สภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจของอิตาลี

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 18, 2010 11:02 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ศูนย์ศึกษาและวิจัยตลาด Euromonitor International ได้ออกรายงานฉบับเดือนมิถุนายน 2553 รายงานผลการศึกษาวิจัยเรื่องสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจของอิตาลีในปี 2552-2553 สรุปได้ ดังนี้

1. เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจของอิตาลีสามารถจำแนกออกได้เป็น 2 ส่วนคือ ทางภาคเหนือของประเทศที่เป็นอุตสาหกรรม และทางตอนใต้ซึ่งเป็นคาบสมุทรหรือที่เรียกว่า Mezzogiorno ในภาพรวมเศรษฐกิจอิตาลีได้รับผลกระทบอย่างมากจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2551 และ 2552 ทำให้เกิดการหดตัวของเศรษฐกิจ 1.3% และ 5% ตามลำดับ การมีหนี้สาธารณะที่สูงเป็นปัจจัยหนึ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการมีจำนวนประชากรผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่องที่มีผลต่อการคลังภาครัฐในระยะยาวด้วย

ในปี 2552 สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มขึ้นถึง 115% (เพิ่มสูงเกินกว่า 100% ตั้งแต่ปลายปี 2534-2535 ซึ่งเกิดวิกฤตค่าเงิน) และคาดว่าในปี 2553 เศรษฐกิจอิตาลีจะมีอัตราการขยายตัวได้ 0.8%

2. ความหนาแน่นของการลงทุนทางตรง

อิตาลีเป็นประเทศที่เปิดกว้างและยินดีต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศ แต่ยังคงมีการลงทุนทางตรง (FDI) จากต่างประเทศไม่มากนักเมื่อเทียบกับประเทศยุโรปตะวันตกอื่น เนื่องจากความเข้มงวดของกฎระเบียบด้านแรงงาน ความยุ่งยากและล้าช้าของระบบราชการ และการคอรัปชั่นที่มีอยู่อย่างแพร่หลายส่งผลให้ความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติที่ต้องการจะมาลงทุนในอิตาลีลดลง ทั้งนี้ความหนาแน่นของการลงทุนทางตรง (FDI) ในอิตาลีค่อนข้างต่ำ คือ 0.7% ของ GDP หรือมีมูลค่าราว 20 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ข้อมูล ณ ปี 2551) เมื่อเทียบกับฝรั่งเศสและสเปน (4.1%)

3. ความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ

3.1 จากรายจ่ายประจาปี 2553 ของธนาคารโลกเรื่องความสะดวกในการดำเนินธุรกิจอิตาลีอยู่ในอันดับที่ 78 จากจำนวน 183 ประเทศ ลดลง 4 อันดับจากปีก่อนหน้าและนำหน้าเพียงกรีซประเทศเดียวเมื่อเทียบกับประเทศยุโรปตะวันตกทั้งหมด

3.2 การจัดตั้งธุรกิจในอิตาลีมีต้นทุนค่อนข้างแพงและผู้ประกอบการต้องมีขั้นตอนดำเนินการถึง 6 ขั้นตอน ใช้เวลา 10 วัน โดยมีต้นทุนในการจัดตั้งธุรกิจซึ่งเป็นปัญหาหลักคิดเป็น 17.9% ของรายได้ประชาชาติต่อหัว (gross national income per capital) เมื่อเทียบกับอัตราเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD ที่เท่ากับ 4.7%

3.3 การจดทะเบียนทรัพย์สิน ต้องมีขั้นตอนดำเนินการ 8 ขั้นตอน ใช้เวลา 27 วัน คิดเป็นต้นทุน 4.6% ของมูลค่าทรัพย์สิน

3.4 การได้รับสินเชื่อ โดยทั่วไปค่อนข้างลำบาก เนื่องจากสิทธิในการให้สินเชื่อที่อ่อนแอ โดยในรายงานผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของ World Economy Forum ระหว่างปี 2552-2553 อิตาลีเป็นประเทศที่มีปัญหาในการดำเนินธุรกิจมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2

3.5 การปิดกิจการ มีต้นทุนคิดเป็น 22 % ของทรัพย์สิน มีอัตราการคืนทุนเพียง 56.6 เซนต์ดอลลาร์ และใช้เวลา 1.8 ปี ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศ OECD ที่มีต้นทุนเฉลี่ย 8.4% ของทรัพย์สิน และมีอัตรา การคืนทุนที่ 68.6 เซนต์ดอลลาร์

4. กฎระเบียบภาครัฐและการค้าระหว่างประเทศ

4.1 รัฐบาลอิตาลียินดีต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศโดยในปี 2552 ได้มีการปฏิรูปเพื่อกระตุ้นเพื่อให้มีการลงทุนจากต่างประเทศให้มากยิ่งขึ้น เช่น การให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีแก่ธุรกิจใหม่ และลดความซับซ้อนยุ่งยากในการเริ่มต้นธุรกิจ โดยให้การปฏิบัติอย่างเท่าเทียมทั้งผู้ประกอบการในประเทศและจากต่างประเทศ แม้ว่าจะยังคงมีข้อยกเว้นในบางกรณี ได้แก่ การสนับสนุนทางการเงินแก่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ การกำหนดเงื่อนไขพิเศษด้านการลงทุนสำหรับธนาคารจากประเทศ NON-EU ข้อจำกัดในการเปิดเส้นทางการบินภายในประเทศของสายการบินจากประเทศ NON-EU และข้อจำกัดในการลงทุนในอุตสาหกรรมการเดินเรือ เป็นต้น

4.2 จากรายงานการดำเนินธุรกิจของธนาคารโลก ประจำปี 2553 ระบุว่าในการนำเข้า-ส่งออก อิตาลีต้องการเอกสารประกอบ 4 ฉบับ และใช้เวลาดำเนินการ 20 วัน สำหรับการส่งออก และ 18 วันสำหรับการนำเข้า เปรียบเทียบกับจำนวนเฉลี่ยของประเทศ OECD ที่เท่ากับ 10.5 วัน และ 11 วัน ตามลำดับ

ต้นทุนในการนำเข้าและส่งออกมายังอิตาลีเท่ากับ 1,231 เหรียญสหรัฐฯต่อคอนเทนเนอร์ สูงกว่าต้นทุนเฉลี่ยของประเทศ OECD ที่เท่ากับ 1,090 เหรียญสหรัฐฯต่อคอนเทนเนอร์ (สาหรับการส่งออก) และ 1,146 เหรียญสหรัฐฯต่อคอนเทนเนอร์ (สำหรับการนำเข้า)

ทั้งนี้ ธนาคารโลกได้จัดอันดับประเทศที่มีการค้าข้ามแดนมากที่สุดในปี 2553 จากจำนวน 183 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ (อันดับที่ 1) เยอรมัน (อันดับที่ 14) สหราชอาณาจักร (อันดับที่ 16) สวิสเซอร์แลนด์ (อันดับที่ 39) เบลเยี่ยม (อันดับที่ 43) อิตาลี (อันดับที่ 50) และสเปน (อันดับที่ 59)

5. อัตราภาษี

5.1 อิตาลีมีระบบการจัดเก็บภาษีที่ซับซ้อนและใช้เวลามากอันเนื่องมาจากกฎระเบียบต่างๆที่ค่อนข้างมาก โดยจากรายงาน World Economy Forum Global competitiveness ระหว่างปี 2552-2553 ปรากฎว่า ในการดำเนินธุรกิจต้องใช้เวลาในการเตรียมเอกสารและยื่นเสียภาษีถึง 334 ชั่วโมงต่อปี และมีจำนวนการจ่ายชำระถึง 15 ครั้งต่อปี ซึ่งสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของประเทศ OECD ที่เท่ากับ 194 ชั่วโมง และ 12.8 ครั้งต่อปี แม้ว่าจะมีการอำนวยความสะดวกในการยื่นเสียภาษีออนไลน์สาหรับการชำระภาษีต่างๆ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ค่าประกันสังคม ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเทศบาลที่จัดเก็บในการอำนวยความสะดวก ภาษีอสังหาริมทรัพย์ ภาษีสมาคมการค้าและภาษีรถยนต์ก็ตาม

ในปี 2552 อิตาลีมีอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล 27.5% (ไม่รวมภาษีเทศบาลที่จัดเก็บในการอำนวยความสะดวก) และมีอัตราภาษีในการดำเนินธุรกิจรวมกันถึง 68.4% ของกำไร ส่งผลให้มีการหลบเลี่ยงภาษีสูงซึ่งคาดว่ามีมูลค่าถึงปีละ 120 พันล้านยูโร รัฐบาลเบอร์ลุสโคนีได้มีความพยายามติดตามการหลบเลี่ยงภาษีมาตั้งแต่เริ่มต้นของปี 2553 โดยการนิรโทษกรรมการส่งคืนภาษีย้อนหลัง การตรวจค้นธนาคารหลายแห่ง และการอุดช่องโหว่ต่างๆ และประมาณการว่าในปี 2552 เศรษฐกิจแบบไม่เป็นทางการในอิตาลีสูงถึง 20-26% ของ GDP สูงที่สุดในสหภาพยุโรป ซึ่งทั้งสองปัจจัยดังกล่าวถือเป็นการบั่นทอนการคลังของประเทศ ทั้งนี้ อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ของอิตาลีจะเท่ากับประเทศสหภาพยุโรปอื่นๆ คือ 20% ส่วนภาษีแรงงานและประกันสังคมจะเท่ากับ 43.4% ของกาไร สูงกว่าอัตราเฉลี่ยของประเทศ OECD ที่เท่ากับ 24.4%

อัตราภาษีรายได้นิติบุคคล (corporate income tax) ในปี 2552 ของบางประเทศ ได้แก่ สวิสเซอร์แลนด์ (21.3%) อิตาลี (27.5%) สหราชอาณาจักร (28%) สเปน (30%) เยอรมัน (30.2%) และเบลเยี่ยม 34%

6. แรงงานและความชำนาญ

6.1 อิตาลีมีตลาดแรงงานที่ไม่ยืดหยุ่นและขาดแคลนแรงงานที่มีการศึกษาดี แต่ก็มีความเหมือนกับประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆที่ต้องอาศัยความรู้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในปี 2552 ประมาณการว่า 66% ของกำลังแรงงานอยู่ในภาคบริการ ทั้งนี้ แรงงานที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปที่ได้รับการศึกษาที่สูงขึ้นมีอัตราเพียง 10.9% ของกำลังแรงงาน เปรียบเทียบกับสเปน (19.2%) เยอรมัน (25.2%) และฝรั่งเศส (21.8%)

6.2 ในปี 2552 สัดส่วนของประชากรทำงานที่มีอายุระหว่าง 15-64 ปี เท่ากับ 61.8% ในขณะที่อัตราการว่างงานเท่ากับ 8% (ต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยของสหภาพยุโรปที่เท่ากับ 9% ) ทั้งนี้ การว่างงานในอิตาลีมีความไม่เท่าเทียมกันทั้งในด้านท้องถิ่นและประชากร โดยการว่างงานในแถบตอนใต้หรือที่เรียกว่า Mezzogiorno จะสูงกว่าแถบอื่นๆ 2-3 เท่า โดยมีอัตราการว่างงานของหนุ่มสาว (อายุ 15-29 ปี) คิดเป็น 19.1% ในด้านต้นทุนแรงงาน อิตาลีมีต้นทุนค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง อิตาลีไม่มีการบังคับในด้านค่าแรงขั้นต่ำ แต่ขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรองและทำความตกลงกันในแต่สาขา

7. ตลาดผู้บริโภคและการศึกษาเรื่องประชากร

7.1 ในปี 2553 อิตาลีเป็นตลาดผู้บริโภคที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 7 ของโลกที่มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปได้หลากหลาย เป็นหนึ่งในประเทศยุโรปที่ผู้บริโภคมีความรอบคอบและฉลาด โดยในปี 2552 มีสัดส่วนการออมของผู้บริโภคถึง 14.9% ของความสามารถในการหารายได้ ซึ่งนับว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่มีการออมสูงสุดในยุโรป

7.2 ระหว่างปี 2547-2511 การใช้จ่ายของผู้บริโภคเติบโตช้ามาก โดยมีอัตราการเจริญเติบโตต่อปีเฉลี่ยเพียง 1.5% และลดลงเหลือ 1% และ 2% ในปี 2551 และ 2552 ตามลาดับ โดยความสามารถในการหารายได้ต่อปีต่อคนในปี 2552 เท่ากับ 17,715 ยูโร เท่ากับประเทศยุโรปตะวันตกอื่นๆ และแม้ว่าอัตราการออมจะสูงแต่การใช้จ่ายของผู้บริโภคก็ไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้อย่างมีนัยสาคัญ เนื่องจากการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจที่คาดว่ายังคงต่ำในปี 2553 และ 2554 ในขณะที่การว่างงานจะยังคงอยู่ในระดับสูง รวมทั้งจำนวนประชากรสูงอายุที่คาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีจำนวนประชากรที่อายุมากกว่า 65 ปี ถึง 22.8% ของจำนวนประชากรทั้งหมด

ในด้านสินเชื่อผู้บริโภค (Consumer credit) ในอิตาลีได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2547 การกู้ยืมของผู้บริโภคในช่วงระหว่างปี 2547-2550 มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีอัตราเฉลี่ย 11.8% ลดลง 1.4% ในปี 2551 และเพิ่มขึ้น 2.5% ในปี 2552 ทั้งนี้คาดว่าสินเชื่อผู้บริโภคจะเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การออมยังคงอยู่ในระดับสูง และจะช่วยให้ผู้บริโภคใช้จ่ายมากขึ้น แม้ว่าในภาพรวมจะมีการเจริญเติบโตที่ต่ำก็ตาม

ทั้งนี้ สัดส่วนการใช้จ่ายของผู้บริโภคในปี 2552 มีดังนี้

  • อาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ใช่แอลกอฮอล์ 14%
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ 3%
  • เสื้อผ้าและรองเท้า 7%
  • บ้านที่อยู่อาศัย 22%
  • สินค้าและบริการในครัวเรือน 7%
  • สินค้าเพื่อสุขภาพและการบริการด้านการแพทย์ 3%
  • การขนส่ง 14%
  • การสื่อสารและโทรคมนาคม 3%
  • การหย่อนใจและบันเทิง 7%
  • การศึกษา 1%
  • โรงแรมและอาหาร 10%
  • สินค้าและบริการอื่นๆ 9%

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโรม

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ