การตลาดสินค้าสิ่งทอ (ผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม) ในประเทศอินโดนีเซีย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 23, 2010 15:51 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. สถานการณ์ภาพรวมของอุตสาหกรรมสิ่งทอ

อุตสาหกรรมสิ่งทอของอินโดนีเซีย ประกอบด้วย อุตสาหกรรมหลัก 5 สาขาได้แก่

1. อุตสาหกรรมเส้นใย ได้แก่ เส้นใยธรรมชาติ (ไหม ฝ้าย ปอ) และเส้นใยประดิษฐ์ (Rayon, Polyester เป็นต้น)

2. อุตสาหกรรมเส้นด้าย ได้แก่ เส้นด้ายประดิษฐ์ เส้นด้ายจากธรรมชาติ และเส้นด้ายปั่น

3. อุตสาหกรรมผ้าผืน ได้แก่ ผ้าทอ (Woven fabrics) ผ้าใยสังเคราะห์ (Non-woven fabrics) ผ้าถัก (Knitted fabrics) ผ้าลูกไม้ (Lace) ผ้าปัก (Embroidery) ผ้าเคลือบ (Laminated/impregnated fabrica)

4. อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ได้แก่ เสื้อผ้าเด็ก เสื้อผ้าผู้หญิง และเสื้อผ้าผู้ชาย

5. อุตสาหกรรมสิ่งทออื่นๆ ได้แก่ พรม เครื่องนอน ผ้าคลุมเตียง ผ้าถักจากเชือก เป็นต้น

อุตสาหกรรมสิ่งทอของอินโดนีเซียถือเป็นธุรกิจที่สำคัญของประเทศ เนื่องจากเป็นธุรกิจส่งออกที่ทำรายได้ให้กับประเทศสูงสุดในหมวดสินค้าที่ไม่ใช่น้ำมัน (Non-oil) มีการจ้างงานสูงถึง 1.3 ล้านคน และมีโรงงานที่ดำเนินธุรกิจสิ่งทอกว่า 3,000 แห่งทั่วประเทศ ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสิ่งทอ

นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่สำคัญรายหนึ่งเป็นลำดับที่ 9 ของโลก หากพิจารณาจากกำลังการผลิตเต็มประสิทธิภาพ พบว่าอินโดนีเซียมีความสามารถ อยู่ในลำดับที่ 4 ของประเทศผู้ผลิตสิ่งทอที่สำคัญของโลก และหากพิจารณาเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียน พบว่า อินโดนีเซีย เป็นประเทศผู้ส่งออกอันดับหนึ่ง ทั้งผลิตภัณฑ์สิ่งทอ และเสื้อผ้า โดยในปี 2551 การส่งออกสิ่งทอและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง คิดเป็นมูลค่า 10,144 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ เพิ่มขึ้น 3 % จากปี 2550

ทั้งนี้ ในบางพื้นที่อุตสาหกรรมสิ่งทอถือเป็นสินค้าสำคัญลำดับต้น ๆ เช่น ชวาตะวันออก สินค้าส่งออกมากที่สุด คือ สิ่งทอ โดยในปี 2548 โดยสามารถส่งออกได้ถึง 46,642 ตัน หรือ คิดเป็นมูลค่า 236

2. สถานการณ์ของอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูป

2.1 การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป

อุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปถือเป็นสาขาที่ใหญ่ที่สุดของอุตสาหกรรมสิ่งทอและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากสามารถส่งออกได้ถึงร้อยละ 88 ของการผลิตทั้งหมด อุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปจึงเริ่มกลายมาเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ ตั้งแต่ปี 1970 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศอินโดนีเซียกำลังขยายตัวทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ อุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปยังมีบทบาทสำคัญในด้านการใช้แรงงานจำนวนมากถึง 435,565 คน ในปี 2551 หรือคิดเป็นร้อยละ 30 ของการจ้างงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอทั้งหมด โดยเพิ่มจาก 346,295 คนในปี 2550

เนื่องจากอินโดนีเซีมีปัญหาการว่างงานสูง ขณะที่จำนวนแรงงานในตลาดแรงงานเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปีจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมไม่ทันที่จะจัดหางานรองรับปริมาณแรงงานที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ดังนั้นอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูป จึงถูกใช้เป็นกลยุทธ์ของประเทศที่ใช้รองรับปริมาณแรงงานจำนวนมากเนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเป็นส่วนใหญ่ และถือเป็นปัจจัยสำคัญในกระบวนการผลิต เช่น การเย็บ และ การขึ้นรูป (Fitting) ซึ่งต้องใช้แรงงานที่มีทักษะและความชำนาญ อุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในแถบชวาตะวันตกและบาหลี ซึ่งเป็นแหล่งที่มีแรงงานที่มีฝีมือในการตัดเย็บเสื้อผ้า

2.2 กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น

กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่อุตสาหกรรมการปั่นด้าย และการทอด้ายมีกำลังการผลิตลดลง เนื่องจากปัญหาของเครื่องจักรที่ไม่มีประสิทธิภาพและเทคโนโลยีที่ล้าสมัย แต่เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตของอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปยังอยู่ในสภาพที่ดี การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปจึงสามารถเพิ่มขึ้นได้ทุก ๆ ปี แม้ว่าจะมีการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก แต่กำลังการผลิตในประเทศยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2545 มีกำลังการผลิตรวม 591,000 ตัน เพิ่มขึ้นเป็น 754,000 ตันในปี 2549 ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกที่เพิ่มขึ้น เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปไม่ได้สลับซับซ้อน หรือ มีราคาแพงเช่นอุตสาหกรรมต้นน้ำ เช่น การปั่น และ ทอด้าย ดังนั้นจำนวนผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปจึงมีจำนวนมากกว่า ในปี 2548 มีผู้ประกอบการ 856 ราย และเพิ่มเป็น 897 รายในปี 2549 ผู้ผลิตที่สำคัญ คือ PMN ขณะที่ผู้ผลิตจากต่างประเทศส่วนใหญ่มาจากเกาหลีใต้ และ ฮ่องกง

2.3 การส่งออก

การส่งออกเสื้อผ้าของอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเป็นผลจากมาตรการห้ามนำเข้าเสื้อผ้าจากจีนของอเมริกาและสหภาพยุโรป ซึ่งถือเป็นตลาดที่ใหญ่ของอินโดนีเซีย ในปี 2552 การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปคิดเป็น 5,660.80 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก 6,015.93 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2551 คิดเป็น 8.33 % ของการส่งออกทั้งหมด หรือ คิดเป็นร้อยละ 56.95 % ของมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอทั้งหมด

สหรัฐอเมริกาเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของผลิตภัณฑ์สิ่งทอสำเร็จรูปของอินโดนีเซีย เนื่องจาก สหรัฐฯ นำเข้าผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากอินโดนีเซียในสัดส่วนสูงถึง ประมาณ 30 % ของการส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอทั้งหมดของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ในปี 2551 สหรัฐฯ ได้ใช้มาตรการจำกัดปริมาณการนำเข้าสิ่งทอจากจีน เพื่อป้องกันการทุ่มตลาดสินค้าต้นทุนต่ำที่จะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตในประเทศของตน ในขณะที่ปริมาการส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอสำเร็จรูปจากอินโดนีเซียไปยังสหรัฐฯ กลับเพิ่มสูงขึ้นมาก จนเป็นที่น่าสังเกตว่าจะเป็นแหล่งกำเนิดของสินค้าจะเป็นประเทศจีน จนทำให้อุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปของอินโดนีเซียยังประสบปัญหาเรื่องตลาดส่งออก โดยอินโดนีเซียถูกกล่าวหาว่าเป็นประเทศที่ผู้ผลิตประเทศอื่นใช้ขนถ่ายสินค้าต่อไปยังประเทศอื่น (Transhipment) ที่ผิดกฎหมาย เพื่อสวมการใช้สิทธิ์เรื่องเอกสารการส่งออก หรือ แหล่งกำเนิดสินค้า ว่าเป็นสินค้าที่ผลิตจากประเทศอินโดนีเซีย เช่น ผู้ผลิตประเทศจีน ที่ถูกห้ามนำเข้า

ทั้งนี้พบว่าสินค้าจากประเทศจีนจะถูกส่งไปยังประเทศสิงคโปร์ หรือ ฮ่องกง ก่อนแล้วจึงถูกส่งต่อไปยังประเทศอินโดนีเซีย เพื่อทำการเปลี่ยนเอกสารการส่งออก หรือ เปลี่ยนแปลงแหล่งกำเนิดของสินค้าใหม่ โดยมีต้นทุนในการดำเนินการดังกล่าวเที่ยวละ 3,000 — 4,000 เหรียญสหรัฐฯ ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญทางการค้าของอินโดนีเซียจึงได้เสนอแนะให้รัฐบาลหยุดยั้งกระบวนการที่ไม่ถูกต้องเหล่านี้ เพราะอาจจะเป็นสาเหตุให้สหรัฐฯ ห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากอินโดนีเซีย หรือ อาจนำมาตรการกีดกันทางการค้าอื่น ๆ มาใช้กับอินโดนีเซียได้ และอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอของอินโดนีเซียในอนาคตด้วย

นอกจากนี้ การส่งออกในปี 2550 ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นผลจากการเริ่มใช้มาตรการยกเว้นภาษีระหว่างประเทศอาเซียนด้วยกันจากข้อตกลงการค้าเสรี AFTA (Asian Free Trade Area) รวมถึงข้อตกลงการค้าระหว่างอินโดนีเซียและญี่ปุ่นในการลดอัตราภาษีในสินค้าหลายประเภทด้วยกัน การเพิ่มขึ้นของประชากรทั่วโลก และการรวมตัวกันของตลาดอาเซียนทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์สิ่งทอเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

ซึ่งภาครัฐบาลและผู้ประกอบการเสื้อผ้าของอินโดนีเซียต้องร่วมมือกันในการพัฒนาอุตสาหกรรมเสื้อผ้าให้แข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้ ที่ผ่านมาผู้ประกอบการยังร้องเรียนว่าการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากฝ้ายส่งผลให้การส่งออกลดลงล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2549 ส่งออกได้เพิ่มขึ้นเป็น 66,239 ตัน หรือ คิดเป็น 275 ล้านเหรียญสหรัฐเป็นสินค้าส่งออก

ในปี 2547 อุตสาหกรรมสิ่งทอในอินโดนีเซียได้ประสบปัญหาด้านการเงินอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ภายใต้ความไม่แน่นอนทางธุรกิจ และแม้ว่าธุรกิจสิ่งทอจะมีปัญหา แต่ก็มีความพยายามที่จะกระตุ้นให้ธุรกิจสิ่งทอฟื้นตัวขึ้น โดยภาครัฐได้ให้ความช่วยเหลืออุดหนุนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับผู้ประกอบการถึง 15%

3. ความต้องการของตลาด

อินโดนีเซียเป็นตลาดใหญ่ที่มีความต้องการบริโภคสิ่งทอและผลิตภัณฑ์สิ่งทอเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างต่อเนื่องจากคนละ 4 กิโลกรัมในปี 2543 เพิ่มขึ้นเป็นคนละ 5 กิโลกรัมและคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นคนละ 6 และ 7.5 กิโลกรัมต่อคนในปี 2558 และปี 2568 ในขณะที่ความต้องการของตลาดรวมทั้งหมดมี 1.16 ล้านตัน ทั้งนี้ แม้ว่าอินโดนีเซียจะเป็นผู้ผลิตและสิ่งทอรายสำคัญของโลกก็ตาม แต่ก็ยังมีความต้องการนำเข้าสิ่งทอและผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ

4. การนำเข้าสิ่งทอและผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ

ในปี 2552 อินโดนีเซียมีการนำเข้าสิ่งทอและผลิตภัณฑ์จากตลาดโลกที่สำคัญ 5 ประเภท แรกได้แก่

1. เส้นด้ายฝ้าย (Cotton Yarn) มีมูลค่าการนำเข้า ในปี 2552 ทั้งหมด 1,476 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือลดลงร้อยละ 25.05 เมื่อเทียบกับปี 2551โดยนำเข้าจาก จีน สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง ออสเตรเลีย และอินเดีย เป็นต้น

2. ผ้าถัก (Knit Fabric) มีมูลค่าการนำเข้า ในปี 2552 ทั้งหมด 628.49 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือลดลงร้อยละ 11.6 เมื่อเทียบกับปี 2551โดยนำเข้าจาก เกาหลีใต้ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน และไทย เป็นต้น

3. ผ้าใยสังเคราะห์ (Manmade Filament Fabric) มีมูลค่าการนำเข้า ในปี 2552 ทั้งหมด 572.12 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือลดลงร้อยละ 20.64 เมื่อเทียบกับปี 2551โดยนำเข้าจาก จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่น และ ฮ่องกง เป็นต้น

4. เส้นใยประดิษฐ์ (Manmade Staple Fibers) มีมูลค่าการนำเข้า ในปี 2552 ทั้งหมด 561.73 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือลดลงร้อยละ 8.24 เมื่อเทียบกับปี 2551 โดยนำเข้าจากจีน ญี่ปุ่น ไทย ไต้หวันและ เกาหลีใต้ เป็นต้น

5. ผ้าผืน (Impregnated Text Fabric) มีมูลค่าการนำเข้า ในปี 2552 ทั้งหมด 248.21 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือลดลงร้อยละ 11.69 เมื่อเทียบกับปี 2551โดยนำเข้าจากจีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน เยอรมนี และ ญี่ปุ่น เป็นต้น

5. การนำเข้าผ้าทอของอินโดนีเซีย

การผลิตผ้าทอของอินโดนีเซียได้ประสบกับภาวะถดถอยและยอดการจำหน่ายลดลง เนื่องจากการใช้เครื่องจักรที่ไม่มีประสิทธิภาพ และประมาณร้อยละ 80 เป็นเครื่องจักรเก่ามากจนไม่สามารถจะทำงานได้ โดยในปี 2545 อินโดนีเซีย สามารถผลิตผ้าทอได้ 1,275 พันตัน ลดลงเป็น 946 พันตัน ในปี 2549 หรือลดลงร้อยละ 25 นอกจากนี้ การที่สหรัฐอเมริกา และยุโรปประกาศยกเลิกระบบโควตาส่งออก จึงทำให้อุตสาหกรรมผ้าผืนยิ่งประสบกับปัญหาหนักขึ้นในการแข่งขันกับจีน และอินเดีย และที่สำคัญคือ ปัญหาของวัตถุดิบพื้นฐาน โดยเฉพาะ เส้นใย Viscose และเส้นใยฝ้ายยังสามารถผลิตได้เพียง 2 บริษัท คือ PT. South Pacific และ PT. Indo-Bharat Rayon ผลิตได้ทั้งหมด 287,000 ตันต่อปีและยังผลิตเพื่อส่งออกอีกร้อยละ 30 ในขณะที่ความต้องการเส้นใยเรยอนมรมากถึง 250,000 ตัน ดังนั้นจึงต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากผ้าถักเป็นสินค้าขั้นกลางที่จะต้องนำไปผ่านขบวนการฟอกย้อม พิมพ์ และผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป

ปัจจุบันเครื่องจักรที่ผลิตผ้าถักร้อยละ 13 เป็นเครื่องจักรใหม่ อีกร้อยละ 87 เป็นเครื่องจักรเก่า ซึ่งสามารถผลิตผ้าผืนเกรด A ได้ร้อยละ 25 เกรด B ได้ร้อยละ 30 เกรด C และเกรด D ได้ร้อยละ 45 ทั้งนี้ โดยทั่วไป ราคาผ้าเกรด A จะมีราคาสูงกว่าเกรด B ร้อยละ 15

แนวโน้มในการนำเข้าผ้าถักทอลดลงจากในปี 2545 มูลค่า 588.60 ล้าเหรียญสหรัฐ ได้ลดลงเป็น363.1 ล้าเหรียญสหรัฐ หรือลดลงร้อยละ 38 เนื่องจากการยกเลิกโควตาในปี 2548 ดังนั้นรัฐบาลจึงได้ออกมาตรการช่วยเหลืออุตสาหกรรมผ้าถักทอ โดยรัฐจะให้เงินทุนในรูปส่วนลดจากราคาซื้อเครื่องจักรร้อยละ 11 แต่ไม่เกิน 175 พันล้านรูเปีย และให้เงินกู้สูงสุดไม่เกิน 80 พันล้านรูเปีย

การนำเข้าผ้าผืนจากไทย ในปี 2552 มีการนำเข้ามากที่สุด ได้แก่ ผ้าผืนใยสังเคราะห์ (Manmade Filament Fabric) มีมูลค่า 21,313 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.76 เมื่อเทียบกับปี 2551

รองลงมาได้แก่ ผ้านิต มีมูลค่าการนำเข้าในปี 2552 ทั้งสิ้น 17,030 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือลดลงร้อยละ 16.23 เมื่อเทียบกับปี 2551 นอกจากนี้ ยังมีการนำเข้าผ้าฝ้าย มูลค่า 10,743 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือลดลงร้อยละ 19.46 เมื่อเทียบกับปี 2551 รวมทั้งการนำเข้าผ้าทอพิเศษ ได้แก่ ผ้าลูกไม้ ผ้ายืด เป้นต้น มีมูลค่า 6,931 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.69 เมื่เทียบกับปี 2551

6. ตลาดภายในประเทศและสินค้านำเข้า

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาตลาดเสื้อผ้าในอินโดนีเซียจะมีการนำเข้าเสื้อผ้าจากประเทศจีนขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2552 การนำเข้าเสื้อผ้าจากจีนทั้งหมดมีมูลค่า 125.75 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 36 เมื่อเทียบกับปี 2551 โดยการนำเข้าเสื้อถัก เสื้อใน และ ชุดชั้นใน มีมูลค่า 9 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ เพิ่มขึ้นจาก 1 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2547 หรือ เพิ่มขึ้น 800 % ผู้ประกอบการธุรกิจเสื้อผ้า จึงเรียกร้องให้รัฐบาลใช้นโยบายปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ แต่รัฐบาลขอเจรจาปัญหาดังกล่าวนี้กับประเทศจีนก่อน เพราะการใช้นโยบายปกป้องนั้นองค์การการค้าโลก (WTO) อนุญาตให้ใช้ได้หากพิสูจน์ได้ว่าได้รับผลกระทบจากการนำเข้า และยังต้องใช้ความชำนาญในการเจรจา

นอกจากนี้ ยังมีการลักลอบนำเข้าเสื้อผ้าแบบผิดกฎหมาย ในอดีตมักนำเข้าจากจีน สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และ จีน ที่นำมาจำหน่ายในราคาที่ต่ำกว่า การลักลอบการนำเข้าในปี 2548 มีมูลค่าสูงถึง 2,300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 59 เมื่อเทียบกับปี 2547 โดยในช่วง 2542 — 2549 การนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นสูงถึง 380 % จึงส่งผลกระทบมากต่อผู้ผลิตในประเทศรายย่อยที่ไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าราคาถูกจากประเทศจีนที่ครองตลาดในประเทศได้มากขึ้นและอย่างต่อเนื่อง จากสถิติของสมาคมสิ่งทอของอินโดนีเซีย (The Indonesian Textile Association : API) พบว่าในปี 2544 — 2548 ผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปจำนวน 347 รายจาก 2,600 รายต้องปิดตัวลง เสื้อผ้าสำเร็จรูปจากประเทศจีนมีวางจำหน่ายทั่วไปในตลาดเสื้อผ้าที่สำคัญ เช่น ตลาด Tanah Abang ในจาการ์ตา และ ตลาด Pasar Klewer ในเมือง Solo

เสื้อผ้าสำเร็จรูปจากจีนเริ่มได้รับความนิยมในตลาดค้าปลีก เพราะมีแบบให้เลือกหลากหลายและมีราคาถูกกว่า กางเกงยีนส์ผู้หญิงที่มีคุณภาพดีมีการปักอย่างสวยงามราคาต่ำกว่า 100,000 รูเปีย สำหรับตลาดส่งออก อินโดนีเซียยังคงได้สิทธิพิเศษในเรื่องของโควต้าการส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ขณะที่สินค้าจากจีนและเวียดนามไม่ได้รับสิทธิพิเศษโควต้า เนื่องจากราคาสินค้าที่ต่ำ

7. การนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากไทย

ในปี 2552 อินโดนีเซียมีการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากตลาดโลก มูลค่า 213,838 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับมูลค่า 232,928 ล้านเหรีญสหรัฐ หรือ ลดลงร้อยละ 8 โดยมีการนำเข้าจากไทยมูลค่า 2,365.81 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับมูลค่า 5,638 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2551 หรือลดลงร้อยละ 58 โดยสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่นำเข้าจากไทยที่สำคัญคือ เสื้อผ้านิต ได้แก่ เสื้อยืด T-shirt เสื้อผ้าผู้หญิง เชิ้ต เสื้อผ้าผู้ชาย สูท ชุดสกีสูท นอกจากนี้ยังมีเสื้อผ้าทอ เช่น เครื่องตกตกแต่ง สูทผู้หญิง ชุดชั้นใน เสื้อผ้าชาย และเด็ก เป็นต้น

สินค้านำเข้าจากไทยที่ได้รับความนิยมในตลาดได้แก่ เสื้อผ้าฝ้ายลายดอกสีสด เป็นเสื้อตัวยาว แขนยาวแบบมุสลิม เนื่องจากคนอินโดนีเซียส่วนมากจะนิยมใส่เสื้อยืดด้านในเป็นแขนยาว คอปิด ส่วนด้านนอกจะเป็นเสื้อผ้าฝ้ายไม่หนามาก นอกจากนี้ ยังนิยมเสื้อเชิ๊ตผ้าฝ้ายลายดอกสีสดจากไทย ซึ่งมีคุณภาพดี และราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับสินค้าจากจีน

ปัจจุบันมีเสื้อผ้าของนักออกแบบชื่อดังของไทย เช่น ไข่บูติค อิทธิ วาทิต ได้เข้ามาเปิดตลาดระดับสูงในย่านการค้าระดับสูงที่ Plaza Indonesia โดยมีโชว์รูมเป็นของผู้นำเข้าจำหน่ายในร้าน ได้แก่ เสื้อผ้าประเภท Sophicicate ตกแต่งด้วยลูกไม้ เป็นชุดกลางวัน กลางคืน จะได้รับความนิยม เนื่องจากการออกแบบเป็นที่ต้องการของลูกค้า และราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับเสื้อผ้าประเภทเดียวกันที่นำเข้าจากยุโรป นอกจากนี้ ยังมีแบรนด์ของไทย CINDORA ได้เข้ามาเปิดโชว์รูม จำหน่ายเสื้อผ้านิต รูปแบบทันสมัยผสมผสานกับรูปแบบของเสื้อผ้ามุสลิม ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จมาก

8. กลยุทธ์การเจาะตลาด

อินโดนีเซียเป็นตลาดใหญ่ที่มีสัดส่วนของตลาดกลุ่มเป้าหมายหลายระดับ โดยเฉพาะตลาดระดับสูง ซึ่งมีกำลังซื้อและความต้องการเสื้อผ้าที่มีดีไซน์จากไทย เนื่องจากมีความเชื่อมั่นในนักออกแบบบของไทยว่าสามารถออกแบบได้ไม่แพ้กับดีไซน์เนอร์ของยุโรป โดยเฉพาะการออกแบบที่ผสมผสานระหว่างผ้าไหมของไทยและผ้าบาติกเป็นแนวโน้มใหม่ที่ยังสามารถเข้ามาขยายตลาดนี้ได้

อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นเสื้อผ้าที่มีแบบทั่วไป หรือแบบที่ผลิตจำนวนมาก และไม่มีการออกแบบจะไม่สามารถเข้ามาขายในตลาดนี้ได้ เนื่องจาก อินโดนีเซีย เป็นแหล่งผลิตเสื้อผ้ารายใหญ่ มีการผลิตเสื้อผ้าเพื่อการส่งออกจำนวนมาก และมีร้านจำหน่ายเสื้อผ้าส่งออก OUTLET จำนวนมากไม่ต่ำกว่า 200 แห่งที่จังหวัดบันดุง ได้แก่ ยีนส์ เสื้อยืด เสื้อโปโล ที่มีแบรนด์ชื่อดังของต่างประเทศ มาจำหน่ายจำนวนมาก และได้รับความนิยมจากคนอินโดนีเซียด้วย นอกจากนี้ ยังมีเสื้อผ้าจากจีนเข้ามาตีตลาดจำนวนมากในตลาดขายส่ง ซึ่งมีอยู่ประมาณ 3-4 แห่ง เช่น ตลาดค้าส่ง Tnanh Abang , Mangga Dua Square, Pasar Baru, Thamrin City ซึ่งจะมีการจำหน่ายทั้งเสื้อผ้าของผู้ผลิตในประเทศ เช่นเสื้อผ้าบาติก ชุดมุสลิม และชุดทำละหมาด รวมทั้งเสื้อผ้ายืด ยีนส์ ที่นำเข้าจากจีน และเป็นตลาดเสื้อผ้าระดับกลางที่ได้รับความนิยมในการซื้อของผู้บริโภค

ดังนั้น กลยุทธ์สำคัญที่ยังสามารถเข้ามาเจาะตลาดนี้ได้ คือการเริ่มเข้ามาสร้างแบรนด์ให้แก่กลุ่มผู้ซื้อเสื้อผ้าที่แบรนด์/มีดีไซน์ในตลาดนี้ โดยเริ่มจากการสร้างความตระหนักให้ผู้นำเข้า ผู้ค้าส่ง และผู้ค้าปลีกได้เห็นและรับรู้ว่าเสื้อผ้าที่มีแบรนด์ของไทยได้เข้าไปสร้างตลาดและขยายแบรนด์ในยุโรปจำนวนมาก แล้วเข้ามาจัดตั้งร้านจำหน่ายปลีกในย่านการค้าที่มีชื่อเสียง

9. ปัญหาของธุรกิจสิ่งทอในอินโดนีเซีย

1. ขาดการสนับสนุนทางการเงินจากสถาบันการเงิน ธนาคารไม่สนับสนุนเรื่องสินเชื่อให้กับอุตสาหกรรมสิ่งทอ เนื่องจากความไม่มั่นใจในอุตสาหกรรมดังกล่าว และการเกิดหนี้สูญของผู้ประกอบการสิ่งทอในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 — 2541

2. ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ทั้งค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า การใช้อัตราภาษีสำหรับการผลิตไฟฟ้าแบบ Multi-use Tariff ของ PLN ซึ่งเป็นหน่วยงานผูกขาดของอินโดนีเซีย ทำให้ต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรมสิ่งทอ เพิ่มสูงขึ้นค่าดำเนินการที่ท่าเรือ ค่าดอกเบี้ยเงินกู้จากสถาบันการเงิน และอื่น ๆ) นอกจากนั้นยังต้องพึ่งพาวัตถุดิบที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ (เช่น ฝ้าย เส้นด้าย ผ้าผืน และ เครื่องจักร)

3. ความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่น อินโดนีเซียยังคงประสบปัญหาการแข่งขันกับผู้ส่งออกสิ่งทอประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศจีน รวมถึงการนำเข้าผลิตภัณฑ์สิ่งทอสำเร็จรูปจากประเทศอื่น ๆ เข้ามาในราคาที่ต่ำซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอในประเทศ นอกจากนั้นสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่มั่นคงของประเทศ ส่งผลต่ออำนาจซื้อของผู้บริโภคในประเทศ และความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างจำกัด

4. สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในการส่งออก โดยเฉพาะท่าเรือ ซึ่งสหรัฐอเมริกายังตำหนิท่าเรือของอินโดนีเซียว่ายังไม่มีประสิทธิภาพ และไม่มีท่าเรือที่ผ่านการตรวจสอบที่ได้มาตรฐานของ ISPS หากท่าเรือในอินโดนีเซียยังไม่ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นอาจถูกองค์การการเดินเรือระหว่างประเทศระงับไม่ให้ใช้เป็นท่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ

10. การปรับตัวของธุรกิจสิ่งทอ

ผู้ประกอบการธุรกิจสิ่งทอของอินโดนีเซียหลายแห่งโดยเฉพาะบริษัทที่เน้นการส่งออกเป็นหลักได้พยายามหาวิธีปรับตัวเพื่อความอยู่รอดและแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น หลายบริษัทได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เป็นการการผลิตที่ครบวงจร (ทั้งการปั่นด้าย การทอด้าย และผ้าผืน) โดยเน้นการผลิตสินค้าเพียง 1 หรือ 2 อย่างที่ชำนาญ บริษัทบางแห่งก็เน้นเฉพาะตลาดระดับบน และหาตลาดส่งออกใหม่ ๆ แทนที่จะแข่งขันด้านราคากับผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่มาจากประเทศจีน อินเดีย และ ปากีสถาน

ผู้ประกอบการธุรกิจสิ่งทอส่วนใหญ่ตระหนักดีว่ามีความจำเป็นที่จะต้องยกระดับเครื่องมือเครื่องจักร และวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเพื่อผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูง และมีประสิทธิภาพ เนื่องจากเครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอของอินโดนีเซียได้มีการใช้มาเป็นเวลานานกว่า 20 ปีแล้ว รวมถึงตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้บริโภคต้องการสินค้าที่มีคุณภาพดีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงดักล่าวก็ยังทำได้เพียงบางส่วนและค่อนข้างช้า เนื่องจากข้อจำกัดของการสนับสนุนทางการเงินภายในประเทศ ซึ่งภาคการเงินของอินโดนีเซียเองก็ยังไม่ฟื้นตัวจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเซีย นอกจากนี้ ในปี 2543 บริษัทสิ่งทอรายใหญ่หลายแห่งยังต้องแบกภาระหนี้สินอย่างหนักด้วย

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงจาการ์ตา

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ