สรุปภาวะตลาดสินค้าอาหารไทยในเยอรมนีเดือนพฤศจิกายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 30, 2010 17:25 —กรมส่งเสริมการส่งออก

อุตสาหกรรมอาหารในประเทศ

ตลาดยังคงมีความต้องการสินค้าอาหาร โดยเฉพาะในรูปแบบใหม่ๆ นอกเหนือจากที่วางขายในตลาด ได้แก่ อาหารเพื่อสุขภาพ อาหารเกษตรอินทรีย์ เหล่านี้เป็นต้น เทียบกับประเทศอื่นๆ ในยุโรป ตลาดค้าปลีกสินค้าอาหารสำเร็จรูปในเยอรมนีมีการแข่งขันรุนแรงมากสูงสุด ผู้ประกอบการจำนวนไม่กี่รายมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันเกินกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าตลาดค้าปลีก ทั้งสิ้น จึงทำให้มีอำนาจในการต่อรองสูง สามารถสร้างความกดดันให้บริษัทผู้ผลิตต้องเสนอขายสินค้าในราคาต่ำที่สุด และมีคุณภาพดี ได้มาตรฐานอีกด้วย ทำให้สินค้าอาหารเยอรมนีเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ จะมีราคาต่ำกว่ามาก และมีความหลากหลายมากกว่าอีกด้วย เพื่อการยึดครองส่วนตลาดผู้ประกอบการต่างปรับราคาสินค้าขึ้นลงมาโดยตลอด ทำให้ในช่วง 8 เดือนแรกปี 2553 นี้ ยอดการขายอาหารแปรรูปในเยอรมนีขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยร้อยละ 1.2 เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 76,437 ล้านยูโร ในจำนวนนี้เป็นการขายในประเทศ มูลค่า 61,095 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 และการขายในต่างประเทศมูลค่า 15,342 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0

แหล่งนำเข้าของเยอรมนี

ตามสถิติการนำเข้าของเยอรมนี ในช่วง 8 เดือนแรกปี 2553 ไทยมีส่วนแบ่งตลาดสินค้าอาหารสำคัญๆ ในเยอรมนี ดังนี้

ไก่แปรรูป ไทย 10% เนเธอร์แลนด์ 25% บราซิล 19% ปอร์ตุเกส 12%

กุ้งแช่แข็ง ไทย 24% บังคลาเทศ 15% เวียดนาม 14% เนเธอร์แลนด์ 13% เบลเยี่ยม 6%

          ข้าว          ไทย 12% อิตาลี 30% เนเธอร์แลนด์ 14% เบลเยี่ยม 11% สเปน 10%

กุ้งกระป๋อง ไทย 24% เนเธอร์แลนด์ 26% เดนมาร์ค 12% เบลเยี่ยม 6% ฝรั่งเศส 6%

สับปะรดกระป๋อง ไทย 38% เนเธอร์แลนด์ 20% อินโดนีเชีย 19% เคนยา 14% ฟิลิปปินส์ 3%

ปลาทูน่ากระป๋อง ไทย 3% ฟิลิปปินส์ 21% เนเธอร์แลนด์ 18% ปาปัว 15% เอกวาดอ 11%

สินค้าส่งออกของไทย

ในช่วง 10 เดือนแรกปี 2553 ไทยส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรไปเยอรมนีเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 458 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นส่วนแบ่งร้อยละ 17 ของการส่งออกสินค้าไทยทั้งสิ้นไปเยอรมนี มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.5 สินค้าเกษตรที่ส่งออกมาก ได้แก่ ไก่แปรรูป ข้าว และสัตว์น้ำจำพวกครัสตาเซีย (ปู หอย) เป็นต้น สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่สำคัญๆ ได้แก่ กุ้งแปรรูป สับปะรดกระป๋อง ผลไม้กระป๋องอื่นๆ และปลาทูน่ากระป๋อง เป็นต้น

เกี่ยวกับราคาสินค้าอาหารของไทย นั้น ที่ผ่านมาได้มีการปรับขึ้นราคากันแล้วประมาณร้อยละ 5 — 10 ตามค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น โดยเฉพาะค่าขนส่ง เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้นและจากการที่มีตรวจเข้มสินค้าผักสดของไทยเพิ่มขึ้นอีก 3 รายการ คือ โหระพา สะระแหน่ และผักชี ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553 เป็นต้นมา เพิ่มเติมจากสินค้าเดิม 3 รายการ (พืชตระกูลถั่ว มะเขือ กะหล่ำ) ทำให้ผู้ค้าปลีกนอกจากจะเสียเวลาในการเคลียสินค้าที่ด่านศุลกากรแล้ว ยังต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบสินค้า จึงต้องขอขึ้นราคาสินค้าโดยเฉพาะผักและผลไม้สด สำหรับสินค้าของแห้ง เครื่องกระป๋องได้มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นแล้วในช่วงกลางปีนี้

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ