ผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทต่อการส่งออกสินค้าไทยไปตลาดญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 26, 2010 10:57 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สภาวะตลาดและการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่น

  • โครงสร้างสินค้าที่ส่งออก-นำเข้าระหว่างไทย กับญี่ปุ่น ประมาณร้อยละ 70 เป้นสินค้าอุตสาหกรรมกึ่งสำเร็จรูปและสำเร็จรูป ที่เป็นผลจากการเข้ามาลงทุนของบริษัทญี่ปุ่น ในประเทศไทย หรือที่ใช้ไทยเป็นฐาน เพื่อการส่งออกไปตลาดในภูมิภาค
  • ญี่ปุ่นยังคงตกลงซื้อสินค้า(นำเข้า) ในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นหลัก โดยเฉพาะในการค้ากับประเทศในเอเชีย กล่าวคือ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 ญี่ปุ่นตกลงซื้อเป็นเงินดอลลาร์ ร้อยละ 71.7 ของมูลค่านำเข้า ทำสัญญาซื้อเป็นเงินเยนร้อยละ 26.8 และเริ่มมีการใช้เงินสกุลบาทของไทยที่ร้อยละ 0.4สกุลเงินอื่นๆ เช่น ยูโร(0.2 % ของมูลค่านำเข้า) และเหรียญฮ่องกง(0.2%)
  • ในส่วนของสินค้าออก ญี่ปุ่นหันมาใช้เงินสกุลเยนมากขึ้น โดยระหว่างมกราคม-มิถุนายน 2553 ญี่ปุ่นตกลงขายสินค้ากับประเทศในเอเชียในรูปเงินดอลลาร์ร้อยละ 49.9 ของมูลค่าส่งออกรวม รเป็นเงินเยนร้อยละ 48.1 เงินบาท ร้อยละ 0.6 และสกุลอื่นๆ ร้อยละ 1.4
  • ค่าเงินเยนแข็งขึ้นอย่างต่อเนื่องเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จากอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย 1 ดอลลาร์ ต่อ 107.944 เยน เมื่อเดือนมกราคม 2551 เป็น เฉลี่ย 81.794 เยนในเดือนตุลาคม 2553หรือแข็งค่าขึ้น ร้อยละ 31.96 ในช่วง 22 เดือน ขณะที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในทิศทางเดียวกัน
  • ในภาวะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังไม่ฟื้นตัว เมื่อเงินเยนแข็งค่าขึ้นและทำให้ราคาสินค้านำเข้า (ซึ่งส่วนใหญ่ยังซื้อเป็นสกุลเงินดอลลาร์) เทียบเป็นเงินเยนแล้วราคาถูกลง ผู้นำเข้าและผู้ค้าปลีกได้ปรับลดราคาขายลงเพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคเพิ่มการใช้จ่าย สินค้านำเข้าโดยเฉพาะกลุ่มของใช้ราคาแพงและสินค้าแฟชั่น ราคาเริ่มลดต่ำลง 10 — 15 %

การนำเข้าจากไทยและผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท

  • สินค้าอุตสาหกรรมที่เป็นผลจากการลงทุนหรือร่วมลงทุนของญี่ปุ่นในประเทศไทยประมาณร้อยละ 50 ของมูลค่าที่ญี่ปุ่นนำเข้าจากไทย เป็นผลจากการเข้ามาลงทุนของญี่ปุ่น หรือการร่วมลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นกับบริษัทไทย เพื่อผลิตสินค้าอุตสาหกรรมกึ่งสำเร็จรูป และสินค้าอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ อุปกรณ์และเครื่องจักรไฟฟ้า เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาท ที่ปรับไปในทิศทางเดียวกันกับค่าเงินเยน ในระยะสั้น เชื่อว่าจะไม่ส่งผลสูงนักต่อการเปลี่ยนแปลงในทิศทางการค้าและการลงทุน แต่หากเงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นรวดเร็ว ขณะที่เงินสกุลอื่นๆ ไม่แข็งค่าขึ้น อาจส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายการลงทุนไปยังประเทศที่ค่าเงินมีเสถียรภาพและต้นทุนต่ำกว่า ทั้งนี้เพราะญี่ปุ่นสามารถใช้ประโยชน์จากการเปิดตลาด FTA/EPA ได้เช่นกัน
  • สินค้าเกษตรโภคภัณฑ์

เช่น ยางพารา น้ำมันปาล์ม น้ำตาล ส่วนใหญ่เป็นการเจรจาซื้อของบริษัทขนาดใหญ่ผ่านตลาดซื้อขายล่วงหน้า ค่าเงินที่แข็งขึ้นจะลดอำนาจแข่งขันของสินค้าไทยเมื่อเทียบกับคู่แข่ง

  • สินค้าอุปโภค-บริโภค

เช่น อัญมณีเครื่องประดับ เสื้อผ้า ผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องปรุงอาหาร ซึ่งราคาผันแปรไปตามคุณภาพ ความพอใจ รูปแบบและแนวโน้มแฟชั่นที่เป็นจุดแข็งของไทย การนำเข้ายังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง อย่างไรก็ตาม การแข่งขันของตลาดที่รุนแรงยิ่งขึ้น และการประหยัดของครัวเรือน น่าจะส่งผลให้ยอดขายตกต่ำ ผู้นำเข้าอาจชะลอการสั่งซื้อ ยกเว้นว่า ผู้ส่งออกไทยจะรับภาระในส่วนของรายได้ที่ลดลงอันเนื่องจากค่าเงินบาทแข็งค่าไว้เอง

  • สินค้าที่ราคาต้นทุนเปลี่ยนแปลงมาก หรือมี Local content สูง พบว่าผู้ส่งออกไทยขอปรับเปลี่ยนราคา ถี่ขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อการนำเข้า เช่น
  • ผักสด(หน่อไม้ฝรั่ง) ราคาผันผวน ผู้ส่งออกไทยขอกำหนดราคาป็นรายสัปดาห์ ผู้นำเข้า (บริษัท AIC) ต้องจำกัดปริมาณสั่งซื้อ และหากราคาปรับสูงขึ้นมากอาจพิจารณานำเข้าจากแหล่งอื่นแทน
  • เนื้อสัตว์(ไก่ หมู)แปรรูป ราคาจากไทยสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้นำเข้าญี่ปุ่นบางราย ย้ายไปสั่งซื้อจากจีนมากขึ้น อย่างไรก็ตามผู้ผลิต/ผู้ส่งออกในจีน จะยังคงรักษาราคาในระดับไว้ได้ไม่เกินเดือนมีนาคม 2554 เนื่องจากต้นทุนแรงงานในจีนสูงขึ้นเช่นกัน และค่าเงินหยวนก็มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นด้วย
  • ผลิตภัณฑ์สปา ผู้ส่งออกไทยขอปรับราคาเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่ม ผู้นำเข้าได้หาทางออกโดยกระจายความเสี่ยง เปลี่ยนราคาซื้อขายเป็นสกุลเงินเยน และเงินบาท ซึ่งแม้ผู้นำเข้าไม่ย้ายไปนำเข้าผลิตภัณฑ์ ประเภทเดียวกันจากแหล่งอื่น แต่สินค้าเหล่านี้จะไม่ได้รับประโยชน์จากค่าเงินเยนที่แข็งค่าเมื่อเปรียบเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อาจลดความสามารถในการแข่งขันกับสินค้าจากประเทศอื่นที่ส่งออกสินค้าระดับใกล้เคียงกัน
  • ในภาพรวม ผู้นำเข้ารายย่อย ได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทค่อนข้างสูง ขณะที่ผู้ค้ารายใหญ่ มีวิธีการและทางเลือกที่ลดภาระต้นทุนได้ดีกว่า เช่น ใช้วิธีควบคุมปริมาณนำเข้าเพื่อหลีกเลี่ยงการขึ้นราคา การหันไปทำ contact farming สินค้าเกษตร การขายสินค้าที่เน้นคุณภาพ และสุขภาพ เป็นต้น

สรุปและข้อคิดเห็น

  • ญี่ปุ่นทำการค้าโดยหวังเป็นพันธมิตรระยะยาว กรณีที่ผู้ส่งออกขอปรับราคาไม่มากนัก ผู้นำเข้าญี่ปุ่นยังต้องการทำการค้ากับระยะยาวคู่ค้าเดิมที่ไว้วางใจกันได้ แต่หากเงินบาทเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องนาน หรือต้นทุนการผลิตภายในเพิ่มขึ้นจนผู้ส่งออกต้องขอปรับราคามากจนสูงกว่าแหล่งนำเข้าอื่น ผู้นำเข้าจะย้ายไปนำเข้าจากประเทศอื่นเพื่อรักษายอดเงินกำไร ดังนั้น เพื่อรักษามูลค่าส่งออก ควรมีมาตรการสนับสนุน ลดต้นทุน รักษาเสถียรภาพปริมาณการผลิต และราคา เช่น ส่งเสริมระบบ contract farming ลดภาระต้นทุนในระบบ logistics รวมทั้งการประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น
  • เงินเยนแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับหลายสกุล นอกเหนือจากดอลลาร์สหรัฐฯและยูโร เช่น เงินวอนเกาหลี เงินหยวนจีน ทำให้สินค้าญี่ปุ่นสูญเสียอำนาจการแข่งขันกับสินค้าเดียวกันของเกาหลีและจีนที่พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสูงขึ้นและได้รับความสนใจจากตลาดอย่างรวดเร็ว แม้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะเริ่มเข้าแทรกแซงการซื้อขาย และใช้นโยบายการเงิน Zero-interest-rate Policy แต่ก็ยังไม่มีทีท่าว่าเงินเยนจะอ่อนตัว

ลงในระยะอันใกล้ ซึ่งคาดว่า จะส่งผลกระทบตอ่ การส่งออกของญี่ปุ่นในปีหน้า และส่งผลต่อ การนำเข้าสินค้ากลุ่มเครื่องจักร สินค้าอุตสาหกรรมกึ่งสำเร็จรูปจากไทยให้ชะลอตัวลงด้วย เพื่อลดผลเชิงลบที่อาจจะเกิดขึ้นบริษัทไทยต้องเน้นการลดต้นทุนและภาระทางการค้า กระจายตลาดส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ ให้มากขึ้น ในส่วนของสินค้าอุปโภค-บริโภค ต้องเน้นการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้เพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ และพัฒนาสินค้า ควบคู่กับการยกระดับตลาดสินค้าไทย สู่ตลาดระดับบน หรือตลาดเฉพาะกลุ่มให้มากขึ้น

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ