“ส่งออก” ตอกย้ำ Chief of Product ดันยอดส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 30, 2010 10:17 —กรมส่งเสริมการส่งออก

นางมาลี โชคล้ำเลิศ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือสถานการณ์การส่งออกประจำเดือนพฤศจิกายนกับภาคเอกชนกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ตามนโยบาย Chief of Product ซึ่งท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นางพรทิวา นาคาศัย) ได้มอบหมายให้ประธานกลุ่มสินค้าสำคัญต่างๆ ดูแลแก้ไขปัญหาร่วมกันกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิดว่า ในเรื่องความคืบหน้าของการดำเนินการยกเลิกภาษีสรรพสามิตแบตเตอรี่ที่ประกอบในสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อการส่งออก ขณะนี้ กรมสรรพสามิต ได้เสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาลงนามในประกาศกฎกระทรวง ให้ยกเว้นการจัดเก็บภาษีฯ เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังลงนามแล้ว จะนำเรื่องเสนอลงประกาศหรือจัดพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ วันบังคับใช้จะมีผลถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

สำหรับการส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า ในเดือน ม.ค. — ต.ค. 2553 มีมูลค่า 17,079 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 34.4 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐ ญี่ปุ่น จีน ออสเตรเลีย และฮ่องกง และสำหรับการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ในเดือน ม.ค. — ต.ค. 2553 มีมูลค่า 27,262 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.6 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ จีน ฮ่องกง สหรัฐ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ โดยคาดว่าจะการส่งออกในกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 15 และสำหรับกลุ่มเครื่องปรับอากาศ และกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 20 ในปีนี้ตามเป้าหมาย ซึ่งการที่ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นมากนั้น ภาคเอกชนคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกอย่างชัดเจนในช่วงไตรมาสแรกของปี 2554

ในการประชุมดังกล่าว ภาคเอกชนได้รายงานถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากกรณีที่จีนและญี่ปุ่นเกิดข้อพิพาทอ้างความเป็นเจ้าของพื้นที่บริเวณเกาะเซนกากุซึ่งมีการพบแหล่งพลังงานน้ำมันรอบเกาะดังกล่าว จนทำให้เกิดกระแสชาตินิยมในทั้งสองประเทศอย่างมาก โดยในขณะนี้ ได้มีกระแสต่อต้านสินค้าจากจีนทำให้บริษัทญี่ปุ่นหลายรายได้พิจารณาที่จะย้ายฐานการผลิตออกจากจีน ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวคาดว่าไทยน่าจะเป็นทางเลือกสำหรับแหล่งลงทุนและแหล่งนำเข้าสินค้าของญี่ปุ่น

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาปัญหาผลกระทบจากอุทักภัย โดยสรุปได้ว่าภาคอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ได้รับผลกระทบไม่มากนัก ทั้งด้านระบบการขนส่งสินค้า วัตถุดิบในการผลิต ทั้งนี้ มีปัญหาเล็กน้อยในเรื่องพนักงานที่ต้องหยุดงาน เนื่องจากเดินทางมาทำงานในช่วงน้ำท่วมไม่ได้ ทำให้การผลิตล่าช้า ซึ่งขณะนี้ได้กลับมาทำงานได้ตามปกติแล้ว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ