ในยุคเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ ผู้ประกอบการสหรัฐฯ จำนวนมาก เช่น โรงงานผลิตสินค้า ผู้จัดจำหน่าย พ่อค้าขายส่งและ ร้านค้าปลีก ประสบปัญหาทางด้านเงินทุนหมุนเวียนอย่างรุนแรง บางรายไม่สามารถชำระหนี้สินได้ ผู้ประกอบการมักจะแก้ปัญหาด้วย การประกาศล้มละลาย (B ankruptcy) โดยในปี 2552 ผู้ประกอบการสหรัฐฯ ประมาณ 45,000 ราย ประกาศล้มล้มละลายกฎหมายการล้มละลายของสหรัฐฯ เปิดให้ธุรกิจประกาศล้มละลายได้ 2 แบบ คือ
1. การล้มละลายแบบ Chapter 7: เป็นการเลิกกิจการ ขายทรัพย์สินธุรกิจ เช่น อาคารสินค้าคงคลัง เฟอร์นิ เจอร์ เพื่อรวบรวมเงินไปชำระหนี้สิน ซึ่งเจ้าหน้าจะได้รับเงินชำระในอัตราต่ำมาก
2. การล้มละลายแบบ Chapter 11: ซึ่งเป็นการฟื้นฟูกิจการ (Re-organization) โดยการขออำนาจศาลคุ้มครองการทวงหนี้จากเจ้าหน้าหนี้ และเปิดโอกาสให้ธุรกิจสามารถฟื้นตัวได้ด้วยการลดภาระหนี้สินกับเจ้าหนี้ ซึ่งเจ้าหนี้จะได้รับการชำระหนี้
การทวงหนี้ในกรณีล้มละลายแบบ Chapter 11
เมื่อผู้ประกอบการสหรัฐฯ ประกาศล้มละลายแบบ Chapter 11 ต่อศาลล้มละลายของสหรัฐฯ แล้ว (US Bankruptcy Court) จะต้องแจ้งให้เจ้าหนี้ (Creditors) ทุกรายทราบ ดังนั้น การทวงหนี้สินจากลูกค้าที่ล้มละลายแบบ Chapter 11 ต้องดำเนินการผ่านระบบศาลล้มละลายของสหรัฐฯ (US Bankruptcy Court) เนื่องจากศาลเป็นเจ้าของเรื่องแล้ว โดยมีขั้นตอน ดังนี้
1. เจ้าหนี้จะต้องขอทราบหมายเลขคดีล้มละลาย (Case Number) และ ที่ตั้งของศาลล้มละลายซึ่งลูกหนี้ยื่นเรื่องขอล้มละลาย (โดยปกติแล้ว ลูกหนี้จะแจ้งให้เจ้าหนี้ทราบ)
2. เจ้าหนี้มีทางเลือกในการดำเนินการ 2 วิธี คือ 1) การแต่งตั้งทนายความเป็นผู้ดำเนินการทวงหนี้แทน หรือ 2) การดำเนินการทวงหนี้ด้วยตนเอง
3. ในกรณีดำเนินการด้วยตนเอง กรอกฟอร์ม Proof of Claim ซึ่งลูกหนี้จะจัดส่งมาให้ลูกหนี้ แต่ถ้าไม่ได้รับแบบฟอร์ม ลูกหนี้สามารถดาวน์โหลดได้จาก Website ของศาลล้มละลายwww.uscourts.gov/uscourts/RulesAndPolicies/rules/BK_Forms_Official_2010/B_010_0410.pdf เพื่อแจ้งให้ศาลรับทราบการเป็นเจ้าหนี้ แต่ถ้าไม่ยื่นเรื่องต่อศาล จะไม่ได้รับเงินดังกล่าว โดยเจ้าหนี้จะต้องกรอกแบบฟอร์มดังกล่าว และจัดส่งไปยังศาลล้มละลายที่ลูกหนี้ยื่นเรื่องไว้ และทางศาลล้มละลายจะติดต่อกลับมายังลูกหนี้ต่อไป
ข้อคิดเห็นและเสนอแนะ
1. เจ้าหนี้ส่วนใหญ่มักจะใช้ทนายความเป็นผู้ดำเนินการทวงหนี้จากคู่ค้าที่ประกาศล้มละลายด้วยวิธี Chapter 11 เนื่องจาก การดำเนินการมีรายละเอียดข้อปลีกย่อยทางกฏหมาย ซึ่งเจ้าหนี้ส่วนใหญ่มักไม่เข้าใจ ซึ่งค่าใช้จ่ายในเรื่องนี้สามารถนำไปหักบัญชีเป็นค่าใช้จ่ายธุรกิจได้ นอกจากนั้นแล้ว ในกรณีที่เจ้าหนี้มีถิ่นที่อยู่นอกสหรัฐฯ ควรใช้ทนายความในการดำเนินการ เพื่อความรวดเร็วในการติดต่อสื่อสารและประสานงานกับศาลล้มละลาย
2. ทางทวงหนี้จากลูกหนี้ล้มละลายแบบ Chapter 11 เจ้าหนี้จะได้รับเงินชำระหนี้สินเป็นบางส่วนไม่ครบจำนวน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสัดส่วนการขอลดภาระหนี้สินของลูกหนี้ เช่น หากลูกหนี้ต้องการลดภาระหนี้ร้อยละ 70 ดังนั้น เจ้าหนี้จะได้เงินชำระไม่เกินร้อยละ 30 ของหนี้สินทั้งหมด
3. ในกรณีจ้างทนายความเป็นผู้ดำเนินการ ค่าธรรมเนียมบริการของทนายความแตกต่างกันไปตามวงเงินหนี้สิน ทนายความบางรายเรียกค่าบริการเป็นสัดส่วนของเงินที่ได้คืน (ร้อยละ 30-35) หรือ ทนายความบางรายเรียกเป็นอัตรามาตรฐาน (Flat Rate) ผันแปรไปตามความ ยากง่ายของคดี ค่าจ้างทนายความขั้นต่ำในการดำเนินการเรื่องนี้คิดเป็นเงิน 1,500 เหรียญสหรัฐฯ ไม่รวมค่าธรรมเนียมศาลและอื่นๆ ทั้งนี้
4. เนื่องจากผู้ประกอบการ โดยเฉพาะธุรกิจเอกชน (Private Company) จะไม่เปิดเผยตัวเลขฐานะการเงินของธุรกิจให้สาธารณะทราบ จึงเป็นผลให้เจ้าหนี้หรือผู้ผลิต/ส่งออกในต่างประเทศไม่ทราบฐานะการเงิน และเป็นผลให้เกิดปัญหาการไม่ชำระเงินได้ อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการช่วยลดความเลี่ยงในการทำธุรกิจกับผู้ประกอบการในสหรัฐฯ ผู้ผลิต/ส่งออกควรพิจารณาตรวจสอบฐานะการเงินและฐานะเครดิตของลูกค้าได้โดยการซื้อข้อมูลฐานะการเงินจากบริษัทที่จัดทำข้อมูลฐานะการเงินธุรกิจ เพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจทำธุรกิจในระดับหนึ่ง บริษัทให้บริการข้อมูลฐานะการเงินธุรกิจในสหรัฐฯ ที่เป็นที่รู้จักกว้างขวาง ได้แก่ Dunn & Bradstreet (www.dnb.com), Hoover (www.hoovers.com) และ Yahoo Finance (http://finance.yahoo.com) และถ้าผู้ประกอบการสหรัฐฯ เป็นบริษัทมหาชน ข้อมูลด้านการเงินธุรกิจจะเปิดเผยต่อสาธารณชน และค้นหาได้ง่าย เช่น อาจจะดูได้จากราคาการซื้อ-ขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ในสหรัฐฯ เป็นต้น
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครชิคาโก
ที่มา: http://www.depthai.go.th