ตลาดสินค้าเส้นก๊วยเตี๋ยว/เส้นหมี่ในโปแลนด์

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 23, 2010 11:56 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ชาวโปแลนด์ให้ความสนใจบริโภคเส้นก๊วยเตี๋ยว/เส้นหมี่มากขึ้น เส้นก๊วยเตี๋ยว/เส้นหมี่ในโปแลนด์ที่จำหน่ายทั่วไปในตลาด ที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ เส้นพร้อมรับประทานและเส้นที่นำมาปรุงอาหาร ปริมาณการจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.98 ในปี 2010 คาดว่าจะมีปริมาณ 28,808.65 ตัน และเพิ่มจากปี 2005 ร้อยละ 35.72 ทั้งนี้ มูลค่าการค้าเส้นก๊วยเตี๋ยวในโปแลนด์ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.36 ในปี 2010 คาดว่าจะมียอดจำหน่ายสูงถึง 445.98 ล้านสว๊อตตี้ (๑ 12 บาท) เพี่มขึ้นจากปี 2005 ร้อยละ 37.30 แนวโน้มในอีก 5 ปีข้างหน้า ปริมาณการจำหน่ายคาดว่าจะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 24.65 หรือ มีปริมาณ 35,911.29 ตัน และมูลค่าจะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.92 คิดเป็น 512.51 ล้านสว๊อตตี้ (๑ 12 บาท)

เส้นก๊วยเตี๋ยว/เส้นหมี่เข้ามาจำหน่ายในโปแลนด์ได้เพียงในระยะ 15 ปีที่ผ่านมา แต่เพิ่งได้รับความนิยมใน 5 ปีที่ผ่านมา เมื่อมีชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนในโปแลนด์จำนวนมาก และชาวโปแลนด์เดินทางไปต่างประเทศมากขึ้น บริษัทผู้จำหน่าย 2 รายใหญ่ที่สุดในตลาด ได้แก่ Uniliver มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด ประมาณร้อยละ 48 รองลงมาเป็นบริษัทของมหาเศรษฐีชาวเวียดนาม บริษัท ทานเวียด มีส่วนแบ่งตลาด ร้อยละ 30 กลยุทธ์การตลาดที่สำคัญ คือ การจำหน่ายเส้นหมี่สำเร็จรูปบรรจุซอง (แบบเดียวกับม่าม่า ไวไว และอื่นๆ) ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในโปแลนด์ มุ่งกลุ่มลูกค้าคนทำงานในสำนักงาน แนะนำในฐานะอาหารว่างที่รวดเร็ว สะดวก และราคาถูก อีกทั้ง โปแลนด์เป็นประเทศที่อากาศหนาวเย็น ก๊วยเตี๋ยวร้อนเป็นอาหารที่เหมาะสมต่อสภาพอากาศ

เส้นก๊วยเตี๋ยว/เส้นหมี่ที่จำหน่าย มีทั้งเส้นที่มีรสจืด และเส้นปรุงรสซึ่งมีรสชาดของอาหารท้องถิ่นผสม เช่น รสซุปเห็ด รสซุปหัวหอม รสซุปไก่ และรสซุปเนื้อ เป็นต้น ในปัจจุบัน ผู้ผลิตได้นำเสนอเส้นปรุงรสที่แปลกใหม่ เช่น รสเผ็ด และรสสมุนไพร แต่เส้นรสจืดได้รับความนิยมมากกว่าก๊วยเตี๋ยว/เส้นหมี่ที่ปรุงรสมาแล้ว เนื่องจากมีคุณค่าทางอาหารสูงกว่า มีความเหนียวน้อยกว่า และสามารถนำไปใช้ปรุงอาหารอื่นได้ เช่น สลัด ซุป และอาหารทั่วไป ตำราอาหารสมัยใหม่ในโปแลนด์ แนะนำรายการอาหารที่ทำจากเส้นก๊วยเตี๋ยวมากขึ้น

แหล่งจำหน่ายที่มียอดขายสูงสุด คือ ร้านค้าปลีกขนาดเล็กที่อยู่บริเวณสำนักงานและบ้านพัก มีมูลค่าตลาด ร้อยละ 50 ของการจำหน่ายทั้งหมดในประเทศ ในขณะที่ยอดจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ต มีเพียง ร้อยละ 26

การแข่งขันในตลาดเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตเห็นว่าสินค้าได้รับการตอบรับดี มีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ผู้ผลิตนำรูปแบบใหม่ของสินค้ามานำเสนอในตลาด เช่น บริษัท ทานเวียด นำเสนอวุ้นเส้น และก๊วยเตี๋ยวเส้นเล็ก ที่ชาวโปแลนด์ไม่รู้จักมาก่อน สร้างสีสรรในการปรุงอาหารให้กับชาวโปแลนด์ จึงได้รับความนิยมดี ส่วนเส้นหมี่สำเร็จรูปถูกนำมาใช้เป็นอาหารว่าง เป็นที่นิยมของทำงานสำนักงาน และนักศึกษา

โอกาสของสินค้าไทย

แต่เดิมบริษัท ทานเวียด นำเข้าและจำหน่าย มาม่า ได้ผลกำไรดีมาก ต่อมาบริษัทฯ เห็นช่องทางผลิตสินค้าเอง และจำหน่ายในราคาที่ต่ำกว่าราคาของมาม่า จึงหยุดการนำเข้าสินค้าจากไทย สำหรับสินค้าก๊วยเตี๋ยว/บะหมี่จากไทยถูกรสนิยมชาวท้องถิ่น เป็นเส้นจืดไม่ปรุงรส เพื่อนำมาใช้ในการปรุงอาหาร เส้นมาม่าถูกปากผู้บริโภคที่นิยมอาหารมีรสชาด แต่ชาวโปแลนด์ท้องถิ่นรับประทานอาหารรสจืดกว่า อีกทั้ง ราคาเส้นบะหมี่ที่ผลิตในโปแลนด์ต่ำกว่าราคาที่นำเข้า แต่ขณะนี้ ยังไม่มีการผลิตก๊วยเตี๋ยวเส้นเล็กและวุ้นเส้น ซึ่งชาวโปแลนด์เห็นว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพ เป็นสินค้าแปลกใหม่ นำมาปรุงอาหารทันสมัยได้

ช่องทางการจัดจำหน่ายของสินค้าไทย

สินค้าในโปแลนด์นำเข้าผ่านบริษัทผู้นำเข้า มาจำหน่ายต่อไปยังซุปเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต และห้างร้าน ผู้นำเข้าสินค้าเส้นก๊วยเตี๋ยว/เส้นหมี่ มีทั้งบริษัทชาวเวียดนาม และบริษัทโปแลนด์ ซึ่งเป็นผู้นำเข้าสินค้าอาหารต่างชาติ โดยเฉพาะอาหารเอเชีย มุ่งกลุ่มลูกค้าชาวเอเชีย ชาวต่างชาติ และชาวโปแลนด์ระดับกลางและบนที่นิยมอาหารต่างชาติ ผู้นาเข้าจะเป็นผู้ที่รู้จักความต้องการของตลาดดี

วิธีการเพิ่มการซื้อขายสินค้าจากไทย ผู้ส่งออกควรแนะนำสินค้ารูปแบบใหม่ๆ เน้นคุณสมบัติด้านสุขภาพ มีคุณค่าทางอาหารสูง ไม่เป็นภัยต่อสุขภาพ และแนะนำเมนูอาหารให้ผู้นำเข้าไปเผยแพร่ต่อ เนื่องจากชาวโปแลนด์ชอบปรุงอาหาร นิยมสรรหาเมนูใหม่ๆ สำนักงานฯ วอร์ซอ พบว่า การที่สำนักงานฯ พิมพ์ตำราอาหารแจกในร้านขายของชำ เพิ่มการจำหน่ายสินค้าอาหารของไทยได้ กว่าร้อยละ 30 จากประมาณการของร้านค้า

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก โปแลนด์  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ