ผลกระทบของการแข็งค่าของเงินบาทต่อตลาดสหรัฐอเมริกา

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 24, 2010 11:44 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สืบเนื่องจากการที่รัฐบาลปัจจุบันของสหรัฐฯมีนโยบายที่จะเร่งการส่งเสริมการส่งออก National Export Initiative (NEI) ที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มการส่งออกของสหรัฐฯเป็นสองเท่าภายในปี 2552 อีกทั้งธนาคารกลางของสหรัฐฯยังคงไม่ปรับระดับอัตราดอกเบี้ย (ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำพิเศษที่ 0% — 0.25%) เศรษฐกิจสหรัฐที่ยังไม่ดีขึ้น และ อัตราการว่างงานที่ยังคงไม่ลดลง ซึ่งอยู่ที่ระดับ 9.6% ในเดือนตุลาคม 2553 ทำให้แนวโน้มค่าเงินดอลลาร์ของสหรัฐฯมีแนวโน้มที่จะอ่อนตัวลง เมื่อเปรียบเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ

จากตารางความเคลื่อนไหวสกุลเงินเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ จะเห็นได้ว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ จะมีอัตราอ่อนตัวลงอย่างเห็นได้ชัด โดยที่เมื่อเปรียบเทียบกับเงินริงกิตมาเลเซีย มีอัตราการอ่อนค่าลงถึง 9% หากเปรียบเทียบกับเงินเยนของญี่ปุ่น ดอลลาร์สหรัฐฯก็อ่อนค่าลง 10.1% จากปลายปี 2552 เช่นเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินบาท ซึ่งเงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าลงถึง 10.2% โดยรวมแล้วหากเปรียบเทียบค่าเงินดอลลาร์กับสกุลเงินในเอเชีย ก็จะเห็นได้ว่าดอลลาร์อ่อนค่าลงในเชิงเปรียบเทียบ ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากเม็ดเงินลงทุนจำนวนมากที่ไหลเข้ามาในภูมิภาคเอเชียในช่วงปีที่ผ่านมา อีกทั้งการที่รัฐบาลสหรัฐฯได้ดำเนินมาตราการผ่อนปรนเชิงปริมาณ (Quantitative Easing) ชุดที่ 2 ซึ่งจะมีการอัดฉีดเงินดอลลาร์เข้าสู่ระบบอีก 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่าเงินจำนวนนี้ส่วนใหญ่จะนำมาลงทุนใน Emerging markets ซึ่งจะทำให้ค่าเงินของประเทศเหล่านั้นแข็งค่าขึ้นอีก ดังนั้นค่าเงินบาทไทยจึงมีแนวโน้มที่จะแข็งขึ้นจากมาตราการนี้ของสหรัฐฯเช่นกัน

นอกจากนั้นแล้วการที่อัตราว่างงานในสหรัฐฯ ที่สูงถึงเกือบ 10% ย่อมส่งผลต่อกำลังซื้อโดยรวมในตลาดสหรัฐฯด้วยและเนื่องจากประเทศสหรัฐฯเน้นการบริโภคจากสินค้าที่ผลิตนอกประเทศ เมื่อผู้บริโภคมีกำลังซื้อที่ลดลงย่อมหมายถึงว่าสินค้าการส่งออกประเทศต่างๆรวมถึงไทยก็ย่อมได้รับผลกระทบไปด้วย อีกทั้งการที่ผู้ขายสินค้าในตลาดสหรัฐฯจะเพิ่มราคาสินค้าก็ทำได้ยาก ดังนั้นผู้นำเข้าเองจึงไม่ต้องการจะรับภาระต้นทุนการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มราคาสินค้าของผู้ส่งออกจากประเทศที่อ้างว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของประเทศนั้นๆแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยเหตุนี้ผู้นำเข้าสหรัฐฯอาจมีการเสาะหาแหล่งผลิตที่สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณลักษณะใกล้เคียงกันแต่สามารถเสนอราคาที่ต่ำกว่าได้

ด้านสินค้าอาหาร ทางสำนักงานฯได้รับฟังข้อคิดเห็นจากผู้นำเข้าสินค้าไทยในสหรัฐฯในเรื่องที่ผู้ส่งออกไทยขึ้นราคาสินค้าติดต่อกันหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง สินค้าอาหารที่มีแบรนด์คงไม่ได้รับผลกระทบมากนักเนื่องจากยังคงมีอุปสงค์จากตลาดสหรัฐฯ แต่ถ้าเป็นสินค้าอาหารทั่วไป (Generic brand) ที่ต้องแข่งขันด้านราคากับต่างประเทศอาจถูกมองว่าแพงเกินไปในสายตาผู้นำเข้า ดังนั้นผู้นำเข้าสามารถที่จะเปลี่ยนไปนำเข้าจากประเทศอื่นได้ หากมีการขอขึ้นราคาจากผู้ส่งออกไทยอย่างต่อเนื่องเช่นนี้

ข้อเสนอะแนะ

การให้ความเชื่อมันกับคู่ค้าเป็นสิ่งสำคัญในตลาดสหรัฐฯ การคงคุณภาพสินค้าให้เป็นไปตามความต้องการของผู้ซื้อ และ การส่งสินค้าให้ตรงต่อเวลาเป็นสิ่งที่ผู้นำเข้าต้องการ เป็นสิ่งที่ผู้ส่งออกไทยควรจะให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกๆ การที่จะขึ้นราคาสินค้าย่อมเป็นไปได้เมื่อมีต้นทุนที่สูงขึ้น หากการปรับขึ้นราคานั้นเป็นผลมาจากความไม่แน่นอนในอัตราแลกเปลี่ยนทำให้ขาดทุนกำไรเช่นนั้นแล้ว การปรับขึ้นราคาไม่ควรปรับบ่อยๆ ผู้ส่งออกอาจมีการนำเสนอกลยุทธ์การตลาดเพื่อเพิ่มจำนวนการสั่งซื้อสินค้าเพื่อทดแทนราคาที่ไม่สามารถขึ้นได้มากนัก

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ