๑) ในวันที่ 30 พฤศจิกายน- 1 ธันวาคม 2553 สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก ได้จัดทำ Business Matching ให้กับผู้ส่งออกไทย Mr. Kompit Panasupon (Creative Director) บริษัท Arti-Flora Corporation พบหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและศึกษาความเป็นไปได้ในการผลักดันการส่งออกสินค้าดอกไม้ประดิษฐ์มายังตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งผลการหารือสามารถสรุปได้ดังนี้
Mr. Ungkun Chansavangwonk (Manager) ผู้แทนจากบริษัท Urban Oasis และบริษัท Establishment บริษัท นำเข้าสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านแนวร่วมสมัย โดยแบรนด์ Urban Oasis จัดจำหน่ายสินค้า Tabletop โดยจำหน่ายแบบค้าส่งให้ตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ และแบรนด์ Establishment จัดจำหน่ายสินค้าประเภทเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งที่เกี่ยวข้อง โดยจัดจำหน่ายแบบค้าปลีกและมี โชว์รูมตั้งอยู่บริเวณย่านแหล่งทันสมัยแหล่งใหม่ของนิวยอร์ก คือ บริเวณ Meat Packing District ปัจจุบันนี้บริษัทมีลูกค้าทั่วทั้งในสหรัฐอเมริกาและในประเทศญี่ปุ่น
บริษัท Arti-Flora Corporation มีความประสงค์ที่จะยกระดับสินค้าดอกไม้ประดิษฐ์ให้แตกต่างจากประเทศจีนซึ่งเป็นผู้ส่งออกหลักของสหรัฐอเมริกา โดยมีความประสงค์ที่จะเจาะเข้าสู่กลุ่มผู้ซื้อในตลาดระดับบนและ Niche Market ดังนั้นในการหารือครั้งนี้จึงมีแนวคิดที่จะนำเสนอสินค้าดอกไม้ประดิษฐ์ให้สามารถเป็นสินค้าที่สามารถจำหน่ายควบคู่กับสินค้า Table top หรือเป็นสินค้าของตกแต่งบ้านเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า โดยบริษัทสามารถจัดส่งในรูปแบบช่อที่จัดแล้ว (Arrangement) หรือแบบต้นเดี่ยว (Stem) ตามความเหมาะสม Mr. Ungkun Chansavangwonk ผู้แทนจากบริษัท Urban Oasis และบริษัท Establishment ได้ให้
ข้อมูลว่าทางบริษัทเป็นบริษัทประเภท Boutique Design ดังนั้นขอบข่ายในการเลือกสินค้า จะต้องมีความระมัดระวังมาก ต้องดูความสนใจของลูกค้าเป็นสำคัญ ในชั้นนี้ Mr. Ungkun ได้แนะนำให้บริษัทไทยศึกษากรณี ของบริษัท Herve Gambs(www.hervegambs.com) ซึ่งเป็นบริษัทจากฝรั่งเศส มีความโด่งดังในเรื่องการจัดและออกแบบดอกไม้ประดิษฐ์ให้กับกลุ่มนักออกแบบ โรงแรมและดีไซน์เนอร์ ลูกค้าของบริษัทดังกล่าวเป็นกลุ่มผู้บริโภคระดับบน เน้นการออกแบบและการนำเสนอเป็นหลัก โดยผลงานแต่ละชิ้นของบริษัททีมูลค่าค่อนข้างสูง สำหรับตลาดสหรัฐอเมริกา Mr. Ungkun มีความเห็นว่าฐานการบริโภคดอกไม้ประดิษฐ์นั้นควรอยู่บริเวณทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกาซึ่งมีความนิยมในการใช้ดอกไม้ประดิษฐ์ค่อนข้างมาก ซึ่งการเจาะตลาดดังกล่าวบริษัทไทยควรมีผู้แทนจำหน่าย(Sale Person) เพื่อผลักดันสินค้าเข้าสู่ตลาดในเชิงรุก เพราะผู้ซื้อรายกลางและรายเล็กอาจไม่นิยมเดินทางมาสรรหาสินค้าด้วยตนเอง ดังนั้นผู้แทนจำหน่ายสินค้าจึงมีความสำคัญอย่างมากในปัจจุบันนี้ อย่างไรก็ดี สำหรับตลาด Niche Market ในสหรัฐอเมริกา การสร้างแบรนด์ใหม่ให้กับสินค้าหรือสร้างคอลเลคชั่นใหม่ ภายใต้แบรนด์เดิม เพื่อขจัดภาพลักษณ์สินค้าแบบค้าส่ง ถือเป็นกลยุทธ์อีกประการที่จะช่วยผลักดันให้สินค้าดูมีจุดขายมากยิ่งขึ้น ดังกรณีศึกษาของผู้ผลิตสินค้าเฟอร์นิเจอร์จากฟิลิปปินส์ที่พลิกฟื้นโรงผลิตเฟอร์นิเจอร์เก่าของครอบครัวที่รับผลิตตามออร์เดอร์ มาเป็นแบรนด์ดังระดับโลก ภายใต้ชื่อของ Mr. Kenneth Cobonpue แบรนด์ kennethcobonpue (www.kennethcobonpue.com)
Mr. Ungkun ได้เสนออีกว่าสินค้าไทยเป็นสินค้าที่มีคุณภาพทั้งในเรื่องวัตถุดิบและการดีไซน์ แต่ยังขาดการสนับสนุนในเรื่องโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ หากประเทศไทยสามารถจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าที่มีประสิทธิภาพในประเทศไทย เพื่อดำเนินการในเรื่องการจัดการด้านการรวบรวมตู้สินค้า (Consolidate) การจัดทำบาร์โค้ด (Barcode) จะช่วยทำให้สินค้าไทยสามารถส่งออกมายังสหรัฐอเมริกาได้มากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องมาตั้งศูนย์กระจายสินค้าในต่างประเทศ ถือเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ผู้นำเข้าส่วนใหญ่ต้องการบริการจากผู้ส่งออกไทย
๒) Mr. Paul Raphel (Manager) ผู้แทนจากบริษัท Silk Crafts Inc บริษัทนำเข้าสินค้าประเภทผ้าผืน เช่น ผ้าไหม ผ้าปีกลายและผ้าพิมพ์ลายที่มีเอกลักษณ์ และดอกไม้ประดิษฐ์ที่ทำจากผ้าไหม มีโชว์รูมตั้งอยู่บริเวณย่านแหล่งเสื้อผ้าที่สำคัญของนครนิวยอร์ก คือ บริเวณ ถนน 7 (7 Avenue) ลูกค้าของบริษัทส่วนใหญ่คือนักออกแบบโรงแรม/งานจัดเลี้ยง และห้องเสื้อระดับบน สินค้าจะเน้นคุณภาพและงานฝีมือเป็นหลัก บริษัทมีโกดังเก็บสินค้าขนาดกลางอยู่บริเวณเมืองลองไอล์แลนด์ มลรัฐนิวยอร์ก ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ที่นำเข้ามามาจากอินเดีย จีนและไทย Mr. Paul Raphel กล่าวว่าบริษัทนำเข้าดอกไม้ประดิษฐ์เพื่อนำมาใช้ประดับตกแต่งเสื้อผ้า และงานเลี้ยง โดยเป็นดอกไม้ที่ทำจากผ้าไหม สามารถดูแลรักษาได้สะดวก อย่างไรก็ดี Mr.Paul ได้พิจารณาสินค้าของทางบริษัทไทยแล้วคิดว่าน่าจะมีช่องทางและโอกาส ดังนั้น Mr. Paul จึงขอให้ทางบริษัทไทย จัดส่งตัวอย่างสินค้ามีมาจัดแสดงที่โชว์รูมของบริษัท หากมีลูกค้า Mr. Paul จะได้สั่งออร์เดอร์ต่อไปในอนาคต
๓) Mr. Alan Adler (President) บริษัท Norben Import Corp. (แบรนด์ Larsilk) ผู้นา เข้าสินค้าดอกไม้ประดิษฐ์รายสำคัญ มีสำนักงานและโชว์รูมตั้งอยู่ในเมือง Hackensack มลรัฐนิวเจอร์ซี่ บริษัทเริ่มกิจการมาประมาณ 35 ปี มีลูกค้าในวงการร้านอาหาร โรงแรมคาสิโน รีสอร์ตและอื่นๆ มากมายในสหรัฐอเมริกา ทำให้บริษัทต้องนำเข้าสินค้าดอกไม้ประดิษฐ์ในลักษณ์ต่างๆ เช่นใบอย่างเดียว ดอกตูม ก้านลักษณะต่างๆ หรือดอกไม้นานาพันธ์ ประมาณกว่า 10,000 รายการ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย ส่วนใหญ่บริษัทจะนำเข้าสินค้าจากจีน เพราะ ผู้ผลิตจีนบางรายมีความสามารถในด้านการออกแบบแม่พิมพ์ (Mold) ที่พิถีพิถันทำให้ดอกไม้ประดิษฐ์ที่ผลิตออกมาค่อนข้างมีความเหมือนจริงมาก นอกจากนี้แล้วยังมีคุณภาพกลีบดอกให้เลือกทั้งผ้าและยางสังเคราะห์ทำให้สินค้าดูเหมือนจริงมากยิ่งขึ้น ในชั้นนี้ บริษัทกล่าวว่าสินค้าของบริษัทไทยใช้โฟมเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิต ตลอดจนกลีบดอกแต่ละดอกถูกดามด้วยลวดทำให้เป็นจุดอ่อนของสินค้า เพราะผู้ซื้อส่วนใหญ่นิยมซื้อแล้วใช้ได้เลย ไม่ต้องการนำมาดัดงอจัดสภาพอีก จึงทำให้เป็นการยาก อย่างไรก็ดี Mr. Alan แนะนำว่าบริษัทไทยควรจัดส่งทีมนักออกแบบผลิตภัณฑ์เดินทางมาสำรวจตลาด เพราะ จะเห็นความเปลี่ยนแปลงและความต้องการของตลาดอย่างมาก ควรดัดแปลงในรูปแบบการนำเสนอสร้างจุดยืนให้แตกต่างจากจีน ซึ่ง Mr.Alan ได้ยกตัวอย่างสินค้าของบริษัทไทยชิ้นหนึ่ง คือ ดอกคริตส์มาสที่ประดับตกแต่งด้วยผ้ากำมะหยี่//ผ้าลายพิมพ์ต่างๆ และเลื่อม ทำให้สินค้าของบริษัทไทยดังกล่าวดูโดดเด่นและเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก
ที่มา: http://www.depthai.go.th