็นกลุ่มสินค้าอาหาร ร้อยละ 33.41 รองลงมาเป็นกลุ่มสินค้าอีเล็กทรอนิกส์ร้อยละ 15.64 อันดับสามเป็นกลุ่มสินค้าผลิตภัณฑ์ยาง ร้อยละ 8.39 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าร้อยละ 5.80 สินค้าเสื้อผ้า/สิ่งทอร้อยละ 4.62 สินค้าอุปกรณ์ก่อสร้างร้อยละ 3.91 สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ร้อยละ 2.41 สินค้าอุปกรณ์ชิ้นส่วนรถยนต์ ร้อยละ 2.84 สินค้าผลิตภัณฑ์พลาสติก 0.83% ตามลำดับ

สินค้าที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้น ระหว่าง ม.ค.-ก.ย. 53 ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ข้าว ยางพารา เครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง

สินค้าที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้นในเดือน ก.ย. 53 ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางพารา ผลไม้กระป๋องแปรรูป อัญมณีเครื่องประดับ เลนซ์ และเครื่องกีฬา ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป

สินค้าที่มีการส่งออกลดลง ระหว่าง ม.ค-ก.ย 53 ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป และสินค้าอัญมณีเครื่องประดับ โดยสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปมี ปัจจัยลบ เนื่องจากไทยเผชิญคู่แข่ง ตลาดกลางและล่าง (Medium to Low End product) อาทิ จีน บังคลาเทศ อินเดีย เม็กซิโก กัมพูชา เวียดนามอินโดนิเซีย ที่มีราคาถูกกว่า (Low cost country) สำหรับตลาดบน (Premium Product) อาทิ สหรัฐฯ ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน ซึ่งมีแบรนด์สินค้าระดับโลกและมีการวางจำหน่ายผ่านร้านค้าของตนเอง (Outlet Retail) เช่น GAP ZARA H&M BENETTON Escada Mango, Banana Republic, Polo Ralph Lauren, Tommy Hilfiger, BOSS ,Calvin Klein ,Victoria Secret รวมทั้งมีดีไซน์ รูปแบบ สีสรร ลวดลาย ฝีมือตัดเย็บที่ถูกรสนิยมของชาวแคนาดา

สินค้าอัญมณีเครื่องประดับได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ชัดเจนทำให้ผู้บริโภคชะลอการจับจ่ายใช้สอยในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย โดยสินค้าอัญมณีเครื่องประดับเป็นสินค้าที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งทีทิศทางที่อาจะชะลอตัวหรือขยายตัวลดลงจนถึงสิ้นปีนี้

สินค้าที่มีการส่งออกลดลงในเดือน ก.ย. 53 กุ้งสดแช่เย็น แช่แข็ง ข้าว เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ เหล็ก เหล็กกล้าและ ผลิตภัณฑ์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาง เตาไมโครเวฟ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน รองเท้าและชิ้นส่วน เครื่องใช้บนโต๊ะในครัวและบ้านเรือน

ส่วนแบ่งตลาดในแคนาดา

ไทยครองส่วนแบ่งตลาดในแคนาดา 0.58% เป็นอันดับที่ 17 โดยคู่แข่งขันของไทย ได้แก่ สหรัฐฯครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 เฉลี่ย 51.02% จีน 10.78% เม็กซิโก 5.36% ญี่ปุ่น 3.33% เยอรมันนี 2.79% สหราชอาณาจักร 2.67% เกาหลีใต้ 1.46% ตามลำดับ

ไทยมีส่วนแบ่งตลาดในแคนาดาในปี 2551 ที่ 0.57 % เพิ่มขึ้นเป็น 0.63% ในปี 2552 สำหรับมค-กย 53 มีส่วนแบ่ง 0.58% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าซึ่งมีส่วนแบ่งตลาด 0.62 % เนื่องจากราคาสินค้าไทยสูงกว่าคู่แข่งขัน (จากค่าเงินไทยที่แข็งค่าขึ้นและต้นทุนการผลิตสินค้าที่สูงขึ้น) รวมทั้งผู้ส่งออกไทยให้ความสำคัญต่อตลาดแคนาดาน้อยกว่าตลาดอื่น โดยมีสาเหตุจากกฎระเบียบนำเข้าที่ซับซ้อนเข้มงวด ตลาดมีขนาดเล็กและอยู่ห่างไกล

สินค้านำเข้าจากแคนาดา

ไทยนำเข้าสินค้าจากแคนาดา ได้แก่ เยื่อกระดาษ ปุ๋ยโปแตส ทองคำ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช แผงวงจรไฟฟ้า พืชและผลิตภัณฑ์จาก พืช สินแร่โลหะ เครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้า เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะในเดือน กุมภาพันธ์ 2553 ไทยนำเข้าทองคำเพิ่มขึ้น อย่างมาก

เศรษฐกิจแคนาดา

  • สถานการณ์เศรษฐกิจไตรมาสที่ 2 แคนาดาเริ่มชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจสหรัฐ (เศรษฐกิจสหรัฐไตรมาสที่ 2 ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.6 ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 2.6) และงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ (Stimulus Plan) ของแคนาดาลดลง
  • หน่วยงาน Statistics Canada ได้แถลงข้อมูลเศรษฐกิจ ณ วันที่ 12 พฤศจิกายน 2553 ดังนี้

1) Real GDP 0.3% (ส.ค. 2553) เทียบกับ -0.1% ในเดือน ก.ค. 53

2) อัตราว่างงาน: 7.9% (ต.ค. 53) ลดลง เทียบกับ 8.0% ในเดือน กย 53

3) การส่งออกสินค้า: ลดลง +1.03% (กย 53) เมื่อเทียบกับ สค 53

4) การนำเข้าสินค้า: เพิ่มขึ้น +3.67% (กย 53) เมื่อเทียบกับ สค 53

5) อัตราเงินเฟ้อ: เพิ่มขึ้น +0.3% (กย 53) เทียบกับ 0.2% ในเดือน สค 53

ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจแคนาดา ในเดือน สค 53 ซึ่งขยายตัวโดยรวม 0.3% ได้แก่ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ (Mining) พลังงาน (Oil and Gas Extraction) ที่เป็นผลจากการขยายตัวของภาคการผลิตขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และเหมืองโลหะ อาทิ ทองแดง นิกเกิ้ล ตะกั๋ว สังกะสี ภาคการผลิต (Manufacturing) ภาคการก่อสร้าง (Construction) อุตสาหกรรมการให้บริการ (Services Industry) การค้าส่ง และการค้าปลีก (Wholesale and Retail Trade)

  • ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ลดลง ได้แก่ ป่าไม้ (Forestry and Logging) การเกษตร (Agriculture) และธุรกิจภาคสาธารณูปโภค (Utilities)
  • ภาคการผลิต (Manufacturing) เพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือน ส.ค. 53 โดยเฉพาะหมวดสินค้าไม่คงทน (Non-Durable Goods) ซึ่งเพิ่มขึ้น 0.8% (แรงผลักดันหลักจากสินค้าหมวด โลหะ เครื่องจักร เฟอร์นิเจอร์ และสินค้าแร่ธาตุที่ไม่ใช่โลหะ Non-Metallic Mineral)
  • ภาคอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate) เพิ่มขึ้น 0.4% (ส.ค. 53) ที่มีการฟื้นตัวหลังจากที่มีการลดลง 3 เดือนติดต่อกันตั้งแต่เดือน พ.ค.-ก.ค. 53 ทั้งนี้ปัจจัยลบยังมีรอบด้านสำหรับธุรกิจภาคดังกล่าว เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้นมีผลต่อจิตวิทยาผู้บริโภค และ คาดว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจจะมีผลต่อ การนำเข้าสินค้าเฟอร์นิเจอร์ ของประดับตกแต่งบ้าน วัสดุก่อสร้าง และเครื่องใช้ไฟฟ้า (Home appliance)
  • ภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่ และพลังงาน: เพิ่มขึ้น 0.5% (ส.ค. 53) เนื่องจากราคาสินค้าพลังงานได้มีการทยอบปรับราคาสูงขึ้นตามราคาตลาดโลก
  • ภาคธุรกิจอื่นๆ: ภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการป่าไม้ (Forestry and Logging) ลดลง -0.6% ภาคการเงินและการประกัน เพิ่มขึ้น 0.6% ภาคการค้าส่ง (Wholesale Trade) เพิ่มขึ้น 1.1% เนื่องจากเป็นฤดูกาลการสั่งสต็อกสินค้าเพิ่มเพื่อเตรียมตัวเข้าฤดูเทศกาล คริสต์มาสและปีใหม่ที่เป็นช่วงที่ชาวแคนาดาจับจ่ายใช้สอยมากที่สุดของปี

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นคร โตรอนโต

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ