อุตสาหกรรมก่อสร้างของกลุ่มประเทศ GCC ในช่วงปี 2009 หดตัวลงต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า โดยมีสาเหตุสำคัญจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย อย่างไรก็ตาม ยูเออียังคงเป็นตลาดที่มีโครงการก่อสร้างมูลค่าสูงสุด หรือประมาณ 714.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รองลงไปคือซาอุดิอาระเบียมูลค่ารวม 283.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
จากรายงานของ Dubai Chamber of Commerce & Industry คาดการณ์ว่าภาคก่อสร้างของยูเออีจะมีแนวโน้มขยายตัวได้ค่อนข้างดีในปี 2011 เพราะยังมีการลงทุนของภาครัฐ ภายใต้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผลักดันการก่อสร้างสาธารณูปโภคขยายครอบคลุมทั่วประเทศ เช่น กรุงอาบูดาบี รัฐราสอัลไคห์มา
นอกจากนั้น มีโครงการสร้างสนามบินแห่งใหม่และขยายสนามบิน Terminal 1 โครงการ Union Railway และอื่นๆ โครงการก่อสร้างต่างๆของภาครัฐใช้วิธี Tenders โดยบริษัทก่อสร้างในประเทศ ซึ่งมักจะมี Joint venture กับบริษัทก่อสร้างต่างชาติ
ปัจจัยอื่นที่สนับสนุนให้การก่อสร้างมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น เพราะได้รับผลบวกจากราคาวัสดุก่อสร้างลดลง อาทิ ซีเมนต์ราคาเฉลี่ยปี 2008 ลดลงจากก่อนหน้า 13.5% และลดลง 61.4% ในปี 2009 สำหรับเหล็กและผลิตภัณฑ์ลดลง 50.7% เมื่อเทียบกับปี 2008
การก่อสร้างของภาคเอกชนประเภทพาณิชยกรรม อาคารที่อยู่อาศัย จะไม่มีการขยายตัวมากนัก โดยเฉพาะในดูไบที่ในขณะนี้ประสบปัญหาอสังหาฯล้นตลาด (ในปี 2011 จะมีอาคารพาณิชย์เสร็จเพิ่มอีก 4,000,000 ตารางเมตร และอาคารที่อยู่อาศัยจำนวน 2,500,000 ตารางเมตร) ซึ่งหลังจากที่ดูไบประสบปัญหาเศรษฐกิจนั้น ทำให้ดูไบต้องพักและยกเลิกโครงการก่อสร้างประมาณ 400 แห่ง มูลค่ารวม 300 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
สินค้าที่มีลู่ทาง
ยูเออียังคงเดินหน้าในการก่อสร้างพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐานของประเทศ วัสดุก่อสร้างสำหรับตลาดยูเออีที่มีลู่ทางแจ่มใส โดยเฉพาะประเภทที่ใช้สำหรับอาคารอนุรักษ์พลังงานระบบธรรมชาติเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พลังงานทดแทนและการจัดการพลังงานสิ่งแวดล้อม สินค้าประหยัดพลังงานและน้ำ ระบบก่อสร้างสำหรับอาคารอัจริยะ (systems for building automation) เครื่องทำความเย็น วัสดุสำหรับสระว่ายน้ำ สร้างถนน สะพาน ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง สนามกีฬา โรงแรม บ้านพัก ปาร์คและงานภูมิสถาปัตยกรรม โรงแรม มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล โรงงานผลิตไฟฟ้าและโรงกลั่นน้ำทะเลเป็นน้ำจืด
โดยทั่วไปใช้มาตรฐานสินค้าใช้ British Standards (BS) หรือเทียบเท่า บางครั้งแม้ว่าสินค้าได้มาตรฐาน BS แต่จะต้องผ่านการตรวจหรือได้รับการรับรองจากหน่วยงานเทศบาลของรัฐ โดยทั่วไปผู้นำเข้าจะเป็นดำเนินการในส่วนนี้
แหล่งนำเข้าวัสดุก่อสร้างที่สำคัญของยูเออี ได้แก่ จีน ตุรกี ซาอุดิอาระเบีย อินเดีย และมาเลเซีย เป็นต้น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมายูเออีมีโรงงานผลิตวัสดุก่อสร้างหลากหลายชนิดมากขึ้น เพื่อรองรับตลาดก่อสร้างในประเทศ สินค้าบางชนิดสามารถใช้สำหรับส่งออก ได้แก่ ซีเมนต์ อลูมิเนียม สี และสุขภัณฑ์เซรามิคส์ เป็นต้น
การส่งออกของไทย
จากที่กล่าวมาข้างต้น โครงการส่วนใหญ่จะเป็นโครงการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานขนาดใหญ่ มีมูลค่าการลงทุนสูง ไม่เหมาะกับบริษัทไทยซึ่งเป็นขนาดกลาง สิ่งทีจะทำได้คือเป็น Sub contract ซึ่งที่มาผ่านมาบริษัทไทยที่เป็น sub contract ได้รับค่าตอบแทนค่อนข้างช้า สำหรับสินค้ากลุ่มวัสดุก่อสร้างที่ไทยส่งออกไปยูเออี ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ทองแดงและของทำด้วยทองแดง ก๊อก วาวล์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม แก้วและกระจก ผลิตภัณฑ์สังกะสี มีมูลค่าการส่งออกปี 2008 ที่ผ่านมารวม 237 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือขยายตัว 5% ปี 2009 ลดลงเหลือมูลค่า 182.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือลดลง 23%
ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2010 ไทยสามารถส่งออกรวมมูลค่า 202 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือขยายตัวเพิ่มขึ้น 93.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สรุป
อุตสาหกรรมก่อสร้างของยูเออีปี 2010 ต่อเนื่องถึงปี 2011 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ดีขึ้น การลงทุนก่อสร้างภาครัฐถูกคาดหวังว่าจะเป็นปัจจัยที่จะช่วยผลักดันการก่อสร้างโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาบูดาบีที่มีผลจากการขยายตัวของการก่อสร้างภาครัฐเป็นสำคัญ ทั้งนี้เพราะได้รับแรงหนุนจากรายได้ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ในขณะเดียวกันราคาวัสดุและต้นทุนการก่อสร้างลดลง สำหรับส่วนการก่อสร้างของที่อยู่อาศัย จะมีการปรับตัวดีอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามสภาวะเศรษฐกิจที่มีสัญญาณการฟื้นตัวเป็นลำดับ
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองดูไบ
ที่มา: http://www.depthai.go.th