1. ผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้า
1.1 สินค้ากุ้ง: ในกรณีผู้นำเข้ารายใหญ่ซึ่งนำเข้ากุ้งแช่แข็งจำนวนมากแจ้งว่า เงินบาทแข็งค่ายังไม่ส่งผลกระทบต่อราคากุ้งนำเข้าจากประเทศไทยในขณะนี้ เนื่องจาก การสั่งซื้อกุ้งเป็นการซื้อภายใต้ข้อตกลงทั้งปี ดังนั้นราคาจึงไม่เปลี่ยนแปลงจนกว่าการสั่งซื้อใหม่ในปีต่อไป สำหรับผู้นำเข้าระดับกลางและรายย่อย แจ้งว่า ราคา FOB ของกุ้งแช่แข็งไทยในช่วงไตรมาสที่ 3 เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2-5 ผู้นำเข้ายังคงเพิ่มการนำเข้ากุ้งจากประเทศไทย เนื่องจาก ตลาดมีต้องการสูงในสหรัฐฯ และกุ้งแช่แข็งของไทยมีราคาโดยเฉลี่ย ต่ำกว่าคู่แข่งขัน เช่น เม็กซิโก เวียดนาม และ อินโดนิเซีย
1.2 สินค้าปลาทูน่ากระป๋อง: ผู้นำเข้ารายสำคัญแจ้งว่าราคาปลาทูน่ากระป๋องค่อนข้างมีเสถียรภาพในปี 2553 ได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่าในระดับต่ำ ทั้งนี้ เนื่องจาก ต้นราคาวัตถุดิบ (ปลาทูน่า) นำเข้าลดลง ซึ่งไปปรับ (Offset) กับต้นทุนการผลิตชนิดอื่นๆ ที่สูงขึ้น จึงเป็นผลให้ราคาของปลาทูน่ากระป๋องของไทยมีเสถียรภาพในราคาส่งออก
1.3 ผักกระป๋อง: ผู้นำเข้าแจ้งว่า ปัจจุบัน สินค้าผักกระป๋องที่สำคัญ คือ สับปะรดกระป๋องมีราคาสูงขึ้นประมาณร้อยละ 4-5 ซึ่งประมาณร้อยละ 2.3 เป็นผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่าและ ราคากะทิกระป๋องเพิ่มขึ้น ประมาณร้อยละ 35-40 ซึ่งราคาที่สูงขึ้น ผู้นำเข้าแจ้งว่า เป็นผลมาจากปัญหาขาดแคลนมะพร้าวเพื่อนำมาผลิตกะทิในประเทศไทย และมีความเห็นว่า เงินบาทแข็งค่ามีผลกระทบประมาณร้อยละ 5 ต่อราคากระทิสูงขึ้น
1.4 สินค้าเฟอร์นิเจอร์: เฟอร์นิเจอร์ไทยมีราคาสูงขึ้นประมาณร้อยละ 5-10 ในขณะที่ราคานำเข้าเฟอร์นิเจอร์มาเลเซีย ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของไทย มีราคาเพิ่มขึ้นเช่นกัน ด้วยเหตุผลค่าเงินของมาเลเซียแข็งค่าเช่นกัน และปัจจุบัน เป็นช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมที่จะย้ายแหล่งนำเข้า เนื่องจากปัจจุบัน ต้นทุนสินค้าเฟอร์นิเจอร์ของจีนสูงขึ้น และเวียดนามมีปัญหาเรื่องวัตถุดิบและการส่งมอบสินค้า ดังนั้น ในระยะสั้น ผู้นำเข้ายังคงนำเข้าเฟอร์นิเจอร์จากไทยต่อเนื่อง และการซื้อในครั้งต่อไปอาจจะหันไปหาแหล่งนำเข้าที่ เช่น เวียดนาม และ อินโดนิเซีย แทนจากประเทศไทย
1.5 สินค้าอุปกรณ์และส่วนประกอบยานยนต์: สินค้าอุปกรณ์และส่วนประกอบยานยนต์ของไทยในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นประเภท OEM ซึ่งนำเข้าจากบริษัทแม่ในสหรัฐฯ ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมรถยนต์สหรัฐฯ ขยายตัวในอัตราสูง และมีความต้องการสินค้าอุปกรณ์และส่วนประกอบเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว การนำเข้าของสหรัฐฯ จากไทยในช่วง ๘ เดือนแรกของปี (มกราคม-สิงหาคม 2553) ขยายตัวสูงร้อยละ 88 และผู้นำเข้าแจ้งว่า ราคาสั่งซื้อเป็นราคาเสนอขายทั้งปี ของผู้ส่งออก ผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่าในระยะสั้นอยู่ในระดับต่ำ แต่ผู้นำเข้ายังคงต้องนำเข้าจากไทย เพราะว่ามีข้อผูกมัดในการส่งสินค้าให้แก่โรงงานประกอบรถยนต์สหรัฐฯ
1.6 สินค้าเครื่องประดับและอัญมณี: สหรัฐฯ เป็นตลาดหลักสินค้าเครื่องประดับอัญมณีของไทย แต่เป็นตลาดที่มีอัตราการขยายตัวต่ำ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่เอื้ออำนวยในการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือย แต่มีความต้องการเครื่องประดับราคาย่อมเยาและปานกลาง ซึ่งประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญ เงินบาทแข็งค่าจะส่งผลกระทบต่อการนำเข้าเครื่องประดับและอัญมณีจากไทย ในระดับต่ำ เนื่องจากผู้นำเข้าสหรัฐฯ จะใช้ปริมาณการสั่งซื้อมาบีบบังคับและเจรจาต่อรองในราคา
1.7 สินค้าอิเลคทรอนิกส์: มีการใช้วัตถุนำเข้าจากต่างประเทศในอัตราค่อนข้าวสูง ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้ผลิตไทยในด้านการลดต้นทุนการผลิต ประกอบกับการสั่งซื้อเป็นการราคาขายทั้งปีของผู้ส่งออก อีกทั้งเป็นการสั่งซื้อจากบริษัทแม่ในสหรัฐฯ หรือประเทศอื่นๆ (เช่น Toshiba, San Sui,Seagate) และ ส่งสินค้าไปยังสหรัฐฯ ซึ่งผู้นำเข้าสหรัฐฯ มีความเห็นว่า มีผลกระทบเล็กน้อย
1.8 ข้าวหอมมะลิ: ผู้นำเข้าแจ้งว่า ราคาข้าวหอมมะลิเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ความต้องการสั่งซื้อยังเสมอต้นเสมอปลาย หรือ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งเงินบาทแข็งค่ามีผลกระเล็กน้อยต่อการสั่งซื้อข้าวหอมมะลิในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม ผู้นำเข้าคาดว่า จะไม่ลดการนำเข้าข้าวหอมมะลิ และหากราคานำเข้าสูงขึ้น จะต้องปรับราคาขายส่งให้สูงตามไปด้วย ผู้บริโภคอาจจะต้องซื้อข้าวในราคาที่สูงขึ้นไปอีก
2. ข้อคิดเห็นและเสนอแนะ:
ในการแก้ไขปัญหา และรักษาหรือขยายตลาดสินค้าไทยใน สหรัฐฯ ควรพิจารณา ดังนี้
2.1 ผู้ผลิตสินค้าอาหารสำเร็จรูปของไทยใช้โอกาสค่าเงินดอลล่าร์ลดค่า โดยการไปลงทุนผลิต/ประกอบสินค้าในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการ Outsource การผลิตไปให้โรงงานรับจ้างผลิตสินค้าในสหรัฐฯ (Contract Manufacturing) ผู้ผลิตไทยจะส่งซ้อส/เครื่องปรุงอาหาร บรรจุภัณฑ์จากประเทศไทยไปยังโรงงานในสหรัฐฯ การดำเนินการวิธีนี้ ผู้ผลิตสามารถเติมเนื้อ ไก่ และ หมู เข้าไปกับอาหารได้และจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าได้รวดเร็ว
2.2 รัฐบาลไทยอาจใช้มาตรการสนับสนุนค่าขนส่ง (Freight) แก่ผู้ผลิต/ส่งออกไทยและ การหาเงินกู้คิดดอกเบี้ยอัตราต่ำให้แก่ผู้ผลิต/ส่งออกไทยเพื่อในไปปรับปรุงกิจการ หรือซื้อวัตถุดิบหรือ การยกเว้นภาษีหรือลดภาษีเป็นการชั่วคราวให้แก่ผู้ผลิต/ส่งออก
2.3 ผู้ผลิต/ส่งออกไทยอาจพิจารณาการซื้อเงินตราสกุลต่างประเทศล่วงหน้า (Forward Price) เพื่อ Offset การขาดทุนต้นทุนการผลิต
2.4 ปัจจุบัน กระแสเงินทุนไหลเข้าจากประเทศที่ขาดดุลย์การค้าสูง เช่น สหรัฐฯ ไหลมามายังประเทศเกินดุลย์ในเอเซียมาก รวมทั้งประเทศไทย จึงเป็นผลให้เงินบาทมีค่าแข็งขึ้นต่อเนื่อง รัฐบาลควรพิจารณาวางมาตรการเพื่อเข้มงวดกับกระแสเงินลงทุนในตลาดการเงินของนัก ลงทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในตลาดการเงินของไทย เพื่อชะลอการไหลเข้าของเงินลงทุนในอนาคต ซึ่งจะเป็นผลให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลง และ ลดการเก็งกำไรค่าเงินบาท ซึ่งจะเป็นผลให้เงินบาทมีเสถียรภาพ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการส่งออกสินค้าไทย
2.5 การลดต้นทุนการผลิต เช่น ต้นทุนวัตถุดิบ บรรจุภัณฑ์ ค่าขนส่ง และ การส่งมอบสินค้าให้ได้รวดเร็วและตามกำหนดเวลา เพื่อใช้เป็นปัจจัยในการรักษาลูกค้า
2.6 ผู้ผลิต/ส่งออกไทยควรเข้าไปร่วมงานแสดงสินค้าในสหรัฐฯ ให้มากขึ้น เนื่องจาก การที่ค่าเงินดอลล่าร์อ่อนตัวกับค่าเงินบาท จะเป็นผลให้ต้นทุนการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในสหรัฐฯ จะต่ำลง และการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในสหรัฐฯ จะเป็นโอกาสให้ผู้ผลิต/ส่งออกไทยได้พบ กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ เป็นประโยชน์ในด้านการศึกษาข้อมูลสินค้า ปัญหา และ ราคาสินค้าตามความต้องการของลูกค้า
2.7 การบุกช่องทางจัดจำหน่ายใหม่ ๆ ซึ่งผู้ผลิต/ส่งออกไทยยังห่างเหิน เช่น ช่องทางตลาดธุรกิจบริการอาหาร (Food Service) ช่องทางตลาด Institution (โรงพยาบาล โรงเรียน มหาวิทยาลัยสโมสร และ ลหุโทษ) ช่องการการขายสินค้าให้แก่กองทัพสหรัฐฯ รวมไปถึงการนำเสนอสินค้าให้ผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม เช่น ผู้บริโภคฮิสแปนัก ผู้บริโภคมีน้ำหนักมาก และ ผู้บริโภควัยเยาว์ (Generation-Z)
2.8 รัฐบาลและหน่วยงานส่งเสริมการค้าของไทยควรดำเนินกลยุทธ์รักษาลูกค้าเดิม (ผู้นำเข้า) โดยการให้สิ่งสูงใจ (Incentive) ให้มากยิ่งขึ้น และมุ่งเป้ากลุ่มลูกค้าไปยังกลุ่มผู้จัดจำหน่าย/ผู้นำเข้า แทนกลุ่มร้านค้าปลีก Chain Store
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครชิคาโก
ที่มา: http://www.depthai.go.th