นโยบายด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ของญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 7, 2010 14:00 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ตลาดภายในประเทศที่อิ่มตัว การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และต้นทุนการผลิตภายในประเทศที่สูงเป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นเติบโตน้อยมาก ในขณะที่ตลาดใน emerging countries กำลังเติบโตและมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกมากขึ้นทั้งในด้านการเป็นฐานการผลิตและการเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพ ญี่ปุ่นจึงให้ความสนใจอย่างมากในการแสวงหาผลประโยชน์อย่างเต็มที่จากประเทศเหล่านี้ โดยบริษัทญี่ปุ่นออกไปตั้งฐานการผลิตในต่างประเทศมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ดี การออกไปตั้งฐานการผลิตในต่างประเทศ นอกจากจะส่งผลให้สัดส่วนของการผลิตในต่างประเทศของบริษัทญี่ปุ่นสูงขึ้น (จาก 7.9% ในปี 1994 เป็น 17% ในปี 2008) แล้วยังทำให้การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศมีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็ว (ประมาณ 28 %) ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน

รัฐบาลญี่ปุ่นเล็งเห็นว่าหากแนวโน้มนี้ยังคงต่อเนื่องจะเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น ทำลายการจ้างงานและ technology clusters ของญี่ปุ่น จึงวางแผนทิศทางในอนาคตของอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ดังนี้คืออุตสาหกรรมญี่ปุ่นยังคงต้องพึ่งพาความต้องการจากตลาดใน emerging countries โดยที่ญี่ปุ่นจะต้องสร้างความแข็งแกร่งของตนเองเพื่อรักษาความเป็นผู้ผลิตสินค้าและชิ้นส่วนขั้นสูง เพื่อให้ญี่ปุ่นแข่งขันอยู่ได้ในตลาดโลกที่มีการแข่งขันสูง ในขณะที่เกาหลีใต้และจีนกำลังพัฒนาศักยภาพการแข่งขันในสินค้าขั้นกลางอย่างต่อเนื่องรัฐบาลญี่ปุ่นวางแผนการทำงานเพื่อนำไปสู่เป้าหมายทิศทางในอนาคตของอุตสาหกรรมญี่ปุ่น โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

แผนการทำงานที่ 1 — ครอบครอง demand จาก emerging nations

1) ยกระดับการพัฒนาและระบบการผลิตสำหรับสินค้าเพื่อตลาดเกิดใหม่ และสนับสนุนการสร้างช่องทางในการขาย

  • ยุทธศาสตร์เพื่อการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของตลาดเกิดใหม่
  • พัฒนาแบรนด์สินค้าในตลาดเกิดใหม่
  • ใช้ประโยชน์จากเงินทุนของ JBIC, NEXI
  • ใช้ช่องทาง Public private partnership เพื่อส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภค

2) สร้างช่องทางการเพิ่มผลกำไร

  • ป้องการการรั่วไหลของเทคโนโลยี (กระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวในบริษัท)
  • สร้างมาตรฐานเพื่อการสนับสนุนการปฏิรูป business model

แผนการทำงานที่ 2 — สร้างความแข็งแกร่งให้ฐานการผลิตของอุตสาหกรรมญี่ปุ่น

อุตสาหกรรมของญี่ปุ่นต้องรักษาความเป็นศูนย์กลางสำหรับการวิจัยและพัฒนาสินค้า การเป็นแหล่งการผลิตสินค้า high tech รักษาการจ้างงานและความสามารถในด้านเทคนิคเพื่อการสร้าง value-added ที่สูงต่อไป โดยรัฐบาลต้องดำเนินการเพื่อสนับสนุนดังต่อไปนี้

1) ปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน เช่น การลด corporate tax, ตอบสนองต่อปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างเหมาะสมโดยคำนึงถึงความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกด้วย

2) มาตรการเพื่อสร้างผลกำไรผ่านการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของบริษัทญี่ปุ่น

  • เปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่โดยคำนึงถึงสภาวการณ์ของโลกในความเป็นจริง
  • สนับสนุนเพื่อการทำยุทธศาสตร์มาตรฐานและการปรับปรุง business model
  • ป้องกันการรั่วไหลของเทคโนโลยี

3) พัฒนาและสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมที่จะเติบโตใน next generation

  • จัดลำดับการแบ่งสัดส่วนทรัพยากรเพื่อใช้ในการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี โดยมุ่งเน้นอุตสาหกรรมที่จะเติบโตใน next generation
  • จัดกิจกรรมส่งเสริมเพื่อดึงดูดบริษัทที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมที่จะเติบโตใน next generation

นโยบายอุตสาหกรรมรถยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ญี่ปุ่นประสพปัญหาเช่นเดียวกับภาพรวมของภาคอุตสาหกรรมที่ตลาดภายในประเทศอิ่มตัว และมีต้นทุนการผลิตภายในประเทศที่สูง ถึงแม้ว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมรถยนต์ญี่ปุ่นยังคงเป็นอันดับในการถือครองตลาดรถยนต์โลก โดยมีสัดส่วนประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของตลาดโลก การวางแผนสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ในอนาคตที่สอดคล้องกับโครงสร้างตลาดรถยนต์ที่เปลี่ยนไปและตอบสนองต่อปัจจัยภายนอกอย่างเหมาะสมนับเป็นสิ่งที่สำคัญ

ปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางของอุตสาหกรรมรถยนต์

  • สภาพแวดล้อมในการแข่งขันที่เปลี่ยนไปมาก — การสร้างพันธมิตรในด้านเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม
  • พลังงานที่มีจำกัด — แนวโน้มราคาน้ำมันที่สูงในระยะกลางและระยะยาว
  • กระแสการลดภาวะโลกร้อน — เป้าหมายของญี่ปุ่นในการลด Green house gas ลง 25 % จากระดับในปี 1990 ให้ได้ภายในปี 2020
  • อุตสาหกรรมใหม่ — การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอร์รี่จะเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโต

แผนอุตสาหกรรมรถยนต์ในยุคต่อไป (Next generation vehicle plan 2010) แบ่งเป็น 6 แผนประกอบด้วย

1) แผนในภาพรวม

เป้าหมาย — พัฒนาและผลิตรถยนต์สำหรับยุคต่อไป

แผนการดำเนินงาน

  • ตั้งเป้าหมายการแพร่กระจายของรถยนต์ยุคต่อไป สำหรับ ปี 2020/2030 โดยรัฐบาลต้องสร้าง incentive เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ดังนี้
  • ให้ next generation vehicle มีสัดส่วน 50 % ของรถยนต์ทั้งหมดในปี 2020
  • ให้ advanced eco-friendly vehicle (eco-friendly conventional vehicle+next generation vehicle) มีสัดส่วน 80 % ของรถยนต์ทั้งหมดในปี 2020
  • สร้างพลังงานทางเลือก
  • ผลิตชิ้นส่วนที่มี value-added สูง
  • ส่งเสริม low-carbon industries

2) แผนด้านแบตเตอร์รี่ มุ่งเน้นเพื่อการวิจัยและพัฒนาแบตเตอร์รี่เพื่อรองรับความต้องการ

3) แผนด้านวัตถุดิบหายาก มุ่งเน้นการรักษาแหล่งวัตถุดิบหายากที่ใช้ในการผลิตแบตเตอร์รี่และพัฒนาระบบ recycling เพื่อรองรับแบตเตอร์รี่ที่ใช้งานแล้ว

4) แผนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการแพร่กระจายของรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต โดยติดตั้งจุดชาร์จไฟแบบปกติ 2 ล้านจุด และแบบเร็ว 5,000 จุด

5) แผนด้านระบบ เพื่อรองรับสังคมในอนาคต เช่น smart grid

6) แผนด้านมาตรฐานระหว่างประเทศ เพื่อวางมาตรฐานระหว่างประเทศสำหรับผลิตภัณฑ์และบุคลากรด้านรถยนต์ไฟฟ้า

ข้อคิดเห็นและบทวิเคราะห์

แผนอุตสาหกรรมรถยนต์ในยุคต่อไปนี้ซึ่งจัดทำขึ้นโดยกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น มุ่งเน้นการวางแผนพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศแต่เพียงอย่างเดียว ในขณะที่บริษัทรถยนต์ญี่ปุ่น ส่วนใหญ่มีการตั้งฐานการผลิตอยู่ในต่างประเทศด้วย จากรายงานผลประกอบการของบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่น 9 เดือนแรกของปี 2553 พบว่าบริษัทรถยนต์ที่มีสัดส่วนของการผลิตจำนวนมากในต่างประเทศ มีผลกำไรในอัตราที่สูงตามไปด้วย (เช่น บ.ฮอนด้า มีผลกำไร 8.6 % โดยบริษัทมีสัดส่วนการผลิตในต่างประเทศคิดเป็น 73.1% ของการผลิตทั้งหมด, บ.นิสสัน มีผลกำไร 7.8% โดยบริษัทมีสัดส่วนการผลิตในต่างประเทศคิดเป็น 71.3 % ของการผลิตทั้งหมด ในขณะที่บ.โตโยต้า มีผลกำไร 3.3% โดยบริษัทมีสัดส่วนการผลิตในต่างประเทศคิดเป็น 45.3 % ของการผลิตทั้งหมด) ทั้งนี้ การที่ผลกำไรจากบริษัทลูกในต่างประเทศช่วยพยุงรายได้ของบริษัทแม่ในญี่ปุ่นกลายเป็นสิ่งที่พบได้บ่อยครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการเกิดวิกฤตทางการเงินในสหรัฐ ที่ผ่านมา โดยมิได้จำกัดเฉพาะในอุตสาหกรรมรถยนต์เพียงอย่างเดียว ปัจจัยสำคัญเกิดจากตลาดภายในประเทศที่หดตัว ในขณะที่ตลาดในตลาดเกิดใหม่กำลังขยายตัว อีกทั้งปัญหาเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นเป็นอย่างมาก (แข็งค่าที่สุดในรอบ 15 ปี)

การย้ายฐานการผลิตไปยังตลาดต่างประเทศกลายเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อการอยู่รอดของบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่น โดยที่ผ่านมารถยนต์ที่ผลิตในแถบเอเชีย แปซิฟิกส่วนใหญ่เป็นรถกระบะ และรถยนต์ขนาดเล็ก ตามความต้องการของตลาด อย่างไรก็ดี เมื่อคำนึงถึงแนวโน้มจำนวนประชากรที่มีรายได้สูงขึ้นตามเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นของเอเชีย นอกเหนือไปจากรถยนต์ไฟฟ้าแล้วโอกาสที่รถยนต์หรูหรา ขนาดใหญ่จะย้ายฐานไปผลิตในตลาดเกิดใหม่ในเอเชียก็มีความเป็นไปได้ หากจำนวนความต้องการสูงขึ้นเพียงพอ

เมื่อคำนึงถึงฐานการผลิตรถยนต์ในเอเชีย ประเทศไทยเป็นประเทศที่บริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นให้ความสนใจเป็นอันดับต้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับจีนมีความขัดแย้งกันมากขึ้น โดยไทยมีจุดแข็งหลายๆ ด้าน เช่น ประสบการณ์ที่ยาวนานในอุตสาหกรรมรถยนต์ แรงงานฝีมือ สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และการคมนาคมที่สะดวก อุตสาหกรรมชิ้นส่วนภายในประเทศที่รองรับอุตสาหกรรมรถยนต์ มาตรการส่งเสริมการลงทุน ภายในประเทศ และที่สำคัญคือไทยสามารถเป็นประตูให้บริษัทญี่ปุ่นไปยังตลาดที่ใหญ่กว่าในประเทศที่สาม เช่น อาเซียน จีน อินเดีย และออสเตรเลีย เป็นต้น ซึ่งญี่ปุ่นยังไม่มีความตกลง FTA ที่มีผลใช้บังคับกับประเทศเหล่านี้ ทั้งนี้การวิเคราะห์ทิศทางแนวโน้มอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการนำมาพิจารณาเพื่อใช้ประกอบการกำหนดทิศทางการเจรจา และเป้าหมายการวางแผนอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยต่อไป

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

แหล่งข้อมูล : “Japan’s Manufacturing Industry”, Ministry of Economy Trade and Industry, July 2010

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ