รายงานการเยี่ยมพบผู้ประกอบการนำเข้าและจำหน่ายผลไม้ไทยรายใหญ่ในมหานครฉงชิ่ง และติดตามความคืบหน้าโครงการ Thai-Style International Tourist Resort ณ เมืองหย่งชวน มหานครฉงชิ่ง
สคร. เฉิงตู เดินทางไปพบปะและเจรจากับคุณหวง จื้อกัง และคุณซ่าง เทียนหัว ผู้บริหาร บจก. จินกว่อหยวน (Golden Orchard) ผู้นำเข้าและกระจายสินค้าผลไม้ไทยรายใหญ่ในตลาดผลไม้ "ไช่หยวนป้า" มหานครฉงชิ่ง พบว่า เส้นทางการนำเข้าผลไม้ไทยที่บริษัทฯ ดำเนินการอยู่ แบ่งออกเป็นเส้นทางทางบกและทางน้ำ ดังนี้
1.เส้นทางบก คือ สวนผลไม้ในไทย->ชายแดนไทย->ลาว คุนหมิง(หยุนนาน)->กุ้ยโจว->ฉงชิ่ง ใช้เวลารวมประมาณ 5 วัน
2.เส้นทางน้ำ คือ เดินทางจากท่าเรือในไทย->ท่าเรือที่ฮ่องกง ต่อด้วยทางบก คือ เซินเจิ้น->ตลาดเจียงหนาน (กวางเจา)->ฉงชิ่ง ใช้เวลารวมประมาณ 7 วัน
ทั้งนี้ บจก. จินกว่อหยวน มีตราสินค้าของบริษัทฯ ที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่งในตลาดเจียงหนาน (กวางเจา) โดยมีปริมาณการนำเข้าและจำหน่ายมากเป็นอันดับสอง ทั้งนี้ บริษัทฯ ใช้ตราสินค้าในการแบ่งเขตการจำหน่ายสินค้า คือ ยี่ห้อต้าไห่ มีจำหน่ายในภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน และยี่ห้อจื่อหนานเจิน มีจำหน่ายในเขตทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจีน
ผลไม้ไทยที่บริษัทฯ จำหน่ายมาก เรียงลำดับได้ คือ ลำไย กล้วยไข่ มังคุด และทุเรียน สำหรับลำไย ในฤดูกาลลำไยมีการนำเข้าและจำหน่าย 4 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อวัน น้ำหนักบรรทุกตู้ละ 26 ตัน รวม 104 ตันต่อวัน คิดเป็น 3,120 ตันต่อเดือน บริษัทฯ จะจำหน่ายลำไยมากที่สุดในช่วงเทศกาลตรุษจีน แต่หากเป็นช่วงนอกฤดูกาล ปริมาณการจำหน่ายอยู่ที่ 70 - 80 ตันต่อเดือน อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ยังสามารถเพิ่มปริมาณการจัดซื้อลำไยเพื่อจำหน่ายได้อีกประมาณหนึ่งเท่าตัว โดยต้องวางแผนล่วงหน้าอย่างน้อย 2 - 3 เดือน เพื่อความสะดวกในการวางแผนการตลาดเพื่อกระจายสินค้าต่อไป ทั้งนี้ สคร. เฉิงตู ได้เชิญชวนผู้บริหารรายดังกล่าวเดินทางเพื่อพบปะเจรจากับเจ้าของสวนผลไม้ที่ประเทศไทยในช่วงต้นปี 2554 ด้วย เพื่อช่วยลดปริมาณลำไยล้นตลาดในฤดูกาลหน้า
นอกจากนี้ บจก. จินกว่อหยวน ยังเป็นผู้ลงทุนในการดำเนินโครงการ Thai-Style International Tourist Resort ณ เมืองหย่งชวน มหานครฉงชิ่ง ซึ่งเป็นโครงการไทยทาวน์ขนาดใหญ่ บนพื้นที่กว่า 200 ไร่ งบประมาณลงทุนกว่า 600 ล้านหยวน มีนายเซี่ยง ปิน เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการโครงการ ซึ่งการดำเนินการมีความคืบหน้าเป็นไปตามแผน จะแล้วเสร็จในปี 2556 ตามกำหนด โดยผู้บริหารรายดังกล่าวกล่าวว่า จะจัดให้มีร้านอาหารไทยและร้านจำหน่ายสินค้าไทยเปิดให้บริการภายในพื้นที่โครงการ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากมหานครฉงชิ่ง นครเฉิงตู และนักท่องเที่ยวจากพื้นที่อื่น ๆ ในภูมิภาคตะวันตกให้รู้จักประเทศไทยโดยย่อในพื้นที่พัฒนาดังกล่าว และเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธุรกิจที่ส่งผลดีต่อการค้าและการท่องเที่ยวของไทย
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครเฉิงตู
ที่มา: http://www.depthai.go.th