พาณิชย์ หารือรองผู้ว่าเขตปกครองฯกว่างซีหารือลดอุปสรรคการส่งออก

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 23, 2010 11:05 —กรมส่งเสริมการส่งออก

พาณิชย์ หารือรองผู้ว่าเขตปกครองฯกว่างซีหารือลดอุปสรรคการส่งออก หวังเพิ่มการค้าเป็น 300 ล้านเหรียญในปี 54 พร้อมเดินทางเร่งเชื่อมโยงเส้นทางอาเซียน-จีน

นายวีระศักดิ์ จินารัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังให้การต้อนรับนายเฉิน อู่ รองผู้ว่าเขตปกครองตนเองกว่างซี สาธารณรัฐประชาชนจีนว่า ได้หารือถึงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ความร่วมมือการจัดการพัฒนาโลจิสติกส์ระหว่างไทยกับเขตฯกว่างซี และระหว่างจีนกับอาเซียนให้แน่นแฟ้น แข็งแกร่งมากขึ้น คาดว่าภายในปี 2554 เขตปกครองฯกับไทยจะเพิ่มมูลค่าการค้าเท่าตัวเป็น 300 ล้านเหรียญสหรัฐ

“การเดินทางครั้งนี้เป็นการกระชับความร่วมมือ เพื่อเร่งสร้างเส้นทางเชื่อมต่อหนานหนิง-สิงคโปร์ ตลอดจนการสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าไทยในนครหนานหนิง ศูนย์ธุรกิจไทย-จีน และศูนย์ซื้อขายยางพาราหนานหนิง-อาเซียน ก่อนที่รองผู้ว่าฯกว่างซีจะเดินทางต่อไปเยือนพม่า โดยมูลค่าการค้าอาเซียนกับจีน เมื่อปี 2552 มีมูลค่ากว่า 1.78 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 11.6% โดยส่งออกเป็นมูลค่า 81,591 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และนำเข้า 96,594 ล้านเหรียญสหรัฐฯ”นายวีระศักดิ์ กล่าว

สำหรับปัญหาการขนส่ง อาทิ ใบอนุญาตนำเข้าผัก-ผลไม้ พบว่า อายุของใบอนุญาตนำเข้ามีระยะสั้นเพียง 6 เดือนเท่านั้น และระยะเวลาในการต่อใบอนุญาตสร้างความไม่สะดวกแก่ผู้ประกอบการนำเข้า การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากราคาประเมินกลาง แม้ว่าการนำเข้าสินค้าผัก ผลไม้สดและสินค้าเกษตรบางส่วนของไทยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า แต่ยังคงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากราคาประเมินกลางที่สูงกว่าความเป็นจริง ทำให้ต้นทุนสินค้าเพิ่มสูงขึ้น

การขนส่งสินค้าผ่านแดนจากประเทศไทยมายังเขตฯกว่างซีไม่สามารถใช้รถหัวลากไทย-ลาว-เวียดนาม-ด่านพรมแดนของเขตฯกว่างซีได้ ทำให้ผู้ประกอบการไม่ได้รับความสะดวก เสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ ต้นทุนค่าขนส่งสูง ทำให้สินค้าสดเกิดความเสียหาย และปัญหาสภาพเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจหนานหนิง-กรุงเทพฯ ในช่วงลาว-เวียดนาม ยังไม่มีความพร้อมเท่าที่ควร หากเส้นทางดังกล่าวได้รับการปรับปรุงจะช่วยร่นระยะเวลาการขนส่งได้อีก

ทั้งนี้ทางทิศใต้ของกว่างซี ติดกับอ่าวเป่ยปู้ เป็นจุดเชื่อมต่อของ 3 กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ได้แก่ กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจเขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำจูเจียง กรอบการพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันตกของจีน และเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน จึงถือเป็นพื้นที่เดียวของจีนที่มีทั้งด่านพรมแดนทางบกติดกับกลุ่มประเทศอาเซียนและท่าเรือออกสู่ทะเล ถือเป็นประตูสู่อาเซียน รวมทั้งเป็นเส้นทางออกสู่ทะเลของภาคตะวันตกของจีน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ