เศรษฐกิจสีเขียว — กฎระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับมาตรฐานและคุณภาพสินค้า

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 25, 2010 11:55 —กรมส่งเสริมการส่งออก

จากการประชุม UNCTAD Ad Hoc Expert Meeting on the Green Economy ที่ผ่านมาในเดือนตุลาคม 2553 ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้มีการหารือกันเรื่องบทบาทเศรษฐกิจสีเขียวในการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการรักษาสิ่งแวดล้อมซึ่งที่ประชุมเห็นว่าภาครัฐควรมีนโยบายที่ชัดเจนในการกำหนดทิศทางของการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อสร้างความเข้าใจและดึงดูดให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนและมีส่วนร่วมในรูปแบบ Public Private Partnership (PPPs)

1) ระเบียบ WEEE และ RoHS

เป็นระเบียบประเภท Directive ของสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งกำหนดแนวทางสำหรับกฎเกณฑ์และข้อปฏิบัติที่ประเทศสมาชิก EU จะต้องนำไปใช้ในการร่างและออกกฎหมายในประเทศตน เพื่อเป็นระเบียบปฏิบัติต่อไป ผู้ผลิตสินค้าส่งออกไปยังตลาด EU มิได้อยู่ในข่ายของผู้ผลิต ซึ่งระบุในระเบียบ ดังนั้น ข้อกำหนดต่างๆ จึงไม่ได้ใช้บังคับโดยตรงต่อผู้ผลิตสินค้าส่งออกของประเทศผู้ส่งออก อย่างไรก็ตามเนื่องจากระเบียบกำหนดให้ผู้นำเข้าของ EU มีภาระหน้าที่รับผิดชอบเช่นเดียวกับผู้ผลิตตามที่ระบุในระเบียบ ผู้นำเข้าของ EU จึงต้องเลือกนำเข้าสินค้าที่สามารถดำเนินการกับเศษซากตามข้อกำหนดของระเบียบ หรืออาจจะค้องผลักภาระรับผิดชอบด้านค่าใช้จ่ายบางส่วนให้กับผู้ผลิตสินค้าส่งออกเป็นผู้รับผิดชอบ

2) Waste Electrical and Electronic Equipment (WEEE)

ประเด็นสำคัญของระเบียบ WEEE ที่จะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตไทย

2.1) ผู้ผลิต ซึ่งครอบคลุมทั้งผู้ผลิตสินค้าและผู้นำเข้าสินค้าใน EU "ต้องรับคืนซาก" ของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวที่หมดอายุการใช้งานแล้วโดยไม่คิดมูลค่า ไม่ว่าสินค้าดังกล่าวจะถูกจำหน่ายโดยวิธีใด (รวมถึงการจำหน่ายทางอินเตอร์เน็ท หรือ e-commerce)

2.2) ผู้ผลิตต้องแสดงให้เห็นว่าตนมีขีดความสามารถจัดการกับผลิตภัณฑ์ตามเกณฑ์กำหนดเป้าหมายขั้นต่ำของการ Recovery และReuse (การใช้ซ้ำ/การนำกลับมาใช้ใหม่)

2.3) ผู้ผลิตต้องเป็นผู้รับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นในการจัดการซากผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การเก็บรวบรวม(Collection) การนำทรัพยากรกลับคืน (Recovery) การปรับสภาพ การใช้ซ้ำ/การนำกลับมาใช้ใหม่ ไปจนถึงการกำจัดเศษเหลือทิ้ง

2.4) ผู้ผลิตต้องออกค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บ การบำบัด การนำทรัพยากรกลับคืน สำหรับซากสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าตามบ้านเรือน และหลังจากวันที่กำหนดนี้ การจะนำสินค้าเข้าสู่ตลาดในประเทศสมาชิกได้ ผู้ผลิตต้องแสดงหลักฐานเพื่อประกันการจัดการซากผลิตภัณฑ์ การประกันการจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ อาจเป็นในรูป การประกันการรีไซเคิล (Recycling insurance) หรือ เงินค้ำประกันก็ได้ (Blocked bank account)

2.5) ผู้ผลิตมีหน้าที่ต้องให้ข้อมูลต่อไปนี้

  • ขั้นตอนการดำเนินการเมื่อผลิตภัณฑ์หมดอายุ แก่ผู้ใช้
  • วิธีการแยกชิ้นส่วนและข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับสารอันตรายที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์ แก่ผู้ทำการรีไซเคิล
  • ข้อมูล ยอดขาย ยอดการเก็บคืน และยอดการนำกลับมาใช้ใหม่ แก่รัฐบาล

3) The Restriction of the use of certain Hazardous substance in electrical and electronic equipment ; RoHs

วัตถุประสงค์ ของ RoHs เพื่อจำกัดการใช้สารที่เป็นพิษต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ในสินค้าเครื่องใช้ ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ และทำให้การนำทรัพยากรกลับคืนและการทิ้งซากผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าฯ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด โดยระเบียบนี้เสนอให้ใช้วัสดุอื่นทดแทน สารตะกั่ว สารปรอท สารแคดเมียม สารโครเมียม-เฮกซะวาเลนซ์ (Cr-VI) สารโพลิโบรมิเนท-ไบฟีนิล (PolyBrominated Biphynyles - PBB) และ สารโพลิโบรมิเนท-ไดฟีนิล-อีเทอร์ (PolyBrominated DiphynylEthers -PBDE) ในผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าฯ

4) End of life Vehicles; ELV

ระเบียบ ELV ใช้หลักการผู้ผลิตต้องเป็นผู้รับผิดชอบ (Producer Responsibility) ซึ่งโดยภาพรวมแล้วระเบียบ ELV ส่งผลต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ใน 3 เรื่องใหญ่ดังนี้

4.1) ค่าใช้จ่ายในการจัดการซาก

ผู้ผลิตต้องรับภาระค่าใช้จ่าย "ส่วนใหญ่" ในการเก็บคืนซากยานยนต์ที่นำเข้าตลาดก่อน กรกฎาคม 2545 และภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดสำหรับซากยานยนต์ที่เกิดหลังปี พ.ศ. 2550 ไม่ว่ายานยนต์จะผ่านการบริการ/การซ่อมแซม การตกแต่งเพิ่มเติม หรือมีการเปลี่ยนชิ้นส่วน/อะไหล่ในระหว่างการใช้งานมา

4.2) เป้าหมายการรีไซเคิล

ระเบียบ ELV ตั้งเป้าหมายการดึงทรัพยากรกลับคืนและการรีไซเคิลดังนี้

สัดส่วนการใช้ซ้ำ/การดึงทรัพยากรคืนไม่ต่ำกว่า 85% โดยน้ำหนักและการใช้ซ้ำ/การรีไซเคิลไม่ต่ำกว่า 80% โดยน้ำหนัก ภายในปี 2548

สัดส่วนการใช้ซ้ำ/การดึงทรัพยากรคืนไม่ต่ำกว่า 95% โดยน้ำหนักและการใช้ซ้ำ/การรีไซเคิลไม่ต่ำกว่า 85% โดยน้ำหนัก ภายในปี 2557

4.3) การห้ามใช้โลหะหนัก 4 ชนิด:

ยานยนต์และอะไหล่สำหรับยานยนต์ที่นำเข้าตลาดหลัง 1 กรกฎาคม 2546 ต้องปราศจาก ตะกั่ว (Pb) ปรอท (Hg) แคดเมียม (Cd) และ โครเมียมเฮกซะวาเลนซ์ (Cr-VI) ไม่ว่าจะอยู่ในรูปใด ยกเว้นการใช้งานเฉพาะบางอย่างที่ระบุให้เป็นข้อยกเว้น ระเบียบ ELV ใช้เงื่อนไขตามมาตรา 175 ของสนธิสัญญาจัดตั้งสหภาพยุโรป ซึ่งให้อำนาจประเทศสมาชิกดำเนินการเพื่อออกกฎหมายในประเทศเอง โดยประเทศสมาชิกสามารถออกข้อบังคับในประเทศที่เข้มงวดกว่าที่กำหนดในระเบียบ ELV ได้แต่ต้องไม่ก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการค้าเสรีทั่วสหภาพ

กฎระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์

เนื่องมาจากหลายประเทศเริ่มใช้มาตรการกีดกันทางการค้ากับสินค้าที่ไม่ผ่านมาตรฐานเศรษฐกิจสีเขียว และมีการคาดการณ์ว่าอีกไม่เกิน 5 ปี สินค้าจะส่งออกต่างประเทศไม่ได้ หากการผลิตไม่สอดคล้องกับหลัก EcoDesign หรือการนำหลัก 4R คือ Reduce, Reuse, Recycle, Repair ดังนั้นการออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถจัดการกับซากสินค้าได้ จึงเป็นสิ่งที่ผู้ผลิตควรคำนึงเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ค

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ