“JES” ข้าวกลิ่นหอม (Aromatic Rice) พันธุ์ใหม่ของสหรัฐอเมริกา

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 1, 2010 10:55 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ข้าวกลิ่นหอมพันธุ์ Jazzman Rice ของรัฐหลุยส์เซียน่า สหรัฐอเมริกา เป็นข่าวที่สร้างความสนใจให้วงการข้าวหอมมะลิไทยในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา เป็นอันมากปัจจุบัน University of Arkansas รัฐอาร์คันซอส์คิดค้นข้าวกลิ่นหอมพันธุ์ใหม่ชื่อว่า JES (Jasmine Early Short) เข้ามาแข่งขันกับข้าวหอมมะลิไทย และ ข้าวพันธุ์ Jazzman Rice ของรัฐหลุยส์เซียน่าการคิดค้นข้าวกลิ่นหอม พันธุ์ JES

1. ข้าวพันธุ์ JES คิดค้นขึ้นโดยศาสตราจารย์ Christopher Deren ตำแหน่ง Director of the Agriculture’s Rice Research Center แห่งมหาวิทยาลัยอาร์คันซอส์ (University of Arkansas) ซึ่งได้ร่วมมือกับ Mr. R.N. Rutger ซึ่งเป็นอดีตผู้อำนวยการสถาบัน National Rice Research Center กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) พัฒนาพันธุ์ข้าวหอมชนิดใหม่ด้วยวิธี Induced Mutation Breeding ซึ่งเป็นการควบคุมความสูงและการออกดอกออกผล โดยการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิซึ่งได้รับจาก The International Rice Research Institute: IRRI ในประเทศฟิลิปปินส์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ได้ข้าวหอมพันธุ์ใหม่ที่เหมาะสมกับสภาพการเพาะปลูกในรัฐอาร์คันซอส์ ข้าวพันธุ์ JES มีความสูงประมาณ 3 ฟุต ซึ่งน้อยกว่าต้นข้าวหอมมะลิไทย และมีความคงทนและเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมการปลูกข้าวของรัฐอาร์คันซอส์

อนึ่ง มลรัฐอาร์คันซอส์เป็นรัฐที่ปลูกและผลิตข้าวได้มากที่สุดของสหรัฐฯ หรือคิดเป็น ร้อยละ 41 ของผลผลิตข้าวรวมของสหรัฐฯ

2. ข้าว JES มีปริมาณผลผลิตประมาณ 940 ตันในปีฤดูเก็บเกี่ยวปี 2553 หรือคิดเป็นผลผลิตประมาณ 1,239 กิโลกรัมต่อไร่ และมีเมล็ดพันธุ์ (Foundation Seed) ขายให้แก่ชาวนาที่สนใจนำไปปลูก ปัจจุบัน ข้าวหอมพันธุ์ JES มีวางจำหน่ายตามร้านซุปเปอร์มาร์เกตชั้นนำทั่วไปในสหรัฐฯ โดยบริษัท Riceland Foods, Inc ภายใต้แบรนด์ American Jazmine

ปัจจุบัน บริษัท Riceland Foods ตั้งอยู่ที่เมือง Stuttgart รัฐ Arkansas เป็นผู้จัดจำหน่าย/ส่งออกข้าวรายใหญ่ของสหรัฐฯ จำหน่ายข้าวหอมพันธุ์ JES ภายใต้แบรนด์ American Jazmine (ขนาดถุงบรรจุ 2 ปอนด์ หรือ 907 กรัม) วางขายตามร้านซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ เช่น Meijer, Kroger ในราคาขายปลีกถุงละ 2.95 — 2.99 เหรียญสหรัฐฯ ในขณะเดียวกัน บริษัทฯ นำเข้าข้าวหอมมะลิไทยมาจำหน่าย ในสหรัฐฯ มีมูลค่านำเข้าประมาณ 2 แสนเหรียญสหรัฐฯ (6 ล้านบาท) ในปี 2552

3. ศาสตราจารย์ Deren แจ้งเพิ่มเติมว่า ข้าวหอมพันธุ์ JES ของรัฐอาคันซอส์ มีคุณสมบัติด้านความหอม ความนุ่ม และ ความเหนียว เหนือกว่าข้าวกลิ่นหอมพันธุ์ Jazzman ของรัฐหลุยส์เซียน่า แต่ด้อยกว่าในด้านที่มีปริมาณผลผลิตต่อไร่ที่ต่ำกว่า อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ Deren ยอมรับว่าข้าวพันธุ์ JES ยังไม่ได้มาตรฐานทัดเทียมกับข้าวหอมมะลิไทย ทั้งในด้าน ความเหนียว ความนุ่ม และ กลิ่นหอม

ข้อคิดเห็นและเสนอแนะ

1. การเพาะปลูกข้าว JES จะอยู่เฉพาะในรัฐอาคันซอส์ ไม่ข้ามไปรัฐอื่นๆ เพราะว่ามลรัฐที่ปลูกข้าวแต่ละแห่งแข่งขันกันเอง และมีพันธุ์ข้าวเป็นของตัวเอง การนำพันธุ์ข้าวจากต่างพื้นที่ไปปลูกอาจจะได้ผลผลิตและคุณภาพข้าวที่แตกต่างกัน เนื่องจากพันธุ์ได้รับการพัฒนาให้ข้าวแต่ละพันธุ์มี ความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน เช่น การนำข้าวพันธุ์ JES ไปปลูกในรัฐเท็กซัสหรือหลุยส์เซียน่า จะได้ข้าวที่คุณภาพต่ำกว่าที่ปลูกในรัฐอาร์คันซอส์ เนื่องจาก จากสภาพดินและอากาศไม่เหมือนกัน

2. ข้าวพันธุ์ JES ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อนำมาแข่งขันกับข้าวหอมมะลิไทย เช่นเดียวกันกับข้าวพันธุ์ Jazzman ของรัฐหลุยส์เซียน่าซึ่งประกาศเจตนารมณ์เพื่อแข่งขันกับข้าวหอมมะลิไทยโดยเปิดเผย ข้าวหอมพันธุ์ JES อาจจะเป็นคู่แข่งกับข้าวหอมพันธุ์ Jazzman จะเห็นได้จากการที่บริษัท Riceland Foodsตั้งชื่อข้าว JES ในการจำหน่ายให้มีความคล้ายคลึงกัน (?J azmine: Jazzman) อย่างไรก็ตาม ข้าวกลิ่นหอมของ บริษัท Riceland Foods ยังมีสัดส่วนยอดขายต่ำเมื่อเทียบกับยอดขายข้าวรวมของบริษัทฯ ซึ่งอาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่บริษัทฯ ไม่ทุ่มเทการผลักดันการขยายตลาดและส่งเสริมการขายข้าว Jazmine หรือข้าว Thai Jasmine Rice ซึ่งนำเข้าจากประเทศไทยโดยเต็มที่ ในขณะที่ ข้าวพันธุ์ Jazzman ของบริษัท Jazzmen Rice, LLC. ได้ทุ่มเทในด้านการส่งเสริมการขายเป็นอันมาก

3. ปัจจุบัน นักวิจัยข้าวสหรัฐฯ ยังไม่สามารถคิดค้นข้าวหอมที่มีคุณภาพได้ทัดเทียมกับข้าวหอมมะลิไทยได้ ดังนั้น จึงเป็นแรงดลใจและเป็นเป้าหมายสำคัญของนักวิจัยข้าวสหรัฐฯ ที่จะต้องคิดค้นข้าวพันธุ์ใหม่ๆ ออกมาให้มีคุณภาพทัดเทียมกับข้าวหอมมะลิไทย ดังนั้น ข้าวหอมพันธุ์ JES หรือ Jazzman หรือข้าวกลิ่นหอมพันธุ์ใหม่ ๆ ที่สหรัฐฯจะคิดและนำเสนอต่อตลาดในอนาคต จะเป็นภัยคุกคาม (Treat) ต่อข้าวหอมมะลิไทยในระยะยาว ดังนั้น หากสหรัฐฯ สามารถพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมให้มีคุณภาพทัดเทียมกับข้าวหอมมะลิของไทย และส่งผลต่อการสูญเสียตลาดข้าวหอมมะลิไทยในสหรัฐฯ ในอนาคต

4. ผู้นำเข้าข้าวหอมมะลิรายสำคัญในเขตตอนกลางของสหรัฐฯ ให้ความเห็นว่าประเทศไทยจะต้องให้ความสำคัญในด้านการพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมมะลิให้มีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น และหาวิธีการในการช่วยลดต้นทุนการผลิต เพื่อรักษาระดับราคาไม่ไห้สูงเกินไป หากราคาข้าวหอมมะลิไทยอยู่ในระดับสูงมาก จะ ไม่เป็นสิ่งจูงใจให้ผู้บริโภครายใหม่หันมาบริโภคข้าวหอมมะลิไทย

5. เพื่อเป็นการรักษาและขยายตลาดข้าวหอมมะลิไทย ประเทศไทยควรเน้นการประสัมพันธ์ ข้าวหอมมะลิ การจัดทำการรณรงค์ทางสื่อต่างๆในสหรัฐฯเพื่อเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับข้าวหอมมะลิ และสร้างความเข้าใจ และ การปูพื้นในเรื่องประวัติความเป็นมา เรื่องราว คุณประโยชน์ ให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ทราบ โดย ผ่านสื่อต่างๆ รวมไปถึงการจัดสรรงบประมาณเพื่อการสนับสนุนผู้นำเข้าและร้านค้าในการร่วมกันจัดทำกิจกรรมส่งเสริมการขายข้าวหอมมะลิในสหรัฐฯ นอกจากนั้น ควรพิจารณากำหนดสัปดาห์การบริโภคข้าวหอมมะลิ การประกวดหรือการแข่งขันปรุงอาหารด้วยข้าวหอมมะลิ เป็นต้น และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครชิคาโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ