ใครจะชนะ “สงครามค่าเงิน”

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 2, 2010 10:46 —กรมส่งเสริมการส่งออก

นับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นกับประเทศสหรัฐอเมริกา เกือบทุกประเทศต่างก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ดังกล่าว ยกเว้นประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่กลับมีเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นอย่างมั่นคง สถานการณ์ดังกล่าวได้สร้างความไม่พอใจให้กับประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งจีนมักถูกกล่าวหาว่า วิกฤตเศรษฐกิจเกิดจากค่าเงินหยวนของจีนไม่ตรงกับค่าเงินที่แท้จริง ทำให้สินค้าส่งออกของจีนถูกกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเช่น สหรัฐอเมริกาหรือยุโรป ทำให้เกิดการขาดดุลการค้าอย่างมหาศาล ประเทศที่พัฒนาแลัวจึงมีความพยายามใช้มาตรการต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อมสร้างความกดดันให้ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเพิ่มค่าเงินหยวนขึ้น ซึ่งการใช้มาตรการต่างๆ นั้น ไม่เป็นผลกระทบเพียงประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ค่าเงินเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังส่งผลไปยังประเทศอื่นๆ รวมถึงประเทศไทยด้วย

ในมุมมองของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศที่พัฒนาแล้วเช่น สหรัฐอเมริกา ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ได้ปรับนโยบายด้านการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ แต่ประเด็นการแก้ปัญหาด้านการเงินของประเทศเหล่านั้น ไม่อาจใช้นโยบายลดอัตราดอกเบี้ยซึ่งต่ำมากอยู่แล้วลงได้ ดังนั้น วิธีการอื่นที่เลือกใช้คือ ธนาคารกลางของแต่ละประเทศจะเข้าซื้อสินค้าประเภทการเงิน Financial Products (พันธบัตร หุ้น ฯลฯ) ซึ่งจะทำให้ค่าเงินของประเทศลดลงเอง นอกจากนี้ รัฐบาลประเทศที่พัฒนาแล้วยังเข้าแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศทางตรง เพื่อทำให้ค่าเงินลดลงจนสามารถแข่งขันในเรื่องการส่งออกได้ อย่างไรก็ตาม Emerging Country (ประเทศที่เติบโตเร็ว) ไม่ประสงค์ที่จะเพิ่มค่าเงินเพื่อช่วยสร้างความมั่นคงกับการส่งออกของประเทศพัฒนาแล้ว สถานการณ์ข้างต้นจึงเป็นเหตุให้เกิดสงครามค่าเงินขึ้น

เมื่อเร็วๆ นี้ สหรัฐอเมริกาได้ลดความกดดันด้านค่าเงินกับจีนลงโดยไม่ลงประกาศ “Report on International Economic and Exchange Rate Policies” หมายถึง สหรัฐอเมริกาจะลดความกดดันให้จีนเพิ่มค่าเงิน ซึ่งรัฐบาลจีนจะเป็นผู้ดำเนินนโยบายการเงินเพื่อสร้างความสมดุลให้กับเศรษฐกิจโลก จะกำหนดให้เงินหยวนมีค่าเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ การเพิ่มค่าเงินหยวนต้องสะท้อนมาจากพื้นฐานเศรษฐกิจที่แท้จริงของจีน พร้อมทั้งสร้างสภาพแวดล้อมในการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน และประการสำคัญ ต้องการลดข้อขัดแย้งกับประเทศสหรัฐอเมริกาในเรื่องของค่าเงิน ผลของการทำสงครามค่าเงินของประเทศยักษ์ใหญ่ ได้ส่งผลกระทบกับประเทศไทยโดยตรง ทำให้ค่าเงินบาทของไทยเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าร้อยละ 10 และเมื่อเทียบกับเงินหยวนของจีนแล้ว เงินบาทไทย แข็งค่ามากกว่า ดังนั้น ผู้นำเข้าสินค้าไทยในจีนจึงได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทของไทยที่แข็งขึ้น ทำให้สินค้าไทยมีราคาสูงขึ้น สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ผู้นำเข้าหลายรายหยุดนำเข้าสินค้าไทย หรือนำเข้าสินค้าไทยน้อยลง ส่วนข้อดีที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ก็คือ ทำให้นักลงทุนไทยเข้ามาลงทุนในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสที่ดีในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น

อัตราแลกเปลี่ยน สกุลเงินหยวนเมื่อเทียบกับสกุลเงินเหรียญสหรัฐฯ

      ช่วงเวลา         อัตราแลกเปลี่ยน         %
      ปี 2005             7.9735            -
      ปี 2006              8.277            -
      ปี 2007              7.607            -
      ปี 2008              6.948            -
    ธันวาคม 2009          6.8279         (ปีฐาน)
      ปี 2009              6.832            -
    มกราคม 2010          6.8273          0.01%
   กุมภาพันธ์ 2010           6.827          0.01%
    มีนาคม 2010           6.8263          0.03%
    เมษายน 2010          6.8262          0.02%
   พฤษภาคม 2010          6.8274          0.01%
    มิถุนายน 2010          6.8165          0.17%
   กรกฎาคม 2010          6.7775          0.74%
    สิงหาคม 2010          6.7901          0.55%
    กันยายน 2010          6.7462          1.20%
    ตุลาคม 2010           6.6732          2.27%
   พฤศจิกายน 2010         6.6589          2.48%
ที่มา : ธนาคารกลางจีน (http://xxw3441.blog.163.com/blog/static/75383624201099321575/)

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ