รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะการค้าอิตาลี ระหว่างวันที่ 1-15 พฤศจิกายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 23, 2010 14:49 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. สถานการณ์เศรษฐกิจอิตาลีในช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือนพฤศจิกายน 2553 ทรงตัวจากที่ได้กระเตื้องขึ้นเล็กน้อยในช่วง 2 สัปดาห์หลังของเดือนตุลาคม 2553 โดยผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติอิตาลีได้กล่าวว่าผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่มีต่อโครงสร้างการผลิตของอิตาลียังคงเป็นสิ่ง จำเป็นที่จะต้องมีการประเมินอย่างเต็มที่ ในขณะที่ความลำบากในการสร้างรายได้และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจก็ยังคงเป็นสิ่งที่ต้องกังวล โดยเฉพาะการชะงักงันด้านผลผลิตในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจซึ่งเกิดขึ้นทั่วประเทศและถือเป็นปัญหาระดับชาติ ทั้งนี้ ในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมาอิตาลีมี GDP ต่อหัวต่อปีลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2523 2.5% จากปี 2513 ที่เท่ากับ 3.4% และ 1.4% ในปี 2533 และจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ในช่วง 10 ปีแรกระหว่าง 2541-2551 ต้นทุนแรงงานต่อหน่วยผลผลิตเพิ่มสูงขึ้น 24% ในขณะที่ฝรั่งเศสเพิ่มขึ้น 15% และเยอรมันไม่เพิ่มขึ้น และในช่วงเวลาเดียวกันผลิตผลด้านแรงงานในอิตาลี เพิ่มขึ้นเพียง 3% ในขณะที่ฝรั่งเศสเพิ่มขึ้น 18% และเยอรมันเพิ่มขึ้นถึง 22%

2. ISTAT ได้รายงานว่า GDP ของอิตาลีในไตรมาส 3 ของปี 2553 เพิ่มขึ้น 0.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ดี หาก GDPในไตรมาสสุดท้ายของปี 2553 ไม่มีอัตราการเจริญเติบโต ก็คาดว่า GDP ของปี 2553 จะเพิ่มขึ้น1% และเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ทั้งนี้ ในไตรมาส 3 ของปี 2553 GDP ของประเทศยูโรโซน 16 ประเทศ และ 27 ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น 0.4% น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของ GDP ในช่วงไตรมาสก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้น 1.9% และ 2.1% ตามลำดับ ประเทศที่มี GDP เพิ่มขึ้น ได้แก่ เยอรมัน (+0.7%) ฝรั่งเศส (+0.4%) ส่วนประเทศที่มี GDP ลดลง ได้แก่ สหราชอาณาจักร (-0.8%) กรีซ (-1.1% แต่ดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัว -1.7%) สเปน (0%)

3. ธนาคารแห่งอิตาลี ได้เปิดเผยว่าในเดือนกันยายน 2553 อิตาลีมีหนี้สาธารณะสูงสุดที่ 1,844.8 พันล้านยูโร (สถิติเดิมสูงสุดเมื่อเดือนสิงหาคม 2553 ที่ 1,842.9 พันล้านยูโร) นอกจากนี้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 รัฐบาลมีการจัดเก็บรายได้ 266.077 พันล้านยูโร ลดลง 1.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และเฉพาะเดือนกันยายน 2553 ได้รัฐบาลจัดเก็บรายได้ 21,814 พันล้านยูโร เพิ่มขึ้น 8.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งจัดเก็บได้ 20,107 พันล้านยูโร

4. สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือฟิตช์เรตติ้ง ได้เปิดเผยว่าปัญหาใหญ่ที่สุดของอิตาลี คือ การมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศยุโรปอื่นซึ่งเกิดขึ้นมาเป็นเวลา 15-20 ปีแล้ว โดยเฉพาะปัญหาด้านประสิทธิภาพการผลิต (productivity) ที่อิตาลีไม่สามารถตามประเทศอื่นได้ทัน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมเท่านั้นแต่ยังเป็นปัญหาของเศรษฐกิจโดยรวมและปัจจุบันได้รวมถึงภาคบริการด้วย โดยที่ภาคการบริการของอิตาลีมีราคาแพง และสมควรจะต้องมีการปรับปรุงในด้านกฎระเบียบที่เป็นอยู่เสียใหม่ โดยภาคบริการที่จำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนมากที่สุด ได้แก่ การขนส่ง (transport) กระบวนการยุติธรรม (justice) และการเงินการธนาคาร

5. สถาบันจัดอันดับ Standard & Poor ได้จัดอันดับอิตาลีในด้านการเป็นประเทศที่มีหนี้สาธารณะสูง และการคงความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยให้เกรด A+ สำหรับระยะยาว และ A- สำหรับระยะสั้น และให้ความเห็นว่าแม้อิตาลีจะเป็นประเทศที่ค่อนข้างร่ำรวย และมีความหลากหลายทางเศรษฐกิจแต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงมีหนี้สาธารณะสูงและมีภาระดอกเบี้ย รวมทั้งมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวเป็นข้อจำกัดต่อความยืดหยุ่นของนโยบายในระยะยาว

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจอิตาลีค่อนข้างอ่อนตัวและส่งผลทางลบให้รัฐบาลอิตาลีต้องเพิ่มความพยายามอย่างมากผ่านทางมาตรการเคร่งครัดด้านงบประมาณรายจ่าย ซึ่งแม้รัฐบาลจะได้ดาเนินการอย่างเต็มที่ในปี 2552 แต่ก็คาดว่าอิตาลีจะยังคงมีหนี้สาธารณะที่สูงถึง 120% ของ GDP ในปี 2554

ทั้งนี้ S&P เห็นว่าผลจากการที่อิตาลีมีการเจริญเติบโตด้านประสิทธิภาพการผลิตที่ต่ำ และความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศที่ลดลงอย่างต่อเนื่องซึ่งทำให้อิตาลีต้องสูญเสียตลาดส่งออกไป จะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความสามารถในการสร้างงานของอิตาลีให้ต่ำลงด้วย อย่างไรก็ดี S&P คาดว่าอิตาลียังคงรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้เนื่องจากคาดว่ารัฐบาลอิตาลีจะยังคงใช้มาตรการลดการขาดดุลงบประมาณในช่วงปี 2554-2556 ต่อไปอีก ซึ่งจะทำให้อิตาลีขาดดุลงบประมาณ 3% ของ GDP ในปี 2555 และจะทำให้หนี้สาธารณะเริ่มลดลงได้ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นไป

6. ISTAT ได้รายงานว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือนตุลาคม 2553 เพิ่มขึ้น 1.7% จากเดือนก่อนหน้าที่เท่ากับ 1.6% และคาดว่าหากอัตราเงินเฟ้อในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2553 ไม่มีการเปลี่ยนแปลง จะทำให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 53 เท่ากับ 1.5%

ทั้งนี้ ในเดือนตุลาคม 2553 ดัชนีราคาผู้บริโภคสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค (ตั้งแต่อาหารถึง น้ำมัน) เพิ่มขึ้น 2.1% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนและเพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยราคาพลังงานเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 4.7% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น 8.5% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน แต่ลดลง 0.5% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์และยาสูบเพิ่มขึ้น 3.9% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนและเพิ่มขึ้น 1.6% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

กลุ่มสินค้าบริการที่มีราคาเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2553 ได้แก่ การศึกษา (+1.1%) เครื่องหย่อนใจ วัฒนธรรมและบันเทิง (+0.6%) ส่วนที่มีราคาลดลง ได้แก่ การสื่อสารโทรคมนาคม (-0.9%) และการขนส่ง (-0.1)

7. ISTAT ได้รายงานว่า ยอดขายอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาส 2 เพิ่มขึ้น 2.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ยังคงต่ำกว่าระดับก่อนหน้าวิกฤตเศรษฐกิจ (สัดส่วนของยอดขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัยเท่ากับ 93.2% และเพื่อการค้า 5.9%) เป็นการเพิ่มของยอดขายในอสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัย +2.6% และลดลงในอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้า -4.8% และหากพิจารณาแยกตามภูมิภาคของประเทศปรากฎว่าเพิ่มขึ้น+7.4% ในทางตอนใต้ เพิ่มขึ้น +5.9% ในทางตอนกลาง ,เพิ่มขึ้น+0.8% ในหมู่เกาะของแคว้นซิซิลีและซาร์ดีเนียร์ แต่ลดลง -0.5% ในทางตะวันตกเฉียงเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของอิตาลี

ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของยอดขายอสังหาริมทรัพย์ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2553 ดังกล่าว เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับธุรกรรมการจำนองซึ่งเพิ่มขึ้น +4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

8. เจ้าหน้าที่ตำรวจในโรมได้จับชาวจีน 3 คน ซึ่งเป็นเจ้าของโกดังเก็บสินค้าของเล่นที่ตั้งอยู่ที่โรมและตรวจยึดสินค้าของเล่นที่ผลิตจากประเทศจีนจำนวนเกือบ 400,000 รายการ มูลค่ากว่า 2 ล้านยูโร เนื่องจากสินค้าดังกล่าวไม่ได้ติดฉลากตามระเบียบว่าด้วยความปลอดภัยของสหภาพยุโรป และมีโอกาสก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็กได้

9. ISTAT ได้รายงานผลการศึกษาว่าจำนวนประชากรอิตาลีในอีก 40 ปีข้างหน้า (ปี 2593) จะเพิ่มขึ้นสูงจากปัจจุบัน 60 ล้านคน เป็น 61.6 ล้านคน และในจำนวนนี้ไม่ใช่ชาวอิตาเลียนแต่เป็นคนต่างชาติ (immigrations) ราว 10 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของจำนวนประชากรทั้งหมด (ปัจจุบันมีคนต่างชาติอยู่ในอิตาลีร้อยละ 7 ของประชากรทั้งหมด) โดยจะมีความหนาแน่นของคนต่างชาติในแต่ละพื้นที่ของประเทศ (เกือบ 25% อยู่ในแถบตะวันออกเฉียงเหนือ และ 3% อยู่ในเกาะซิซิลีและซาร์ดีเนียร์) นอกจากนี้ในการศึกษาด้านความเปลี่ยนแปลงของประชากรในปี 2593 ประชากรสูงอายุจะมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยคิดเป็นร้อยละ 15 ของจำนวนประชากรทั้งหมด (ปัจจุบันสัดส่วนประชากรสูงอายุต่อจำนวนประชากรทั้งหมดเท่ากับ 5.8%)

10. รัฐบาลอิตาลีได้เห็นชอบมาตรการด้านความปลอดภัยใหม่เพื่อต่อสู้และขจัดปัญหาโสเภณีต่างชาติ รวมทั้งปัญหาคนเร่รอน และอันธพาลในวงการฟุตบอล

ภายใต้มาตรการใหม่ดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถขับผู้หญิงที่ขายบริการริมถนนให้ออกนอกประเทศได้ ซึ่งปัจจุบันทำได้เพียงการปรับโดยเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น รวมทั้งกรณีคนที่มีถิ่นที่อยู่อาศัยในประเทศสหภาพยุโรปที่อยู่ในอิตาลีมากกว่า 90 วัน แต่ไม่มีงานทาหรือไม่มีรายได้หรือไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และเพิกเฉยต่อคาสั่งที่ให้เดินทางออกนอกประเทศก็จะถูกขับออก ซึ่งสอดคล้องกับกฎระเบียบของสหภาพยุโรป

11. แหล่งข่าวจากรัฐบาลแจ้งว่านายกรัฐมนตรีเบอร์ลุสโคนีได้ตอบรับคำเชิญให้เดินทางไปเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการในปีหน้า ในโอกาสที่นายเบอร์ลุสโคนีได้พบหารือกับนายกรัฐมนตรีเวียดนาม (นายเหงียน ทันดุง) ในการประชุมสุดยอดผู้นา G20 โดยมีประเด็นที่ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการในอันดับแรก คือ การต่อสู้กับการเก็งกำไรในทรัพยากรพื้นฐานของประเทศ โดยเฉพาะการเก็งกำไรด้านการเงินและการยักย้ายถ่ายเทในตลาด

ทั้งนี้ การค้าระหว่างอิตาลีและเวียดนามในปี 2552 มีมูลค่า 2.2 พันล้านยูโร โดยอิตาลีส่งออกไปเวียดนามได้เพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับปีก่อน

12. องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (UN FAO) ได้รายงานว่าผลผลิตสินค้าเกษตรของโลกในช่วง 4 ทศวรรษหน้า จะต้องเพิ่มขึ้นถึง 70% เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น และได้เตือนว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (climate change) จะก่อให้เกิดความท้าทายที่สำคัญ เนื่องจากจะเป็นตัวการที่ทำให้ประสิทธิภาพการผลิต ความมั่นคงและรายได้ในหลายๆพื้นที่ซึ่งปัจจุบันต้องประสบกับความไม่มั่นคงทางด้านอาหารในระดับสูง ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนของสินค้าเกษตรอย่างสำคัญ ภาคการ เกษตรต้องผลิตอาหารให้ได้มากขึ้น ลดความเสียหายลง การหาวิธีที่จะช่วยให้เกษตรกรสามารถนำผลผลิตถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น และการพัฒนาวิธีการเข้าถึงข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์และความรู้ความชำนาญให้แก่เกษตรกร เป็นต้น

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโรม

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ