สรุปภาวะตลาดอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในตลาดเยอรมนี เดือน พฤศจิกายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 30, 2010 17:28 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. การผลิตและยอดการจำหน่าย

ตลาดค้าปลีกในประเทศมีความคึกคักมากขึ้นในช่วงใกล้เทศกาลคริสต์มาส นอกจากจะมีการว่าจ้างงานเพิ่มมากขึ้นแล้ว ผู้ประกอบอาชีพส่วนใหญ่ต่างมีรายได้ ได้เงินเดือนเพิ่มขึ้น จึงมีการจับจ่ายซื้อสินค้ากันมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการที่มากขึ้นจึงมีการผลิตในประเทศ และมีการนำเข้าสินค้าจากแหล่งต่างๆ ในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น

2. สถานการณ์การนำเข้า

สินค้าเครื่องประดับแท้และเทียมยังเป็นที่ต้องการของตลาด ในช่วง 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค.) มีการนำเข้าเป็นมูลค่า 9,737.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.3 สินค้าที่เยอรมนีนำเข้ามากจะเป็นโลหะมีค่าต่างๆ โดยเฉพาะทองคำและพลาตินัมเพื่อใช้ในการผลิตเป็นเครื่องประดับต่อไป มีการนำเข้าเป็นมูลค่า 8,529 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 88 ของการนำเข้าทั้งสิ้น มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 34 แหล่งนำเข้าที่สำคัญๆ ได้แก่ อัฟริกาใต้ (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 13) สหรัฐฯ (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 11) และเบลเยี่ยม (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 10) สำหรับเครื่องประดับแท้ทำด้วยทองและเงิน มีการนำเข้ามูลค่า 624 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 6 ของการนำเข้าทั้งสิ้น มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 24 แหล่งนำเข้าสำคัญๆ ได้แก่ สวิส ไทย (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 21) จีน (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 13) อิตาลี (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 9) และฝรั่งเศส (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 8) ส่วนเครื่องประดับเทียม มีการนำเข้ามูลค่า 341 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 4 ของการนำเข้าสินค้ารายการนี้ทั้งสิ้น มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.7 แหล่งนำเข้าสำคัญๆ ได้แก่ จีน ออสเตรียและฮ่องกง มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 56, 17 และ 3 ตามลำดับ

3. การส่งออกของไทยไปตลาดเยอรมนี

ในช่วง 10 เดือนแรกปี 2553 (ม.ค.-ต.ค.) ไทยส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไปเยอรมนีเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 184 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนระยะเดียวกันร้อยละ 23.5 สินค้าส่งออกมากอันดับแรกจะเป็น เครื่องประดับทำด้วยเงิน มูลค่า 83.7 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 45.5 ของการส่งออกสินค้ารายการนี้ไปเยอรมนี มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.3 ในเยอรมนีสินค้าไทยมีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดประมาณร้อยละ 35 รองลงมาเป็นจีนมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 26 และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น อินเดีย (6%) และฝรั่งเศส (5%) รองลงมาเป็นเครื่องประดับทำด้วยทองคำ มูลค่า 31.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 18.0 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 16.9 สินค้าของไทยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 13 แหล่งนำเข้าอื่นๆ ได้แก่ สวิส (34%) อิตาลี (12%) ทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูป มูลค่า 17.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 68.2 แหล่งนำเข้าอื่นๆ ได้แก่ สวิส (70%) ออสเตรีย (10%) และอัฟริกาใต้ (3%) ไทย (0.5%) เครื่องประดับอัญมณีเทียม มีการนำเข้ามูลค่า 8.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 1.5 แหล่งนำเข้าอื่นๆ ได้แก่ จีน (55%) ออสเตรีย (18%) และฮ่องกง (4%) ไทย (3%)

ปัญหาอุปสรรค

1. ขาดแคลนวัตถุดิบ

2. ขาดเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการผลิตเครื่องประดับ

3. ขาดบุคลากรด้านฝีมือแรงงานด้านการออกแบบและการผลิตสินค้าระดับสูง

4. การสร้างและพัฒนาตราสินค้ามีน้อย

กลยุทธ์

1. พัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญระดับโลก

2. จัดหาวัตถุดิบจากต่างประเทศในปริมาณที่เพียงพอ

3. พัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเครื่องประดับ

4. พัฒนาบุคลากรห้มีความสามารถในการผลิต ออกแบบ สินค้าที่เหมาะสมกับตลาด

5. สร้างภาพลักษณ์ของสินค้าในด้านผู้นำแฟชั่น สินค้าที่เอกลักษณ์ ควบคู่ไปกับศักยภาพทางการค้า/ส่งออก

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ