สถานการณ์สินค้าผ้าผืนและเครื่องนุ่งห่มในตลาดสหรัฐอเมริกา

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 18, 2010 11:08 —กรมส่งเสริมการส่งออก

โครงสร้างสินค้าผ้าผืนและเครื่องนุ่งห่มนำเข้าของสหรัฐฯ จากทั่วโลกร้อยละของสินค้านำเข้ารวมทั้งหมด (เดือนม.ค.-ส.ค 2553)

          -  Knit Apparel                            1.98
          -  Woven Apparel                           1.84
          -  Cotton, Yarn, Fabric                    0.06
          -  Silk, silk Yarn, Fabric                 0.01

มูลค่าการนำเข้า-ส่งออกสินค้าโดยรวม(เดือนม.ค.-ส.ค 2553)

          -  นำเข้า           1,406,724.514   ล้านเหรียญสหรัฐ
          -  ส่งออก             929,969.925   ล้านเหรียญสหรัฐ


แนวโน้มการบริโภคโดยรวมของตลาดสหรัฐอเมริกาในปี 2553 และอนาคต:

ภาวะตลาดเครื่องนุ่งห่ม

1.ผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ตั้งอยู่ใน California, New York, Pennsylvania, North Carolina และ Texas แต่เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าในต่างประเทศ ทำให้สหรัฐอเมริกานำเข้าเสื้อผ้ามากกว่าผลิตในประเทศ ในปี 2552 มีการนำเข้าเครื่องนุ่งห่มมากกว่า 66 พันล้านเหรียญ

2.การค้าปลีกของเสื้อผ้า และเครื่องประดับมีปริมาณเพิ่มขี้นตามความต้องการของตลาดถึง 4.4% ในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2553 เมื่อเทียบกับสามไตรมาสแรกของปี 2552

3.เมื่อเปรียบเทียบตัวเลขผู้ผลิตส่งออกเครื่องนุ่งห่มที่ไม่คงทนในสหรัฐ (US nondurable goods manufacturers’ shipment of apparel) ในรอบแปดเดือนแรกของปี 2553 เพิ่มขึ้น 0.5% จากปี 2552

4.ราคาน้ำมันที่ผันผวนเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สิ่งทอ ราคาเพิ่มสูงในเดือนตุลาคม 2553 ถึง 16.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2552

5.สินค้าจากต่างประเทศมีราคาต่ำกว่าเครื่องนุ่งห่มที่ผลิตในสหรัฐถึง 75% เนื่องจากมีต้นทุนแรงงานที่ถูกกว่า สินค้าในสหรัฐมีทั้งส่วนที่นำเข้าจากต่างประเทศและจากโรงงานของผู้ผลิตสหรัฐที่ไปตั้งในต่างประเทศ การนำเข้าเครื่องนุ่งห่มในช่วงปี 2548 ถึง ปี 2552 มีมูลค่าเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 70 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีแนวโน้มที่ลดลง

แนวโน้มตลาดเครื่องนุ่งห่ม

1.มีการรวมบริษัทของผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มเพิ่มมากขึ้นเพื่อเป็นการลดต้นทุน ผู้ค้าปลีกรวมตัวกันและพัฒนาเป็น brand ขึ้น และเพื่อเพิ่มผลตอบแทนให้กับบริษัท รวมทั้งการเพิ่มสินค้าให้มีความหลากหลาย

2.จะมีการจ้างผลิต (Outsourcing) เพิ่มขึ้นเพื่อเป็นการเพิ่มกำลังการผลิตจากผู้ผลิตทั้งภายในประเทศและจากต่างประเทศ

3.การใช้เครื่องจักรแบบ semi-automated equipment ยังไม่สามารถเข้ามาแทนที่การใช้แรงงานคนได้ เนื่องจากผ้าบางชนิดต้องใช้ความละเอียดอ่อนและเย็บที่ละชิ้น

4.การตัดถูกแยกออกจากการตัดเย็บมากขึ้น โดยผู้ผลิตจะตัดชิ้นส่วนในสหรัฐและส่งไปเย็บในต่างประเทศ การแยกขั้นตอนสองอย่างออกจากกันทำให้ต้นทุนการผลิตถูกลง และได้ข้อได้เปรียบทางภาษีแต่ขณะเดียวกันสินค้ายังคงคุณภาพ ได้ดีเพราะใช้วัสดุจากสหรัฐ

5.ผู้ผลิตนิยมติด source tagging ไปกับสินค้าด้วยเพื่อป้องกันการผู้ลักลอบใช้ ตราสัญลักษณ์ (anti-theft labels)ในระหว่างกระบวนการผลิต

1. สถิติการนำเข้าสินค้าเครื่องนุ่งห่มและผ้าผืนของประเทศสหรัฐอเมริกา

สหรัฐอเมริกานำเข้าสินค้าประเภทเครื่องนุ่งห่ม Knit Apparel เป็นมูลค่า 24 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยที่ส่วนใหญ่แล้วจะนำเข้าสินค้าเครื่องนุ่งห่มมาจากประเทศจีน เวียตนาม และ อินโดเนเซีย ในปี 2553 (ม.ค-ส.ค) มูลค่าการนำเข้าจากประเทศเหล่านี้อยู่ที่ระดับ 8.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ 2.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และ 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ ทั้งนี้ในปี 2553 (ม.ค-ส.ค) สหรัฐอเมริกานำเข้าสินค้าเครื่องนุ่งห่ม Knit Apparel จากประเทศไทยมาเป็นลำดับที่ 12 มูลค่าการนำเข้ารวมอยู่ที่ 534 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตามในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2553 อัตราการนำเข้าสินค้าประเภทเครื่องนุ่งห่ม Knit Apparel จากประเทศไทยมีอัตราเพิ่มขึ้น 3% จากปีก่อนหน้า แต่หากนำตัวเลขนำเข้าสินค้าเครื่องนุ่งห่มจากไทยในช่วงเดือนมกราคม ถึง สิงหาคม ปี 2553 ไปเปรียบเทียบกับตัวเลขในช่วงเดียวกันของปี 2551 จะเห็นว่ามีอัตราการหดตัวเกือบ 20% ทั้งนี้เพราะในปี 2552 การนำเข้าของสหรัฐอเมริกาหดตัวลง

หากดูในรายละเอียดของการนำเข้าสินค้าประเภทนี้แล้ว มีสินค้าหลัก 3 รายการที่สหรัฐฯ นำเข้าจากไทยมากที่สุด คือ เครื่องแต่งกายสตรี เสื้อผ้าเด็ก และ เสื้อเสวตเตอร์ จะเห็นได้ว่าเครื่องแต่งกายสตรีโดยเฉพาะกางเกงชั้นในสตรีที่ผลิตจากผ้าฝ้าย มีอัตราการเติบโตที่ดี สหรัฐฯมีมูลค่าการนำเข้าสินค้าเครื่องแต่งกายสตรีจากไทยอยู่ที่ระดับ 86 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีอัตราการขยายตัวถึง 10% และ 25% จากปี 2551 และ 2552 ตามลำดับ

ในทางกลับกันสินค้าประเภทเสื้อกันหนาว เช่น เสื้อเสวตเตอร์ มีมูลค่าการนำเข้าที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยที่ลดลงจาก 136 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2551 มาอยู่ที่ระดับ 78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2553

หากดูในรายละเอียดของการนำเข้าสินค้าเครื่องนุ่งห่มชนิดทอ (Woven Apparel) แล้ว มีสินค้าหลัก 3 รายการที่สหรัฐฯ นำเข้าจากไทยมากที่สุด นั่นคือ ชุดชั้นในสตรี เสื้อสูทสตรี และ เสื้อเชิ้ตสตรี จะเห็นได้ว่าเครื่องแต่งกายสตรีโดยเฉพาะเสื้อชั้นในสตรี มีอัตราการเติบโตที่ดี มีมูลค่าการนำเข้าในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2553 อยู่ที่ระดับ 140 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 27% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

สหรัฐอเมริกามีการนำเข้าผ้าผืนประเภท Woven Fabric เป็นปริมาณสูงสุดเมื่อเทียบกับผ้าผืนประเภทอื่นๆ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า เป็นการนำเข้าที่มีอัตราลดลงอย่างต่อเนื่องจากปี 2548 เป็นต้นมา เนื่องจากเป็นช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเริ่มเข้าสู่ภาวะวิกฤต

2. ช่องทางการค้าสินค้าเครื่องนุ่งห่มและผ้าผืน

2.1 สินค้าเครื่องนุ่งห่ม

ผู้ส่งออกควรจะต้องหา Agent หรือ คู่ค้าเสียก่อน สำหรับประเทศสหรัฐฯการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าควรเป็นกิจกรรมที่จะทำก็ต่อเมื่อผู้ส่งออกมี Agent หรือ คู่ค้า หรือ Showroom แล้ว เนื่องจากปัจจัยหลักที่สำคัญต่อการค้า คือ การส่งสินค้าได้ในเวลาที่รวดเร็ว ปัจจุบัน หลายบริษัท โดยเฉพาะบริษัทที่มีอำนาจในการซื้อ จะลดค่าใช้จ่ายโดยการไม่เก็บสต็อกสินค้าเอง จะให้ผู้ขาย (supplier/vendor) เป็นผู้เก็บสินค้า และให้ส่งให้ภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งอยู่ในเวลาระหว่าง 1-2 อาทิตย์

เนื่องจากเศรษฐกิจของสหรัฐฯยังไม่กลับเข้าสู่สภาวะปกติ อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับสูง การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคเน้นที่ราคามากขึ้น ธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อ หรือปล่อยยากขึ้นมาก ทำให้มีผลกระทบต่อรูปแบบทางการค้าด้วย เช่น การสั่งซื้อสินค้าต่อครั้งมีปริมาณที่ลดลง และ Credit term ยาวขึ้น จนหลายครั้ง ผู้ส่งออกไทยไม่สามารทำธุรกิจด้วยได้ ดังนั้น ผู้ส่งออกควรคำนึงถึงปัจจัยข้อนี้เมื่อเจรจาธุรกิจกับผู้นำเข้าสหรัฐฯ ตัวอย่างกิจกรรมที่กรมส่งเสริมการส่งออกดำเนินการเพื่อผลักดันสินค้าเครื่องนุ่งห่มไทยที่มีแบรนด์เป็นของตนเอง เข้าสู่ตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งนับว่าเป็นกลยุทธ์ที่ถูกต้องและควรกระทำต่อเนื่อง ได้แก่ โครงการเครื่องนุ่งห่มไทยสู่ตลาดสหรัฐฯเป็นโครงการที่จัดหาผู้เชี่ยวชาญ/ดีไซน์เนอร์คนไทยที่อยู่ในวงการแฟชั่นของสหรัฐฯไปเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทไทยที่มีศักยภาพ และมีความตั้งใจที่จะพัฒนาแบรนด์ และสินค้าของตนเองเข้าตลาดสหรัฐฯอย่างยั่งยืนในอนาคต การสร้างแบรนด์ และการพัฒนาสินค้าเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เข้าร่วมโครงการต้องทุ่มเททั้งความรู้ กำลังคน และทุน เป็นกระบวนการที่ใช้เวลาและความต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การพัฒนาสินค้าที่มีแบรนด์เป็นกลยุทธ์ที่จะทำให้สินค้าไทยไม่ต้องแข่งขันด้านราคากับประเทศจีน สำหรับโครงการนี้ดำเนินการต่อเนื่องกันมาเป็นปีที่ 3 ผู้เข้าร่วมโครงการปัจจุบัน มี 6 ราย และในปัจจุบันทุกรายมีตัวแทนขาย (Agent) และ/หรือ Showroom ในประเทศสหรัฐฯแล้ว

2.2 สินค้าผ้าผืน

จากตัวเลขทางการค้าจะเห็นได้ว่า สหรัฐฯนำเข้าผ้าผืนและสิ่งทอไม่มากนักเมื่อเทียบกับการนำเข้าเครื่องนุ่งห่ม ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งคือ โรงงานผลิตสินค้าสำเร็จรูปในสหรัฐฯมีไม่มากนัก ประกอบกับต้นทุนค่าแรงสูง อย่างไรก็ตาม ในปี 2553 สหรัฐฯได้ประกาศมาตรการกระตุ้นการส่งออก และกระตุ้นให้ผู้ประกอบการสร้างงาน และตั้งโรงงานผลิตในประเทศมากขึ้น โดยให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อเป็นการดึงดูด ถึงแม้จะยังไม่เห็นผลชัดเจนในขณะนี้ แต่ในระยะยาว อาจจะเห็นสหรัฐฯนำเข้าผ้าผืนเพื่อมาผลิตสินค้ามากขึ้นก็เป็นได้

ในปี 2554 และ 2555 สำนักงานฯ มีแผนงานที่จะนำดีไซน์เนอร์ไทยที่มีชื่อเสียงในสหรัฐฯเข้าร่วมโครงการเพื่อพัฒนาสินค้าในกลุ่มแฟชั่น เพื่อเข้าตลาดสหรัฐฯ เนื่องจากจะเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจและมีประสบการณ์ทั้งในด้านช่องทางการตลาดและรูปแบบ/คุณภาพสินค้าสามารถถ่ายทอดให้กับผู้ส่งออกไทย เพื่อนำไปพัฒนาสินค้าของตนให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกาได้

3. ข้อเสนอแนะอื่นๆ

3.1 ในปัจจุบัน กรมส่งเสริมการส่งออกได้สนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ส่งออกไทยพัฒนาสินค้าของตนเองเพื่อจะได้ไม่ต้องแข่งขันด้านราคาเป็นอย่างเดียว โดยสำนักงานฯ ได้รายงานลักษณะความต้องการของผู้บริโภค และลักษณะของสินค้าและตลาดอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ผู้ส่งออกควรติดตามสถานการณ์ค่าเงินอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมาตรการต่างๆที่สหรัฐอเมริกาใช้อยู่ในขณะนี้ และอีกหลายมาตรการที่จะใช้ในอนาคตอันใกล้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซื้อคืนพันธบัตรนั้น จะส่งผลกระทบต่อค่าเงินไปทั่วโลกอย่างแน่นอน โดยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน เงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าแล้ว 10% แม้ ธปท.ได้ใช้ความพยายามในการออกมาตรการเพื่อชะลอการไหลเข้าของเงินทุน พร้อมกับเข้าแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยนบ่อยครั้งก็ตาม ภาวะค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น กระทรวงการคลังก็ได้ออกมาตรการในการควบคุมเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาในประเทศ เพื่อที่จะส่งผลให้สถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาทไม่รุนแรงไปมากกว่านี้

3.2 มาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี ที่สหรัฐฯเริ่มนำมาใช้ และจะบังคับใช้อย่างเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆในอนาคตซึ่งผู้ส่งออกไทยควรจะศึกษาผลกระทบ และเตรียมการรับมือ ได้แก่ การผลิตที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ประเด็นของ Carbon Credit การใช้แรงงานเด็ก (Child Labor) และแรงงานบังคับ (Forced Labor) เป็นต้น

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ